“ว่าด้วยมาตรา ๕ แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕”


 

      โดย รัชนีกร ลาภวณิชชา*

 

ใครคือผู้ทรงสิทธิตาม มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

สิทธิในทางสาธารณสุขหรือสิทธิในสุขภาพดีเป็นของใครบ้าง อีกนัยหนึ่งเมื่อถามถึงผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดีหรือการดูแลทางสาธารณสุขที่ดีนั้น เราจะนึกถึงใครบ้าง จะตอบคำถามนี้อย่างไร  

คำตอบที่ได้รับจะเป็นอย่างอื่นไปได้หรือไม่นอกจากตอบว่า “มนุษย์ทุกคนเป็นผู้ทรงสิทธิ” โดยที่มาตรา ๕ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้” ถ้อยคำที่เขียนชัดเจนจนไม่น่าจะตีความเป็นอย่างอื่นได้คือ “บุคคลทุกคน” ที่ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไรก็หมายถึง “มนุษย์ทุกคน” ในประเทศไทย

                    เหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้?

           เนื่องจากสุขอนามัยขั้นพื้นฐานนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์โดยมีจุดเริ่มต้นนับแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตายเช่นเดียวกันกับสภาพบุคคล กล่าวได้ว่าทันทีที่มนุษย์คนหนึ่งลืมตาดูโลก รัฐเจ้าของดินแดนที่เขาเกิดมีหน้าที่ต้องรับรองสิทธิในสุขภาพอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติให้แก่บุคคลนั้น ต่อมาเมื่อเขาเดินทางไปอาศัยอีกรัฐหนึ่ง รัฐที่บุคคลนั้นปรากฏตัวอยู่ย่อมมีหน้าที่รับรองสิทธิในสุขภาพดีให้เช่นกันในกรณีที่บุคคลดังกล่าวขาดความสัมพันธ์หรืออยู่ระหว่างการพิสูจน์ความสัมพันธ์กับรัฐต้นทาง ส่วนรัฐใดจะให้มากหรือน้อยกว่ากันนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หลักการมีเพียงแค่ว่าต้องรับรองสิทธิให้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติระหว่างคนชาติกับคนต่างด้าวในเรื่องของสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ดังนั้นรัฐปลายทางที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่อาจให้บริการทางสาธารณสุขที่ด้อยกว่ารัฐต้นทางก็เป็นได้ เพียงแต่ต้องเป็นการบริการสาธารณสุขที่ดีที่สุดและเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินนั้น ทั้งหมดนี้มิได้เป็นการกล่าวอ้างเพียงลอยๆไร้ซึ่งหลักฐาน แต่บทบัญญัติหรือแนวทางมาตรฐานที่รัฐไทยต้องปฏิบัติตามนั้นปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศดังจะได้กล่าวต่อไป  

        อาจมีข้อสงสัยว่าถ้ารัฐไทยไม่เคารพสิทธิในการมีสุขภาพดีของมนุษย์ในแผ่นดินไทยแล้วจะมีผลกระทบอย่างใดต่อประเทศ หรืออาจคิดว่าเราจะสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับการช่วยเหลือคนต่างด้าวหรือคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลเพื่อสิ่งใด ขอให้ท่านพึงตระหนักว่าประเทศไทยมิได้อยู่โดดเดี่ยวในโลก แต่เราเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศหลายองค์การ การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นหน้าที่ที่รัฐไทยพึงกระทำ  หากจะว่ากันด้วยเรื่องสภาพบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ขอให้ตระหนักว่าในเมื่อประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ไทยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่างๆ และการไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวถือเป็นการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายอันทำให้เกิดความรับผิดในทางระหว่างประเทศ อาจนำมาซึ่งมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากรัฐสมาชิกอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เมื่อประเทศไทยลงนามยอมผูกพันตนในสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ รัฐไทยจึงต้องเคารพกฎหมายเช่นว่านี้  

                สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นเสาหลักกำหนดทิศทางให้ไทยต้องปฏิบัติตามในเรื่องสิทธิในสุขภาพดี ได้แก่ 

๑) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 25[1] ซึ่งเป็นเอกสารที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติร่วมกันผลักดันจนกระทั่งสำเร็จเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อวางรากฐานสิทธิมนุษยชนแก่มนุษยชาติในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้แต่ประเทศไทยก็ได้ให้การรับรองปฏิญญาฯมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๑

๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights -ICESCR) ข้อ 12[2] ซึ่งไทยเป็นภาคีเมื่อ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒  และมีผลบังคับใช้เมื่อ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒

๓) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women -CEDAW) ข้อ 12[3] โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๘ มีผลบังคับใช้เมื่อ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘

๔) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination -CERD) ข้อ 5 (e)[4] โดยกำหนดห้ามการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุสัญชาติ ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ เพศ อายุ ความเชื่อ ให้ขยายความไปถึงสิทธิตามข้อ 5 นี้ด้วย ซึ่งก็รวมถึงสิทธิในทางสาธารณสุขเช่นกัน โดยไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ มีผลบังคับใช้เมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖

๕) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child -CRC) ข้อ 24[5] มีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕

๖) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (International Convention on the Rights of Persons with Disabilities -CRPD) ข้อ 25[6] ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑

            เห็นได้ว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งถือกำเนิดขึ้นภายใต้องค์การสหประชาชาติทั้งสิ้น กฎหมายที่รับรองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์นี้มิได้นำเชื้อชาติ สัญชาติ หรือสีผิว ความเชื่อในทางศาสนามาเป็นเกณฑ์แต่อย่างใด  

            ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง ผู้เขียนเห็นว่าต้องตีความมาตรา ๕ แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เสียใหม่ให้ครอบคลุมมนุษย์ทุกคนที่ปรากฏตัวบนแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับในอารยประเทศ เช่น ฝรั่งเศสที่ให้หลักประกันสุขภาพแก่คนทุกคน มิได้จำกัดเฉพาะคนสัญชาติฝรั่งเศสแต่เพียงอย่างเดียว

 

 

ข้อโต้แย้งต่อความหมายของคำว่า “ชนชาวไทย” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐

              เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ในหมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยนั้น เห็นได้ว่าคำว่า “ชนชาวไทย” มักจะถูกนำมาตั้งเป็นประเด็นในการตีความบทมาตราที่ตามมาอยู่เสมอ เนื่องจากบางท่านเห็นว่า “ชนชาวไทย” หมายเฉพาะแต่คนสัญชาติไทยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองมาตรา ๕๑[7] ที่อยู่ในส่วนที่ ๙ ว่าด้วยสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ จึงถูกตีความว่าไม่รวมผู้มีปัญหาสถานะบุคคลแต่อย่างใด เนื่องจากคนเหล่านี้ยังมิได้ผ่าน หรือกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทย ย่อมมิใช่คนสัญชาติไทยหรือชนชาวไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการตีความเช่นนี้มิได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนต่างด้าวเท่านั้น แม้แต่คนที่เกิดในประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายตามบทสันนิษฐานเด็ดขาดของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ก็ได้รับผลร้ายจากการตีความนี้ด้วย 

           เห็นได้ว่าการตีความข้างต้นจะทำให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีในฐานะภาคีของอนุสัญญาทั้งหมดที่กล่าวมา รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ที่ไทยให้การรับรองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๔๘ เมื่อเป็นเช่นนี้กระทรวงสาธารณสุขและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะปล่อยให้รัฐไทยตกเป็นจำเลยของประชาคมระหว่างประเทศในเรื่องนี้ต่อไปเช่นนั้นหรือ?

 


*อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ), Docteur en droit มหาวิทยาลัยลีล ๒ ประเทศฝรั่งเศส (สาขากฎหมายระหว่างประเทศ)

 

 

 

[1]Article 25.

(1) Everyone has the right to a standard of living adequate for the health and well-being of himself and of his family, including food, clothing, housing and medical care and necessary social services, and the right to security in the event of unemployment, sickness, disability, widowhood, old age or other lack of livelihood in circumstances beyond his control.

 

 

[2] Article 12

 

1. The States Parties to the present Covenant recognize the right of everyone to the enjoyment of the highest attainable standard of physical and mental health.

2. The steps to be taken by the States Parties to the present Covenant to achieve the full realization of this right shall include those necessary for:

 

(a) The provision for the reduction of the stillbirth-rate and of infant mortality and for the healthy development of the child;

(b) The improvement of all aspects of environmental and industrial hygiene;

(c) The prevention, treatment and control of epidemic, endemic, occupational and other diseases;

(d) The creation of conditions which would assure to all medical service and medical attention in the event of sickness.

 

 

[3]Article 12

1. States Parties shall take all appropriate measures to eliminate discrimination against women in the field of health care in order to ensure, on a basis of equality of men and women, access to health care services, including those related to family planning.

2. Notwithstanding the provisions of paragraph I of this article, States Parties shall ensure to women appropriate services in connection with pregnancy, confinement and the post-natal period, granting free services where necessary, as well as adequate nutrition during pregnancy and lactation.

 

 

 

[4] Article 5

In compliance with the fundamental obligations laid down in article 2 of this Convention, States Parties undertake to prohibit and to eliminate racial discrimination in all its forms and to guarantee the right of everyone, without distinction as to race, colour, or national or ethnic origin, to equality before the law, notably in the enjoyment of the following rights:

 

  (e) Economic, social and cultural rights, in particular:

  (iv) The right to public health, medical care, social security and social services;

 

 

[5] Article 24

1. States Parties recognize the right of the child to the enjoyment of the highest attainable standard of health and to facilities for the treatment of illness and rehabilitation of health. States Parties shall strive to ensure that no child is deprived of his or her right of access to such health care services.

2. States Parties shall pursue full implementation of this right and, in particular, shall take appropriate measures:

(a) To diminish infant and child mortality;

(b) To ensure the provision of necessary medical assistance and health care to all children with emphasis on the development of primary health care;

(c) To combat disease and malnutrition, including within the framework of primary health care, through, inter alia, the application of readily available technology and through the provision of adequate nutritious foods and clean drinking-water, taking into consideration the dangers and risks of environmental pollution;

(d) To ensure appropriate pre-natal and post-natal health care for mothers;

(e) To ensure that all segments of society, in particular parents and children, are informed, have access to education and are supported in the use of basic knowledge of child health and nutrition, the advantages of breastfeeding, hygiene and environmental sanitation and the prevention of accidents;

(f) To develop preventive health care, guidance for parents and family planning education and services.

3. States Parties shall take all effective and appropriate measures with a view to abolishing traditional practices prejudicial to the health of children.

4. States Parties undertake to promote and encourage international co-operation with a view to achieving progressively the full realization of the right recognized in the present article. In this regard, particular account shall be taken of the needs of developing countries.

 

 

[6]Article 25 - Health

States Parties recognize that persons with disabilities have the right to the enjoyment of the highest attainable standard of health without discrimination on the basis of disability. States Parties shall take all appropriate measures to ensure access for persons with disabilities to health services that are gender-sensitive, including health-related rehabilitation. In particular, States Parties shall:

a.  Provide persons with disabilities with the same range, quality and standard of free or affordable health care and programmes as provided to other persons, including in the area of sexual and reproductive health and population-based public health programmes;

b.  Provide those health services needed by persons with disabilities specifically because of their disabilities, including early identification and intervention as appropriate, and services designed to minimize and prevent further disabilities, including among children and older persons;

c.  Provide these health services as close as possible to people’s own communities, including in rural areas;

d.  Require health professionals to provide care of the same quality to persons with disabilities as to others, including on the basis of free and informed consent by, inter alia, raising awareness of the human rights, dignity, autonomy and needs of persons with disabilities through training and the promulgation of ethical standards for public and private health care;

e.  Prohibit discrimination against persons with disabilities in the provision of health insurance, and life insurance where such insurance is permitted by national law, which shall be provided in a fair and reasonable manner;

  1. Prevent discriminatory denial of health care or health services or food and fluids on the basis of disability.

 

 

[7] มาตรา ๕๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐

  “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์”

 

 

หมายเลขบันทึก: 544373เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลละเอียดมากเลยครับ

ขอบคุณมากๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท