ทักษะในศตวรรษที่ 21 บริบทไทย ในโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง_01_โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร


วันที่ 27 มีนาคม 2556 ทีมขับเคลื่อน ปศพพ. อีสานตอนบน เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาปัญญาปฏิบัติ ของโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร จังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งในโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 27 โรงเรียนทั่วประเทศ

เป้าหมายของ ผอ.ธนิตา กุลสุวรรณ หรือแม่อิ๋ว ที่คุยกับผมคือ การเติมแนวคิดของการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับครูพอเพียง แล้วร่วมกันหาแนวทางในการจัดการเรียนรู้สู่ศตวรรษใหม่นี้ ผมคิดถึงเมื่อครั้งก่อนไกลมากแล้ว ที่ใช้คำถามกับโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ว่า

ทักษะที่ได้จากการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ณ ขณะนี้ที่ผ่านมา มีอะไรบ้าง แตกต่างจากทักษะในศตวรรษที่ 21 ตามตำราฝรั่งหรือไม่อย่างไร  (ความจริงคำถามนี้ผมเคยเดินเข้าไปถามอาจารย์หมอวิจารณ์ตรงๆ ท่านตอบว่า ลองไปทำดู) ผมเขียนผล AAR ในครานั้นไว้ที่นี่ครับ

ผมตั้งคำถามกับครูวัดป่าฯ คล้ายกัน แต่ปรับปรุงนิดหน่อยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น คือ "ทักษะใดบ้างใน 4 กลุ่มต่อไปนี้ ที่เกิดมีแล้วในเด็กนักเรียนของเรา คือ ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะเทคโนโลยีสารเทศและสื่อ และทักษะวิชาหลักและวิชาสำหรับอนาคต....

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นการทำงานแบบทีมที่มีประสิทธิภาพขนาดนี้ในโรงเรียน เพียง 15 นาที มีผลงานตามภาพด้านล่างครับ


แต่ละคลิปชาร์ทข้างบนนี้ มีชื่อโรงเรียนเล็ก(ในโรงเรียนใหญ่) กำกับไว้ ได้แก่ โรงเรียนผกากรอง (อนุบาล) อินทะนิล(ช่วงชั้นที่ 1) พวงชมพู (ช่วงชั้นที่ 2) และ ชัยพฤกษ์ (ช่วงชั้นที่ 3) หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนเล็กเหล่านี้ จะเห็นพัฒนาการของเด็กตามช่วงชั้นชัดเจน...... แต่บันทึกนี้คงไม่ขอตั้งข้อสังเกตเฉพาะที่น่าสนใจ จากผลงานของครูในเวลาอันจำกัดในภาพรวมดังนี้ครับ

  1. ทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ ครอบคลุม บริบูรณ์ทั้งมิติภายในตัวเด็ก ภายนอกกับผู้อื่นในโรงเรียน และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  และกิจกรรมต่างๆ ที่นักเรียนทำในโรงเรียนล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับชีวิตได้ทั้งสิ้น ทักษะชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนพอเพียงจึงน่าจะเป็นจุดเด่นที่สุด จะมีเพิ่มเติมก็เพียงการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประชาคมอาเซียน และเพื่อก้าวสู่สังคมโลก
  2. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ยังไม่ได้กำหนดนิยามอย่างจริงจังตามตำราฝรั่งที่กำหนดเสนอเป็น 3 ด้านสำคัญคือ ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณาญาณและการแก้ปัญหา และทักษะการเรียนรู้เป็นทีม ความร่วมมือ และการสื่อสาร คำตอบของครูส่วนใหญ่เน้นไปที่ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และสภาพแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่ทางโรงเรียนจัดให้ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดทักษะที่ฝรั่งเสนออยู่แล้ว...... หากมีการประเมินว่าเกิดทักษะการเรียนรู้จริงหรือไม่อย่างไรจะดีมากๆ
  3. ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) และสื่อ เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับอนุบาลที่ เด็กๆ สามารถใช้ facebook และเล่นเกมจับคู่และเกมทายเสียง ในระดับประถมเด็กๆ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต และระดับมัธยมต้น เด็กๆ สามารถที่จะสร้างสื่อหรืองานส่งด้วยคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญ นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะดูแลรักษาสื่อที่ตนเองใช้ตั้งแต่ระดับประถม...... มีประโยคที่ตรงกับตำราฝรั่งคือ "รู้เท่าทันเหตุการณ์" ส่วนการพิจารณา วิเคราะห์เพื่อให้รู้แล้วเข้าใจสื่อและการจัดการสื่อ หรือการสังเคราห์ความรู้ หรือกระบวนการเรียนรู้จากสื่อ ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง 
  4. ทักษะด้านวิชาหลักและวิชาสำหรับอนาคต อาจเป็นปัญหาหลักสำคัญของเรา ในขณะนี้ คำตอบของครูส่วนมาก ครอบคลุมและเตรียมพร้อมเฉพาะมิติของการดำเนินชีวิตในสังคมไทย ด้านสุขภาวอนามัย การอนุรักษ์ศิลปและวัฒนธรรมไทย และด้านภาษาอังกฤษ แต่วิชาสำหรับอนาคต เช่น เศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการเป็นผู้ผลิต ออกแบบเช่น STEM (Science Technology Engineering และ Mathematics) ทักษะเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เรื่องโลก เรื่องสิ่งแวดล้อมมิติกว้าง ฯลฯ ยังไม่มีการกล่าวถึงมากนัก ...

เราร่วมกันสรุปว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุด ของเราขณะนี้คือ นักเรียนยังไม่มีทักษะการเป็นผู้นำเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีทักษะการคิด กล้าคิด กล้าทำ มากแล้ว แต่การทำงานเป็นทีมยังคงเป็นปัญหาอยู่

ผมสรุปและเสนอกับครู ดังนี้ครับ

  1. ที่นักเรียนยังไม่มีทักษะการเป็นผู้นำ (Leadership) มากนักเพราะพวกเขาไม่ได้ฝึกการเป็นผู้นำ
  2. กิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ ที่เด็กได้ลงมือทำยังเป็นแบบ "พาทำ" และ "ทำให้ดู" ไม่ได้เน้นให้นักเรียนได้ "คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง"  นักเรียนจึงไม่ได้ฝึกการเป็นผู้นำ
  3. การฝึกการเป็นผู้นำ (รวมทั้งการนำตนเอง) คือการสร้างโอกาสใก้นักเรียนได้ ฝึกคิด ฝึกทำ ด้วยตนเอง ทุกขั้นตอน
  4. เด็กจะได้ฝึกคิดฝึกทำทุกขั้นตอนก็ต่อเมื่อ ครูหันมาเน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหา หันมาเป็นโค้ช หรือผู้อำนวยใก้เกิดการเรียนรู้ อดทนต่อการบอกคำตอบ และลดการกำหนดวิธีการหรือออกคำสั่งกับนักเรียนลง
  5. ต้องช่วยกันทำใหนักเรียนรู้สึกว่า "ฉันทำได้ ฉันคิดเองได้ ฉันสร้างสรรค์เองได้ และ ฉันมีความสำคัญในทีม"
  6. ครูควรสอนแบบ PBL (Project-based Learning) คือสอนแบบโครงงาน ที่มีปัญหาเป็นฐาน และควรเป็นปัญหาจริงที่เกิดในการดำเนินชีวิต

ความจริงเราคุยกันนานมากครับ..... ผมมีความสุขเหลือเกินครับ เมือเห็นครูหลายคน เข้าใจและมีพลัง ตั้งใจที่จะลองไปทำดู

วันหลังจะเอารูปมาให้ดูนะครับ


หมายเลขบันทึก: 531576เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2013 02:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2013 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท