การตั้งกรมมัธยมศึกษาขึ้นใน สพฐ.


เคยมีความพยายามตั้งกรมขึ้นใน สพฐ.มาแล้วอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง จำได้ว่าเคยมีคนเสนอให้ตั้งกรมการศึกษาพิเศษ หรือชื่ออื่นที่คล้าย ๆ อย่างนี้แหละ โดยจะยกฐานะสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษขึ้นเป็นกรม อยู่ในสังกัด สพฐ. แต่สุดท้ายก็เลือนหายไปเมื่อผู้ผลักดันหมดอำนาจ

มาวันนี้มีข่าวอีกแล้วว่า "เตรียมโหวตครู ตั้ง "กรมมัธยม" ใต้ปีก สพฐ." โดยสืบเนื่องมาจากประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาการมัธยมศึกษา ผู้แทนผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาและเครือข่าย รวมทั้งอดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษาบางคน เห็นว่าควรให้มีหน่วยงานเทียบเท่ากรม ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( (สพฐ.) เพื่อดูแลงานด้านประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษาพิเศษ และสำนักวิชาการเป็นการเฉพาะ การตั้งเป็นกรมภายใต้ สพฐ.ก็จะเหมือนกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปัจจุบันมีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (( (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทั้งนี้จะรับฟังความเห็นจากเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเรื่องทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีต่อไป

ผมอ่านข่าวแล้วมีความงุนงงสงสัยว่า การตั้งกรมในสังกัด สพฐ. จะทำได้จริงหรือ

ทำให้ต้องกลับไปอ่านกฎหมายหลักอีกหลายรอบเพื่อค้นหาคำตอบ

กฎหมายหลักในการจัดองค์กรฝ่ายบริหารของราชการไทยคือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ปัจจุบันคือพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๖ แล้ว

ในกฎหมายดังกล่าว มาตรา ๔๐ กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และในมาตรา ๔๑ กำหนดให้การจัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

กฎหมายที่กำหนดการจัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖” ซึ่งออกใช้ตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๓

ในมาตรา ๑๐ ของกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การแบ่งส่วนราชการในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้มีหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ (๑) สำนักงานรัฐมนตรี (๒) สำนักงานปลัดกระทรวง (๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (๔) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (๕) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (๖) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกส่วนราชการยกเว้นสำนักงานรัฐมนตรีมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

จะเห็นได้ว่าส่วนราชการซึ่งเป็นองค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการมีสถานะเป็น "กรม"ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ ให้จัดระเบียบราชการของกระทรวงเป็น (๑) สำนักงานรัฐมนตรี (๒) สำนักงานปลัดกระทรวง (๓) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงมีฐานะเป็นกรม

ตามมาตรานี้ จึงมีกรมต่าง ๆ หรือส่วนราชการเทียบเท่ากรมเกิดขึ้นในกระทรวง แต่การตั้งกรมต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยการระบุชื่อกรมลงในกฎหมายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่กำหนดให้การจัดตั้ง การรวม หรือการโอนส่วนราชการให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั่นเอง

เพียงแต่อ่าน ๒ มาตราก็เห็นชัดว่ากรมขึ้นกับกระทรวง มิได้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงด้วยแต่อย่างใด 

แต่เมื่อดูมาตรา ๒๓ ที่ให้สำนักงานปลัดกระทรวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวง และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายแนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง และมาตรา ๒๑ ที่กำหนดในกระทรวงให้มีปลัดกระทรวงคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ (๑) รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในกระทรวง แปลงนโยบายเป็นแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการ กำกับการทำงานของส่วนราชการในกระทรวงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประสานการปฏิบัติงานของส่วนราชการในกระทรวงให้มีเอกภาพสอดคล้องกัน รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง (๒) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี จึงเห็นได้ว่าแม้กรมมิได้สังกัดปลัดกระทรวง แต่ต้องขึ้นกับปลัดกระทรวงในการบริหารราชการ

แต่การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการกลับไม่เหมือนกับกระทรวงอื่น หัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าส่วนราชการของ ((( (๑) สำนักงานรัฐมนตรี (๒) สำนักงานปลัดกระทรวง (๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ( (๔) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (๕) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ( (๖) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ล้วนแต่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงไม่มีอำนาจบังคับบัญชา ไม่มีอำนาจควบคุม กำกับงานของส่วนราชการอื่นที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี

การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานที่หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี ตามมาตรา ๒๘ ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้สำนักงานที่มีหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาจแบ่งส่วนราชการเป็น (๑) สำนักอำนวยการ (๒) สำนัก สำนักบริหารงาน หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักหรือสำนักบริหารงาน สำหรับสำนักงานใดที่มีความจำเป็นอาจแบ่งส่วนราชการให้มีส่วนราชการอื่นนอกจากสำนักอำนวยการ สำนัก สำนักบริหารงาน หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักหรือสำนักบริหารงานก็ได้

ตรงนี้กระมังที่มีความคิดจะตั้งกรมใน สพฐ. ขึ้น โดยถือว่าระเบียบราชการของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้โดยเฉพาะแยกจากระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จึงจะแบ่งส่วนราชการอย่างไรก็ได้

อย่างไรก็ดี ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๔ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาใช้บังคับแก่กระทรวงศึกษาธิการโดยอนุโลม เว้นแต่ในพระราชบัญญัตินี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะตั้งกรมขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการก็อาจกระทำได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คือ กรมต้องสังกัดกระทรวง โดยปลัดกระทรวงมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการในกรมรองจากรัฐมนตรีรวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับราชการในกรมตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

การที่ สพฐ.มีฐานะเป็นกรมแล้วจะตั้งกรมขึ้นในสังกัดอีก จึงเป็นไปไม่ได้ หากจะนำเอาประเด็นที่ สพฐ.มี อ.ก.พ.กระทรวง แสดงว่ามีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ก็เป็นการเทียบเคียงเพื่อให้บริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนสามัญตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนดำเนินการไปได้ด้วยความเหมาะสมที่กระทรวงศึกษาธิการจะมี อ.ก.พ.กระทรวงคณะเดียวไม่ได้ เพราะแต่ละส่วนราชการล้วนขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี และการที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งให้เลขาธิการ กพฐ.เป็นตำแหน่งบริหารระดับสูงเทียบเท่าปลัดกระทรวง ก็เป็นเรื่องการกำหนดตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ไม่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างส่วนราชการ

กรณีการตั้งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นกรณีที่มิได้อยู่ในบทบัญญัติกฎหมายปกติ แต่อาศัยบทบัญญัติกฎหมายเฉพาะคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในกฎหมายเหล่านั้นมีบทบัญญัติให้ตั้งองค์กรขึ้นด้วย เช่น มาตรา ๑๔ ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้มีสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยขึ้นในสํานักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ เรียกโดยย่อว่า “สํานักงาน กศน.” โดยมีเลขาธิการสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เรียกโดยย่อว่า “เลขาธิการ กศน.” ซึ่งมีฐานะเป็นอธิบดีและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง และรับผิดชอบการดําเนินงานของสํานักงาน มาตรา ๑๔ ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนซึ่งมีฐานะเป็นอธิบดีและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง และรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มาตรา ๒๐ ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ก.ค.ศ.” โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกโดยย่อว่า “เลขาธิการ ก.ค.ศ.” ซึ่งมีฐานะเป็นอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

หากจะมีการตรากฎหมายจัดตั้งกรมมัธยมโดยเฉพาะเช่นเดียวกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ก็ดูจะเป็นงานใหญ่ กระทบกับกฎหมายอื่นหลายฉบับ ประกอบกับไม่รู้ว่าจะอาศัยฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติมาตราใดมาทำ ยิ่งการตรากฎหมายใหม่มาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับอื่นด้วยก็ยิ่งจะสร้างความสับสนแก่วงการกฎหมายและผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก จึงไม่ควรทำ

หากจะขับเคลื่อนการตั้งกรมมัธยมศึกษาให้เป็นผลสำเร็จโดยการตรากฎหมาย น่าจะคิดการใหญ่โดยตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น ให้ทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยกรมมัธยม และอาจมีกรมวิชาการ กรมประถม กรมอนุบาล ด้วยก็คงได้ แต่คงสำเร็จยากเพราะกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ซึ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยแต่ในรูปแบบอื่น) ไม่เล่นด้วย ยิ่งกรมอาชีวศึกษา (ซึ่งยังจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานบางส่วนอยู่) ยิ่งไม่เอาด้วยใหญ่เพราะเรื่องอะไรจะลดเกรดลงมา

ทางที่สำเร็จจึงมีทางเดียวเท่านั้น คือตรากฎหมายตั้งทบวงมัธยมศึกษาขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อม ๆ กับที่ทางอุดมศึกษาก็กำลังดิ้นขอแยกกระทรวงอยู่ จะมีโอกาสสำเร็จสูง เพราะทั้งมัธยมและอุดมพร้อมพรั่งทั้งสรรพกำลัง คน เงิน เครือข่ายและอำนาจบารมี


วิพล นาคพันธ์

๑ สิงหาคม ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 544366เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเห็นการแยกงานเป็นสัดส่วนกว่าที่เป็นอยู่ครับอาจารย์ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท