วันนี้มีความสุขจัง


 

(คุณแม่แปรงฟันให้น้องตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น  วันนี้น้องนาเดียอายุ  ๘  เดือนแล้วค่ะ)


จากอนุทินอาจารย์วิรัตน์  คำศรีจันทร์  ที่ ๒๖๑.  จุดประกายให้อยากเขียนบันทึกความสุขนี้ไว้โดยพลัน  

ก่อนความทรงจำแสนสั้น ...... จะเลือนหายไป อิ อิ

จะทดลองเขียนคนเดียวก่อน  แล้วค่อยนำคำถามชวนคุยไปแบ่งปันในทีมที่ช่วยกันจัดงาน  "ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  อำเภอสระใคร  ปีที่ ๖"  เรียบร้อยไปแล้ว  

เมื่อวันพฤหัสบดี  ที่  ๒๕  กรกฎาคม  ๒๕๕๖  ณ  หอประชุม  โรงเรียนสระใครไชยานุเคราะห์  ตำบลสระใคร  อำเภอสระใคร  จังหวัดหนองคาย


·  ถอดบทเรียนไปเพื่ออะไร  

เพื่อการสร้างสุขในเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอสระใคร (CUP : Contracting Unit for Primary care  หมายถึง  เครือข่ายโรงพยาบาลสระใคร  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใคร  ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสระใคร  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระใคร  คอกช้าง  และบ้านฝาง)

· 

·  เริ่มจากคำถามแรก  ช่วงปีนี้จนถึงวันนี้  ทำอะไรไปแล้วบ้าง

·  พอเขียนโครงการพัฒนาระบบงานสุขภาพช่องปากและการจัดการความรู้  อำเภอสระใคร  ปี ๒๕๕๖  ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้  

ทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก CUP อำเภอสระใคร  ก็ได้ประชุมพูดคุยระดมสมอง  วางแผนตารางงาน  เพราะต้องออกปฏิบัติงานหลังเวลาราชการ  

น้อง ๆ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  ต้องสับหลีกเวลาไม่ให้ตรงกับตารางเวรตรวจรักษาช่วงเย็น

· 

·  จากนั้น  ขออนุมัติจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล  แจ้งแผนแต่ละเดือนไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  หรือแจ้งในที่ประชุม CUP  

เพื่อประสาน รพ.สต.  นัดหมายหมู่บ้าน  นัดหมายผู้ใหญ่บ้าน  ทีมกรรมการหมู่บ้าน  ทีมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  และผู้ปกครองเด็ก  ๐ – ๕ ปี  นัดสถานที่

·  ก่อนออก  ๑  วัน  โทรศัพท์ยืนยันเวลา  สถานที่  กลุ่มเป้าหมาย 

·  เตรียมอุปกรณ์  สื่อ  ในการตั้งวง “โสเหล่”  หรือเสวนา  พูดคุยกับทีมชุมชน

·  เตรียมแปรงสีฟัน  ยาสีฟัน  สื่อที่จะใช้สาธิตผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็ก

·  เตรียมขอใช้รถยนต์ของโรงพยาบาล  พร้อมคนขับ

· 

·  ถึงวันออกปฏิบัติงานตามตาราง  ปีนี้ปีที่ ๖ ที่สมาชิกของห้องฟัน  โรงพยาบาลสระใครยังคงเดิม  ๓   คน  

   สมาชิกเก่าปีที่  ๒  คือ น้องหมอทันตแพทย์  อีกคนน้องผู้ช่วยทันตแพทย์เพิ่งมาทำงานปีนี้

·  ส่วนที่ศูนย์สุขภาพชุมชนและ รพ.สต.ทั้ง ๓ แห่ง  สมาชิกทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเกิน  ๓  ปี ทั้งหมด  

   ดังนั้น  หัวหน้าทีมอย่างข้าพเจ้า  วันไหนมีภารกิจประชุมภาคบ่าย  ที่สี่โมงเย็นครึ่งยังไม่แล้วเสร็จ

   ก็จะไม่ได้ออกปฏิบัติงานที่หมู่บ้านด้วย .... วางใจสบาย

· 

·  กิจกรรมปกติที่ทำ คือ หากมีสมาชิกทีมใหม่มา  จะให้ไปสังเกตและสัมภาษณ์วิธีการเลี้ยงดูลูกหลานของพ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ที่เป็นคนเลี้ยงจริง ๆ ก่อน  

   ซักซ้อมแนวคำถามไว้ก่อนแล้ว  จดบันทึกกลับมา  วิเคราะห์หาสิ่งดี ๆ

·  สมาชิกทีมเก่าก็ตั้งวง “โสเหล่”  ถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป  แล้วค่อยเข้าสู่เนื้อหา

·  ทบทวน “บันได  ๕  ขั้น เพื่อลูกหลานฟันดี”  ที่ผู้ใหญ่บ้านและ อสม.  เคยมาร่วมโสเหล่ระดับอำเภอไว้เมื่อ  ๓  ปีก่อน (๒๕๕๔ – ๒๕๕๖)

· 

·  สถานการณ์ ณ วันนี้  เปลี่ยนไปอย่างไรแล้วบ้าง  เด็กรุ่นใหม่ ๆ ของหมู่บ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง

·  ทีมหมอช่วยกันตรวจฟันเด็กกับ อสม.  ลงบันทึกข้อมูลง่าย ๆ  ชี้ให้ผู้ปกครองเห็นลักษณะฟัน  ความสะอาดหรือมีขี้ฟันเกาะคอฟัน  

    ทดสอบโดยใช้หลอดดูดพลาสติกตัดปลายเฉียงขูดตรงคอฟัน  หากมีขี้ฟันติดออกมา  แสดงว่ายังไม่สะอาด

·  ใช้วิธีตั้งคำถามให้ผู้ปกครองตอบ  จะทำอย่างไรให้ฟันสะอาด  

   เสน่ห์ของการโสเหล่อยู่ตรงนี้แหละ  ไม่มีสูตรสำเร็จว่าการพูดคุยนั้นจะตอบได้ด้วยคำตอบเดียว  

   คำตอบมาจากทุกคนในวง  เราผู้ชวนคุย  ชวนคุยไปเรื่อย ๆ ..... 

   คำตอบของทั้งวง  จะพอมองออกว่าต้องทำอย่างไร

·  แต่จะทำได้มากน้อย  ต่อเนื่องได้แค่ไหน .... ต้องติดตามต่อ

· 

·  หากวงโสเหล่อยากได้ทักษะ  

   ใครจะทำให้ได้  ผู้ปกครองนั่นเองต้องลงมือทำ  เช่น  เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการแปรงฟันให้ลูกหลาน ... สะอาดเอี่ยม  ไม่เจ็บปาก  

   ที่สำคัญ  จะทำให้เด็กชอบการแปรงฟันได้อย่างไร


·  เสนอแนะ  สาธิตการเล่านิทาน  อาจจะไม่ใช่เรื่องแปรงฟันโดยตรง  เรื่องอื่น ๆ  ก็ได้  แม่เล่าเติมเองก็ได้

·  ต้องให้กำลังใจอย่างแรง  มีตัวอย่างจริงที่ทำได้  ต้องรีบยกให้เห็นเด่นชัด  

    จากน้อง ๆ เด็ก ๆ ที่อยู่ในวงนั่นแหละ  สัมภาษณ์คุณแม่ตัวอย่างเพิ่มเติมด้วย ... อยู่ที่บ้านทำอย่างไร

·  เด็กโตที่แยกจากแม่ได้  มีแผนกเก็บเด็กไปวาดภาพ  ฟังนิทาน 

·   กว่าจะสาธิตและฝึกครบก็กินเวลาพอสมควร  ใครเสร็จก่อนทยอยกลับ 


·  สุดท้ายจะเหลือ อสม. เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือนิทานใช้ในหมู่บ้าน  ให้พ่อแม่ใช้ประกอบการเล่านิทาน  ส่งเสริมจินตนาการ  พัฒนาการ  ปลูกฝังคุณธรรม

·  นัดหมาย อสม. นำผลงานการส่งเสริมแปรงฟัน  การเล่านิทาน  โดยประกวดชุมชนต้นแบบลูกหลานฟันดี  ที่ใช้ชื่องานว่า "ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  อำเภอสระใคร  ปีที่ ๖”

·  


·  เตรียมงานประมาณเดือนครึ่ง  เชิญทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก CUP  พูดคุยปรับวัตถุประสงค์  

   ช่วยกันออกแบบ Concept  ความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มกิจกรรมประกวด

·  แล้วจึงทำหนังสือแจ้งไปที่ผู้ใหญ่บ้าน  เชิญร่วมกิจกรรมตลาดนัด  

   Key person ประสานชุมชนที่สำคัญก็คือ  น้องสมาชิกทีมที่ประจำ รพ.สต.นั่นแหละ

· 

·  พัฒนาการจัดงานต่อเนื่องมา  จากปีแรก ๆ เหมือนแข่งขันรายครอบครัว  

    ถึงปีนี้ชัดเจนมาก  มีของขวัญของชำร่วยให้ทุกคนที่เข้าประกวด  

    แต่จะชนะระดับชุมชนได้  คะแนนรวมจะมาจาก  ๓  กิจกรรมย่อย  คือ

 



·  ๑)  กิจกรรมตัวแทนชุมชนมาเล่า  นำเสนอกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพปากและฟันของเด็กในชุมชน  (๘๐  คะแนน)

 

 

·  ๒)  ประกวดต้นแบบผู้ใหญ่แปรงฟัน  ผู้ใหญ่บ้าน  แกนนำชุมชนหรือ อสม.  ๑  คน  อีกคนเป็นผู้ปกครอง   (รวมทีม  ๒  คน ๆ ละ  ๓๐  เป็น  ๖๐  คะแนน)


 

·  ๓)  เดิมปีที่ผ่านมา  ประกวดเฉพาะผู้ปกครองแปรงฟันให้ลูกหลาน  ปีนี้ก็ยังมี  แบ่งเป็น  ๒  รุ่น  

         นับถึงวันจัดงาน  ไม่เกิน  ๒  ปี บริบูรณ์  และ  ๒ ปี  ๑  วัน – ๔ ปี บริบูรณ์  (๒  คู่ ๆ ละ  ๓๐  เป็น  ๖๐  คะแนน)


·  คะแนนรวม  ๓  กิจกรรมย่อย  ๒๐๐  คะแนน  กรรมการ  ๓  ชุด  เต็ม  ๖๐๐  คะแนน  คะแนนสูงสุดจึงจะได้รับรางวัล   "ชุมชนต้นแบบลูกหลานฟันดี"   ปีนี้มอบ  ๕  รางวัล  และชมเชยอีก  ๕  รางวัล 


ชนะเลิศ  บ้านโนนเชียงคูณ  หมู่ ๑๐  ตำบลคอกช้าง  อำเภอสระใคร


  

รองชนะเลิศอันดับ ๑  บ้านพลายงาม  หมู่ ๑๑  ตำบลคอกช้าง  อำเภอสระใคร



รองชนะเลิศอันดับ ๒  บ้านไชยา  หมู่ ๔  ตำบลสระใคร  อำเภอสระใคร


·  อีกกิจกรรม  ประกวดแม่เล่านิทาน (แม่  ยาย  ป้า  หรือผู้เลี้ยงดู ก็ได้)  

  อันนี้ยังแข่งเป็นปัจเจก  ครอบครัวใกล้ชิดที่สุด  กิจกรรมระดับชุมชนยังไม่ชัดเจนนัก

  (ฟังความเพื่อนร่วมทีมก่อน  ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่)

 

ชนะเลิศเล่านิทาน  บ้านโนนธงชัย  หมู่ ๑๓  ตำบลสระใคร  อำเภอสระใคร

· 

·  ชุมชนกระตือรือร้นสนใจเข้าร่วมอย่างคึกคัก  ถึงวันประกวดจริง ๑๙  หมู่บ้าน  

(อันนี้มอง Positive  เป็นธรรมชาติของการทำงานกับชุมชน  ไม่มีอะไรที่  ๑๐๐%  

หากมอง Negative  ต้องเจาะลึกหาสาเหตุต่อ  เหตุอันใดอีก  ๘  หมู่บ้านที่เชิญ  

การสื่อสาร  ช่วงดำนาหรืออย่างไร  จึงไม่สมัครมาร่วมงาน ....  เป็นไปได้ทั้งนั้น  หาข้อมูลจริงก่อน)


·  ยังไม่กล้าตัดสิทธ์เด็ดขาด  ตามหนังสือที่แจ้งผู้ใหญ่บ้านให้ส่งใบสมัครล่วงหน้า  ส่งรายชื่อมาไม่ครบ  มาเพิ่มหน้างานอีก  ๑  หมู่บ้าน ..... ยืดหยุ่นนิด ๆ

·  


·  ใกล้ฝันเป็นจริง ...... ทำให้ "องค์กรชุมชน" เป็นเจ้าของกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพปากและฟันเด็กน้อย

·  ค่อย ๆ ขยายฝัน

· 

·  ขอบพระคุณ  โรงเรียนสระใครไชยานุเคราะห์เอื้อเฟื้อสถานที่ทุกปี

·  ขอบคุณทีมงานเข้มแข็ง  ทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก CUP อำเภอสระใคร  MCH Board  รพ.สต.สระใคร  คอกช้าง  บ้านฝาง  PCU รพ.สระใคร 

·  ขอบคุณกรรมการจาก สสจ.หนองคาย  รพร.ท่าบ่อ  สสอ.เมืองหนองคาย  รพ.สระใคร

·  ขอบพระคุณท่าน สสอ.สระใคร  (นายสุเทพ  ศรีสุนะ)  ผอ.รพ.สระใคร (นายแพทย์อลงกฏ  ดอนละ)   และท่านนายอำเภอสระใคร   (นายวรรณพล  ต่อพล)  ที่ให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ อนาคตของสระใคร

·  

 

·  สงสัยวันนี้จะตอบได้คำถามเดียว  อีก  ๓  คำถาม  รอก่อน

·  ทำแล้วได้อะไร

·  สิ่งที่ทำและสิ่งที่ได้  มีความหมายต่อความสุขอย่างไร

·  ก้าวต่อไป  เราจะนำสิ่งที่ได้  นำไปสู่องค์กรสร้างสุขได้อย่างไร


·  ขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์  คำศรีจันทร์  อีกครั้งนะคะ 

·  อนุทินของอาจารย์ช่างเขียนมาในจังหวะเวลาที่พอเหมาะสำหรับหนูเหลือเกิน

·  ราตรีสวัสดิ์ก่อนค่ะ  พรุ่งนี้จะได้ตื่นเช้าสดใสไปทำงาน  เสาร์ – อาทิตย์ยังมีเวลาพักสบายเขียนต่อได้


 

·  ขอบพระคุณทุกท่านมาก ๆ ที่ติดตามนะคะ

^_,^

หมายเลขบันทึก: 543638เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีครับคุณ หมอ  สระไคร เคลื่อนไหวในเรื่องสุขภาพช่องได้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ ชื่นชมครับ

( เสนอแนะ  สาธิตการเล่านิทาน  อาจจะไม่ใช่เรื่องแปรงฟันโดยตรง  เรื่องอื่น ๆ  ก็ได้  แม่เล่าเติมเองก็ได้)

ที่พัทลุงก็ชวนกันใช้สื่อพื้นบ้านบอกต่อเรื่องสุขภาพช่องปาก รพสต.ป่าบอนใช้ เพลงบอกร้องบอกเชิญชวนรักษาสุขภาพปาก

 

 

ขอบคุณครับ ที่กรุณานำกิจกรรมดีๆมาแบ่งปัน

สุขภาพดีต้องเริ่มต้นที่ปาก ถ้าในปากฟันดี ก็จะทำให้ทานอาหารได้ดีและหลากหลาย ทำให้ร่างกายอิ่มสบายมีสุข แต่ถ้าปากไม่ดี เช่นฟันผุ ปวดเหงือก แผลในปาก ก็ทำให้กินอะไรไม่ได้สุขภาพแย่ครับ ขอบคุณความรู้ดี ๆ และกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อชุมชนครับ

มาร่วมยินดีด้วยค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้กิจกรรมดีๆเพื่อชุมชนเช่นนี้ค่ะ

 

 

      .... ชื่นชม โครงการ & กิจกรรม ดีดีนี้ นะคะ .....  เป็นกำลังใจนะคะ .... และขอบคุณมากๆ ค่ะ .... 

ขอให้คุณหมอมีความสุขทุกๆวันนะคะ...ขอชื่นชมโครงการกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์นะคะ

ขอบคุณค่ะท่านลุงบังวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

สื่อบุคคล...ใกล้ชิดชุมชน  เข้าใจง่าย  เข้าถึงจิตใจ...คนบ้านเดียวกันนะคะ

ช่างเข้าใจลึกซึ้ง  สงสัยมีประสบการณ์ตรงนะคะ  ขอบคุณมาก ๆ ค่ะคุณ nobita

ค่ะเพื่อชุมชน  ขอบพระคุณคุณป้าใหญ่ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ เสมอไปนะคะ .... หลานคนนี้มีต้นแบบที่ดีนั่นเอง

ยินดียิ่งนักค่ะพี่เปิ้น Dr. Ple  ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

ชอบจัง ..... มีความสุขทุกๆวัน     ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะอาจารย์ ดร. พจนา แย้มนัยนา

อ่านบันทึกนี้แล้วมีความสุขใจเช่นกัน ขอบคุณมากครับผม

มารับความสุขจากคุณหมออ้อค่ะ ได้อะไรมากมาย น่าสนใจจริงๆ (ไม่ค่อยทราบเรื่องของฟันค่ะ)

ยินดีที่ อ.Dr. Pop  สุขใจสบายดี  ขอบคุณมากค่ะ

วิชาชีพถนัดทางใครทางเรานะคะ  แต่หาก....ความสุขในชีวิต  ในโรงพยาบาล  ในองค์กร   ในเครือข่าย....

มีจุดร่วมด้วยกันได้ใช่ไหมละคะ   ขอบคุณค่ะคุณkunrapee   

เห็นแล้วน่าส่งโครงการ CoPs ช่องปากเด็กๆของ สสส นะครับ

พรุ่งนี้ต้องไปรับน้องนักศึกษาทันตาภิบาลมาฝึกงานที่โรงพยาบาลแล้วละค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง

น้องจะมาอยู่ด้วย  ๖  เดือน 

มี่พี่เอาเครื่องมาตัดหญ้าให้นะคะ  แต่พวกต้นไม้ที่ปลูกไว้ที่บ้าน   แค่นี้....หญ้าก็ลามท่วมหมดแล้ว  เวลาพักหมดก่อน

ขอบคุณนะคะอาจารย์

ชอบวิธีการโสเหล่เช่นกันค่ะ
"  เสน่ห์ของการโสเหล่อยู่ตรงนี้แหละ  ไม่มีสูตรสำเร็จว่าการพูดคุยนั้นจะตอบได้ด้วยคำตอบเดียว  คำตอบมาจากทุกคนในวง  เราผู้ชวนคุย  ชวนคุยไปเรื่อย ๆ ..... "

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ  :)

ขอบคุณประสบการณ์คุณหยั่งราก ฝากใบ มาก ๆ นะคะ

ขอชื่นชมผลงานค่ะ ทำแบบเป็นระบบดีขนาดนี้ เด็กๆฟันดีกันแน่ๆค่ะ

ขอบคุณค่ะพี่บุญใบบุญ  ดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ  ที่ดีใจอีกอย่าง คือ เป็นผลงานของชุมชนเองค่ะ  ขอบคุณมากค่ะพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท