ชีวิตของชาวลัวะ ชาวเขาที่มิได้มีดั้งเดิมเป็นชาวเขา


โดย ปัฐมาันันท์ แสงพลอยเจริญ (สารคดีนี้ แต่งสมัยเรียนอยู่ม.5ค่ะ)

        สิ่งที่ข้าพเจ้าจะเขียนเล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นความจริงซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงอันประทับใจของข้าพเจ้าเองและประสบการณ์ตรงของผู้ที่ไปคลุกคลีอยู่กับชาวเขาเผ่าลัวะมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ซึ่งจะบรรยายถึงชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อของชาวเขาเผ่าลัวะ ชาวเขาผู้ที่มิได้มีต้นตำรับเป็นชาวเขา
       หากท่านขับรถขึ้นไปตามถนนสาย ฮอด-แม่ฮ่องสอน ถัดจากอุทยานแห่งชาติออบหลวงไปประมาณ 30 กิโลเมตร ท่านก็จะพบกับ ดอยบ่อหลวงซึ่งมีหมู่บ้านหนึ่งที่ดูราวกับว่าได้ถูกวัฒนธรรมชาวเมืองค่อย ๆ กลืนวัฒนธรรมอันงดงามดั้งเดิมไปอย่างช้าๆ และหมู่บ้านนั้นก็คือ หมู่บ้านชาวเขาเผ่าลัวะ ชาวเขาเผ่าหนึ่งที่ไม่เคยยอมแพ้ แต่ทว่าพวกเขาก็ไม่เคยรุกรานใคร
      ชื่อของคำว่าลัวะนั้นหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าหากพูดคำเต็ม ๆ ของเขาแล้วจะต้องรู้เป็นแน่ คำ ๆ นั้นก็คือ ละว้า ในความเป็นจริงแล้วชาวเขา เผ่าลัวะ นั้นก็คือชาว ละว้า นั่นเอง แต่สาเหตุที่ทำให้ชาวละว้าผู้มีถิ่นฐานอยู่ทางภาคกลางต้องระเหเร่ร่อนไปยังภูสูงก็เพราะชาวละว้าเหล่านี้ถูก รุกรานจากคนภาคกลางหรือชาวไทยด้วยกันเอง
               ถ้าหากเราย้อนไปถึงสมัยเริ่มก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้นชาวละว้าได้อาศัยอยู่ทางภาคกลาง และชาวละว้าเหล่านี้เป็นผู้ที่มีฝีมือทางด้านการก่อสร้างเป็นอย่างมาก จึงได้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างบ้านเรือน ปราสาทราชวัง แม้กระทั่งป้อมปราการให้แก่กรุงศรีอยุธยาจนบ้านเมืองเสร็จเรียบร้อย ชาวละว้าก็ได้รับค่าตอบแทนบ้างพอสมควร แต่เกิดเหตุการณ์อันใดไม่ทราบ ที่ทำให้ชาวละว้าต้องถูกเนรเทศออกจากกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวละว้าต้องระเหเร่ร่อนมาอยู่ภาคเหนือ จนมาได้พึ่งใบบุญของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นชาวละว้าได้ตั้งหลักปักฐาน มีหมู่บ้านชาวละว้าอยู่ใกล้ ๆ เมืองเชียงใหม่ แต่เนื่องจากชาวละว้าเป็นผู้มีศิลปะทางด้านการก่อสร้าง จึงทำให้พวกเขาได้รับงานสำคัญคือ สร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์เมืองเชียงใหม่ จนบ้านเมืองเชียงใหม่มีความงดงามและสุขสบาย แต่ชาวละว้าก็เหมือนกับทำคุณบูชาโทษถึงสองครั้งสองครา เพราะเหตุการณ์อันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อหมู่บ้านชาวละว้าถูกทำลาย ถูกรุกรานอีกครั้งจากคนเชียงใหม่ ในครั้งนี้ชาวละว้าได้ต่อสู้กับกองทัพเชียงใหม่อย่างกล้าหาญ แต่ก็มีผู้คนที่ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ในครั้งนี้ชาวละว้าที่พอมีกำลังบ้างก็ต้องพาพวกที่อ่อนแอ มีทั้งเด็กและผู้หญิงระหกระเหินหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา แต่ทางขึ้นนั้นก็ทั้งแสนจะลำบากและทุรกันดาร และยังจะต้องมาเจอะเจอกับสงครามของกองทัพเชียงใหม่ที่ไล่ติดตามขึ้นมาเรื่อยๆดังนี้ชาวละว้าจึงตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ขอลงไปทางใต้ (เชียงใหม่และภาคกลาง) และทำงานให้ใครอีกเลย จนเมื่อชาวละว้าได้ต่อสู้มาถึงดอยบ่อหลวงได้รับชัยชนะ จึงได้ตั้งรกรากชาวละว้าอยู่ที่นั่นมาจนถึงปัจจุบันนี้ และด้วยสงครามที่ชาวละว้าต้องหลั่งเลือดไปมากมายเพราะกองทัพเชียงใหม่ในครั้งนั้นทำให้ชาวละว้า เกลียดคนเชียงใหม่เป็นอย่างมาก
           แต่อย่างไรก็ตามนั่นก็เป็นอดีตที่ผ่านมาเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วในปัจจุบันนี้ชาวละว้ารุ่นใหม่ก็ได้ติดต่อกับคนภาคกลาง และรับเอาวัฒนธรรมของคนภาคกลางมาใช้อย่างมากมาย และคำว่า ละว้า นี้ในปัจจุบันได้เรียกว่า ลัวะ เพราะเกิดการกร่อนเสียงจาก ละว้า เมื่อพูดเร็ว ๆ ก็จะกลายเป็น ลัวะ ที่ใช้เรียกพวกเขาในที่สุด
           ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวลัวะที่ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจมากนั่นคือประเพณีการบูชาพระธาตุในฤดูหนาวด้วยเกรงว่าพระธาตุจะหนาว จึงก่อไฟเพื่อให้พระธาตุอบอุ่น โดยชาวลัวะที่หนุ่ม ๆ จะรวมตัวกันไปเก็บฟืนและนำฟืนนั้นมาให้สาว ๆ มัด ส่วนคนเฒ่าคนแก่จะนำดอกอูน (ดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอมมาก) นำมาเผาพร้อมกับกองไฟเพื่อทำให้มีกลิ่นหอมและอบอุ่นไปในตัว ประเพณีนี้พวกเขามีความเชื่อว่าถ้าทำทุกๆปีจะได้ไปบังเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่จุดเด่นของประเพณีนี้นั่นคือความสามัคคีของคนหนุ่มสาวและ ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่แบ่งหน้าที่กันจนผลงานออกมาสำเร็จทุกปี ได้บุญกันไปถ้วนหน้า
           ลักษณะนิสัยของชาวเขาเผ่าลัวะมีสิ่งที่พิเศษคือเป็นคนซูคิ(ขี้อาย) ไม่ค่อยกล้าพูด กล้าแสดงออก ไม่เหมือนชาวเขาเผ่าม้ง แม้ว หรือเย้า แต่ถึงกระนั้นก็ตามเขาก็เป็นคนที่มีความจริงใจ ถ้าให้ความไว้วางใจแก่เขาก่อน จนบางทีดูเหมือนว่าเป็นคนซื่อ แต่ไม่ได้เซ่อ ซึ่งในเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้พบกับตนเอง เพราะข้าพเจ้าได้มีเพื่อนเป็นเด็กหญิงชาวเขาเผ่าลัวะอยู่คนหนึ่ง ในตอนแรกที่ได้รู้จักกันเขาเป็นคนที่ขี้อายมาก แต่เมื่อสนิทกันแล้วเขาก็ได้ช่วยเหลือข้าพเจ้าเรื่องต่าง ๆ เสมอมา นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของชาวเขาเผ่าลัวะผู้น่ารักคนหนึ่ง
          หลายหลากเรื่องราวที่ข้าพเจ้าได้พบพานด้วยตนเองและได้มีคนเล่าให้ฟังมาล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าประทับใจถึงชาวเขาเผ่าลัวะทั้งสิ้น และนี่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าชาวไทยภูเขานั้นมีประเพณีอันดีงาม มีความกลมเกลียวสามัคคีกันเพียงไร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากให้เลือนหายไปจากจิตสำนึกของคนไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงไรก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 546284เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โอว...ผมหาอ่านมานานเลยครับ..เรื่องชนเผ่าต่างๆโดยเฉพาะลัวะ หรือละว้า..ผมเข้าใจว่า ละวะ แปลว่าที่ลุ่มต่ำและเป็นทางแยกของแม่น้ำมีคำพูดว่า ปากละวะ หรือ ปากวะ..ละวะปุระ คือ เมืองลพบุรี..เผ่าลัวะจึงเป็นชนเผ่าภาคกลางที่อยู่ในที่ราบลุ่มริมปากน้ำที่แยกออก..การที่ยังเหลือกลุ่มชนเผ่านี้อยู่จึงน่าศึกษายิ่งนักครับ..ขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่านี้มากๆครับผม..

I remember visiting a Lua village many many years ago. But I can't remember any distinctive houses or buildings that would indicate the Lua are/were master builders. Maybe the arts and skills were not ptacticed while in migration -- the same way the American Indigenus tribes are seen living tepees (cone shaped tents) though they once lived in large wooden houses before they were forced out of their land and territory.

ขอขอบคุณ ลุงรักชาติราชบุรี เป็นอย่างมากค่ะที่ให้กำลังใจ จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ดิฉันเคยไปสัมภาษณ์ชาวลัวะที่อยู่ดอยบ่อหลวง ซึ่งเขาให้ข้อมูลเป็นตำนาน ดังที่เล่ามานี้ค่ะ แต่ความจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ คงต้องค้นคว้ากันต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท