หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เสียงจากชุมชน (คุณตาสม จันทะเกตุ กับวิถีนาโยนและวิทยากรชาวบ้าน)


ชาวบ้าน หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเรียนรู้ได้เร็ว เข้าใจและชำนาญในสิ่งที่เรียนรู้ สามารถคิดเอง ทำเอง และแบ่งปันไปยังคนอื่นได้ เริ่มมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “มหาวิทยาลัยฯ” หรือปัจจัยภายนอกให้มากเหมือนเช่นอดีต

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖  เป็นอีกวันที่ผมและทีมงานจากกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคม ณ บ้านห้วยชัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ดำเนินงานต่อยอดเกี่ยวกับการ “ทำนาโยน” (ปลูกข้าวแบบโยนกล้า) ของหลักสูตรเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้ขับเคลื่อนหลักคือ ดร.มัณฑนา  นครเรียบ




บ้านห้วยชัน  เป็นชุมชนไม่ใหญ่นัก มีจำนวนครัวเรือนไม่ถึง 50 ครัวเรือน  ทำเลที่ตั้งติดกับ “ลำน้ำชี” ... แม่น้ำอันเป็นสายโลหิตอีกสายหนึ่งของชาวอีสาน  ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำชี  จึงกลายเป็นชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก  ชาวบ้านจึงจำต้องปลูกข้าวนาปรังและจับปลาในลุ่มน้ำชีเป็นอาชีพ

จะว่าไปแล้ว  การขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องการ “ทำนาโยน” ในบ้านห้วยชันนั้น  แรกเริ่มเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการทำนาโยนนั้นได้จัดกระบวนการ “เรียนรู้คู่บริการ”  ควบคู่ไปกับการทำ “ปุ๋ยชีวภาพ,น้ำหมักชีวภาพ” รวมถึงมอบ “ลูกเป็ด”  จำนวน 500 ตัวให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็น “เป็ดไล่ทุ่ง”  ใช้กำจัด “หอยเชอรี่”




อย่างที่ทราบกันดี งานบริการวิชาการแก่สังคม เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาทุกสถาบัน และด้วยความที่เป็นงานในมิติการบริการวิชาการที่ไม่ใช่ “งานวิจัย”  นั่นเอง  จึงมักได้รับงบประมาณสนับสนุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับภารกิจด้านการวิจัย  แต่สำหรับงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้ชื่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”  นั้นนับได้ว่าสร้างปรากฏการณ์แห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้อย่างมหัศจรรย์  ซ้ำยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ต่อชุมชนไม่น้อยไปกว่า “งานวิจัย”

กรณีดังกล่าวนี้ กลุ่มคน หรือครัวเรือนต้นแบบในชุมชน “บ้านห้วยชัน”  ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่พบความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ในเรื่องของการ “พัฒนาคุณภาพชีวิต” ผ่านกระบวนการ “เรียนรู้คู่บริการ”  เกี่ยวกับเรื่องการ “ทำนาโยน”  ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ  เฉกเช่นกับคำบอกเล่าของ คุณตา “สม  จันทะเกตุ”  หนึ่งในครัวเรือนต้นแบบที่เข้าร่วมกิจกรรมมาตั้งแต่ต้น  ซึ่งบอกเล่าต่อผมและทีมงานในวันลงพื้นที่  ดังนี้






องค์ความรู้ใหม่ : ปุ๋ยหมัก,น้ำหมักชีวภาพ : ทำเอง ใช้เอง


...เข้าร่วมโครงการทำนาโยนกับมหาวิทยาลัยต่อเนื่องมาสองปี  ในปีแรก ยอมรับว่าไม่มั่นใจว่าจะลดต้นทุนได้จริง แต่เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ เป็นความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยได้ลองทำ เคยแต่ได้ยินคนพูดถึงในพื้นที่อื่นๆ พออาจารย์มัณฑนา นครเรียบมาลงโครงการที่หมู่บ้าน จึงเข้าไปสมัครเป็นหนึ่งในครัวเรือนต้นแบบ

...ปีแรกทางมหาวิทยาลัยฯ  ได้มอบเป็ดให้ครัวเรือนต้นแบบ ครัวเรือนละ 100 ตัว เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นเป็ดไล่ทุ่ง  โดยอธิบายให้รู้ว่า เป็ดที่ให้ไปนั้น  ไม่เพียงแค่เลี้ยงไว้ “กินไข่และขายไข่” เท่านั้น  แต่เป็ดเหล่านี้ จะเป็น “ผู้ช่วย” ในการกำจัด “หอยเชอรี่”  ซึ่งดีกว่าการต้องกำจัดหอยเชอรี่ด้วย “สารเคมี”  เพราะจะทำให้ดินและน้ำเสื่อมสภาพ  มิหนำซ้ำ “ขี้เป็ด” ก็กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีสำหรับทุ่งนาของเรา

...ถัดจากนั้นก็เป็นการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพแบบง่ายๆ โดยนำเอาเศษอาหารต่างๆ ในครัวเรือนมาเป็นวัตถุดิบ  ทำเอง หมักเอง ทำไปเรียนรู้ไปจนเกิดความมั่นใจ ซึ่งที่สุดแล้วก็นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้แทน “ปุ๋ยเคมี”  เป็นการดูแลสุขภาพตัวเองไปพร้อมๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำป่าของเราไปในตัว  เรียกได้ว่าจนถึงวันนี้ก็สามารถ “ทำเอง ใช้เอง” ได้อย่างไม่เขินอาย และไม่ต้องเป็นภาระให้มหาวิทยาลัยฯ มาคอยช่วยเหลือเหมือนแต่ก่อน  เพียงแต่หากสงสัยอะไร มีปัญหาอะไรก็ยังสามารถโทรปรึกษาอาจารย์มัณฑนาฯ ได้ตลอดเวลา...




จากลูกมือ สู่การเป็น “วิทยากรชาวบ้าน”


...ย่างเข้าปีนี้ ครัวเรือนต้นแบบทั้ง 5 ครัวเรือน  ไม่ได้เป็นภาระอะไรต่อมหาวิทยาลัยมากเหมือนแต่ก่อน เพราะตอนนี้สามารถเพาะกล้าได้เอง  รู้และเริ่มชำนาญเกี่ยวกับการดูแลต้นกล้าด้วยตนเอง ซึ่งปกติเพาะแค่ 15 ก็สามารถโยนกล้าได้แล้ว

...ตอนนี้ทำหน้าที่เป็น “วิทยากร” ในชุมชน  คอยให้คำแนะนำต่อเพื่อนบ้านรายใหม่ที่สนใจทำนาโยน  ตั้งแต่การเพาะกล้า  การดูแลต้นกล้า  การเตรียมดินเตรียมน้ำ การหว่าน การดูแลบำรุงรักษาต้นข้าวไปจนถึงการเก็บเกี่ยว  ซึ่งปีนี้ยังอยู่ในช่วงต้นน้ำที่หมายถึงการเพาะและการโยนกล้า บางครั้งก็มีเพื่อนบ้านมาดูงานที่แปลงนาโดยตรง  บางครั้งก็ไปให้คำแนะนำและพาลงมือปฏิบัติที่แปลงนาของเพื่อนบ้าน  มีทั้งที่ไปคนเดียวและจับกลุ่มกับคนอื่นๆ ที่เป็นครัวเรือนต้นแบบ  เพราะถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ฝากฝังไว้ให้ดูแลกันและกัน

...ตอนนี้ทุกอย่างถือว่าทำได้เองค่อนข้างมาก ทำไปเรียนรู้ไป ไม่เข้าใจอะไรก็โทรปรึกษา บางครั้งอาจารย์ก็แอบมาดูอยู่บ่อยๆ แต่โดยหลักแล้วสามารถทำเองได้  พอถึงเวลาโยนก็ส่งข่าวไปยังอาจารย์ เพื่อให้นำนิสิตมาช่วยงาน หรือมาเรียนรู้ร่วมกัน




ลดต้นทุน (จริง)..เสริมสร้างความสัมพันธ์คนในครัวเรือน-ชุมชน


...ทำนาโยนมาสองปี  รู้ได้เลยว่าลดต้นทุนได้ค่อนข้างเยอะ  ดูง่ายๆ จากปุ๋ยเคมีก็ไม่ต้องซื้อหาให้มากเหมือนในอดีต  เพราะใช้ขี้เป็ดเป็นปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำหมักชีวภาพมาทดแทน ส่วนพันธุ์ข้าวที่เคยใช้สามถุงต่อไร่ในนาหว่าน พอมาทำนาโยนก็ใช้เพียงถุงเศษๆ เท่านั้น  ผลผลิตที่เคยเก็บเกี่ยวได้จากนาหว่านเฉลี่ยไร่ละประมาณ 1 ตันต้นๆ พอมาทำนาโยนก็ตกไร่ละไม่ต่ำกว่า 1.8 ตัน

...นาโยน ไม่ต้องจ้างคนก็ได้  ไม่สิ้นเปลืองเวลา  ไม่สิ้นเปลืองแรงคน  ทำกันเองในครอบครัวได้อย่างสบาย ช่วยให้คนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันดีๆ นั่นเอง  รวมถึงเครือข่ายครัวเรือนต้นแบบที่เข้าร่วมกิจกรรมมาด้วยกันกับทางมหาวิทยาลัยฯ  ยังสามารถมาช่วยโยนกล้าและมาช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวร่วมกันอีกต่างหาก  




บทส่งท้าย


ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมเรียบเรียงและนำเสนอข้างต้น  โดยส่วนตัวไม่อยากเรียกว่าการสัมภาษณ์  หากแต่เป็นการพบปะพูดคุยทักถามถึงสารทุกข์สุขดิบเป็นสำคัญ  เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมกับคุณตาสมฯ ก็รู้จักมักคุ้นกันดีในระกับหนึ่งอยู่แล้ว




คำบอกเล่าของคุณตาสมฯ  พลอยให้นึกย้อนไปถึงคำถามของการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ว่าที่สุดแล้ว “ชาวบ้าน-ชุมชน จะเข้มแข็งและยั่งยืนได้อย่างไร”

ผมมองว่า  แค่งานบริการวิชาการภายใต้งบประมาณอันจำกัดและห้วงปฏิบัติการอันแสนนั้น เช่นนี้  ถือได้ว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมหาศาล  เพราะสิ่งที่คุณตาสมฯ บอกเล่านั้น  สื่อแสดงให้เห็นว่าชาวบ้าน หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเรียนรู้ได้เร็ว เข้าใจและชำนาญในสิ่งที่เรียนรู้  สามารถคิดเอง ทำเอง และแบ่งปัน "ถ่ายทอด" ไปยังคนอื่นได้  เริ่มมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน  โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “มหาวิทยาลัยฯ” หรือปัจจัยภายนอกให้มากเหมือนเช่นอดีต  

ปรากฏการณ์เช่นนี้  ย่อมถือเป็นตัวชี้วัดที่สื่อให้เห็น “แนวโน้ม” ของ “ความเข้มแข็งและยั่งยืน” ได้ด้วยเหมือนกัน  

หรือไม่จริง ?


หมายเลขบันทึก: 543431เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 07:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ อ.JJ

อาจารย์สบายดีนะครับ  ไม่ได้แวะไปทักทายอาจารย์เนิ่นนาน จนน่าใจหาย

หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน...ในทุกกระบวนการ เคลื่อนล้วนหลักคิดและหลักการของการจัดการความรู้ล้วนๆ เลยทีเดียวครับ...


สวัสดีครับ 

พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei

 

...ชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำนาปีกันไม่ได้ ชาวบ้านจำต้องทำนาปรัง ...ขายข้าวนาปรัง มาซื้อข้าวนาปีกินกันอีกรอบ...ถนนหนทางในหน้าฝน ทุรกันดารอย่างมหาศาลเลยทีเดียว ครับ

...

 

 

ภาพนี้ดูสงบ สบาย จังนะจ๊ะ

 

เป็นตัวอย่างของการนำความรู้ไปถึงชุมชนในแบบส่งเสริมกันอย่างแท้จริง น่าชื่นชมมากค่ะ คนประสานงานในระยะเริ่มต้นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่น่าทึ่งนี้นะคะ ถือว่าทำประโยชน์ใหญ่หลวงให้บ้านเมืองเราทีเดียว ขอบคุณคุณพนัสที่นำตัวอย่างดีๆมาบันทึก พี่โอ๋ขอเอาไปส่งต่อขยายความคิดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท