ปัญหาหนอนกอ ในช่วงอายุข้าว 30 วัน


ปัญหาเรื่องหนอนแมลงศัตรูข้าวที่ชาวไร่ชาวนามักประสบพบเจอกันอยู่บ่อยๆ  นั้น เคยสังเกตไหมครับว่า มักจะมาในระยะที่ต้นข้าวของเราอ้วนท้วนสมบูรณ์หรือมีการใส่ปุ๋ยฉีดพ่นบำรุงไปทั่วกิ่งก้านใบ เมื่อต้นข้าวได้รับสารอาหารที่เข้ามากระตุ้นจนเกิดการเจริญเติบโตยืดขยายแบ่งเซลล์ ในระยะนี้ก็จะเป็นจุดอ่อนให้โรคแมลง เพลี้ย หนอน รา ไร เข้ามาทำลายได้ง่ายๆ พืชบางชนิดนั้นมีขนเล็กละเอียด มีนวล มีไขที่คอยปกป้องคุ้มครองในรูปแบบธรรมชาติกำหนดมา โดยเฉพาะต้นข้าวนั้นก็เช่นกันถ้าสภาพต้นสมบูรณ์ กลไกการป้องกันตนเองก็สามารถทำงานได้เต็มที่ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปที่มีโรคแมลงเข้าทำลายได้น้อยลง

ปัญหาของหนอนในอดีตนั้นมักจะมาเป็นระยะๆ เป็นช่วงๆ เช่นระยะฝนชุก ระยะใส่ปุ๋ย ระยะบำรุงดอกใบ แต่ปัจจุบันพบว่าบางพื้นที่แทบไม่เลือกเวลาเข้ามาทำลายของหนอนแมลงศัตรูพืชกันเลยทีเดียว แต่ในเรื่องข้าวนั้นเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนาไม่สับสนเกินไปก็จะให้ข้อสังเกตุว่า ในระยะที่พืชจะได้รับปุ๋ยหรืออาหารโดยเฉพาะไนโตรเจนที่ทำหน้าที่ที่ทำให้ต้นข้าวงามใบ
เฝือใบ ยืดต้นได้อย่างรวดเร็วนั้น  ก็จะเป็นช่วงที่มีฝนตกบ่อยๆ หรือเรียกว่าระยะฝนชุก จนบางครั้งตกทั้งวันทั้งคืนจนรุ่งเข้าตื่นมาเห็นหนอนกัดกินใบข้าวกระจัดกระจายเสียหายไปทั่วทั้งทุ่ง จนเรื่องยุ่งไปถึงพระอินทร์ที่ปล่อยควายมากินข้าวชาวนาจนได้รับความเสียหาย ก่อให้เกิดชื่อหนอนชนิดหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า “หนอนกระทู้ควายพระอินทร์” ซึ่งมักจะออกมากัดกินทำลายต้นข้าวในเวลากลางคืน

และช่วงระยะเวลาที่ควรระมัดระวังอีกช่วงหนึ่งก็คือ ระยะที่ใส่ปุ๋ยก่อนข้าวแตกกอ คือในช่วงระยะเวลา ใกล้อายุข้าว 30 วันบางท่านก็จะใส่ปุ๋ยช่วงข้าวอายุ 15 หรือ 20 วัน แต่จะให้ดีควรใส่ปุ๋ยในช่วงที่ข้าวใกล้จะแตกกอ คือช่วงข้าวอายุ 28-29 วัน เมื่อใส่ปุ๋ยลงไปหนึ่งหรือสองวันข้าวก็จะเริ่มแตกกอมีลูกหลานออกมาช่วยแบ่งเบากระจายการดูดกินไนโตรเจนมิให้ข้าวรับมากเกินไป แต่ถ้าใส่ในช่วง 10-20 วัน ต้นจากเมล็ดเดียว ต้นเดียว ก็จะดูดกินปุ๋ยมากเกินไป ทำให้เฝือใบ อ่อนแอ อวบอ้วน ง่ายต่อการเข้าทำลายของหนอนและแมลงศัตรูพืช เพราะฉะนั้นถ้าต้องการหลีกเลี่ยงการรบกวนของหนอน ควรใส่ปุ๋ยให้แก่ข้าวในช่วงอายุ 28 วัน หรือก่อนที่ข้าวจะแตกกอสัก สอง หรือสามวัน จะช่วยแก้ปัญหาข้าวเฝือใบได้ หรือจะใช้อีกวิธีการหนึ่งโดยการทำให้ปุ๋ยกลายเป็นปุ๋ยละลายช้า ด้วยการใช้ปุ๋ย 100 กิโลกรัม (2 กระสอบ) คลุกผสมกับ หินแร่ภูเขาไฟ (พูมิช Pumice, ไคลน็อพติโลไลท์ Clinoptilolite, สเม็คโตไทต์ smectotite)  1 กระสอบ ก็จะช่วยลดการเฝือใบของข้าวได้เป็นอย่างดี

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

 

หมายเลขบันทึก: 546638เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท