การประท้วง การชุมนุมโดยสงบ และการเดินขบวนในระบอบประชาธิปไตย ตอนที่ 1


ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ได้กำหนดเสรีภาพไ้ว้ให้แก่ประชาชนหลายประการ เช่น  เสรีภาพส่วนบุคคล (มาตรา 32-38) เสรีภาพในการประกอบอาชีพ (มาตรา 43-44) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน (มาตรา 45-48) เสรีภาพในการศึกษา (มาตรา 49-50) เป็นต้น

แต่เสรีภาพ ที่ผมจะกล่าวต่อไป ในที่นี้ คือ เสรีภาพในการชุมนุม ที่เรียกว่า Freedom of assembly ว่าแท้จริงแล้ว เสรีภาพดังกล่าวหมายถึงอะไร ในต่างประเทศได้มีการให้ความคุ้มครองหรือไม่ และมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยอย่างไร นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าคิดอีกว่า เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นเอกสิทธิ์ของประชาชนที่รัฐจะแตะต้องไม่ได้ หรือไม่ หรือเป็นเพียงเสรีภาพอย่างหนึ่งที่รัฐเองสามารถที่จะก้าวล่วงเข้ามาจำกัด เสรีภาพในรูปแบบนี้ได้ บทความของผม ที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจจะตอบโจทก์คำถามที่ตั้งขึ้นได้พอสมควร อย่างน้อยก็เป็นแนวทางหนึ่งในการค้นหาความรู้ในเรื่อง เสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of assembly ) ตามรัฐธรรมนูญ
 
 1. หลักพื้นฐานเกี่ยวกับเสรีภาพ
 
 แซลมอลด์ (Salmond) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “เสรีภาพ” (Liberty) ไว้ว่า หมายถึง ประโยชน์ซึ่งบุคคลได้มาโดยปราศจากหน้าที่ในทางกฎหมายใดๆ ต่อตนเอง เป็นสิ่งที่บุคคลอาจทำได้โดยจะไม่ถูกป้องกันขัดขวางโดยกฎหมาย และเป็นประโยชน์ที่บุคคลจะกระทำการใด ๆ ได้ตามใจชอบ โดยข่ายแห่งเสรีภาพตามกฎหมาย ที่ได้แก่ ข่ายแห่งกิจกรรม ซึ่งภายในแห่งข่ายกฎหมายนี้ปล่อยให้บุคคลใด ๆ กระทำการไปโดยลำพัง
 
 Black’s Law Dictionary ได้ให้ความหมายของคำว่า “เสรีภาพ”(Freedom) ว่า หมายถึง การที่รัฐ ให้ความเป็นอิสระที่จะทำการใด ๆ ได้ โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง (Political Right) 
  
 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542ได้ให้ความหมายของคำว่า “เสรีภาพ” ไว้ว่า ความสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ได้ตามที่ตนปรารถนา โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา ความมีสิทธิที่จะทำจะพูดโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
 
 ดังนั้น หากกล่าวโดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า “เสรีภาพ” หมายถึง อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยต้องคำนึงกฎเกณฑ์ต่างๆของสังคมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

2. ความหมายของคำว่า “ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ” ( Freedom of peaceful assembly)

 ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า หมายถึง เสรีภาพที่สำคัญของระบบประชาธิปไตยเพราะบุคคลจะต้องมาพบปะเพื่อสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิในทางการเมืองได้ถูกต้อง

 Black’s Law Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ สิทธิที่รัฐธรรมนูญได้ รับรอง (Guarantee) ในการที่จะให้ประชาชนได้ชุมนุมและแสดงออกโดยสงบ ดังเช่น เรื่องศาสนา การเมือง หรือความไม่พอใจ ในเรื่องอื่น ๆ 

 นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งการชุมนุมสาธารณะ (Public meeting) ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
 1. การชุมนุมอยู่กับที่ (Assembly) คือ การที่ประชาชนมาชุมนุมรวมกัน เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐโดยมาชุมนุมกันในที่สาธารณะ ในสวนสาธารณะ โดยเป็นการชุมนุมอยู่กับที่ ที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุม และจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่สุจริตไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ขัดต่อหลักการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 2. การเดินขบวน (Demonstration) คือ การชุมนุมของประชาชนที่เดินไปตามท้องถนน เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ต่อรัฐ โดยมีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมเดินขบวนไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่จะต้องไม่ขัดต่อหลักความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ

 ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในลักษณะไหนก็ตาม ย่อมมีผลกระทบต่อหลักการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องมีวิธีการขั้นตอนในการคุ้มครองดูแลให้เหมาะสม และมิให้กระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นจึงสรุปว่า การประท้วง การชุมนุมโดยสงบ และการเดินขบวน จึงเป็นเสรีภาพที่บุคคลในระบอบประชาธิปไตยที่สมควรทำได้โดยไม่ก่อให้ก่อให้เกิดความวุ่นวายสำหรับบุคคลอื่นที่จะใช้สถานที่นั้นในการสาธารณะ

หนังสืออ้างอิง

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา.เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ : หลักทั่วไปและข้อจำกัด.http://www.enlightened-jurists.com/directory/94/  เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา.หลักทั่วไปของเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะ. http://www.enlightened-jurists.com/page/127  เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา.ข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะ http://www.enlightened-jurists.com/page/128/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B0.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ภาสพงษ์ เรณุมาศ. เสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of Assembly) ตามรัฐธรรมนูญ.http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1230 เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556



หมายเลขบันทึก: 544485เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ขอให้มีความสุขมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท