การให้เหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัด จากบทความนิตยสาร


          จากบทความ A Big Hug กอด...สยบลูกรัก อารมณ์ร้าย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ลูกไม่สามารถควบคุมอารมณ์ร้ายได้ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือตนเองไม่ต้องการสิ่งของนั้นๆ ทำให้มีการแสดงออกโดยการอาละวาด ทำให้พ่อแม่หลายคนเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้จึงรีบเข้าไปปลอบลูก หรือบางครอบครัวอาจใช้วิธีตีเพื่อเป็นการลงโทษไม่ให้ทำอีก วันนี้ดิฉันจึงขอนำบทความดีๆ บทความนี้มาประยุกต์ใช้ในการให้เหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัด ซึ่งสรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

1. Scientific Reasoning(การให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์)

          การที่เด็กเล็กอายุ 1-5ปี แสดงอารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเด็กวัยนี้เป็นระยะวิกฤตของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ การแสดงอารมณ์ของเด็กวัยนี้จะเป็นแบบเปิดเผย เกิดขึ้นแบบกะทันหัน และเปลี่ยนแปลงได้ง่าย อารมณ์ของเด็กวัยนี้ประกอบด้วย กลัว โกรธ อิจฉา

2.Cultural Reasoning(การให้เหตุผลเชิงวัฒนธรรม)

          การแสดงอารมณ์และพฤติกรรมที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน สาเหตุหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่ละบ้านที่มีความต่างกัน เด็กที่อาละวาด แล้วโดนพ่อแม่ตี หรือขึ้นเสียงใส่ เด็กจะมีการซึมซับอารมณ์และความรู้สึกของพ่อแม่ไว้ และเกิดการเลียนแบบไปใช้ในอนาคต ส่วนเด็กที่อาละวาด แล้วพ่อแม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองให้นิ่งก่อนได้ แล้วจึงเข้าไปกอดลูกไว้ให้แน่นด้วยความรัก เมื่อลูกสงบลงให้ถามความรู้สึกของลูก พร้อมกับอธิบายเหตุผลที่พ่อแม่ต้องการให้เด็กนิ่งก่อนที่จะพูดคุยกัน เด็กจะเกิดการเรียนรู้ และสามารถควบคุมพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ทีละน้อย

3. Pragmatic Reasoning (การให้เหตุผลเชิงปฏิบัติ)

          เมื่อเด็กอาละวาด สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ การควบคุมตนเองไม่ให้อารมณ์เสีย และสามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองให้ได้ เช่น การเข้าใจถึงสาเหตุว่าเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี รวมทั้งการควบคุมอารมณ์โกรธ โดยใช้เทคนิคการนับในใจ 1-10

          เมื่อพ่อแม่สงบสติได้แล้วจึงเข้าไปกอดลูกให้แน่นด้วยความรัก การที่ลูกได้รับการสัมผัสแบบอบอุ่นจะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และสงบลง ในทางกิจกรรมบำบัดมีวิธีปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี คือการเพิกเฉย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเด็กไม่ได้ของเล่นตามความต้องการ แล้วลงไปดิ้นกับพื้น ให้พ่อแม่เดินห่างออกจากบริเวณที่ลูกอยู่ แต่ควรดูลูกอยู่ในสายตา เมื่อเด็กไม่ได้การตอบสนองจากพ่อแม่ เด็กก็จะสงบและลุกขึ้นได้ด้วยตนเอง

          จากนั้นเมื่อเด็กสงบลง ให้พ่อแม่ถามถึงสาเหตุ ความรู้สึกที่ลูกได้แสดงออกไปเมื่อสักครู่ พ่อแม่ควรอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องการให้เด็กสงบลงก่อนที่จะพูดคุยกัน และทำข้อตกลงกับลูกว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ลูกต้องควบคุมตนเองก่อน โดยปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นทีละน้อย
 

ที่มา: ม่านบาหลี. A Big Hug กอด...สยบลูกรัก อารมณ์ร้าย. Mother & Care. 9, 102. (มิถุนายน 2556) : 62-63 


หมายเลขบันทึก: 541565เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้ดิฉันหาเหตุผลทางวิชาการ มารองรับการสงบระงับอารมณ์ผู้ป่วยจิตเวชหญิง ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวให้สงบลงด้วยการกอดได้แล้ว ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท