ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ข้อเสนอยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทยในอนาคต


ข้อเสนอยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทยในอนาคต

โดย รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๘ – วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

http://thepchatree.blogspot.com/๒๐๑๑/๐๘/๑.html

ข้อเสนอยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยในอนาคต โดยจะแบ่งเป็น ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ด้านการเมืองความมั่นคง และยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

๑.ยุทธศาสตร์ด้านการเมืองความมั่นคง 

สำหรับข้อเสนอด้านยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคงนั้น จะแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ยุทธศาสตร์ในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี

ยุทธศาสตร์ในระดับโลก   การที่ไทยจะมียุทธศาสตร์ได้นั้น จะต้องวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศเสียก่อน ในที่นี้ จะต้องวิเคราะห์ระบบการเมืองโลก ซึ่งในอดีตและปัจจุบัน เป็นระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว อย่างไรก็ตาม ในอนาคต มหาอำนาจใหม่กำลังผงาดขึ้นมา โดยเฉพาะ จีน อินเดีย บราซิล และรัสเซีย ดังนั้น ระบบโลกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้ว ไปสู่ระบบหลายขั้ว โดยจะมีลักษณะเป็นระบบลูกผสม ระหว่างระบบหนึ่งขั้ว ระบบหลายขั้ว และระบบพหุภาคีนิยม หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า uni-multilateralism 

สำหรับปัญหาความมั่นคงโลกในอนาคต จะมี ๓ เรื่องใหญ่ เรื่องที่ ๑ คือ แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเก่ากับมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯกับจีน เรื่องที่ ๒ คือ แนวโน้มการปะทะกันทางอารยธรรม โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างตะวันตกและอิสลาม เรื่องที่ ๓ คือ ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะ พลังงาน น้ำ และ อาหาร

จากแนวโน้มสภาวะแวดล้อมดังกล่าว ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว ที่รองรับต่อระบบการเมืองโลก และปัญหาการเมืองโลกในอนาคต โดยยุทธศาสตร์หลักๆของไทย ควรมีดังนี้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์สนับสนุนระบบความมั่นคงโลกที่มีเสถียรภาพ และเอื้อต่อผลประโยชน์ของไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์รองรับต่อ uni-multilateralism และยุทธศาสตร์รองรับปัญหาการเมืองโลก ๓ เรื่องใหญ่ ดังกล่าวข้างต้น 

- ไทยควรเล่นบทบาทให้โดดเด่นมากขึ้นในเวทีและองค์กรความมั่นคงโลก โดยเฉพาะบทบาทในคณะมนตรีความมั่นคง

-ไทยควรมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เป็นประเด็นปัญหาในระดับโลก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของไทยเอง และไทยยังจะได้ประโยชน์ในการสร้างศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ และการได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากขึ้น 

- ความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากร กำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ ไทยจึงควรรีบเข้าไปมีบทบาทในองค์กรโลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ทางพลังงานของไทย เรื่องนี้ ประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน อย่างเช่น สหรัฐฯ จีน อินเดีย แต่สำหรับไทย ผมเห็นว่า เรายังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ 

ยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค  สำหรับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียนั้น จะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับสภาวะแวดล้อมในระดับโลก คือ ระบบความมั่นคงในภูมิภาค จะเป็นระบบลูกผสม ที่ประกอบด้วยระบบหนึ่งขั้ว ระบบหลายขั้ว และระบบพหุภาคีนิยม คือ เป็นระบบ uni-multilateralism เหมือนในระบบโลก โดยสหรัฐฯจะคงมีบทบาทครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค แต่การผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย จะทำให้ระบบความมั่นคงในภูมิภาค มีลักษณะหลายขั้วอำนาจมากขึ้น นอกจากนั้น การผงาดขึ้นมาของอาเซียน ในการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะทำให้ระบบความมั่นคงในภูมิภาค มีลักษณะเป็นระบบพหุภาคีนิยมมากขึ้นด้วย

สำหรับปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคในอนาคต เรื่องแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่น และจุดอันตรายอื่นๆ คือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี หมู่เกาะสแปรตลีย์ และไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และการแข่งขันทางทหาร

เช่นเดียวกับในระดับโลก ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคเพื่อรองรับต่อระบบและปัญหาในภูมิภาคในอนาคต โดยยุทธศาสตร์หลักๆของไทย มีดังนี้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อระบบ uni-multilateralism โดยจะต้องมียุทธศาสตร์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจเก่า คือ สหรัฐฯ และมหาอำนาจใหม่ คือ จีนและอินเดีย

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งในภูมิภาค

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการร่วมแก้ปัญหาการก่อการร้ายในภูมิภาค

- ไทยจะต้องมีบทบาทนำในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ปกป้องผลประโยชน์ความมั่นคงทางด้านพลังงานในภูมิภาค

ยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคี  สำหรับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในระดับทวิภาคีนั้น คือ แนวโน้มความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และกับประเทศมหาอำนาจ

ที่น่าเป็นห่วง คือ แนวโน้มความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ในอนาคต มีระเบิดเวลารอการระเบิดอยู่หลายลูก โดยเฉพาะปัญหาพรมแดนกับพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้าน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ด้านการเมืองความมั่นคงไทยกับมหาอำนาจนั้น ไม่น่าห่วง เพราะไทยมีความสามารถพิเศษที่เข้ากับมหาอำนาจได้ดี ทั้งกับสหรัฐฯ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น

สำหรับข้อเสนอยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในระดับทวิภาคีของไทยนั้น คือ

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในลักษณะที่เป็น grand strategy คือ จะต้องมียุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ที่จะต้องฟื้นฟูและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ โดยไทยจะต้องเน้นยุทธศาสตร์การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นรากเหง้าของปัญหา

- สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับมหาอำนาจ ไทยต้องมียุทธศาสตร์รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มที่น่าห่วงเรื่องหนึ่ง คือ การที่สหรัฐฯมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับไทยลดลงเรื่อยๆในฐานะพันธมิตร ปัจจุบัน ไทยเป็นพันธมิตรชั้น ๑ กับสหรัฐฯ แต่ในอนาคต ไทยอาจตกชั้นจากพันธมิตรชั้น ๑ โดยสหรัฐฯกำลังหันไปให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ดังนั้น ไทยจะต้องรีบกำหนดยุทธศาสตร์ฟื้นฟูความสัมพันธ์และพันธมิตรกับสหรัฐฯให้เหนียวแน่น

- สุดท้าย ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคี โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในมิติด้านความมั่นคงทางพลังงานและทรัพยากร ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางด้านนี้ของไทย ซึ่งในอนาคต กำลังจะเป็นมิติด้านความมั่นคงที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ 


๒. ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยนั้น ก็เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ด้านการเมืองความมั่นคง คือ จะมียุทธศาสตร์ ๓ ระดับ ยุทธศาสตร์ในระดับโลก ยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค และยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคี

ยุทธศาสตร์ในระดับโลก  สำหรับยุทธศาสตร์ในระดับโลกนั้น ก่อนที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าว จำเป็นต้องวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจโลกก่อน คือ ต้องวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนว่า กำลังวิวัฒนาการไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ในอดีต สหรัฐฯและตะวันตกครอบงำเศรษฐกิจโลก แต่ในอนาคต การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกเป็นระบบหลายขั้วอำนาจมากขึ้น 

สำหรับระบบการค้าโลก หลังความล้มเหลวของการเจรจา WTO รอบโดฮา เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศรวยกับกลุ่มประเทศยากจน จะเป็นตัวแปรหลักกำหนดระบบการค้าโลกในอนาคต สำหรับระบบการเงินโลก ก็มีปัญหาการขาดเสถียรภาพ และแม้ว่าตะวันตกจะครอบงำระบบการเงินโลกในปัจจุบัน แต่ในอนาคต มหาอำนาจใหม่และกลุ่มประเทศยากจน จะพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในอนาคต ความขัดแย้งเหนือ-ใต้ จะเป็นความขัดแย้งหลักในระบบเศรษฐกิจโลก

จากแนวโน้มสภาวะแวดล้อมดังกล่าว ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว ที่รองรับต่อระบบเศรษฐกิจโลก และปัญหาเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยยุทธศาสตร์หลักๆของไทย ควรมีดังนี้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์รองรับระบบเศรษฐกิจโลก ที่จะมีลักษณะเป็นระบบหลายขั้วอำนาจมากขึ้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพและมีความรุ่งเรือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมทำให้ระบบการค้าโลก มีการเปิดเสรี โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของไทยใน WTO ซึ่งในอดีต บทบาทของไทยมีน้อยมาก โดยไทยจะต้องสร้างกลุ่มแนวร่วมเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง ที่ผ่านมา อาเซียนก็ไม่เคยมีท่าทีร่วมใน WTO ไทยจึงควรผลักดันอย่างจริงจังในการประสานท่าทีร่วมกันกับประเทศอาเซียน และใช้อาเซียนเป็นกลไกหลักในการเจรจาของไทยในกรอบ WTO ไทยเคยเข้าร่วมกลุ่ม G๒๐ และกลุ่ม Cairns Group แต่ก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์ ดังนั้น จะต้องมีการปฏิรูปยุทธศาสตร์ไทยต่อ WTO เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ในอดีต ไทยมียุทธศาสตร์ในเชิงตั้งรับมาโดยตลอด 

- ไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์และจุดยืน ต่อความขัดแย้งเหนือ-ใต้ ในเวทีเศรษฐกิจโลกต่างๆ อาทิ WTO และ IMF ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่จะรุนแรงมากขึ้น ระหว่างกลุ่มประเทศรวยกับกลุ่มประเทศยากจน

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ระบบการเงินโลกมีเสถียรภาพ และมีประโยชน์ต่อไทย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของไทย คือ การที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก G๒๐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการจัดการระบบการเงินโลก แม้ว่า ตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ปี ๒๐๐๙ ไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม G๒๐ ในฐานะตัวแทนอาเซียน แต่บทบาทไทยก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร ท่าทีที่เป็นไปได้ขณะนี้ คือ ไทยควรสนับสนุนให้อาเซียนมีที่นั่งและได้รับการเชิญเข้าร่วมประชุม G๒๐ ทุกครั้ง

- ไทยควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วมในการลดความขัดแย้งและช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศยากจน

- ไทยควรมียุทธศาสตร์เพิ่มบทบาทไทยในเวทีและองค์กรเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ WTO IMF ธนาคารโลก G๒๐ และ OECD เป็นต้น นอกจากนี้ UN ก็มีหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก อาทิ UNCTAD UNDP และ UNIDO เป็นต้น ซึ่งในอดีต ไทยไม่ได้มีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลกเหล่านี้เลย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเพิ่มบทบาทและมีนโยบายในเชิงรุกในเวทีเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เลขาธิการ UNCTAD คนปัจจุบัน คือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ (ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการ WTO ด้วย) แต่ไทยก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคนของไทยในเวทีเหล่านี้

- ไทยควรมียุทธศาสตร์เพื่อรองรับการผงาดขึ้นมาของเอเชีย มีแนวโน้มชัดเจนว่า ในอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออก มาเอเชีย ไทยจะต้องรีบกำหนดยุทธศาสตร์ในการเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นมาของเอเชีย 

ยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค

สำหรับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียนั้น แนวโน้มสำคัญ คือ พัฒนาการของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๐๑๕ ซึ่งจะทำให้อาเซียนผงาดขึ้นมา และเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคได้ อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะประสบกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเวทีเศรษฐกิจอื่นๆที่จะเป็นคู่แข่งของอาเซียนในอนาคต โดยเวทีเศรษฐกิจที่เป็นคู่แข่งสำคัญของอาเซียน คือ เอเปค และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ก็กำลังมีแผนที่จะจัดตั้ง FTA ใหม่ ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP เพื่อมาแข่งกับ FTA ของอาเซียน 

จากสภาวะแวดล้อมและแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคในอนาคตดังกล่าวข้างต้น ไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ดังนี้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในลักษณะ grand strategy ว่า เราจะให้น้ำหนักอย่างไรต่อเวทีเศรษฐกิจต่างๆในภูมิภาค ซึ่งมีทั้งเอเปค TPP อาเซียน+๓ EAS และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ผ่านมา ไทยก็ไม่มียุทธศาสตร์ในลักษณะนี้ โดยสิ่งที่ไทยทำมาโดยตลอด คือ โดดเข้าร่วมทุกเวที โดยไม่ได้มีการมองถึงยุทธศาสตร์ใหญ่ และผลกระทบในภาพใหญ่แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น การโดดเข้าร่วมสนับสนุน เอเปค หรือเข้าร่วม TPP อาจส่งผลกระทบต่ออาเซียน ทำให้อาเซียนอ่อนแอลงได้

- ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักของไทย จะต้องเน้นที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการมีบทบาทนำการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยไทยจะต้องเน้นการเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยใช้อาเซียนเป็นกลไกสำคัญ 

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นำในอนุภูมิภาค โดยจะต้องมีการสานต่อกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ ทั้งที่มีอยู่แล้ว อาทิ GMS ACMECS BIMSTEC รวมทั้งในอนาคต อาจจะมีการจัดตั้งกรอบความร่วมมือใหม่เพิ่มขึ้นมาด้วย 

ยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคี

สำหรับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีของไทย มิติแรก คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอน เพราะหากในอนาคต ความสัมพันธ์ในภาพรวมไม่ดี จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ส่วนมิติที่ ๒ คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจ ซึ่งไม่น่าห่วง เพราะแนวโน้มความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจน่าจะดี ส่วนมิติที่ ๓ คือ ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ อาทิ เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ตุรกี อัฟริกาใต้ และเกาหลีใต้

จากสภาวะแวดล้อมในระดับทวิภาคีดังกล่าว ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ ดังนี้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญเป็นอันดับแรก ซึ่งก็ต้องเชื่อมกับยุทธศาสตร์สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในภาพรวมด้วย 

-ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐฯ 

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีหลายประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งใน ละตินอเมริกา อัฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย


หมายเลขบันทึก: 544369เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท