ชัยชนะของหลวงนฤบาล: ชัยชนะยิ่งใหญ่เหนือใจตนเอง1


โดย กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ และจุฑาธัช จันทรพงศ์  

         “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ดอกไม้สดแต่งไว้เป็นเรื่องต่อจาก นวนิยายเรื่อง “กรรมเก่า” และ “ความผิดครั้งแรก” โดยเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” นี้เป็นเรื่องของ “หลวงนฤบาลบรรเทิง” ข้าหลวงประจำจังหวัดนครสวรรค์ผู้เพรียบพร้อมในทุกด้านยกเว้นเสียแต่เรื่องเดียวก็คือเรื่องความรัก เพราะเขาหลงรัก “วไล”ซึ่งได้ตัดสินใจแต่งงานไปแล้วกับ “หลวงปราโมทย์” ผู้ที่มีนิสัยเจ้าชู้อันส่งผลให้วไลขอเลิกกับเขาในที่สุดดังที่ปรากฏในเรื่อง “ความผิดครั้งแรก” เรื่องราวในนวนิยายเรื่องนี้ดำเนินมาถึงตอนที่หลวงปราโมทย์อยากขอคืนดีกับภรรยาของตน จึงขอความช่วยเหลือจากบรรดาญาติๆของวไล หลวงนฤบาลเองก็ได้กลายเป็น “เครื่องมือ” ของญาติวไลที่สนิทสนมและนับถือตนซึ่งคือ “อมรา” โดยอมราหวังให้เขาช่วยเชื่อมสัมพันธ์ของสองสามีภรรยา แม้สิ่งที่อมราขอร้องจะเป็นเรื่องที่ยากและขัดต่อความรู้สึกของตนที่มีต่อวไล หลวงนฤบาลก็ได้ยับยั้งชั่งใจตัวเองและช่วยให้ทั้งสองคืนดีกันได้ในที่สุด

           เช่นเดียวกับผลงานเล่มอื่นๆของดอกไม้สดนวนิยายนิยายเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” ถือเป็นผลงานชิ้นหนึ่งของนักเขียนหญิงผู้นี้ที่มีแง่มุมให้กล่าวถึงในหลายแง่มุมด้วยกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแง่มุมที่มีความน่าสนใจและแสดงถึงลักษณะเด่นของความเป็นงานของ “ดอกไม้สด”ออกมาได้อย่างครบถ้วน

ชัยชนะที่แฝงด้วยข้อคิด
          นวนิยายทุกเรื่องย่อมมีองค์ประกอบที่สำคัญที่เรียกว่า “แก่นเรื่อง” ด้วยกันทั้งนั้น เนื่องจาก “แก่นเรื่อง” นี้ ถือเป็น “สาระ” หรือ “ข้อคิด” ที่ผู้เขียนต้องการส่งผ่านไปยังผู้ที่อ่านงานของตน เรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” ของดอกไม้สดเล่มนี้ก็ถือเป็นนวนิยายที่มี “ข้อคิด” ประกอบอยู่ โดยผู้เขียนได้แย้มถึง “ข้อคิด” นั้นตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยทีเดียว

         จากชื่อเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” ก็ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับตนเองแล้วว่า “ชัยชนะที่ว่านี้เป็นชัยชนะเหนือสิ่งใด” แต่จากคำบาลี “โย สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน เอกญฺจเชยฺยมตฺตานำ สฺเว สงฺคามชุตฺตโมฯ” ที่ยกมาต้นเรื่อง ตลอดจนการอ่านเรื่องไปจนถึงตอนสุดท้ายที่จบลงด้วยโคลงโลกนิติที่ว่า

     “คนใดคนหนึ่งผู้ ใจฉกรรจ์
เคียดฆ่าคนอนันต์     หนักแท้
ไป่ปานบุรุษอัน        ผจญจิต เองนา
เธียรท่านเยินยอแล้    ว่าผู้มีชัย”

        เหล่านี้ทำให้ผู้อ่านค้นพบได้ในที่สุดว่า “ชัยชนะ” ที่ดอกไม้สดกล่าวถึงในชื่อเรื่องนั้น แท้จริงแล้วเป็น “ชัยชนะเหนือใจของตนเอง” ซึ่งถือว่า เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ได้มาด้วยความยากยิ่ง หลวงนฤบาลแม้จะยังรักวไลอยู่มากแต่ก็ยอมหักใจและทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล่าวคือ ช่วยทำให้สามีภรรยาซึ่งก็คือ วไล และหลวงปราโมทย์กลับมาคืนดีกันได้สำเร็จ แม้เขามีโอกาสที่สามารถขจัดหลวงปราโมทย์ซึ่งถือเป็นศัตรูของความสุขของเขาให้พ้นทางตอนที่หลวงปราโมทย์ตกน้ำ แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำ ดังจะเห็นได้จากความคิดตอนที่เขากำลังจะช่วยหลวงปราโมทย์ที่กำลังจะตกน้ำดังนี้

“... ‘ขวากสุดท้าย’ เป็นเสียงกระซิบภายใน! ..ดุมที่ ๔ ที่ ๕ หนทางโล่ง ขอหนึ่งขอสอง ‘กล้าหรือบ้า?’ วื้ด หลวงนฤบาลเหวี่ยงเสื้อไปทางหนึ่ง... ‘ปล่อยให้ตายแล้วตัวสบาย หรือพลอยตายกลับเขาด้วย?’...”

           แม้จะเห็นว่าหลวงปราโมทย์เป็น‘ขวากสุดท้าย’แต่หลวงนฤบาลก็ตัดสินใจเลือกที่จะช่วยชีวิตเขาเพราะคำนึงถึงความถูกต้อง และยิ่งเขาเห็นว่าตัววไลเองก็ยังรัก และอาลัยในตัวหลวงปราโมทย์ที่คอยตามง้อขอคืนดีอยู่มากโดยเฉพาะหลังจากเห็นวไลเป็นลมตอนทราบข่าวหลวงปราโมทย์จมน้ำหลวงนฤบาลก็ยิ่งให้การยืนยันกับตัวเองว่าเป็นการกระทำที่ถูกที่ควรที่เขาจะช่วยให้คนที่รักกัน และเคยได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนมีลูกเป็นพยานรักได้กลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิม แม้ว่าหลวงนฤบาลจะรักวไลมากเพียงใดแต่สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะยับยั้งใจของตนเอง ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และทำในสิ่งที่เป็นผลดีต่อคนที่เขารักมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากคำพูดของเขาที่มีต่อวไล ดังนี้

           “เพราะผมเป็นมิตรของคุณ จึงพยายามช่วยคุณให้ต่อสู้กับทิฐิของคุณเอง... ผมรักคุณปานชีวิต แต่ผมไม่มีโอกาสที่จะให้ความสุขแก่คุณด้วยตัวของผมเอง จึงพยายามจะให้คุณได้รับความสุขจากคนที่เขามีโอกาสดีกว่าผม... ผมจึงอยากให้คุณดีกับหลวงปราโมทย์ มีพี่ มีน้อง มีพ่อ มีลูก และมีสามีครบทุกอย่าง คุณจะกลับเป็นสุขอย่างเมื่อแรกแต่งงาน และผมจะเป็นสุขก็ต่อเมื่อได้เห็นความสุขของคุณบริบูรณ์เช่นนี้...”

            อย่างไรก็ตาม อาจจะกล่าวได้ว่า “ชัยชนะ” ของเรื่องนี้คงไม่ใช่ “ชัยชนะ”ของหลวงนฤบาลแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังเป็นชัยชนะของคู่ของวไลและหลวงปราโมทย์ด้วย เพราะทั้งสองต่างก็ได้เอาชนะนิสัยของตนเองที่เป็นชนวนของปัญหาชีวิตคู่ วไลก็ได้เอาชนะใจที่เต็มไปด้วยทิฐิมานะของตน และหลวงปราโมทย์ก็ได้เอาชนะนิสัยเจ้าชู้ของตนได้ และผลของชัยชนะของทั้งสองคนก็ได้ช่วยให้ทั้งสองกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้ง ชัยชนะเหนือใจตนเองของคนทั้งคู่จึงถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับชัยชนะของหลวงนฤบาล

            นอกจากข้อคิดเรื่องการชนะใจตนเองแล้วดอกไม้สดยังได้สอดแทรกข้อคิดอีกข้อหนึ่งซึ่งถือเป็นข้อคิดที่เป็นสามัญพบได้ในวรรณกรรมทุกยุคทุกสมัย และยังเป็นข้อคิดที่ได้จากหลักธรรมของศาสนาพุทธอีกด้วย ข้อคิดดังกล่าวคือ “การทำดีได้ดี” จะเห็นได้ว่า หลวงนฤบาลผู้ที่ประกอบแต่คุณงามความดี ทำสิ่งต่างๆเพื่อผู้อื่นมากมาย สุดท้ายก็ได้รับสิ่งดีๆตอบแทน กล่าวคือ ได้แต่งงานกับอัมพรซึ่งเป็นคนดีและเหมาะสมกับตน “ดอกไม้สด” ได้นำเสนอข้อคิดดังกล่าวอย่างชัดเจนในตอนสุดท้ายของเรื่องซึ่งเป็นห้วงความคิดของวไล ดังนี้

“คิดถึงเวลาที่เจ้าบ่าวจะย่างเท้าเข้าในห้อง พบเจ้าสาวปกคลุมร่างกายด้วยเครื่องขาวบริสุทธิ์อุปมาด้วยความบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์ใจปรากฎเป็นรูปธรรมให้เห็นชัด เป็นรางวัลอันประเสริฐ คู่ควรแก่ผู้รับผู้ซึ่งมีชีวิตอันสะอาดหารอยมลทินมิได้!”

ชัยชนะของหลวงนฤบาล: นวนิยายครอบครัว
            จากการที่ ดอกไม้สดหรือ หม่อมหลวงบุบผา นิมมานเหมินท์ (สกุลเดิม กุญชร) ได้รับการเลี้ยงดู และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางครอบครัวใหญ่ในวัง จึงทำให้นักเขียนหญิงผู้นี้สามารถเขียนตีแผ่เรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยงานของดอกไม้สดนั้นจะนำเสนอเรื่องราวของความรัก ความผูกพันในครอบครัว ในเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” นี้เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวละครในครอบครัวใหญ่ นอกจากนี้ในนวนิยายครอบครัวของดอกไม้สดยังได้นำเสนอถึงเรื่อง การแต่งงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดอกไม้สดมักจะให้ข้อคิดที่น่าสนใจ และมีความเชื่อมโยงกันจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งแก่ผู้ที่อ่านงานของตน โดยสื่อความคิดเหล่านั้นผ่านงานเขียนของตน ดังเช่น ในเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ดอกไม้สดได้นำเสนอข้อคิดที่ว่า “การแต่งงานต้องมาจากความรัก และความเหมาะสม” แต่ในเรื่อง “ความผิดครั้งแรก”นั้น ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า “หากชีวิตการแต่งงานมีปัญหาก็อาจเลิกรากันได้” แต่อย่างไรก็ตามความคิดเรื่องการแต่งงานของ ดอกไม้สด ที่สะท้อนอยู่ในเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” นี้ได้แสดงให้เห็นว่า “ปัญหาชีวิตคู่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับตัวเข้าหากัน”

            คู่แต่งงานที่มีปัญหากันเช่นคู่ของวไลและหลวงปราโมทย์ก็ต้องยอมพบกันคนละครึ่งทาง เมื่อปัญหาของวไลคือการมีทิฐิมานะสูงไม่ยอมให้อภัยต่อความผิดของสามีโดยง่ายและปัญหาของหลวงปราโมทย์คือนิสัยเจ้าชู้ วิธีการแก้ปัญหาของคนทั้งคู่ก็คือต่างฝ่ายต้องประนีประนอมต่อกัน กล่าวคือ วไลจะต้องยอมลดทิฐิมานะของตน และหลวงปราโมทย์ต้องยอมเลิกนิสัยเจ้าชู้ เมื่อทั้งสองสามารถปรับนิสัยที่เป็นปัญหาต่อชีวิตคู่ได้แล้ว ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามในกรณีของวไลและหลวงปราโมทย์นั้น เราอาจจะกล่าวได้อีกว่า ปัจจัยเรื่อง “ลูก” เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งเลยก็ว่าได้ที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองไว้ ดังจะเห็นได้จากความคิดของวไล และหลวงปราโมทย์ ดังนี้

           หลวงปราโมทย์เมื่อพบกับลูกซึ่งก็คือหนูศุภวิทย์โดยบังเอิญที่ศาลาเฉลิมกรุงก็กลับไปคิดตรึกตรองถึงชีวิตครอบครัวของตนของตน

“คืนนั้นและคืนอื่นอีกหลายคืน แทบจะกล่าวได้ว่าหลวงปราโมทย์ไม่มีใจคิดถึงสิ่งอื่น นอกจากหนูศุภวิทย์ วไล และตนเอง ครั้นแล้ววันหนึ่ง หลวงปราโมทย์ก็ตกลงกับตัวเองว่าเขาจะต้องได้วไลคืนมาเป็นภรรยาของเขาอีก”

           ส่วนวไลที่แท้จริงแล้วก็มีใจให้กับหลวงนฤบาลอยู่บ้าง แต่เธอก็เลือกที่จะคืนดีกับสามีโดยมีเหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ “ลูก”

“บางคราวเมื่อได้ครุ่นคิดถึงตัว และคิดถึงชายหนุ่มอีก๒นายอยู่นานหนักเข้า วไลรู้สึกเหมือน เห็นตัวเองยืนอยู่ระหว่างทาง๒แพร่ง ทางขวาเตียนรื่น งามซึ้งประดุจเวลากลางคืนเมื่อจันทร์เพ็ญ บุรุษหนึ่งท่วงทีสง่างาม อ้ามือคอยรับอยู่ปลายทาง ทางซ้ายครึกครื้นด้วยแสงประทีปมีประกายกล้า ริมทางล้วนแล้วด้วยไม้ดอกหนามหนา ชายหนุ่มท่าทางประเปรียวเปรื่องปราชญ์ยืนพยักเรียกอยู่อย่างเร่งร้อน วไลชะแง้ดูทางขวาด้วยอาวรณ์ แต่เด็กชายหน้าตาสะสวยปรากฏตัวขึ้นทางซ้าย พ่อก็เรียก ลูกก็ร้องหา ทางขวาหายวับไปทันใด!”

           สำหรับดอกไม้สดแล้วความร้าวฉานระหว่างพ่อแม่นั้นมีผลต่อลูกมาก ดอกไม้สดได้เน้นย้ำถึงประเด็นเรื่องผลพวงจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ผ่านทางเรื่องราวของหนูพัจน์ เมื่อพ่อของหนูพัจน์ตายและแม่มีสามีใหม่ดอกไม้สดบรรยายว่า

“แต่ตาพัจน์เป็นเป็นเด็กประหลาดรู้ความเกินตัว เกลียดพ่อเลี้ยงเสียจริงๆละไม่ลดให้ข้อเขาเสียเลย ข้างฝ่ายพ่อเลี้ยง เมื่อเด็กแข็งกับเขาก่อน เขาก็อำนาจเอาบ้าง ตี ทำโทษให้อดขนม เอาเข้าห้องขัง ก็ยังปราบไม่ลง”

                นอกจากเรื่องของการแก้ไขปัญหาชีวิตคู่โดยการปรับตัวแล้วดอกไม้สดยังได้ย้ำถึงเรื่อง “ความเหมาะสม” ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกคู่ครอง โดยสื่อความคิดดังกล่าวผ่านทางคู่ของหลวงนฤบาลและอัมพร หลวงนฤบาลผู้ชายที่มีความเพียบพร้อมในทุกด้าน แต่เป็นผู้ชายที่ถือได้ว่ามีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายคงไม่เหมาะกับวไลซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีความสวยรวยเสน่ห์และมีวิถีชีวิตที่ต่างไปจากเขา หลวงนฤบาลนั้นเหมาะสมกับอัมพรผู้ซึ่งมีความเพียบพร้อมและมีวิถีชีวิตเหมือนตนมากกว่า ดังนั้นในความเห็นของ“ดอกไม้สด”จึงเป็นการถูกต้องแล้วที่หลวงนฤบาลจะพิจารณาเลือกคู่ครองของตนจากคูณสมบัติที่เหมาะสมกับตน ดังจะเห็นจากบทที่คัดลอกมาดังนี้

“ความจริงนั้นใช่ว่าหลวงนฤบาลจะไม่มีความพอใจในอัมพรเสียเลย รูปโฉมของอัมพรก็สะคราญตา กิริยาท่าทางของเจ้าหล่อนก็ถูกใจหลวงนฤบาลมากอยู่ นิสัยใจคอของหล่อนหรือเมื่ออมราผู้ซึ่งมีนิสัยดีพร้อม ยกย่องว่าดี หลวงนฤบาลก็วางใจได้ และตามธรรมดาของคนฉลาดย่อมนิยมคนฉลาด...หลวงนฤบาลรู้ประจักษ์ว่าอัมพรเป็นหญิงฉลาดหลักแหลม ความนิยมในอัมพรในส่วนนี้ก็ต้องมีอยู่ในใจหลวงนฤบาลเป็นธรรมดา”

           อาจกล่าวได้ว่าความรักที่หลวงนฤบาลมีต่อวไลนั้นเป็นความรักในสิ่งที่อยู่ภายนอก แต่ความรักที่หลวงนฤบาลมีต่ออัมพรได้เกิดจากความพอใจในสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจและเติบโตกลายเป็นความรัก ซึ่งดอกไม้สดชี้ให้เห็นว่า ความรักในลักษณะหลังนั้นเป็นความรักที่จะช่วยให้ชีวิตคู่ยืนยาวได้กว่าความรักในลักษณะแรก สุดท้ายแล้วความพอใจในตัวอัมพรของหลวงนฤบาลก็ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นความรัก และนำพาทั้งคู่ไปสู่การเริ่มต้นชีวิตคู่ที่มีความสุข ด้วยทั้งสองฝ่ายสามารถส่งเสริมกันได้ทั้งส่วนจิตใจ ส่วนตัว และการงาน

             อย่างไรก็ตามดอกไม้สดก็ยังได้ให้ข้อคิดอีกเรื่องเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงาน อนึ่ง ด้วยนวนิยายของดอกไม้สดนั้นเป็นนวนิยายครอบครัวซึ่งเน้นความผูกพันในครอบครัวใหญ่ การแต่งงานจึงต้องขึ้นอยู่กับญาติพี่น้องด้วยเช่นกัน เพราะสำหรับนักเขียนผู้นี้แล้ว แรงสนับสนุนจากญาติพี่น้องเป็นสิ่งสำคัญทั้งต่อการชักพาให้คนสองคนมารักและแต่งงานกัน และการช่วยให้คนสองคนที่มีปัญหาชีวิตคู่กลับมาปรองดองกันได้ ดังบทที่ผู้เขียนได้เปรียบเทียบชีวิตคู่กับละคร และญาติพี่น้อง ก็เปรียบได้ดั่งผู้ชม

“ ...ชีวิตของมนุษย์ที่ยังไม่มีคู่เป็นฝั่งเป็นฝานั้นอุปมาดั่งเรื่องละครที่ผู้แสดงค้างไว้เพียงครึ่งเรื่อง คนดูละครไม่พอใจกับละครที่ไม่จบฉันใดวงศ์ญาติของมนุษย์ผู้หนึ่งก็ย่อมกังวลกับการอยู่คนเดียวของมนุษย์ผู้นั้นฉันนั้น... ส่วนชีวิตของหญิงที่ต้องหย่าร้างจากสามีนั้นเล่าเปรียบได้กับละครเรื่องสลดใจ...หากว่ามีอำนาจและสิทธิที่จะแก้เรื่องได้ในบัดนั้น ก็คงจะมีสัก ๙๐ ส่วนใน ๑๐๐ ส่วนของจำนวนคนดูทั้งหมดที่จะลงมือทำการแก้เรื่องละครให้จบตามความพอใจของตน”

           จะเห็นได้ว่า การแต่งงานของหลวงนฤบาลและอัมพรนั้นเกิดขึ้นได้จากชักพาของอมราซึ่งนับถือหลวงนฤบาลเหมือนญาติผู้ใหญ่ และที่เห็นได้ชัดคือ การที่หลวงปราโมทย์สามารถขอคืนดีกับวไลได้สำเร็จก็ด้วยความช่วยเหลือของญาติๆของทั้งสองฝ่าย หลวงปราโมทย์เมื่อไม่สามารถเข้าถึงตัววไลได้ด้วยตนเองก็เข้าหาทางเพื่อนและญาติของวไลแทน ซึ่งเพื่อนและญาติของวไลก็เห็นว่าหลวงปราโมทย์เลิกนิสัยเจ้าชู้แล้วจึงเห็นดีเห็นงามด้วยและยอมช่วยเหลือหลวงปราโมทย์โดยร่วมกันวางแผนให้วไลเดินทางไปพบกับหลวงปราโมทย์ที่นครสวรรค์ จนทั้งสองคนก็สามารถกลับมาคืนดีกันได้ในที่สุด

จากเรื่อง “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” จะเห็นได้ว่า ดอกไม้สดได้ให้ข้อคิดเรื่องการแต่งงานไว้หลายประการ กล่าวคือ การแต่งงานต้องเริ่มมาจากความรักและความเหมาะสม และเมื่อมีปัญหาต่างฝ่ายต่างก็ต้องพยายามปรับตัวเข้าหากันเพื่อที่จะประคับประคองชีวิตคู่ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ทั้งนี้แรงสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัวก็ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการแต่งงานเช่นเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 546278เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท