เติบโตไปด้วยกัน : การสร้างสมรรถนะของกลุ่ม PLC โรงเรียนทางเลือก (๒)


“โรงเรียนคือพื้นที่แห่งโอกาส ครูมีหน้าที่รักษาพลังข้างในตัวเด็ก ตัวผู้เกี่ยวข้องเอาไว้ เพื่อสร้างให้เขามีพลังต่อสู้กับชีวิตในอนาคต และอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”

 

โรงเรียนรุ่งอรุณ

 

คุณครูจิ๋ว – สกุณี  บุญญะบัญชา  ครูใหญ่ฝ่ายประถม และ คุณครูอ้อ - ชัชฎาภรณ์  ศิลปสุนทร ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายประถม เล่าว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนประถมยึดหลักของการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (BBL) และการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ

 

ในปีการศึกษานี้โรงเรียนประถมได้ทำการปรับพื้นที่ ปรับเวลา และปรับกระบวนการในหลายส่วนด้วยกัน ที่เด่นชัดได้แก่

 

 

ปรับพื้นที่สนามเด็กเล่น  ให้นักเรียนสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้หลากหลาย เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางกายและอารมณ์  ก่อนเข้าเรียนจะต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะทางอย่างน้อย ๔๐๐ เมตร เป็นเวลา ๑๐ นาที  เพื่อให้สมองเกิดวงจรที่มีประสิทธิภาพสูง  พร้อมต่อการเรียนรู้  ครูพบว่านักเรียนมีสมาธิดีขึ้นมาก

 

 

ปรับเวลาการทำกิจกรรมจิตอาสาให้อยู่ในตารางสอน เริ่มจาก ป.๑ – ๓ สัปดาห์ละ ๑๕ – ๒๐ นาที

 

 

ปรับการฝึกทักษะชีวิต จากที่เคยอยู่ในหน่วยบูรณาการให้แยกออกมาเป็น  ๒ คาบ / สัปดาห์ให้ได้มีประสบการณ์ในการทำงานกับผู้ปฏิบัติงานจริง เช่น ไปทำงานครัวกับแม่ครัว  ไปทาสีเครื่องเล่นกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นต้น

 

 

ปรับการ Homeroom ให้เป็นสุนทรียสนทนา สัปดาห์ละครั้ง ให้นักเรียนพูดเรื่องที่นักเรียนอยากจะพูด ผลตอบรับดีมาก ครูได้มีโอกาสคุยกับนักเรียนและได้รู้จักนักเรียนมากขึ้น

 

 

ปรับเพิ่มสัดส่วนเวลาให้นักเรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการให้เวลาในช่วงของการวางแผน และเผชิญปัญหาในวิชาต่างๆ ให้มากขึ้น  เน้นให้ผู้เรียนได้ความรู้จากการปฏิบัติจริง สามารถสร้างความรู้ด้วยตัวเอง และระบุความรู้ด้วยตนเอง

 

 

การจัดกระบวนการเรียนรู้ในวิชาหลัก

 

 

วิชาคณิตศาสตร์  ใช้หลักสูตรของญี่ปุ่นและการจัดการเรียนรู้แบบ Open Approach มีขั้นตอนให้โจทย์สถานการณ์  เพื่อให้นักเรียนแก้ปัญหา แต่ครูต้องใจเย็นและให้เวลามากกว่านี้  ทุกวันนี้พบว่าครูยังใจเย็นไม่พอจึงกลับไปสอน แทนการรอให้ผู้เรียนพูดเสนอความเข้าใจของตนเอง   และควรมีการระบุคำถามที่ครูควรถาม เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้เอาไว้ในแผนเลย

 

 

 

 

 

วิชาวิทยาศาสตร์  ใช้หลักสูตรและวิธีการของญี่ปุ่นที่มีแนวทางคำถามมาให้ เช่น กิจกรรมการพานักเรียนชั้น ป.๒ สำรวจชุมชน สถานที่รอบโรงเรียนที่ไปบ่อย และชอบที่สุด  ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับเจ้าของ  เกิดแรงบันดาลใจ และความประทับใจ  พอไปถึงสถานที่จริง พบว่านักเรียนเกิดคำถามมากมายกว่าที่เคยคิดเอาไว้  เช่นทำไมจานใส่อาหารใหญ่   ล้างจานอย่างไร  ไปดูเครื่องล้างจาน  ทำไมทำขนมอร่อย   อะไรเป็นเมนูเด็ดของร้าน   เด็กชอบอะไร   ผู้ใหญ่ชอบอะไร  ทำไมต้องมีของเล่นวางอยู่ในร้าน

 

ตอนเดินกลับครูช่วยทวนความรู้ที่ได้รับจากการสัมภาษณ์  แล้วให้นักเรียนกลับมาบันทึกที่โรงเรียน  มีการให้เปรียบเทียบว่าก่อน – หลัง การสำรวจ ว่าเกิดความรู้เพิ่มขึ้นอย่างไร  แล้วนำเสนอเป็นกลุ่ม พบว่านักเรียนมีวิธีการบันทึกแบบผู้ใหญ่ แต่มีการนำเสนอที่น่าสนใจแบบเด็กๆ  กิจกรรมนี้เดิมครูเป็นคนกำหนดสถานที่ ตอนนี้ปรับมาเป็นการศึกษาแบบปลายเปิดภายใต้เงื่อนไข เช่น ต้องอยู่ในระยะที่เดินถึง โดยครูกำหนดใบงาน ตลอดจนกติกาต่างๆ ที่เอื้อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้

 

วิชาภาษาไทย ใช้หลักสูตร BBL ของ อ.พรพิไล เลิศวิชา ที่มีโครงสร้างการเรียนรู้ ดังนี้

  • นำเข้าสู่บทเรียนด้วยการทำ Brain Gym  เพื่อปลุกสมองให้ตื่นตัว
  • อ่านและเล่านิทาน   ครูอ่านนิทานให้ฟัง  เพื่อพัฒนาการสะสมคำ ครูควรเลือกอ่านหนังสือหลากหลายประเภทเพื่อให้เด็กได้คำ และเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์จากการอ่าน แต่ได้เพลิดเพลินจากการฟัง  ชั้น ป.๔  มีใบบันทึกการอ่านเพื่อถ่ายความรู้ออกมา บันทึกว่าชอบไหม  ถึง ป. ๖  ระบุแก่นของเรื่อง และ ที่มาของเรื่องได้
  • การอ่านเอง นักเรียนจะต้องอ่านในบริบทที่หลากหลาย อ่านหลายประเภท และต้องอ่านอย่างน้อย ๒๐ เล่มต่อปี จะทำให้เด็กชอบอ่านวรรณกรรมมากขึ้น ไม่ใช่แค่การ์ตูน และให้นักเรียนทำบันทึกการอ่าน ซึ่งสามารถพัฒนาไปถึงการคิดวิเคราะห์เรื่องที่นักเรียนอ่านด้วย
  • การเขียนอิสระ  เขียนสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้เวลา  ๒๕  นาที หัวข้อที่เขียนดูตามพัฒนาการ  ป.๑ – ๒  ถามความรู้สึก  หนูชอบ  เกลียด  เบื่อ  อะไร  เริ่มจากการให้เขาเกิดความรู้สึก เช่น ทำไมชอบของเล่นชิ้นนี้  เพราะอะไร  บางครั้งก็มีคำ ๑๐ คำให้เอาไปแต่ง  หรือช่วยกันคิดหัวข้อ แล้วจับฉลากว่าใครได้หัวข้ออะไรไปเขียน  หรือการให้เริ่มต้นเขียนว่าชอบสิ่งนี้  เพราะ....................................... ช่วยให้เกิดระบบคิด มีวิธีเขียน นักเรียนจะได้แบบแผนที่ดีจากครู เพราะถ้าแบบแผนไม่ดี  ผลที่ปรากฏก็ไม่ดีเหมือนกัน  การได้ฟังครู  ฟังเพื่อน ช่วยให้เกิดการขยายคลังคำ ในเด็กเล็กจะต้องถนอมความรู้สึกในการเขียนมาก ครูจะไม่แก้คำผิด แต่จะเน้นให้เขามีความสุข และลื่นไหล การเขียนอิสระ ทำให้ครูรู้จักนักเรียน ได้รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเขา และสามารถหยิบยกเอาประเด็นเหล่านี้ไปทำงานกับครอบครัวต่อ 
  • ภาษาและวรรณคดี

 

 

การพัฒนาคุณภาพภายในของครู  มีการจัดให้ครูปฏิบัติธรรมอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ครั้งละ ๗ วัน เช่น ภาวนา กับหลวงพ่อสงบ กุศลจิตโต เป็นต้น  การปฏิบัติธรรมช่วยให้เกิดการคุยด้วยภาษาใจ  เมื่อตัวเราเปลี่ยน ครูก็เปลี่ยน ครูคุยง่ายขึ้น ร่วมมือกันทำงานมากขึ้น  แม้งานจะยังหนักเหมือนเดิม  มีความเหนื่อย แต่ไม่ตึงเครียด  ส่วนการบ่นเป็นเรื่องปกติ  

 

 

การเรียนรู้ของครู

  • วงจรการทำงานของครู ช่วงเช้าเข้านิเทศการสอน ช่วงบ่ายสะท้อนผล และเย็นเตรียมแผน
  • การออกไปเป็นวิทยากรและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนในเครือข่าย Lesson Study เช่น การเปิดชั้นเรียนในวิชาคณิตศาสตร์

 

“เวลาในห้องเรียนเป็นเวลาของนักเรียน  เวลาของครูคือเวลานอกห้องเรียน”  อ.ไมตรี  อินทร์ประสิทธิ์

“ทำให้เด็กรู้สึกสำเร็จในทุกขั้นตอน”  อ.พรพิไล  เลิศวิชา

 

 

คุณครูต้อย – สุวรรณา  ชีวพฤกษ์  ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายมัธยมเล่าว่า ฝ่ายมัธยมมีการปรับหลักสูตรมัธยมปลายใหม่ โดยสลายสายวิทย์ ศิลป์ และได้ตั้งสำนักขึ้นมา ๔ สำนัก คือ

 

 

 

๑. วิทยาศาสตร์   

๒. ภาษาสร้างสรรค์และสื่อเพื่อสังคม   

๓. วิจัยการตลาดเพื่อสินค้าชุมชน  

๔. ศิลปะการออกแบบและคุณภาพชีวิต  

 

โดย ๔ สำนักนี้จะสอนแบบ active learning ผ่านการทำโครงงาน เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้ ส่วนวิชาที่ต้องสอบของกระทรวงฯ ก็เรียนแบบ passive learning  โดยมีการแบ่งคาบชัดเจนไปเลย  ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักเรียนดี  นักเรียนชอบวิธีนี้ ตั้งใจเรียนมากขึ้น หันมามองตัวเองมากขึ้น แต่การตัดสินใจเลือกไม่ง่าย และยังต้องพิจารณาเรื่องหน่วยกิตในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย

 

หลักของการจัดกระบวนการเรียนรู้คือ

  • คิดการเรียนรู้ให้อยู่บนโครงงาน นักเรียนได้เรียนในเรื่องที่อยากเรียน
  • นักเรียนได้มองตัวเอง คิด ตัดสินใจ ด้วยตัวเอง  เผชิญปัญหาด้วยตัวเอง
  • จัดเป็นกลุ่มเล็ก เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนได้ง่าย

 

 

นักเรียน ม.ต้น รับผิดชอบเรื่องการทำอาหาร  นักเรียน ม.๑ ยังทำได้ไม่ดีนัก  แต่ ม.๒ ทำได้ดีขึ้น และมีการเพิ่มความยากของโจทย์ขึ้นในชั้น ม.๓ เช่น ทำอาหารอีสาน และอาหารภาคต่างๆ เป็นต้น

 

 

นักเรียน ม.ปลาย  รับผิดชอบดูแลรุ่นน้องในการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และรับผิดชอบในการจัดงานต่างๆ ของโรงเรียน  ชั้น ม.๔ รับผิดชอบจัดงานวันพ่อ  ชั้น ม.๕ จัดงานวันไหว้ครู  ชั้น ม.๖  จัดงานวันกีฬาสี

 

 

คุณครูก้า-กรองทอง  บุญประคอง  เสนอเพิ่มเติมว่า อาจารย์หม่อมดุษฎี  บริพัตร ณ อยุธยา แนะให้นักเรียนมัธยมไปดูแลเด็กเล็กจะได้จิตใจอ่อนโยน  เกิดความรู้สึกคุ้นเคยกับเด็ก และ เกิดความยับยั้งชั่งใจเมื่อโต เป็นการเรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ดี  

 

คุณครูก้าได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า...ขอให้กำลังใจโรงเรียนรุ่งอรุณในความกล้าหาญครั้งนี้   ในความเห็นของตัวเอง “โรงเรียนคือพื้นที่แห่งโอกาส  ครูมีหน้าที่รักษาพลังข้างในตัวเด็ก ตัวผู้เกี่ยวข้องเอาไว้  เพื่อสร้างให้เขามีพลังต่อสู้กับชีวิตในอนาคต และอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 545665เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2013 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

.... กระบวนการเรียนรู้ ที่มีหลากหลายมาก นะคะ .... 

      

๑. วิทยาศาสตร์   

๒. ภาษาสร้างสรรค์และสื่อเพื่อสังคม   

๓. วิจัยการตลาดเพื่อสินค้าชุมชน  

๔. ศิลปะการออกแบบและคุณภาพชีวิต  

 

     ขอบคุฯเรื่องเล่าดีดี นี้ค่ะ

 

 

...น่าสนใจมากนะคะ...มีอีกหลายกลุ่มสาระวิชาที่โรงเรียนรุ่งอรุณมีการจัดการเรียนการที่มีความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วๆไป...น่าที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนนะคะ...เพราะโรงเรียนในต่างจังหวัดสามารถนำไปประยุกต์สอนได้นะคะ...แต่ไม่ทราบว่ามีข้อจำกัดจากฝ่ายบริหารหรือไม่...ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณ ดร.เปิ้ล และ ดร.พจนา ที่แวะเวียนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เสมอค่ะ ในครั้งที่ ๓ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ กลุ่ม PLC โรงเรียนทางเลือก จะไปประชุมกันที่รุ่งอรุณค่ะ แล้วจะนำเรื่องราวดีๆ มาฝากนะคะ

สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนปัญญาประทีป ยังมีเรื่องราวดีๆ ของโรงเรียนปัญญาประทีป และเพลินพัฒนา ที่จะมานำเสนอเพิ่มเติมอีก ๒ - ๓ ตอนค่ะ

ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจของโรงเรียนรุ่งอรุณ ทราบมาว่าทางโรงเรียนพิมพ์หนังสือออกมาจำหน่ายหลายเล่มแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามไปยังโรงเรียนได้เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท