ลำดับเหตุการณ์ชีวิตของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมและครอบครัว - เด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ


ลำดับเหตุการณ์ชีวิตของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมและครอบครัว
เด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ

โดย โครงการบางกอกคลินิก
ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

----------------------------
ความเป็นมาของครอบครัว
----------------------------

นายซุลกิฟลี มูฮัมหมัด ซึ่งแสดงตนว่าเป็นอาของน้องมูฮัมหมัด เล่าว่า ครอบครัวของตนเดิมทีนั้นอาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน(เนียมไม) ชือมู่ อำเภอเกาะสอง เขตตะนาวศรี ประเทศพม่า ซึ่งปู่ชื่อ นายอาหมัด และย่าชื่อ นางอามีนะ ของน้องมูฮัมหมัด มีบุตรร่วมกัน ๔ คน คือ (๑) ลุงของน้องมูฮัมหมัด ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และประกอบอาชีพค้าขาย (๒) นายอับดุลมาเล็ก ดุลกาฟี หรือ Moedena ซึ่งเป็นบิดาของน้องมูฮัมหมัด แต่ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว (๓) นายซุลกิฟลี มูฮัมหมัด ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทย และประกอบอาชีพค้าขาย และ (๔) อาของน้องมูฮัมหมัด ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว

นายซุลกิฟลี ยืนยันว่า ตนและครอบครัวเป็นคนสัญชาติพม่า ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่ใช่คนกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงยาแต่อย่างใด

บิดาของน้องมูฮัมหมัด ชื่อ นายอับดุลมาเล็ก ดุลกาฟี (ปรากฏรายละเอียดตาม คำฟ้องคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ๕๒๑/๒๕๕๖) หรือ Moedena (ปรากฏรายละเอียดตาม คำร้องตรวจสอบการจับคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ตจ.๔๙๒/๒๕๕๖)

มารดาของน้องมูฮัมหมัด ชื่อ นางมูดีน่า ไม่ทราบนามสกุล (ปรากฏรายละเอียดตาม คำฟ้องคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ๕๒๑/๒๕๕๖) หรือ Domar (ปรากฏรายละเอียดตาม คำร้องตรวจสอบการจับคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ตจ.๔๙๒/๒๕๕๖)

ข้อสังเกต
๑. ประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องความเป็นชาติพันธุ์โรงฮิงยา : เนื่องจากรูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณของน้องมูฮัมหมัดนั้น มีลักษณะคล้ายคนชาติพันธุ์โรฮิงยา แต่อาของน้องมูกาซิมปฏิเสธว่าตนไม่ใช่คนชาติพันธุ์โรงฮิงยา แต่เป็นคนสัญชาติพม่าที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งการพิจารณาความเป็นคนชาติพันธุ์โรฮิงยานั้น จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของนักมนุษยวิทยาเข้ามาวิเคราะห์ เพื่อสร้างเกณฑ์การจำแนกในส่วนนี้ ซึ่งอาจพิจารณาถึงรูปพรรณ ภาษา และวัฒนธรรมการดำรงชีวิต

๒. ประเด็นความสัมพันธุ์ของน้องมูฮัมหมัด และอา : เนื่องจากไม่ปรากฏเอกสารใด ๆ รับรองว่าน้องมูฮัมหมัดและนายซุลกิฟลี เป็นอาและหลานกันจริง เพื่อคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็ก และป้องกันการค้ามนุษย์ จึงจำเป็นต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคำให้การของทั้งสอง อาทิ พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ โดยรู้เห็นความเป็นมาของครอบครัวนี้ หรือพยานวัตถุแสดงความสัมพันธ์ทางสายเลือด ดังเช่นการตรวจพิสูจน์ DNA

----------------------------
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๖
----------------------------

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ครอบครัวบุพการีของน้องมูฮัมหมัดได้เดินทางออกจากเกาะสองข้ามเข้ามาอาศัยอยู่ที่ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประเทศไทย ซึ่งหาเลี้ยงชีพโดยการรับจ้างทั่วไป

ภายหลังนายซุลกิฟลี ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๓๖ ถนนหน้าวัง ตำบลจะบังติด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายซุลกิฟลีมีภรรยา ๒ คน คนแรกเป็นคนไทย แต่ได้เลิกราไป และต่อมาได้อยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางอาเซีย หญิงสัญชาติพม่า (ปี พ.ศ. ๒๕๕๔) และในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน

ข้อสังเกต
๑. ประเด็นความไร้รัฐไร้สัญชาติของบุพการี : ครอบครัวของน้องมูฮัมหมัดไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนซึ่งรับรองสถานะคนสัญชาติจากประเทศพม่า และไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ครอบครัวของน้อง มูฮัมหมัดจึงประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติมาโดยตลอด

แม้ว่าครอบครัวของน้องมูฮัมหมัดจะเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ แต่กลับปรากฏว่าไม่เคยได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย มีเพียงนายซุลกิฟลี ซึ่งเพิ่งขจัดปัญหาความไร้รัฐของตนได้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยอำเภอเมืองปัตตานีได้รับรองสถานะในทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน “บัตรเลข ๐” ตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑

๒. ประเด็นการอพยพมาในประเทศไทย : เนื่องด้วยปู่และย่าของน้องมูฮัมหมัดละทิ้งที่อยู่อาศัยจากเกาะสอง ประเทศพม่า และพาบุตรทั้ง ๔ คนเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยในประเทศไทย การกระทำดังกล่าวย่อมมีเหตุผลรองรับ ซึ่งจำเป็นต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในขณะนั้น เนื่องจากการเดินทางเข้ามาอาจเกิดจากการหนีภัยความตายสงคราม หรือการหนีภัยความยากจนและหิวโหย หรือเพียงต้องการเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในประเทศไทย

----------------------------
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔
----------------------------
ในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔ น้องมูฮัมหมัด เกิดที่ซอย ๗ หมู่ ๔ ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประเทศไทย แต่เนื่องจากเกิดนอกโรงพยาบาล และเป็นการทำคลอดกันเองโดยชาวบ้าน น้องมูฮัมหมัดจึงไม่มีเอกสารรับรองการเกิด และไม่ปรากฏว่าบิดามารดาไปแจ้งเกิดน้องมูฮัมหมัดที่อำเภอแต่อย่างใด น้องมูฮัมหมัดจึงตกอยู่ในปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติเช่นเดียวกับบุพการี

ต่อมาปู่และย่าได้เสียชีวิตลง น้องมูฮัมหมัดจึงอาศัยอยู่กับบิดาและมารดาเพียง ๒ คน

ข้อสังเกต
ประเด็นความไร้รัฐไร้สัญชาติของน้องมูฮัมหมัด : เนื่องจากน้องมูฮัมหมัดเกิดนอกโรงพยาบาล โดยหลักแล้วบุพการีต้องแจ้งต่อกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ออกใบรับแจ้งเกิด (ท.ร.๑/๑ ตอนหน้า) ตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ จากนั้นจึงไปแจ้งเกิดต่ออำเภอ ตามมาตรา ๑๘ และอำเภอมีอำนาจหน้าที่ออกสูติบัตรให้น้องมูฮัมหมัด ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่ปรากฏว่าน้องมูฮัมหมัดตกหล่นจากทะเบียนคนเกิด เนื่องจากบุพการีไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย จึงประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ

----------------------------
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๘
----------------------------

ในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๘ บุพการีของน้องมูฮัมหมัดได้เสียชีวิตลง ซึ่งบิดาเสียชีวิตเนื่องจากอาการแน่นหน้าอก ส่วนมารดานั้นเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ น้องมูฮัมหมัดจึงต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าในวัยเพียง ๔ ขวบ

นายซุลกิฟลีจึงรับน้องมูฮัมหมัดมาเลี้ยงดูและอาศัยอยู่กับตนที่จังหวัดปัตตานี

นายซุลกิฟลีเคยพาน้องมูฮัมหมัดไปสมัครเข้าโรงเรียน แต่ปรากฏว่าโรงเรียนปฏิเสธ เนื่องจากน้องมูฮัมหมัดไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน นายซุลกิฟลีจึงสอนน้องมูฮัมหมัดด้วยตนเองภายในบ้าน และไม่ได้พาหลานไปสมัครเรียนอีก

ข้อสังเกต
ประเด็นสิทธิในการศึกษา : เนื่องจากสิทธิในการศึกษานั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิที่ประกันไว้สำหรับทุกคน (education for all) ตามมาตรา ๔๙ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

ผู้บริหารโรงเรียนซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องรับเด็กเข้าศึกษา โดยไม่ต้องคำนึงว่าเด็กมีสัญชาติไทยหรือไม่ เด็กจะไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ เด็กจะเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๕ แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘

นอกจากนี้ กรณีที่เด็กไม่มีเอกสารประจำตัวใด ๆ โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่ในการสอบประวัติและจัดทำทะเบียนนักเรียน ตามข้อ ๖ แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘

ดังนั้น หากโรงเรียนปฏิเสธรับนักเรียนย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

----------------------------
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๖
----------------------------
นายซุลกิฟลี เล่าว่า ตนมีปัญหาส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้บุคคลดังกล่าวกลั่นแกล้ง โดยแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดปัตตานีให้จับกุมดำเนินคดีกับน้องมูฮัมหมัดเนื่องจากไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ น้องมูฮัมหมัด ซึ่งอายุเพียง ๑๒ ปี พร้อมคนต่างด้าวอีก ๒ คน ถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีจับกุมในความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยระบุว่าน้องมูฮัมหมัดเป็น “บุคคลต่างด้าว(สัญชาติพม่า)เข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านช่องทางเข้าออกด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีได้ดำเนินคดีกับน้อง มูฮัมหมัดจนเสร็จสิ้น (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

ข้อสังเกต
ประเด็นความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย : เนื่องจากตามข้อเท็จจริงแล้วน้องมูฮัมหมัดเกิดในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมายอาญาแล้ว น้องมูฮัมหมัดย่อมไม่มีการกระทำ “เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ ดังนั้น การตั้งข้อหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการจับกุมดำเนินคดีน้องมูฮัมหมัด ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ แม้กรณียังพิสูจน์ไม่ได้ว่าน้องมูฮัมหมัดเกิดในประเทศไทย ซึ่งน้องอาจถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมาตรา ๕๗ และมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามจริงแล้ว การที่น้องมูฮัมหมัดกำพร้าขาดไร้บุพการี และอาศัยอยู่กับอาในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารเดินทางและอยู่อย่างถูกต้อง ย่อมไม่ได้เกิดจากความผิดหรือความชั่วของเด็กในวัยเพียง ๑๒ ปี ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นใด และพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีหน้าที่ต้องพิจารณาคุ้มครองสิทธิเด็กโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีดำเนินคดีกับน้องมูฮัมหมัดแล้ว ได้ส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปกักตัวที่อาคารกักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา เพื่อ “รอการผลักดันออกนอกราชอาณาจักร” โดยมีหนังสือส่งตัวเลขที่ ๐๐๒๙.๗๓(๙)/๑๔๑๙ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ซึ่งตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาได้รับตัวน้องมูฮัมหมัดไว้เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

ข้อสังเกต
๑. ประเด็นการส่งกลับ: การส่งกลับคนต่างด้าว ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น ย่อมหมายถึง การส่งตัวคนต่างด้าวกลับไปยังประเทศต้นทางอย่างปลอดภัย
แต่เราพบว่าเจ้าหน้าที่มักใช้ถ้อยคำว่า “ผลักดันคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักร” ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวส่งผลให้เกิดมายาคติที่ผิดพลาดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากคำว่า “ผลักดัน” อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสามารถทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ย่อมเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของบุคคล เพราะอาจเป็นการนำบุคคลดังกล่าวไปสู่ภัยความตาย หรือวงจรของการค้ามนุษย์

๒. ประเด็นการส่งตัวน้องไปยังจังหวัดสงขลา : การกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของตรวจคนเข้าเมือง ตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งโดยหลักแล้วตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีย่อมมีอำนาจกักตัวน้องมูฮัมหมัด และส่งน้องเข้าคุ้มครองภายใต้การดูแลของสถานสงเคราะห์ภายในจังหวัดปัตตานีได้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เนื่องจากครอบครัวของเด็กย่อมสามารถเดินทางมาเยี่ยมน้องได้โดยสะดวก

แต่เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า ตรวจคนเข้าเมืองสงขลากลับพิจารณาส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปยังจังหวัดสงขลา ซึ่งส่งผลให้เด็กต้องห่างจากครอบครัวโดยระยะทาง และส่งผลให้เด็กยิ่งรู้สึกอยากกลับบ้านและต่อต้านการเข้ารับการคุ้มครองในสถานสงเคราะห์จังหวัดสงขลา

ดังนั้น จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า การพิจารณาส่งตัวน้องมูฮัมหมัดนั้น เกิดจากเหตุจำเป็นใด ซึ่งหากไม่มีเหตุอันจำเป็นอย่างยิ่ง การส่งตัวเด็กไปยังจังหวัดสงขลานั้นย่อมเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖


๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาพิจารณาเห็นว่า น้องมูฮัมหมัดเป็นเด็ก ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองแยกต่างหากจากคนต่างด้าวทั่วไป จึงส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปเข้ารับความคุ้มครองภายใต้บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

ข้อสังเกต
ประเด็นการส่งเด็กเข้าสถานสงเคราะห์: เนื่องด้วยตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลามีความรู้ความเข้าใจถึงหลักการคุ้มครองสิทธิเด็กทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ จึงดำเนินการตามมาตรา ๕๔ วรรคสาม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อส่งเด็กเข้าคุ้มครองในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลาในระหว่างรอกระบวนการส่งกลับ
อย่างไรก็ดี การใช้ระยะเวลาในการพิจารณาว่า น้องมูฮัมหมัดเป็นเด็ก และส่งตัวน้องไปยังสถานสงเคราะห์นั้น ใช้ระยะเวลาถึง ๓ วัน (วันที่ ๒๔ – ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖) จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าความล่าช้านั้นเกิดจากสาเหตุใด เป็นเหตุจำเป็นอันสมควรหรือไม่ เนื่องจากการคุ้มครองเด็กนั้น ยิ่งล่าช้า ยิ่งละเมิดสิทธิของเด็ก

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ น้องมูฮัมหมัดได้หนีออกจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา กลับไปอยู่กับอา คือ นายซุลกิฟลี ที่จังหวัดปัตตานี เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา ซึ่งนายซุลกิฟลี เล่าว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่บ้านพัก ฯ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อหลานชายของตน (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา แจ้งเรื่องการหลบหนีของน้องมูฮัมหมัดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา และแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ น้องมูฮัมหมัดถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีจับกุมและส่งตัวมายังตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาซักถามปากคำน้องมูฮัมหมัด และน้องมูฮัมหมัดรับว่าตน คือ เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ซึ่งหลบหนีออกจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาจึงจับกุมดำเนินคดีน้องมูฮัมหมัด ในความผิดฐานหลบหนีจากการควบคุมตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยบันทึกว่า น้องมูฮัมหมัดรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ยื่นคำร้องตรวจสอบการจับต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา (ปรากฏรายละเอียดตาม คำร้องตรวจสอบการจับคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ตจ.๔๙๒/๒๕๕๖)

จากนั้น น้องมูฮัมหมัดถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาเป็นเวลากว่า ๒ เดือน

๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ยื่นฟ้องน้องมูฮัมหมัดในคดีอาญาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ในความผิดฐาน “เป็นคนต่างด้าวหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกกักตัวหรือควบคุมตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งในคำฟ้องระบุว่า บิดามารดาของน้องมูฮัมหมัดเสียชีวิต และ “ขณะนี้น้องมูฮัมหมัดอยู่ในความปกครองของตนเอง” (ปรากฏรายละเอียดตาม คำฟ้องคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ๕๒๑/๒๕๕๖)

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลาได้พิจารณาคดีและมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาปล่อยตัวน้องมูฮัมหมัดทันที ทั้งนี้ ศาลได้พิพากษาว่ากล่าวตักเตือนน้องมูฮัมหมัดแล้ว ตามมาตรา ๗๔(๑) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ปรากฏรายละเอียดตามหมายปล่อยที่ ๒๑๗/๒๕๕๖ ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ อ.๕๔๙/๒๕๕๖)

๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ผู้อำนวยการสถานพินิจ ฯ ส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปอยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปอยู่ภายใต้การควบคุมของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา

เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา

----------------------------
หมายเหตุ :
----------------------------

๑. ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเด็กในครั้งนี้ ซึ่งขอมาปรับปรุงเพิ่มในโอกาสต่อไป

๒. ประเด็นคำถามสำคัญในวันนี้ คือ น้องมูฮัมหมัด เด็กอายุเพียง ๑๒ ปี ซึ่งตกอยู่ในสภาวะความไร้รัฐไร้สัญชาติ และกำพร้าคนนี้ ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานะเด็กซึ่งขาดไร้บุพการี หรือถูกปฏิบัติดังเช่นผู้กระทำความผิดต่อไป ???????????

 

 

 


หมายเลขบันทึก: 546200เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 02:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

 

...ช่วยๆกัน...ในกระบวนการยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเด็ก...

เด็กได้รับประโยชน์จริงๆ ค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท