ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_10 : โรงเรียนเชียงเครือวิทยาคม กับ ไร่ยางพาราหน้าโรงเรียน


วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ทีมขับเคลื่อน PLC อีสาน เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนเชียงเครือวิทยาคม คุณก้อย คุณเสือ ผม และพี่เมว ออกจาก มมส. ตอน 8:00 น. ไปรับ ศน.กชพร ศน.สุริยา ที่ สพป.กส. 1 ตอน 9:00 วันนี้เราไปเยี่ยมโรงเรียนเชียงเครือวิทยาคมตอนเช้า และโรงเรียนบ้านหนองแวงเหนือในภาคบ่าย 

แม้ว่าผมเองจะเสนอแนวทางการนิเทศแบบ " KM ยกกำลังสอง " (อ่านที่นี่) ซึ่งเน้นการนิเทศแบบเป็นกันเอง  แต่ในการออกนิเทศจริงๆ ด้วยบริบททางวัฒนธรรมของเราชาวไทยที่เน้นการต้อนรับขับสู้อย่างเป็นทางการ กอปรกับขั้นตอนการศึกษา วางแผน ประสานงานยังไม่ได้นำ KM เข้าไปดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมมากนัก ทำให้การนิเทศในครั้งนี้ จึงคงยังไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของการนิเทศแบบ "KM ยกกำลังสอง" 

จึงเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เรา "ทีมขับเคลื่อน" ไป "พรากครูออกจากนักเรียน" เสียเอง กราบขออภัยท่าน ผอ. และคุณครูทุกท่านไว้ ณ ที่นี่ด้วยครับ 

  • โรงเรียนเชียงเครือมีอาคารเรียน 2 หลัง กำลังก่อสร้างอีก 1 หลัง และมีอาคารอำนวยการ 1 ชั้นอีกหนึ่งหลัง ที่จัดเป็นห้องผู้อำนวยการ และห้องประชุม  เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ตั้งแต่อนุบาล - ม.3  (รายละเอียดข้อมูลที่มีออนไลน์อ่านได้ที่นี่ครับ) 

  • ผมมองว่าท่าน ผอ.ทวี ติวทอง เป็นผู้มีบุคลิก ประนีประนอม เป็นกันเองท่านหนึ่ง (แต่ก็ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่ แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นหลังจากได้มีโอกาสคุยกับท่าน)  ท่านบอกว่า ใหม่ๆ ตอนย้ายมานั้น ห้องเรียน แหล่งเรียนรู้ และชุมชน ยัง "แยกส่วน" กันอยู่มาก ครูส่วนใหญ่ก็สอนแบบ "talk and chalk" ตอนนี้ 3 ปีผ่านไป ก็ปรับเปลี่ยนได้พอสมควรแล้ว

  • ผมเริ่ม "อำนวย" ให้วงสนทนาเข้าสู่การเล่าเรื่อง เล่าประสบการณ์แห่งความสำเร็จ (SST) โดยไม่ได้กำหนดหัวข้อเรื่อง (ให้การสนทนานั้นพาไปเอง) ในช่วงนี้จะเป็นการเล่าเรื่องจากท่าน ผอ.ทวี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ ทุกคนจะเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ ผอ.โรงเรียน .... 
  • อ.ประมวล ทวยดี เป็นท่านแรกที่เล่าเรื่องการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้เราฟัง ท่านเล่าเรื่องการปลูกยางพาราในไร่ของโรงเรียน ที่ได้รับการสนับสนุนกล้ายางจากกรมการเกษตรในพื้นที่ จนปัจจุบันยางพารา 5  ไร่ของโรงเรียน มีอายุ 6 ปี  ปีหน้าก็น่าจะกรีดลงมีดได้แล้ว ดูเหมือนว่ารายได้ส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอาคารสถานที่ นี่เป็นวิธีการหนึ่งที่ท่านมองว่าเป็นการพึ่งตนเอง  ฯลฯ 

  • อ. บัณฑิต ภูพันใบ เป็นท่านที่สองที่เล่าเรื่องฯให้ฟัง อ.ประมวล บอกว่า ท่านอยากจะให้ อ.บัณฑิต "ได้พูด"  อ.บัณฑิต เป็นครูพลศึกษา ที่เก่งเรื่องเซปักตะกร้อ ท่านบอกว่านักเรียนได้รางวัลชนะเลิศในระดับจังหวัด ระดับภาค .... ผมถามท่านว่า ท่านมีเทคนิค เคล็ดลับอย่างไร ท่านบอกว่า ซ้อมให้หนัก หากใจรักก็ทำได้เอง  ท่านบอกว่าตอนนี้ท่านเป็นนายกสมาคมเซปักตะกร้อของภาค (หรือจังหวัดไม่มั่นใจครับ) ... ผมคิดถึงภาระงานของครูที่มากล้นที่เคยเขียนบันทึกไว้ (อ่านได้ที่นี่)  ตอนนี้ทางโรงเรียนกำลังนำตะกร้อลอดห่วงมาเล่นอย่างจริงจังด้วย 

  • ท่าน ผอ.เล่าหลายเรื่องครับ แต่มีเรื่องหนึ่งที่ท่านไม่ได้เล่า แต่เป็นเรื่องสำคัญ....  ตอนหลัง ผมชวนท่าน ผอ.ออกมาสำรวจโรงเรียน (เพื่อไม่ให้ครูเกร็งในการเล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งมี พี่แมวและคุณก้อยอำนวยอยู่) ท่านพาผมไปห้องเรียน พบครูต่างชาติกำลังสอนเด็กอย่างครึกครื้น เฮฮา เด็กๆ พูดตอบเสียงดัง  ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ไปเจอกันที่ตลาดในเมือง ด้วยความกล้าพูดของท่าน เดินเข้าไปสนทนาก่อน จนกลายเป็นเพื่อน และมาเพื่อนร่วมงานในเวลาต่อมา 

ข้อเสนอสำหรับโรงเรียนเชียงเครือวิทยาคม

หากพิจารณาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) มาเป็นหลักคิด ผมมีข้อสังเกตดังนี้
รอบๆ โรงเรียนชาวบ้านทำอาชีพไร่ยางพารา ปลูกมันสัมปะหลัง และปลูกอ้อย ดูจากบ้านเรือนชาวบ้านระหว่างเดินทางไป ฐานะน่าจะระดับปานกลางการปลูกยางพาราโดยให้นักเรียนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการ "เรียนชีวิต" คือบูรณาการ ชีวิต ห้องเรียน และกิจกรรมการเรียนเข้าด้วยกัน (อ่านข้อแนะนำเรื่องนี้ละเอียดที่นี่)  จากการสอบถามท่าน ผอ. และ อ.ประมวล พบว่า 

  • โรงเรียนได้รับต้นกล้าจากกรมการเกษตร ไม่มีเรือนเพาะชำต้นกล้ายางพารา นักเรียนไม่ได้เรียนรู้หรือทดลองเกี่ยวกับกล้ายางพารา ศึกษาความรู้หลักวิชาเกี่ยวกับยางพารา เช่น พันธุ์ยาง วงจรชีวิต เป็นต้น
  • ไร่ยางพาราของโรงเรียนทั้ง 5 ไร่ ถูกปลูกพร้อมกันอย่างมีส่วนร่วม  แต่เป็นการมีส่วนร่วมที่ได้ลงมือทำกันเพียงครั้งเดียว ถัดจากนั้นเป็นการดูแลของโรงเรียน ยังไม่มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อให้นักเรียนได้รับผิดชอบ ดูแล และเรียนรู้วิธีการดูแลต้นยางพารา
การทำไร่ยางพาราเพื่อหวังจะได้รายได้มาพัฒนาโรงเรียนนับเป็นเรื่องที่ดี  แต่ต้องเข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการขับเคลื่อน ปศพพ.เพื่อการศึกษาคือ  ทำให้ไร่ยางพาราเป็นแหล่งเรียนรู้  (อ่านเรื่องแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่นี่ครับ) เช่น อาจดำเนินการดังนี้ 

  • ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องยางพารา
  • ทำความเข้าใจและกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม ระหว่าง ผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง ที่จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับยางพารา 
  • ควรเป็นหลักสูตรระยะยาวสอดคล้องกับ ธรรมชาติของยางพารา เช่น เป็นหลักสูตร 9 ปี ตั้งแต่ ป. 1 ถึง ม.3 นักเรียนที่จบ ม.3 สามารถที่จะอธิบายขั้นตอนการปลูกยางตั้งแต่ต้นจนจบ จนถึงขั้นนำไปประยุกต์ใช้ ฯลฯ
  • นักเรียนทุกคนได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว จนถึงขั้นนำไปขายได้ นั่นคือ ควรมีการแบ่งพื้นที่ หรือจำนวนต้น ให้นักเรียนแต่ละคนได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ตามความเหมาะสมของศักยภาพ   ......  นั่นหมายถึง จะไม่ใช่ไร่ยางพาราที่มีอายุยางเท่ากันหมด แต่จะมีการปลูกทุกปี การเก็บเก็บเกี่ยวทุกปี ฯลฯ
  • ควรจัดการเรียนการสอนแบบ PBL บูรณาการวิชาการต่างๆ โดยใช้เรื่องยางพารา 
  • ฯลฯ
ส่วนเรื่องตะกร้อไม่ขอคอมเมนท์ใดๆ ครับ 

ก่อนจบบันทึก ขอนำภาพเด็กๆ ลูกหลานเรา ที่เราต้องทำเต็มที่เพื่อชีวิตและโอกาสที่ดีของเขาครับ

ดูภาพทั้งหมดได้ที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 545265เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2013 02:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2013 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท