ชัยชนะของหลวงนฤบาล: ชัยชนะยิ่งใหญ่เหนือใจตนเอง2


โดย กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ และจุฑาธัช จันทรพงศ์

ตัวละครหลัก
          ตัวละครหลักของ “ชัยชนะของหลวงนฤบาล”คงเป็นคนอื่นไปไม่ได้นอกจากหลวงนฤบาลบรรเทิงเอง บทบาทสำคัญของตัวละครนี้คือการนำเสนอการประพฤติตัวอย่างเหมาะสมไร้ที่ติตามยุคสมัยนั้น หลวงนฤบาลมีกิริยาสุภาพและสุขุมสมเป็นข้าหลวงจังหวัดนครสวรรค์ เขามีน้ำใจต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองคนแล้วคนเล่า มีความเมตตารับตาพัจน์เป็นลูกบุญธรรมโดยไม่ต้องป่าวประกาศถึงความดีของตน แต่ที่สำคัญที่สุด หลวงนฤบาลมีคุณธรรมข้อสำคัญคือการชนะใจตนเอง ในเรื่องนี้ ถึงแม้เขาจะรักวไลมากเพียงใด แต่เมื่อวไลเป็นภรรยาของหลวงปราโมทย์ เขาก็ไม่ได้จะแย่งวไลมาเป็นของตนเองทั้งๆที่มีความสามารถจะทำได้ กล่าวคือ เขามีคุณสมบัติทุกอย่างที่จะทำให้วไลหลงรัก ทั้งเป็นคนที่เคยรักกันมา เขาเลือกที่จะไม่ทำตามความรู้สึกของตนเองแต่กลับยึดความถูกต้องเป็นหลัก ความถูกต้องในที่นี้คือความถูกต้องทั้งทางด้านศีลธรรมและจารีตของสังคม ความดีครั้งนี้อยู่ที่ไม่เพียงแต่หลวงนฤบาลจะไม่ฉวยโอกาสเก็บวไลไว้กับตัว เขายังช่วยให้วไลและหลวงปราโมทย์มาคืนดีกันด้วย ดังทีเขาได้เขียนจดหมายหาหลวงปราโททย์ว่า

“คุณหลวง

ผมได้รับจดหมายจากอำนวย สั่งให้ใช้อิทธิพลพระภูมิเจ้าที่ จัดการให้คุณหลวงกับคุณวไลตามประสงค์ของคุณหลวง ผมเห็นว่าวันนี้โอกาสดี คุณวไลอยู่บ้านคนเดียว ถ้าข้ามฟากมาได้ควรจะมาในตอนเช้านี้ ขอแนะนำอย่างหนึ่ง จงหลบหลีกซ่อนตัวเข้าไปให้ดี พอโผล่ก็ให้ถึงตัว มิฉะนั้นเจ้าหล่อนจะหนีออกทางประตูหลังไปเสียอย่างคราวก่อน ผมไม่รู้ด้วย

นฤบาล”

           การต้องต่อสู้เอาชนะความรู้สึกของตนเอง และการต่อสู้เอาชนะความเสียใจอันเป็นผลพวงของการฝืนความรู้สึกนี้เองคือชัยชนะของหลวงนฤบาล นอกจากนั้นเขายังช่วยชีวิตปราโททย์ไม่ให้จมน้ำ ทั้งๆที่หลวงปราโมทย์เป็นอุปสรรคขวางกั้นระหว่างเขากับวไล เหตุการณ์นี้แสดงว่าหลวงนฤบาลมีชัยชนะต่อจิตใจตนเอง เขาช่วยชีวิตผู้ที่นำความเดือดร้อนมาสู่ชีวิตของเขา

           อย่างไรก็ตาม หลวงนฤบาลไม่ใช่ตัวละครหลักเพียงตัวเดียว ถ้าจะมองให้ดีแล้วเรื่องราวในนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของวไลและหลวงปราโมทย์พอๆกับหลวงนฤบาลเลยทีเดียว ตัวละครของวไลและปราโมทย์มีหน้าที่สำคัญในการนำเสนอความคิดเรื่องการแต่งงานกับสังคมไทย และดอกไม้สดเล่าเรื่องของวไลและปราโมทย์ผ่านชีวิตของหลวงนฤบาลได้อย่างแนบเนียน ทั้งการหวนระลึกถึง ทั้งในข้อความในรูปจดหมายโต้ตอบ และผ่านประสบการณ์ที่ได้พบปะกันโดยตรง ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าตัวละครหลวงนฤบาลนั้นได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวของเรื่อง และถือเป็นตัวละครที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของวไล และหลวงปราโมทย์ ได้เลยทีเดียว

          ตัวละครผู้หญิงในเรื่องชัยชนะของหลวงนฤบาลนั้นโดดเด่นเช่นเดียวกับผลงานเรื่องอื่นๆของ ดอกไม้สดและในเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” นั้น ดอกไม้สดก็ได้แสดงตัวละครเพศหญิงที่ฉลาดและรู้เท่าทัน อมราเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน อมรามองปัญหาในชีวิตแต่งงานของพี่สาวอย่างทะลุปรุโปร่ง เห็นได้จากจดหมาย

“คนสำคัญฝ่ายหนึ่งมีนิสัยที่เห็นชัดอยู่สามอย่าง ปากหวาน เจ้าชู้และเคารพต่อความอ่อนแอของเพศตรงข้าม ....อีกฝ่ายหนึ่งหยิ่งนิดๆ มีความตั้งใจดี รู้จักอดทน เมื่อตั้งใจจะอดทน และมีทิฐิแรงกล้าซึ่งอาจพาให้ทำอะไรผิดทางก็ได้”

นอกจากนั้นอมรารู้เท่าทันว่าการขอร้องดังกล่าวอาจทำให้หลวงนฤบาลลำบากใจ จึงเขียนว่า

“การที่กล้ารบกวนมาเช่นนี้ ดิฉันยึดหลักข้อที่ใจมนุษย์ส่วนมากย่อมเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์และเวลา ถ้าป๋าอยู่ในจำนวนมนุษย์ส่วนน้อยคือส่วนที่พิเศษ ส่วนที่จะหาเหมือนได้โดยยาก ก็เท่ากับดิฉันมาแกล้งให้ป๋าได้รับความกระทบกระเทือนทางใจอย่างรง ดิฉันขอกราบมาแทบฝ่าเท้าโปรดอภัยให้เด็กที่ป๋าเคยได้อุปถัมภ์มาจนได้เป็นสุขจนทุกวันี้ และโปรดถือเสียว่าดิฉันไม่ได้ร้องเรียนอะไรมาเลย”

นุชคืออีกตัวอย่างตัวละครผู้หญิงที่มีความกล้าพูด กล้าทำ ผิดกับผู้หญิงไทยนั้นมักอ่อนหวานและสงวนท่าที นุชแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ยกตัวอย่างเช่น

“ตายจริง! ผู้หญิงไม่ใช่ของนี่คะ”

“แหม ยังงี้ไม่เอาหรอก ดูถูกกันเหลือเกินนะ แหม เกลียด อัมพรช่วยว่าที ว่าเจ็บๆ อยู่ดีๆ เบื่อเมียเหมือนเบื่อของ ผู้หญิงทำไมไม่รู้จักเบื่อสามีล่ะคะ?”

วไลเองก็เป็นตัวแทนผู้หญิงที่ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไป เพราะเป็นผู้หญิงที่กล่าวได่เลยว่ากล้าที่จะแหกกฏของสังคมในสมัยนั้นโดยตัดสินใจขอเลิกกับสามีของตน แม้สุดท้ายวไลจะกลับมาคืนดีกับสามีแต่วไลเองก็นับได้ว่าเป็นผู้หญิงที่รู้ประเมินทางเลือกในชีวิตตนเอง และตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง วไลตัดสินใจกลับไปคืนดีกลับปราโมทย์หลังจากได้ไตร่ตรองด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้ถึงพี่น้องจะพูดจาหว่านล้อมอย่างไรก็ไม่มีผล ถ้าตัววไลไม่ยอมคืนดี ความเป็นตัวของตัวเองนี่เองที่ทำให้วไลยอมอยู่ถึงแม่หม้ายถึง 5ปี ทั้งๆที่ในเวลานั้นสังคมก็ยังรับไม่ได้กับการหย่าร้างหรือการแยกกันอยู่ต่างจากปัจจุบัน เรียกได้ว่าตัวละครเพศหญิงของดอกไม้สดนั้นมีความคิดล้ำสมัยมากทีเดียว

นวนิยายสะท้อนภาพสังคม
            วรรณกรรมทุกชนิดเปรียบได้เป็นกระจกสะท้อนสังคม นวนิยายซึ่งถือเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งก็เป็นผลิตผลของนักเขียนที่มีภาพสะท้อนของสังคมที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ นวนิยายเรื่องนี้ของดอกไม้สดก็ได้แสดงให้เห็นภาพชีวิตสังคมไทยในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ในหลายแง่มุม

            ในเรื่องการแต่งงานกับสังคมนั้น ดอกไม้สดแสดงให้เห็นว่า ณ เวลานั้นคนไทยยังรับไม่ได้กับการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ระหว่างสามีภรรยาโดยผ่านเรื่องราวของวไลและปราโมทย์ จะเห็นได้ว่าหลายคนพยายามเกลี้ยกล่อมให้วไลกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับปราโมทย์ ถึงแม้ปราโมทย์จะเคยทำร้ายจิตใจวไลด้วยการมีเมียน้อย จดหมายของหลวงนฤบาลเองคือตัวอย่างความคิดทำนองนี้ เขาเขียนถึงอมราว่า

“เธอ (วไล) ยังเป็นสาวพริ้ง ได้ชื่อว่าเป็นแม่ม่ายผัวร้าง ดูก็ไม่เป็นเกียรติสักนิดเลย”

ถึงแม้วไลจะมีสองทางเลือก หนึ่งคือหลวงนฤบาลซึ่งเปรียบเสมือน“ทางเตียนรื่น”และปราโมทย์ซึ่งเหมือนกับ “ทางรกประกอบด้วยหนามและสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กตัวน้อย” แต่ทุกคนก็ผลักดันให้วไลกลับไปอยู่กับปราโมทย์โดยให้เหตุผลว่าให้เห็นแก่หนูศุภวิทย์ซึ่งเป็นลูก คนไทยมองว่าถึงแม้จะเกิดปัญหาและผิดใจกัน คู่สามีภรรยาต้องเอาชนะทิฐิมานะของตนเองเพื่อรักษาชีวิตแต่งงานเอาไว้

              ในเรื่องครอบครัว นวนิยายเรื่องนี้แสดงภาพครอบครัวขยายของคนไทยได้เป็นอย่างชัดเจน เรื่องนี้ยังแสดงการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในครอบครัวใหญ่ แสดงลักษณะพิเศษของครอบครัวไทยที่พ่อแม่พี่น้องจะช่วยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆไปจนถึงเรื่องระหว่างสามีภรรยา ตัวอย่างเช่น การที่อำนวยเขียนจดหมายไปขอร้องให้หลวงนฤบาลประสานรอยร้าวในชีวิตสมรสของปราโมทย์น้องชายและวไล

            บทบาทของสตรีในสังคมก็เป็นสิ่งที่ดอกไม้สดนำเสนออย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ดอกไม้สดชี้ให้เห็นความคิดและบทบาทของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อัมพรเป็นตัวอย่างผู้หญิงทันสมัย แทนที่จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเหมือนผู้หญิงทั่วไปในสมัยนั้น เธอได้รับการศึกษาแบบตะวันตก และทำงานเป็นครู อัมพรเป็นตัวอย่างผู้หญิงที่รู้จักตนเองและมีอิสระในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตตนเอง เธอเลือกที่จะออกจากบ้านมาทำงานในต่างจังหวัดเพียงลำพัง

“คุณหลวงอาจจะเห็นว่าดิฉันเป็นคนเห็นแก่ตัวที่สุด เรียกร้องอะไรๆจากคนอื่นมากเกินไป จนเขาให้ไม่ได้ แล้วก็ครวญครางว่าตัวคนเดียว อันที่จริงดิฉันไม่เคยบ่นถึงเรื่องนี้เลย และไม่เคยเรียกร้องอะไรจากใครด้วย ขออย่างเดียวแต่ให้เขาปล่อยดิฉันเป็นอิสระ ทำอะไรตามชอบใจเท่านั้น”

ตัวละครผู้หญิงที่เหลือไม่ว่าจะเป็น วไล อมรา หรือ นุช ถึงแม้จะแต่งงานและไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ทั้งสามคนก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ใต้อาณัติของสามี พวกเธอออกจากบ้านไปสังคมและมีชีวิตเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ในชีวิตสมรส ผู้หญิงในเรื่องนี้ยังมีสิทธิที่จะตัดสินใจแทนตนเองและสามี ยกตัวอย่างเช่น

“มรืนนี้ตอนค่ำ คุณมีโปรแกรมจะทำอะไรบ้างไหม?”

สามีภรรยาตอบพร้อมกันว่าไม่มี ข้าหลวงจึงพูดต่อไป

“ถ้างั้นเชิญมารับประทานข้าวเย็นกับผมได้ไหม?”
“ได้ซีคะ”นุชตอบทันที “ขอบพระคุณมาก”

         ถึงอย่างไรก็ตามตัวละครผู้หญิงของ ดอกไม้สดไม่ใช่ตัวแทนของผู้หญิงส่วนมากในสังคมขณะนั้น นวนิยายของดอกไม้สดนั้นมุ่งเสนอภาพชีวิตของคนในสังคมชั้นสูง ตัวละครทุกตัวต่างมีการศึกษาและชาติตระกูล รวมทั้งสังคมที่ดอกไม้สดนำเสนอในเรื่องนี้ก็ถือเป็นสังคมของคนเมือง ถึงแม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นในหัวเมือง แต่ตัวละครที่คบหากันต่างเป็นคนเมืองทั้งสิ้น ดอกไม้สดนำเสนอสังคมในระดับนี้ก็เพราะเติบโตและมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างนี้ ดอกไม้สดเองก็เป็นผู้หญิงในระดับเดียวกับ วไล อมรา และนุชซึ่งเป็นตัวละครที่แสดงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของบทบาทสตรีในสังคมไทย ถ้าจะว่าไปแล้วบุคลิก ลักษณะและความคิดของผู้หญิงทั้งสามนั้นถึงจะเป็นส่วนน้อยในสมัยนั้น แต่ก็คล้ายกับผู้หญิงส่วนมากในปัจจุบัน นับได้ว่าดอกไม้สดนั้นเป็นผู้เผยให้เห็นแนวทางบทบาทของสตรีที่จะเป็นไปในอนาคตให้สังคมไทยเห็นก่อนใครเลยทีเดียว

          โดยรวมแล้วนวนิยายเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” นี้นับได้ว่าเป็นนวนิยายชิ้นเอกเรื่องหนึ่งของดอกไม้สดได้เลยทีเดียว เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นทั้งเรื่องข้อคิด การเป็นนวนิยายครอบครัว และการสะท้อนภาพของยุคสมัย เหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ของดอกไม้สดสามารถเป็นนวนิยายที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งที่ยังรักษาคุณค่านั้นของตัวเองไว้ได้ตราบถึงปัจจุบันที่ยังมีคนอ่าน และกล่าวถึงงานของดอกไม้สดอยู่เสมอ

หมายเลขบันทึก: 546279เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดอกไม้ สดเขียนถึง นครสวรรว์ เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ได้งดงาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท