"กระบวนทัศน์" และ "กระบวนการ" การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา มาพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21


บันทึกนี้ สรุป "กระบวนทัศน์" "กระบวนการ" ในการน้อมนำ ปศพพ. มาใช้ขับเคลื่อน ทักษะในศตวรรษที่ 21 ในพื้นที่อีสานตอนบน ซึ่งได้ "สรุปแทรก" (ไม่ใช่บรรยาย แต่เป็นเหมือนสรุป ไม่เหมือนสรุปเพราะพูดแทรกตอนโอกาสเหมาะสม) ในการดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อน 3 เวทีดังนี้

  • วันที่ 17-18 กรกฎาคม 2556 ในเวทีขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา (ปศพพ.พศ.) ที่เราจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้อำนวยการโรงเรียนและรองวิชาการฯ
  • เวทีวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 เวทีขับเคลื่อน ปศพพ. พศ. เวทีรองวิชาการและครูแกนนำ ในโครงการเดียวกัน และ
  • เวทีขับเคลื่อนทักษะในศตวรรษที่ 21 สู่โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ (ร.ร.ศรร.ปศพพ.พศ.) ซึ่งเริ่มโรงเรียนแรกแล้วที่ ชุมชนห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ผมเคยเขียนเสนอไว้เมื่อครั้งไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ที่โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร ร้อยเอ็ด (อ่านได้ที่นี่) และผมเองได้ "ฟัง" จากการสนทนาบนโต๊ะกับข้าวกับ อาจารย์ปิยาภรณ์  (ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล) อีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้เอง ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษาจะพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในบริบทไทย  นั่นทำให้ผมมั่นใจขึ้นที่จะเสนอเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนทักษะในศตวรรษที่ 21 ว่า

ทักษะในศตวรรษที่ 21 + ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา = ทักษะในอนาคตในบริบทของตน

วิธีการในการขับเคลื่อนฯ ที่ "สรุปแทรก"  (ไม่ได้แจกเอกสาร) มีดังนี้ครับ


ความจริงคือ "นักเรียนเปลี่ยน"  จากการลงพื้นที่อยู่กับครูในพื้นที่ ทำให้รู้ดีว่า ต่อไปนี้คือสิ่งที่เราส่วนใหญ่คิด

  • เข้าใจและรู้สึกว่า เนื้อหาที่ต้อง "สอน" มีมาก โดยพิจารณาง่ายๆ จาก "หลักสูตร" ที่เปลี่ยนไป
  • เข้าใจว่าผู้เรียนในสมัยนี้มี "สมาธิสั้น" กว่าแต่ก่อนมาก ทำให้เป็นอุปสรรค ลำบากใน "การสอน"
  • เห็นและยอมรับแล้วว่า เทคโนโลยีสื่อสารสนเทศเจริญรุดหน้าเร็ว แต่โดยมากจะมองมุม "เลว" ว่าเป็นสิ่งยั่วยุ ทำให้ผู้เรียน "สมาธิสั้น" มากกว่ามองมุม "ดี" แล้วก้าวเท่าทัน แล้วนำสิ่งนั้นๆ มาประยุกต์ใช้ใน "การเรียน"
  • มองว่าผู้เรียนคุณธรรมต่ำลง ไม่รักนวลสงวนตัว ไม่กลัวผู้ใหญ่ ไม่ให้ความเคารพ ไม่สุภาพ ฯลฯ
  • เห็นว่าผู้เรียนมีคุณภาพต่ำลง ความอดทนน้อย ไม่ขยันเรียน ไม่สู้งาน รักสบาย ทำอะไรไม่เป็น ฯลฯ

ความจริงคือ 

  • ความรู้เพิ่มมากขึ้นมหาศาล ความรู้ใหม่งอกเร็วมโหฬาร ไม่มีทางที่ในช่วงชีวิตที่เดียวของมนุษย์จะสามารถเรียนรู้เนื้อหาความรู้ที่มนุษย์ได้ค้นพบแล้วได้ทั้งหมด  มีครูบาร์อาจารย์ท่านเปรียบเทียบให้ฟังว่า แค่เพียงงานวิจัยในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ หากนำมาวางทับกันทันทีที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ กองจะสูงขึ้นด้วยความเร็วถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่มีทางที่เราจะ "ส่งผ่าน" ถ่ายทอดความรู้นี้สู่ผู้เรียนได้ทัน
  • หากแบ่งแหล่งเรียนรู้ของคนออกเป็น 2 ส่วนคือ จากภายใน และจากภายนอก แบ่งความรู้ออกเป็น 3 แบบตามที่อริสโตเติลกล่าวไว้คือ ข้อเท็จจริง (fact) ทักษะ (Skills) และ จิตวิญญาณหรือปัญญาญาณ (Spiritual) และแบ่งวิธีการเรียนเป็น 3 แบบ ได้แก่ รับรู้ เรียนรู้ และหยั่งรู้  เราสามารถอธิบายกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ได้ 3 แบบ ได้แก่
    • เรา"รับรู้" "ข้อเท็จจริง" จาก "ภายนอก" สู่ "ภายใน" เพื่อทำความเข้าใจด้วยการ "ฟัง/อ่าน"
    • เรา "รับรู้" "ข้อเท็จจริง" แล้ว "เรียนรู้" ด้วยการ "คิด" พิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล "ลงมือปฏิบัติ" ทดลองวิจัยจนเกิด ความเข้ารู้ความเข้าใจใน "ศาสตร์" ต่างๆ ตามมาเช่น ความคิดรวบยอด (Concept) ทฤษฎี (Theory) กฎ (Law) หลักการ (Principle)  เป็นต้น และเกิด "ทักษะ" ขึ้นกับตนเอง
    • เรา "หยั่งรู้" "ความจริง" และยกระดับจิตวิญญาณของตนเอง จาก "ภายใน" ขึ้นเองเมื่อเรา "ภาวนา" หรือเจริญสติ ฝึกสมาธิ สมถะวิปัสนา ตามแนวทางพุทธ  ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่สนใจของผู้นำทางความคิดจิตวิญญาณทั่วโลก 
คนทั่วไปในที่นี้คือ ผู้เรียนเกือบทุกคน จะ "รับรู้" สิ่งต่างๆ จากภายนอกเข้ามาก่อนจะ "เรียนรู้" (เว้นแต่จะ "หยั่งรู้" เองจากภายใน) หรือเรียกว่า เราจะได้รับ "สิ่งเร้า" หรือ "สิ่งกระตุ้น" จาก "ภายนอก" ซึ่งคนในศตวรรษที่ 21 นี้ จะได้รับสิ่งเร้ามากกว่าคนในศตวรรษที่ 20  นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ "สมาธิสั้น" กลายเป็นเรื่อง "ธรรมดา" ของคนในยุคนี้
  • เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย จะทำให้เราสามารถทำให้ผู้เรียน สามารถ รับรู้ เรียนรู้ ความรู้ที่จำเป็นในทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้เท่าทัน ดังนั้น ครูต้องทันเท่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มองใน "มุมดี" และประยุกต์ใช้ในการ "สอน"
  • ผู้เรียนคุณภาพต่ำลง และคุณธรรมต่ำลง ล้วนแล้วแต่เป็น "ผล" ที่ต้องปลงเปิดใจยอมรับ แล้ว เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับกระบวนการ เพื่อสร้าง "เหตุ" ใหม่ ที่จะให้ผลดีขึ้นต่อไป 

หลายอย่างเปลี่ยน แต่บางอย่างไม่เคยเปลี่ยน


  • สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือ "เรียนแบบ ถ่ายทอด ส่งผ่าน" ความรู้จากครูสู่นักเรียน
  • ยังคงเน้น "เรียนเดี่ยว" ที่ครูคนเดียวยืนหน้าชั้น เด็กนั่งหันหลังประจันหน้าหาครู ผู้ "บอก สอน ป้อน สั่ง"  แม้จะพูดเสียงดังผ่านไมค์ เปลี่ยนจากห้องกลางป่าไพร สู่ห้องแอร์ติดโปรเจ็คเตอร์ก็ตาม

เปลี่ยนกระบวนทัศน์

กระบวนทัศน์หรือแนวคิด ที่ทำจนเคยชินยึดติด ที่ครูไม่เน้นคิดแต่เน้นจำ ไม่เน้นทำแต่เน้นท่อง ไม่เน้นทดลองผิดถูก เน้นแต่ปลูกฝังเชื่อไว ไม่เน้นนำไปใช้ "เรียนชีวิต" แต่หลงติดแยกส่วน "เรียนวิชา"  "เน้นเนื้อหาไม่เน้นกระบวนการเรียนรู้" ครูนักเรียนเรียนเดี่ยวไม่ร่วมมือ  หลักสำคัญที่เราต้องยึดถือปฏิบัติ ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เหล่านี้คือ ปศพพ.พศ. ที่ต้อง เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา

กระบวนทัศน์สำคัญที่สุดที่ต้องเปลี่ยนคือ "เรียนชีวิต ไม่ใช่เรียนวิชา"  โดยพิจารณา 3 อย่าง การพัฒนาการเรียนรู้ 3 ทางที่ต้องเชื่อมโยงสอดคล้องเข้าหากัน (อ่านบทสังเคราะห์เรื่อง 3 เชื่อมได้ที่นี่) ได้แก่ การเรียนการสอนในห้องเรียน กิจกรรมเสริมในโรงเรียนสิ่งแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน และชีวิตจริงนอกโรงเรียน เหมือนสามห่วงที่เขียนให้ร้อยเรียงดันดังรูปข้างบน 

ปรับกระบวนการ

กระบวนการที่กำลังปรับเพื่อขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่อีสาน ในช่วงปีนี้มี 5 ประเด็น ได้แก่

  1. ผู้อำนวยการใช้กระบวนการเชิงราบ หรือกระบวนการกลุ่ม ในการประชุมสื่อสาร และบริหารงานในโรงเรียน
  2. สำนักงานเขตฯ และศึกษานิเทศก์ เน้นช่วยเหลือและนิเทศแบบกัลยาณมิตร Coaching Mentoring Counseling แบบตามติดต่อเนื่อง
  3. ครูหันมาใช้จิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน
  4. เน้นกระบวนการเรียนรู้ มุ่งสู่ทักษะอนาคตในบริบทของตนเอง คือ ใช้หลัก ปศพพ.พศ. ในการขับเคลื่อนทักษะในศตวรรษที่ 21
  5. ผอ.และครู ทำงานเป็นทีม สร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Community)  หรือ PLC  (PLC_ผอ. PLC_ครู) ผู้เรียนเรียนเป็นทีม แบบมีความสุขสนุกที่ได้เรียน (Play and Learn Community) หรือ PLC_นักเรียน เรียนแบบ PBL

เป้าหมายการเรียนรู้  คือ เป็นผู้มีอุปนิสัยพอเพียง

เป้าหมายในการพัฒนาการเรียนรู้ คือ ผู้เรียนที่มีอุปนิสัยพอเพียงดังนี้ 

  • ปศพพ. คือ หลักคิด ดังนั้น ผู้มีอุปนิสัยพอเพียง คือผู้ที่ "คิดเป็น"
  • ปศพพ. คือ หลักปฏิบัติ ดังนั้น ผู้มีอุปนิสัยพอเพียง คือผู้ที่ "ทำเป็น" (นั่นคือ "แก้ปัญหาเป็น")
  • สรุปคือ ผู้มีอุปนิสัยพอเพียง คือผู้ที่คิดและทำตามหลัก ปศพพ. จนติดเป็นนิสัย

เมื่อคิดและทำตามหลัก ปศพพ. จะเกิดคุณลักษณะสำคัญกับผู้เรียน

  • มีทักษะอนาคตในบริบทไทย ที่สำคัญคือ ๓ร. ๑ว. ที่เสนอโดยศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ต่อมา ผอ.สุพจน์ จากโรงเรียนโพนทองวิทยายน เสนอเพิ่มเติมอีก ๑ว. จึงเป็น ๓ร. ๒ว. ดังนี้ 
    • มีแรงบันดาลใจในการเรียน เรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียนรู้ 
    • มีทักษะการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณอย่างมีคุณธรรม มีทักษะการปฏิบัติอย่างมีหลักวิชาการและคุณธรรม (เป็นผู้มีคุณธรรมพื้นฐาาน 8 ประการ ได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ)
    • มีทักษะการร่วมมือ หรือ ทักษะการทำงานเป็นทีม
    • มีวินัยในตนเอง และ
    • ภูมิในในวัฒนธรรม
  • คิดก่อนทำ ทำอย่างระวังและรอบคอบ ตรวจสอบประเมินตน ฝึกฝนปฏิบัติพัฒนาให้ยั่งยืน

ในตำราชาวตะวันตก ได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ดังรูปด้านล่าง (ผู้สนใจสืบค้นได้ไม่ยาก โดยใช้คำสำคัญ "วิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21")

คุณลักษณะที่ควรจะมี สำหรับโรงเรียนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ร.ร.ศรร.ปศพพ.)

จะเป็น ร.ร.ศรร.ปศพพ. ต้องผ่านการประเมิน "การประเมินเป็น ร.ร.ศรร.ปศพพ." แตกต่างจากการประเมินทั่วไป ความโดนนัยที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ใช่การประเมินเพื่อให้ผ่านตามเกณฑ์ แต่เป็นการประเมินเพื่อ "ยืนยัน" ว่าพร้อมจะเป็นโรงเรียนหลักในการขับเคลื่อนขยายผล ปศพพ.พศ. ต่อไป

คุณลักษณะสำคัญของ ร.ร.ศรร.ปศพพ. ที่สำคัญ ควรมีดังนี้

  • เข้าใจเกณฑ์ก้าวหน้า (เกณฑ์ 3-4-5) ถึงระดับ "คุ้มค่า" ถึง "คุณค่า"  
  • เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ได้ถึงคำว่า "เรียนชีวิต ไม่ใช่เรียนวิชา"
  • อย่างน้อยครูและนักเรียนแกนนำ คิดและทำในระดับคุณธรรมระดับ 6 ของ Lawrence Kohlberg

(อ่านวิธีการขับเคลื่อนต่อบันทึกต่อไปครับ)

หมายเลขบันทึก: 544932เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 02:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นการพัฒนาในงานเขียนและกิจกรรมจากอาจารย์มากเลยครับ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ขจิต มีกำลังใจขึ้นครับ

เทคโนโลยีสื่อสารสนเทศเจริญรุดหน้าเร็ว แต่การศึกษาและพฤติกรรม

ที่ดีกลับสวนทางกันเราจะทำอย่างไรกันดี...กับปัญหานี้...กิจกรรมใหม่

ก็เข้ามาสอดแทรกทุกนา ที ดูไป การพัฒนากลับแย่ลงทุก ๆ วัน

ขอบคุณน่ะค่ะที่มีข้อคิดดี ๆ ให้แลกเปลี่ยน

 

ชอบภาพนี้จัง  บรรยากาศของห้องเรียนสมัยคุณมะเดื่อเรียน ป.1 จ้ะ  ขอบคุณจ้ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท