การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G


การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร

 

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                    การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การศึกษายังเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้และสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง รู้จักคิด วิเคราะห์ และการแก้ปัญหา การจัดการเรียนรู้
โดยเน้นวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายจากแหล่งและสื่อต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การเป็นบุคคลแห่ง
การเรียนรู้ รักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (กระทรวงศึกษาธิการ, 2545 : 3)

                   ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในวงการศึกษาว่า ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน การศึกษาค้นคว้าที่ทุกโรงเรียนต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เป็นแหล่งความรู้ และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้เน้นให้ทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ปฏิรูปการศึกษายึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ กล่าวคือ การศึกษา หมายความว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคล สังคม โดยการถ่ายทอดความรู้จากการฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ โดยเฉพาะหมวด 4 ได้บัญญัติแนวการจัดศึกษามาตรา 24 (3) ที่กำหนดว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน เกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง และมาตรา 25 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬาและนันทนาการ แหล่งข้อมูล และแหล่งการเรียนรู้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ (ราชกิจจานุเบกษา, 2545 : 21-26)

                   ดังนั้น ห้องสมุดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนในสถานศึกษา เพราะเป็นศูนย์รวมของวิชาการทั้งปวง เป็นงานที่ส่งเสริมให้บริการทางวิชาการ ทั้งครูอาจารย์เป็นการส่งเสริมการสอนของครู เป็นสถานที่สำหรับครูใช้ศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าด้วยตนเอง เตรียมบทเรียนเพื่อจัดการเรียนการสอน และเป็นสถานที่ที่นักเรียนสามารถแสวงหาความรู้ทั้งจากงานที่ครูมอบหมายและความรู้ด้านอื่น ๆ ที่นักเรียนมีความสนใจ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ปลูกฝังการรักการอ่านหนังสือ การใช้เวลาว่างใหเป็นประโยชน์ โดยสามารถที่จะศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ห้องสมุดจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง ห้องสมุดจึงจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาให้มีความพร้อมสมบูรณ์ มีความทันสมัย อันจะส่งผลไปสู่คุณภาพของนักเรียนที่จะได้มาซึ่งการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหลาย

                      จากผลการสำรวจทัศนะคติเด็กไทยที่มีต่อการเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย พบว่า เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่านต่ำเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่อ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการที่เด็กได้รับสื่อจากทางอินเทอร์เน็ต ทีวี และสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาความรู้ในหนังสือหรือตำราที่มีความหลากหลายและมีความจำเป็น
ต่อการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ทัศนะต่อการไปเรียนหนังสือ พบว่า ในปี 2551 เด็กอยากไปโรงเรียนร้อยละ 38 ซึ่งลดลงจากเดิม โดยในปีที่ผ่านมาเด็กอยากไปโรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 43 ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาครึ่งชีวิตที่ตื่นประมาณ 7-8 ชั่วโมง หมดไปกับการเล่มเกม ดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต ความบันเทิงไร้สายต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้
เข้ามาป่วนทำลายสมาธิของเด็กมากขึ้น (อมรวิชช์ นาครทรรพ, 2553 : 14)

                     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแล บริหารจัดการ พัฒนาโรงเรียนในสังกัด ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีขนาดและจำนวนนักเรียนแตกต่างกัน มีทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนทุกแห่งพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพผู้เรียน
ให้มีความรอบรู้ ทันเหตุการณ์ เป็นบุคคลที่มีนิสัยรักการอ่านการค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวประสบผลสำเร็จมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน จึงได้นำข้อมูลจากการสำรวจเรื่องห้องสมุดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และงานวิจัยร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เรื่อง รายงานผลการสำรวจข้อมูล
การเรียนรู้ข่าวสารผ่านทางห้องสมุดโรงเรียน ปีพ.ศ. 2549 มาจัดทำเป็นมาตรฐาน ทั้งนี้โดยให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและสอดคล้องกับการประเมินคุณภาพของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งมาตรฐานห้องสมุดโรงเรียนที่กำหนดจึงเป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ดำเนินการพัฒนาห้องสมุดในโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวด คือ หมวดที่ 1 มาตรฐานด้านผู้บริหาร หมวดที่ 2 มาตรฐานด้านครู หมวดที่ 3 มาตรฐานด้านผู้เรียน และหมวดที่ 4 มาตรฐานด้านทรัพยากรสารสนเทศ โดยการจัดทำมาตรฐานครั้งนี้ ได้พิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงของการดำเนินงานในโรงเรียน ซึ่งสภาพอันพึงประสงค์ของห้องสมุดโรงเรียนทุกแห่งที่ผู้ใช้มีความเห็นและมีความต้องการตรงกันก็คือ 1) มีห้องสมุดและบรรยากาศที่ดี เอื้ออำนวยในการเข้าใช้บริการ 2) มีครูบรรณารักษ์/ครูทำหน้าที่บรรณารักษ์ที่ดี มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความพร้อมในการให้บริการด้วยอารมณ์อันแจ่มใส 3) มีหนังสือที่ดี มีเนื้อหาสอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่มีเนื้อหาสนุกสนาน เพลิดเพลิน ให้ความรู้ในเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมจินตนาการ จรรโลงสังคมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2552 : 2-4)

                     โรงเรียนสุโขทัย สำนักงานเขตดุสิต สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุด จึงได้ทำการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน โดยจัดทำห้องสมุด 4G ประกอบด้วย 1) บรรณารักษ์ดี (Good Liberian) 2) หนังสือดี (Good Book) 3) บรรยากาศดี (Good Environment) และ 4) เครื่องมือสืบค้นดี (Good Tool & Technology) ซึ่งห้องสมุด 4G ของโรงเรียนสุโขทัย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 โดยพัฒนามาจากสภาพอันพึงประสงค์ของห้องสมุดโรงเรียนที่ผู้ใช้มีความต้องการตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำมาจัดทำเป็นมาตรฐานห้องสมุด แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ปรากฏว่ายังไม่มีเครื่องมือใดที่สามารถใช้วัด การปฏิบัติงานของห้องสมุด 4G ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการปฏิบัติงานห้องสมุด 4G ที่สามารถวัดการปฏิบัติงานได้เที่ยงตรงและมีคุณภาพ ดังนั้น ผู้วิจัยในฐานะผู้บริหารและผู้พัฒนาห้องสมุด 4G จึงมีความสนใจที่จะทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ได้มาตรฐานและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีของโรงเรียนต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                  ในการวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร ในประเด็นต่อไปนี้

                  1. เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานห้องสมุด 4G ของโรงเรียนสุโขทัย สำนักงานเขตดุสิต สังกัดกรุงเทพมหานคร
                  2. เพื่อพัฒนาแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัดกรุงเทพมหานคร
                  3. เพื่อตรวจสอบคุณภาพแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัดกรุงเทพมหานคร

 

กรอบแนวคิดในการวิจัย

                     กรอบแนวคิดในการวิจัยเป็นผลของการบูรณาการ หลักการ แนวคิดและทฤษฎี จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
                     ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยการดำเนินงานห้องสมุด 4G ของโรงเรียนสุโขทัย สำนักงานเขตดุสิต สังกัดกรุงเทพมหานคร
                    ระยะที่ 2 เป็นการสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อหาแนวทางการพัฒนาแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร
                    ระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

 

โดย.....................

ผอ.เมธีธนัช  ปะเสระกัง

ผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาบำรุง

 

หมายเลขบันทึก: 546222เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

...ดีค่ะ...วิจัยและ อ่านมากๆ จะช่วยเราให้มีองค์ความรู้ที่ดีดีนะคะ

 

 

เป็นบันทึกที่ดีมีประโยชน์มากนะคะ...ขอบคุณค่ะ

ดีมากค่ะอยากได้รายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยปัญ

หาการบิหารงานห้องสมุดโรงเรียน ขอบคุณคะ่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท