ความทุกข์ของโรงเรียนคือ "งานที่ต้องทำ"


จากเวทีขับเคลื่อน PLC หลายๆ ครั้งที่ผมมีประสบการณ์ในพื้นที่  ผมสรุปว่าตอนนี้ ความทุกข์ที่สุดของทั้งเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) และของโรงเรียน คือ "จำนวนโครงการที่มากล้น" หรือ อาจเรียกว่า "งานที่ต้องทำมากเกินไป" จนไม่มีเวลาทำ "งานที่อยากทำ" หรือ "งานที่ควรทำ" ....

ผมไม่รู้ว่าสาเหตุของปัญหาที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ผิดหรือถูกมากน้อยแค่ไหน  แต่เป็นความทุกข์ที่ได้รับฟังมาจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงอยากสะท้อนให้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในระบบ ในวงการศึกษาเห็น เผื่อท่านอาจจะพิจารณาแก้ไขคลายทุกข์ให้ครู ผอ. และ ศน. ได้บ้าง

....โครงการที่ สพป. ต้องทำรวมแล้วน่าจะประมาณเกือบ 400 โครงการ..... เป็นประโยคหนึ่งที่ทำให้ผมต้อง ค้นหาสาเหตุว่า เป็นไปได้หรือ เป็นจริงหรือ....เป็นไปได้อย่างไร....จากการศึกษา ผมพบระบบที่เป็นต้นของจำนวนโครงการดังรูปครับ

งานที่วิ่งมาที่ สพป. อาจแบ่งเป็น 2 แหล่งหลักๆ คือ งานจากกระทรวงฯ ก็คือ งานที่มอบหมายมาจาก สพฐ. และงานที่มอบหมายมาจาก กระทรวง กรม หรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงมากนัก (เพราะยังไม่ทราบรายละเอียด)  งานจาก สพฐ. อาจแบ่งออกได้เป็น 3 แบบหลัก ดังต่อไปนี้

  • ให้เงินและให้งาน (สั่งการให้ทำกิจกรรมต่างๆ 1, 2, 3) ให้สพป.ทำให้  แน่นอนว่า วัตถุประสงค์เดาไม่ยากนัก ก็คือเพื่อบรรลุ KPI ของ สพฐ. (หากใช้ฐานคิดแบบตะวันตกแบบ KPI นะครับ) 
  • ให้เงินและให้งาน แต่สามารถคิดเพิ่มได้ ส่วนนี้ สพป. สามารถที่จะคิดโครงการเพิ่มเติมได้ แน่นอน สพป. ย่อมคิดโครงการที่จะทำให้บรรลุตาม KPI ของ สพป. นั่นหมายถึง โครงการในหมวดนี้จะตอบทั้ง KPI สพฐ. และ KPI สพป.
  • ให้เงินสนับสนุน โดยให้คิดงานเองได้โดยอิสระ (แต่ผมคิดว่าคงให้นโยบายมา) ซึ่ง สพป. ในที่นี้คือ ศน. จะต้องมาคิดโครงการใส่เข้าไปในแผนปฏิบัติราชการของ สพป. ซึ่ง ถ้ามีการแยกกันรับผิดชอบ KPI จะทำให้เกิดอาการ "ต่างคนต่างคิด" ซึ่งผลก็คือ จะมีจำนวนโครงการจำนวนมาก

ลองจินตนาการดูนะครับ ว่า หากโครงการจาก 3 ส่วนนี้ รวมกับงานจากกรมอื่นๆ ลงสู่โรงเรียนขนาดเล็กที่มี ผอ. 1 คน ครูน้อย 5 คน จะเกิดอะไรขึ้น......  ดังนั้นผมจึงเริ่มเชื่อนิดๆ แล้วครับ ที่ว่ามีถึง 400 โครงการต่อปีนั้น อาจจะเป็นจริงก็ได้ เพราะต้องแบกรับทั้ง KPI สพฐ. KPI สพป. KPI กรมฯ และ KPI ของโรงเรียนเอง .....หากไม่บูรณาการล่ะก็แย่แน่...

ผมสรุปตรงนี้ว่า ปัญหาคือ การทำงานแบบ "แยกส่วน" การ "บูรณาการ" ก็ยังอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหานี้ หากทุกท่านในที่นี้ ยังไม่ได้มีทักษะการมองอย่าง "องค์รวม"

จากประสบการณ์ของผม การฝึกตนตามแนวทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องจะทำให้เราเห็นองค์รวมได้ง่ายครับ


หมายเลขบันทึก: 538758เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 03:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 03:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อไหร่การศึกษาไทยจะไปถึงฝัน

ชาตินี้ดูแล้วคงตายเปล่า...ไม่มีโอกาสได้เห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท