เวียดนาม:นักต่อสู้ผู้ไม่เคยแพ้?


ทิช กวง ดุ๊ก คงไม่อาจรู้สึกอะไรได้อีก แม้ปัจจุบันถ้าเขายังมีชีวิต เขาจะได้เห็นรูปเจดีย์เทียนหมุที่กลายเป็นสัญลักษณ์เมืองเว้ปรากฏบนงอบทรงญวน กระเป๋า แม้กระทั่งส่วนใต้สะดือของชุดอ๋าวหญ่าย
“เวียดนามไม่เคยแพ้” วลีนี้หากจะเป็นคำพูดจากปากของคนเวียดนามเองก็ไม่ควรปรามาส ในบรรดาประเทศต่างๆ ในโลกซึ่งได้รู้จักกับสงครามมาจนคิดว่าเพียงพอแล้วนั้น จะมีสักกี่ประเทศกันเล่า ที่ประชาชนต้องพยายามหาหนทางที่จะอยู่รอดในสงครามด้วยความอดทนอย่างสาหัสเท่ากับประเทศเวียดนาม ภายหลังยุคล่าอาณานิคม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแม้กระทั่งภายหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น เด็กๆ และผู้คนในประเทศนี้นั่นเองที่เติบโตขึ้นมาในสภาวะซึ่ง “ไม่เคยว่างเว้นสงคราม” แม้แต่ค่าสกุลเงินด่องซึ่งหาใช้มาด้วยความยากลำบากจากงานกรำชีวิตคลุกควันปืนและฝนเหลือง ก็ยังเคยต่ำค่าประสบอัตราเงินเฟ้อกว่า 700 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือมูลค่าเงินเท่ากับเศษกระดาษที่ประชาชนเวียดนามสู้อุตส่าห์หามาจากการขุดรูอยู่

ยิ่งเมื่อมีการคำนวณไว้ด้วยว่าน้ำหนักระเบิดที่สหรัฐอเมริกาเคยบอมลงบนแผ่นดินบางแห่งของเวียดนามนั้น ใช้ปริมาณเฉลี่ยเท่ากับระเบิดหนักถึง 7 ตัน ต่อคนเวียดนามเพียงหนึ่งคน ดังนั้น ใครจะกล้าปรามาสได้เล่าเมื่อมีใครในเวียดนามสักคนจะเอ่ยวลีออกมาว่า “เวียดนามไม่เคยแพ้” การมีชีวิตอยู่นั่นเอง คือชัยชนะของชาวเวียดนาม

แต่ ณ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เราต่างได้เห็นว่าเวียดนามกำลังจะทำในสิ่งซึ่งยิ่งใหญ่ไปกว่าการมีชีวิตรอดไปอีกไกลแสนไกล ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ถึงร้อยละ 7 ต่อปี ดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปร่วมถือหุ้นและรับส่วนแบ่งแห่งความเจริญเติบโต จนเราเผลอคิดกันว่าหรือประชาชนเวียดนามที่เคยทุกข์ยากจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินแห่งนั้นแล้ว กระทั่งกรณีตัวอย่างการพัฒนาตัวเองจากประเทศที่นำเข้าข้าวอาหารหลักของชาวอุษาคเนย์ กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไทย ชวนให้จินตนาการถึงนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยี และเทคนิคการตัดต่อพันธุวิศวกรรม(GMOs) อันก้าวล้ำจากมหามิตรผู้เคยเป็นศัตรูอย่างสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งจีน พญามังกรของโลกที่อยู่ติดรั้วบ้าน

ใครที่จินตนาการเช่นนั้นได้ ย่อมเป็นเพราะไม่เคยรู้จักกับคนเวียดนามแน่ๆ


ในบรรยากาศอึมครึมอันหนาวเหน็บ ท่ามละอองฝนที่โปรยปรายตลอดเดือนธันวาคม นี่คือฤดูมรสุมของทะเลจีนใต้ซึ่งส่งผลให้เกิดอุทกภัยขึ้นทุกปีในตอนกลางของประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะแถบจังหวัดดานัง ที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึก และเป็นเขตพื้นที่เกษตรกรรมอันสำคัญของประเทศ ข่าวคราวผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยนับหลายสิบรายเผยแพร่ผ่านสถานีข่าวต่างประเทศ ข่าวการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกด้วยเช่นกัน กระนั้นในระหว่างความเลวร้ายของภัยธรรมชาติที่กำลังโหมกระหน่ำ ทุกวันเรายังได้เห็นเกษตรกรชาวเวียดนามออกไปทำงานกลางแจ้งเป็นปรกติราวกับไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่กลัวความผิดหวัง และเหมือนไม่กังวลกับความตายที่อยู่ใกล้เพียงหายใจรดผิวหน้า

ประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของเวียดนามกับมนุษย์ผู้รุกราน สิ่งนั้นหรือเปล่าที่ทำให้ชาวเวียดนามกล้าหาญพอที่จะต่อกรกับภัยธรรมชาติ บางทีในระหว่างอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเขา อาจเป็นที่มาของคำตอบให้เราทราบได้ว่าระหว่างภัยมนุษย์กับภัยธรรมชาตินั้น สิ่งใดน่ากลัวกว่ากัน

ภาพท้องนากว้างไกลสุดลูกตาในพื้นที่ภาคกลางของเวียดนาม ในนั้นมีแรงงานคือคนกับควาย อุปกรณ์หว่านไถอันประกอบด้วยเทียม แอก คันไถ หนึ่งคนจูงควาย หนึ่งคนไถนา อุปกรณ์จำเป็นในการงานซึ่งเหนือไปจากนี้ก็คือเครื่องตรวจหากับระเบิด!

แม้สงครามเวียดนามจะสิ้นสุดนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไปในปี1975 แต่ภัยจากอาวุธเคมีหรือ “ฝนเหลือง” ก็ยังส่งผลกระทบต่อผู้คนและพืชพรรณในเวียดนามต่อไปอีกนับสิบปี ในบรรดาของที่ระลึกซึ่งหลงเหลือมาจากยุคสงครามเวียดนาม กับระเบิดเปี่ยมประสิทธิภาพจำนวนไม่น้อยยังถูกฝังไว้ใต้ดิน และมันยังคงทำหน้าที่กับดักแห่งสงครามอันซื่อสัตย์อยู่จนทุกวันนี้

จากแรงงานแห่งคนกับควายผู้ไม่หวั่นเกรงความบ้าคลั่งของคลื่นลมในทะเลจีนใต้ สู่ผลิตผลและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ภายหลังการเปิดประเทศตามนโยบายโด่ยเหมยนับแต่ปี 1986 เป็นต้นมา ชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยได้มุ่งไปแสวงโชคในเมืองใหญ่ทางภาคใต้อย่างโฮจิมินห์ซิตี้(หรือ “ไซ่ง่อน” เดิม) กับอีกส่วนก็เดินทางขึ้นไปทิศเหนือสู่ฮานอย แต่การเดินทางต่อสู้กับโชคชะตาในยุคสมัยนี้ก็ยังนับว่าดีกว่าการเดินทางแสวงหาแผ่นดินใหม่ในนาม “โบ๊ทพีเพิ่ล” ซึ่งเคยใช้ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดดานังนั่นเองเป็นประตูทะเลสู่โลกใหม่ หลายคณะได้ไปเผชิญชีวิตไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีเรือหลายลำเหมือนกันที่ยังคงจมนิ่งใต้ทะเลเป็นซากเหยื่อของคลื่นลมมรสุมในทะเลจีนใต้

“ฉันตกใจกลัวลาน เมื่อคิดถึงว่าต้องอยู่ต่อไปในเรือปีศาจลำนี้ ฉันร้องไห้เสียงดังเป็นเวลานาน แต่ไม่มีเสียงขานรับ รอบตัวฉันไม่มีอะไรเลย นอกจากความเงียบเวลาค่ำที่น่าขนลุกขนพอง ฉันไม่เคยกลัวผีหรือปีศาจ ไม่เคยกลัวแม้แต่ศพของควันที่นอนอยู่ข้างๆ ฉัน ฉันกลัวความเปล่าเปลี่ยวต่างหาก ใครเล่าจะมาพูดคุยกับฉัน ใครจะมาเป็นเพื่อนฉันจับนกนางนวล ยิ่งคิดฉันก็ยิ่งร้องไห้ แสงแดดส่องเข้ามาตรงหน้าของควัน ใบหน้าดูซีดขึ้น แก้มยิ่งตอบยุบ ฟันก็ยิ่งเผยอ ฉันรวบกำลังยันร่างลุกขึ้นนั่ง จับเท้าทั้งสองที่เย็นชืดของศพไปที่ดาดฟ้า ผลักลงทะเลไป

“ฉันหาเลี้ยงตัวฉันเอง ปกติฉันตื่นดึกจับนกนางนวล มีนกบางตัวที่แข็งแรงและต่อสู้ จิกแขนฉันจนผิวหนังหลุดเป็นชิ้นติดจงอยปาก แต่ฉันไม่ยอมปล่อย เมื่อฉันรำลึกถึงพระพุทธเจ้า รำลึกถึงเทวดา ฉันก็บนบานว่าจะถวายไก่สักตัวหากมีเรือมาช่วยชีวิตฉันไว้ บางวันฉันจับนกไม่ได้สักตัว ต้องนอนท้องว่าง ฉันฝันไปว่าได้กินปลา ไม่กลัวตายอีกแล้ว ฉันอยากตาย แต่ก็ไม่ตาย ฉันเชื่อว่าจะต้องมีเรือมาช่วย เฝ้าแต่สวดมนต์วิงวอนว่า—ถ้าฉันบาป ขอให้ตายไปเดี๋ยวนี้เถิด หากฉันยังมีบุญ ขอให้มีเรือมาสักลำ อย่าปล่อยให้ฉันทรมานต่อไปเช่นนี้อีกเลย”(บรุซ แกรนท์,ธรรมรงค์ น้อยคูณ:แปล.คนเรือ.กรุงเทพฯ.หน้า71-72 ไม่ทราบปีที่พิมพ์)

มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่อพยพทางบกในเส้นทางภาคกลาง ผ่านเขตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือจังหวัดสะหวันนะเขต จังหวัดเวียงจันทร์ และท่าแขก ก่อนจะข้ามโขงสู่จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดหนองคาย และจังหวัดสกลนคร ของประเทศไทย พร้อมกับการรับสภาพ “ญวนอพยพ” ซึ่งรัฐไทยอนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ใน 8 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และพัทลุง นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา และภายหลังยังถูกกระทำทางการเมือง เมื่อรัฐไทยฝักใฝ่สหรัฐอเมริกา และปั้นภาพปีศาจคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใส่ร่างคนญวน ทำให้คนไทยต่างพากันหวาดระแวงชาวญวน (เวียดนาม) ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ปิดล้อมยิงอันเลวร้ายที่สุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1976 ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของญวนคอมมิวนิสต์

แม้ลี้ภัยจากประเทศเวียดนามมาอยู่ไกลแสนไกล ยอมถูกยักย้ายถ่ายเทโดยอำนาจรัฐไทย ให้กลุ่มผู้นำไปอยู่ในสองจังหวัดภาคใต้สุราษฎร์ธานี และพัทลุง คนเวียดนามก็ยังไม่พ้นถูกรังแกและใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการอยู่ในอำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองไทย พร้อมกับที่จังหวัดซึ่งรัฐไทยนี้เองเป็นผู้อนุญาตให้ “ญวนอพยพ” สามารถอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ก็ถูกขีดวงเป็นพื้นที่สีแดง กองทหารหลายคันรถยีเอ็มซีพร้อมอาวุธเต็มพิกัดถูกส่งเข้าไปปราบปราม โดยหลายครั้งชาวบ้านตายเปล่าทั้งที่ไม่มีการไต่สวนแน่ชัด

กรณี “ถังแดง” การเผาคนทั้งเป็นภายใต้ข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1979 ที่จังหวัดพัทลุง ก็เกิดขึ้นด้วยความเชื่อมโยงเดียวกัน และแท้แล้วก็คือการปราบปรามของรัฐโดยไร้เหตุผลในยุคนั้นต่างหาก ที่สร้างชาวบ้านธรรมดาให้จับปืนเข้าป่ากลายเป็นสหายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

กล่าวสำหรับความเป็นคอมมิวนิสต์ภายในประเทศเวียดนามเองนั้น ยุคหนึ่งก็ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ “สงครามตัวแทน”แห่งสองขั้วมหาอำนาจโลก ประเทศต้องแยกออกเป็นสองส่วนคือเวียดนามเหนือ (คอมมิวนิสต์-โซเวียต) กับเวียดนามใต้(ประชาธิปไตย-สหรัฐอเมริกา) โดยมีเขตปลอดทหาร เส้นขนานที่ 17 เป็นแนวแบ่งคนเวียดนามออกจากกัน

จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าชนเวียดนามจะอยู่ที่ใด ก็มักถูกแทรกแซงโดย “อำนาจอื่น” อยู่ตลอดเวลา

เส้นขนานที่ 17 เป็นเขตปลอดทหาร(DM ZONE) ซึ่งตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 1 ใกล้กับเมืองดองฮา เกิดขึ้นจากการประชุมสันติภาพที่นครเจนีวา ในปี 1954 ตกลงให้มีการแบ่งเขตแดนระหว่างเวียดนามตอนเหนือที่ยึดครองโดยเวียดมินห์ กับสาธารณรัฐเวียดนามทางใต้ แต่ละด้านของเส้นขนานนี้มีเขตแดนกว้าง 5 กิโลเมตร มีจุดเชื่อมคือสะพานข้ามแม่น้ำเบนไห่ ซึ่งได้ถูกระเบิดทำลายในปี 1975 หลังเวียดนามเหนือเข้ายึดครองเวียดนามใต้ได้สำเร็จ ก่อนจะสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี 1976

ว่ากันว่าในยุคสงครามเวียดนามนั้น ด้วยเส้นขนานที่มีความกว้างเพียง 5 กิโลเมตรนี้เองที่ได้แบ่งแยกและพลัดพรากพี่น้องกระทั่งคนรักชาวเวียดนามออกจากกัน เวลา 20 ปีพอดีก่อนที่สะพานเบนไห่จะถูกระเบิด แท้จริงก็คือเวลาแห่งการพรากจากและความโหยหา ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงระเบิดปูพรมดังขึ้นจากอีกฝั่งเส้นขนาน ความเจ็บปวดก็คือชาวเวียดนามต่างไม่มีสิทธิ์รู้ว่าคนที่พวกเขารักซึ่งอาศัยยังอีกฟากจะอยู่หรือตาย เวลาตั้ง 20 ปี สำหรับบางคนมันกลับกลายเป็นการรอคอยเพื่อได้ซบหน้าลงเหนือหลุมฝังศพคนที่รัก และกลายเป็นต้นทุนแห่งความเย็นชาเมื่อต้องเผชิญกับการร้องขอความช่วยเหลือกันในหมู่ผู้รอดชีวิต บางคนเริ่มเห็นว่ายามทุกข์ทนแล้วไม่มีผู้ใดช่วยเขาหรือเธอได้

ทว่ากับบางคน รักระหว่างรบก็เกิดขึ้น...

ทางตะวันตกของถนนหมายเลข 1 ในพื้นที่ติดกับทะเล และไม่ไกลนักจากเส้นขนานที่ 17 ปี 1965 จรวดของกองทัพเรือที่ 7 สหรัฐอเมริกา ได้ระดมยิงหมู่บ้านวินมอกซ์ และถูกโจมตีซ้ำจากฐานหยกเมียวเมย์ การเผชิญกับการโจมถูกโจมตีอันหนักหน่วง ทำให้ชาวบ้านต้องหาวิธีอยู่รอดด้วยการขุดอุโมงค์แคบๆ ซึ่งเริ่มขุดนับตั้งแต่ปี 1966 และใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะสำเร็จ หลังจากนั้นชาวบ้านวินม็อกซ์จึงได้ชวนกันลี้ภัยเข้าไปอยู่ในอุโมงค์ที่มีความชันถึง 3 ชั้น ความยาวกว่า 2,034 เมตร และมีความลึกต่ำสุดคือ 22 เมตร ข้อสำคัญคือมันเป็นอุโมงค์ขนาดเล็กและแคบชนิดที่ทหารอเมริกันซึ่งมีขนาดตัวใหญ่กว่าคนเวียดนามโดยเฉลี่ยไม่สามารถมุดเข้าไปได้

ภายในอุโมงค์ยังมีการแบ่งซอยเป็นห้องขนาดเล็กๆ หลายห้อง มีประตูเข้าออก 13 ประตู โดยเป็นทางออก 7 ทางสู่ชายหาดริมทะเล เล่ากันว่าเคยมีชาวบ้านเวียดนามอาศัยอยู่ในอุโมงค์แห่งนี้สูงสุดถึง 600 คน โดยชาวบ้านหลายคนได้อาศัยฝากชีวิตไว้กับอุโมงค์คับแคบนี้เป็นเวลาถึง 6 ปี

สิ่งที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือด้วยสภาพที่มืดอับและคับแคบในอุโมงค์วินม็อกซ์นี้ ภัยสงครามหาได้พรากเอาธรรมชาติอันงดงามของความรักที่มนุษย์มีต่อกันไปได้ ดังนั้นในระหว่างปี 1965-1973 จึงมีทารกน้อยๆ คนแล้วคนเล่ากำเนิดขึ้นภายในอุโมงค์นี้ถึง 17 คน และมี 2-3 คนที่กลายเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวอุโมงค์แห่งนี้ในเวลาต่อมา หลังสิ้นสุดสงคราม

การเดินทางสู่เวียดนาม นอกจากเราจะได้เห็นเศษซากแห่งสงคราม ร่องรอยอาณานิคม และการสู้งานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของบรรดาชาวเวียดนามทั้งหลายแล้ว ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยว่างเว้นสงครามอาจทำให้หลายคนลืมคิดไปว่า บนแผนที่รูปตัวเอสซึ่งอาณาเขตติดกับทะเลยาวเหยียดถึง 3,440 กิโลเมตร จะมีการติดต่อและสรรสร้างอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของตนขึ้นมาชนิดที่ไม่ด้อยไปกว่าอารยธรรมของชนชาติใดๆ เลยทีเดียว

เฉพาะแต่ในเขตภาคกลางของเวียดนาม ก็มีทั้ง “เว้” และ “ฮอยอัน” เป็นมรดกโลกถึง 2 แห่งแล้ว ยังไม่นับพิพิธภัณฑ์หมี่เซิน ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดดานังไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร ที่นั่นเชื่อกันว่าคือศูนย์กลางของอาณาจักรจามปา (ชนดั้งเดิมก่อนถูกเผ่าเวียดยึดครอง) ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งหลักฐานก็คือการพบโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากนั่นเอง

ด้วยต้นทุนทั้งที่เป็นเศษซากและยังมีลมหายใจ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในภาคกลางเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งภายหลังการนำเสนอละคร “ฮอยอันฉันรักเธอ” ในประเทศไทย ประกอบกับการที่เวียดนามเป็นประเทศอาเซียนที่ไม่จำเป็นต้องขอวีซ่าให้วุ่นวาย ทัวร์ไทยในวันหยุดนักขัตฤกษ์จึงพากันแห่แหนสู่ประเทศเวียดนาม แทนที่ “นครวัด-นครธม” ของประเทศกัมพูชา เนื่องจากในประเทศกัมพูชานั้น คนไทยได้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายใต้การปลุกกระแสชาตินิยม จนกระทั่งเคยมีการเผาสถานทูตไทยมาแล้ว ในกรณีของ “เนียง ประกายพรึก” หรือ “ดาวพระศุกร์” ฉบับ สุวนันท์ คงยิ่ง ซึ่งคงยังไม่มีใครกล้าที่จะลืมเหตุการณ์นั้นในเร็ววัน

ภายใต้เงื่อนไขของการท่องเที่ยว “เว้-ฮอยอัน” 2 เมืองซึ่งเป็นมรดกโลกกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของการเดินทางสู่เวียดนาม ความงามของสาวเมืองเว้ในชุดอ๋าวหญ่าย ผู้บรรเลงดนตรีพื้นเมืองบนเรือมังกรที่ล่องอยู่กลางลำน้ำหอมที่อวลกลิ่นดอกไม้ป่าเริ่มถูกกล่าวขาน นั่นเช่นเดียวกับภาพบ้านเรือนสีสันฉูดฉาดซึ่งผสมกลมกลืนอารยธรรมจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนามเดิมเข้าด้วยกัน ในย่านการค้าเมืองฮอยอันก็สามารถดึงดูดนักสำรวจโลกให้ได้ไปพบกับความตื่นตา

ในทุกวันนี้ หลายคนเลิกตั้งคำถามถึงความโหดร้ายที่เวียดนามต้องผ่านเผชิญนับครั้งไม่ถ้วน พวกเขาเดินทางสู่เวียดนามกลางเพื่อฟังดนตรี ซื้อสินค้าราคาถูก ชมพระราชวังโบราณ และอธิษฐานขอพรในวัดจีนด้วยธูปหนึ่งเดือน

เฝอ-อาหารเวียดนามเลิศรส กลายเป็น “เทรนด์”หนึ่งของนักชิมเท่านั้น พวกเขาเพียงต้องการรู้จักกับรสชาติของเฝอในเวียดนาม หาได้อยากจะรู้จักกับรสชาติแท้ของเวียดนามเช่นที่คนเวียดนามต้องประสบพบเจอทุกเมื่อเชื่อวัน

แม้กระทั่งกับภาพของเจดีย์เทียนหมุในเมืองเว้ วัดแรกของเมืองซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายในการเกิดขึ้นและดำรงอยู่มาจนปัจจุบัน ความสนใจของนักท่องเที่ยวก็หยุดอยู่เพียงการได้ถ่ายภาพตัวเองโดยมีเจดีย์เทียนหมุทรงแปดเหลี่ยมสูง 7 ชั้นเป็นฉากหลัง เพราะสถานะและบทบาทของเจดีย์เทียนหมุในยุคของเมืองมรดกโลก โดยสำคัญคือการเป็นสัญลักษณ์ของ “การมาถึงเว้” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ภายในวัดเทียนหมุ ถ้าใครจะได้เห็นรถออสตินสีเขียวคันหนึ่ง ซึ่งจอดนิ่งอยู่ในที่เก็บหลายปีเต็มที ไม่ค่อยมีใครถ่ายรูปคู่กับรถคนนั้น แต่ด้วยรถคันเดียวกันนี้ ในช่วงสายของวันที่ 11 มิถุนายน 1963 มันเคยนำพา พระภิกษุมหายานชื่อ ทิช กวง ดุ๊ก ไปนั่งเผาตัวเองกลางเมืองไซ่ง่อน เพื่อประท้วงรัฐบาล โง ดินห์ เงียม ซึ่งเป็นคาทอลิก และใช้ความรุนแรงขัดขวางการฉลองวันวิสาขบูชาของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นชาวพุทธ

แอนโธนี เกรย์ ได้บันทึกประวัติศาสตร์ตอนนี้ไว้ในนวนิยายเรื่อง “ไซ่ง่อน” ของเขาว่า

“รถคันที่บรรทุกพระสงฆ์ชาวพุทธหยุดลงกระทันหันกลางสี่แยก ผู้เดินขบวนกำลังเดินผ่านรถไปด้วยจุดหมายบางอย่าง แล้วกระจายกำลังเรียงรายเป็นวงกลมล้อมหัวมุมถนนทั้งสองสายเอาไว้ ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ต่างลงจากรถออสตินสีเขียวด้วยสีหน้าเคร่งขรึม พระสงฆ์รูปหนึ่งเปิดฝาครอบเครื่องยนต์ ชะโงกตัวเข้าไปข้างใน ยกถังพลาสติกขนาด 5 แกลลอน บรรจุน้ำมันเหลวสีดำแล้วค่อยๆ เดินไปกลางสี่แยก หยุดยืนข้าง ทิช กวง ดุ๊ก พระอีกรูปถือเบาะนั่งไปด้วย เมื่อทั้งหมดเดินไปถึงจุดที่กำหนดไว้ เขาวางเบาะลงบนพื้นถนนราดยาง

“ทิช กวง ดุ๊ก ค่อยๆ ทรุดตัวลงนั่งบนเบาะในท่าโยคะพับขารองก้น วางมือซ้อนกันบนตัก นั่งนิ่งอยู่พักใหญ่คล้ายเป็นการเข้าฌาณ แล้วเขาลืมตาขึ้น พยักหน้าเรียกบรรดาผู้ช่วยพระสงฆ์ที่ถือถังน้ำมันพลาสติกเริ่มสาดน้ำมันใส่ศีรษะของทิช กวง ดุ๊ก ของเหลวไหลย้อยไปตามคอและไหล่ เปื้อนจีวรสีส้ม เขาเทน้ำมันรดรอบๆ ร่างของดุ๊ก ลมโชยยามเช้าพัดกลิ่นเหม็นของน้ำมันมาทางคนดูบนบาทวิถี และเมื่อคนมุงเริ่มรู้ว่าพวกเขากำลังจะได้เห็นอะไร หลายคนส่งเสียงแสดงความหวาดหวั่นอยู่ในคอ...ท่ามกลางความเงียบที่น่าระทึกใจ ผู้ช่วยของทิช กวง ดุ๊ก วางถังพลาสติกเปล่าบนพื้นไกลออกไปสองสามฟุต แล้วถอยหลังออกไปอยู่ในกลุ่มคนมุง ทิช กวง ดุ๊ก นั่งในท่าเดิมไม่ไหวติงหลายวินาที ฝูงชนเห็นปากของเขาขยับกล่าวคำสวดคำสุดท้าย ก่อนจะขยับมือเล็กน้อยบนตัก

“เปลวไฟลุกฟู่ท่วมตัวเมื่อเขาจุดไม้ขีด มันเต้นระยับอยู่บนศีรษะและไหล่ของเขาราวกับไม่ได้ทำอันตรายใดๆ ในไม่ช้าใบหน้าและจีวรเริ่มไหม้เกรียมเป็นสีดำ แม้กระนั้นก็ยังไม่มีเสียงลอดจากปากของเขาเลย เขายังคงนั่งนิ่งในท่าเดิมเช่นนั้น...เวลาผ่านไปเกือบสิบนาทีนับตั้งแต่ทิช กวง ดุ๊ก จุดไม้ขีดเผาตัวเอง ในที่สุดร่างของเขาเริ่มโอนเอนไปมา ฝูงชนที่เฝ้าดูเหตุการณ์กรีดร้องและคร่ำครวญอีก ทันใดนั้นร่างของพระล้มหงายลงจมกองไฟ แขนและขาของเขากระตุกเป็นพักๆ อยู่หลายวินาที นิ้วมือหงิกงอเหมือนจะกำอากาศที่อยู่เหนือกองไฟ จากนั้นเขาสะบัดแขนกางออกเหมือนกับแสดงอาการอ้อนวอนครั้งสุดท้าย ร่างทั้งร่างกระตุกอีกครั้งหนึ่งก่อนจะแน่นิ่งไปในที่สุด”

ทิช กวง ดุ๊ก คงไม่อาจรู้สึกอะไรได้อีก แม้ปัจจุบันถ้าเขายังมีชีวิต เขาจะได้เห็นรูปเจดีย์เทียนหมุที่กลายเป็นสัญลักษณ์เมืองเว้ปรากฏบนงอบทรงญวน กระเป๋า แม้กระทั่งส่วนใต้สะดือของชุดอ๋าวหญ่าย

เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับเศียรพระพุทธเจ้าในไทย ที่กลายเป็นเครื่องประดับตกแต่ง “สไตล์เอเชีย”ในร้านอาหาร ผับ บาร์ หลายแห่ง ในต่างประเทศ และอาจรวมถึงในเมืองไทย ในยุคที่ “สัญลักษณ์” กับ “ศรัทธา” ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคนอย่างเป็นปัจเจกยิ่ง

กล่าวสำหรับเวียดนามในทุกวันนี้ กับการได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ไม่เคยแพ้ ประวัติศาสตร์เวียดนามอาจเป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่ง แต่ในกระแสกาลแห่งโลกาภิวัตน์ที่กำลังหลอมรวมโลกเป็นแบบเดียวกัน มั่นใจได้หรือว่าความขยันและอดทนของคนเวียดนามจะสามารถช่วยให้ชาตินักสู้แห่งนี้หยัดยืนอย่างมั่นคงต่อไปได้ อย่างน้อยก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อเวียดนามไม่เคยต้องเผชิญกับสงครามแบบ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” มาก่อน

ทุกวันนี้ เราพบเพียงสถานบันเทิงไม่กี่แห่งในเมืองเว้ และแทบไม่มีเลยในเมืองฮอยอัน แต่ด้วยเงื่อนไขนั้นเองที่กำลังกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำให้การท่องเที่ยวในเวียดนามขาดเสน่ห์?

ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องที่ต่ำค่า 1 บาทต่อ 390 ด่อง เราจึงได้แต่หวังว่า เมืองเวียดนามในอนาคตจะไม่ถูกกระแสแห่งการท่องเที่ยวชี้นำให้ต่ำค่าไปกว่านี้

ได้แต่หวังว่าเวียดนามจะไม่แพ้...
คำสำคัญ (Tags): #เวียดนาม
หมายเลขบันทึก: 54535เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2006 01:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เคยไปเห็นซากสงครามแล้วครับ หดหู่มากเลย ไม่น่าจะต้องฆ่ากันเลย

คุณไชยยงค์

เป็นโชคดีของไทยแล้วที่ไม่มีปัญหากับระเบิดมากมายขนาดเวียดนาม ลาว หรือกัมพูชา ครับ

เคยได้ทราบข้อมูลจากอาจารย์ท่านหนึ่งว่า..ระวังอีกไม่กี่ปีเวียดนามจะแทรกเรา..เพราะอย่างที่คุณ วิภู ชัยฤทธิ์ (ไม่มีชื่อกลาง) บอกไว้ว่าเขาสู้ชีวิตจริงๆ อาจารย์บอกว่าการอบรมแต่ละครั้งคนไทยต้องเบรคอาหารว่างเป็นระยะ แต่เวียดนามถึงเธอจัดเบรคให้ฉันก็ไม่ไป เพราะกลัวเข้ามาฟังเรื่องราวไม่ทันคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท