กินอยู่อย่างไร___ถ้าอายุถึงร้อย(ปี)



 

                                                                                                                     

มาร์เก็ตวอช (MarketWatch) ตีพิมพ์เรื่อง 'Are you ready to live to 100?' ในยาฮู ไฟแนนซ์ (Yahoo Finance) = "คุณพร้อมไหมที่จะอยู่ถึง 100(ปี)", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

สมัยก่อนคนเรามีโอกาสอายุยืนหลังเกษียณ 10-20 ปี

ทว่า... คนรุ่นใหม่มีโอกาสอายุยืนหลังเกษียณ 20-30 ปี

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า นอกเหนือจากการออมทรัพย์ และลงทุนอย่างเป็นระบบตั้งแต่อายุน้อย เช่น การมีหนี้ให้น้อยที่สุด การสมทบเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ ฯลฯ แล้ว

ภาพที่ 1: ดิ เอ็คโคโนมิสท์ รายงาน (จากสถิติองค์การอนามัยโลก / WHO ปี 2008/2551) ว่า

.

(1). ภาพซ้าย > สาเหตุการตายรวม

สาเหตุการตายของคนทั่วโลกมาจากโรคเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค "ไม่ติดต่อ (ไม่ใช่โรคติดเชื้อ / non-communicable disease / NCD)" มากที่สุด, รองลงไปเป็นโรคติดต่อ (เช่น เอดส์ มาลาเรีย วัณโรค ท้องเสีย ฯลฯ) และการบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ฯลฯ ตามลำดับ

ในบรรดาโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ (NCD), คนเราตายจากโรคหัวใจ-ระบบไหลเวียนเลือดมากที่สุด, รองลงไปเป็นมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจ เช่น ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ฯลฯ

.

(2). ภาพขวา > สาเหตุการตาย แบ่งตามรายได้

ระดับรายได้ตามกราฟแท่ง, เรียงจากซ้ายไปขวา (low = ต่ำ; lower middle = ปานกลาง ค่อนไปทางต่ำ; upper middle = ปานกลาง ค่อนไปทางสูง; high = สูง)

  • แถบสีเขียว_บนสุด = บาดเจ็บ
  • แถบสีฟ้าเขียว_กลาง = โรคติดต่อ (communicable diseases / CD)
  • แถบสีฟ้า_ล่างสุด = โรคเรื้อรัง ไม่ใช่โรคติดต่อ (non-communicable diseases / NCD)
.

จากการศึกษาพบว่า

  • กลุ่มเสี่ยงบาดเจ็บมากที่สุด = กลุ่มรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ
  • กลุ่มเสี่ยงโรคติดเชื้อ (CD) มากที่สุด = กลุ่มรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ตามด้วยกลุ่มรายได้ต่ำ
  • กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ (NCD) มากที่สุด = กลุ่มรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ตามด้วยกลุ่มรายได้สูง
.

ตรงนี้คล้ายจะบอกใบ้ว่า

  • กลุ่มเสี่ยงอายุสั้น + โรคมาก = กลุ่มฐานะปานกลางค่อนไปทางต่ำ
  • กลุ่มที่มีโอกาสอายุยืน + โรคน้อย = กลุ่มฐานะปานกลางค่อนไปทางสูง

ทางออกที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับคนส่วนใหญ่ได้แก่

(1). save more = ออมทรัพย์ให้มากขึ้น

คนที่มีโอกาสอายุยืน เช่น คนที่มีญาติพี่น้องอายุยืน มีโรคเรื้อรังน้อย ใช้ชีวิตแบบดีกับสุขภาพ ฯลฯ คงต้องเลือกออมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ถ้าคาดว่า อายุจะยืนขึ้น 10%

(2). delay retirement = ชะลอการเกษียณ หรือหยุดทำงานให้ช้าลง

เช่น หางานทำแบบไม่เต็มเวลา (part-time jobs)

.

(3). ลดค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายที่ลดได้มากเป็นพิเศษ คือ การทำกับข้าวเองอย่างน้อย 1 มื้อ/วัน, การไม่ดื่มหนัก และไม่สูบบุหรี่

ถ้ายังทำไม่ได้... ควรรีบหัดหุงข้าวกินเอง (ซื้อกับข้าว) อย่างน้อย 1 มื้อ/วัน และควรเป็นข้าวกล้องสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง (แช่ค้างคืนไว้ และหุงเช้า)

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ข้าวกล้อง 2-3 ทัพพี/วัน ช่วยป้องกันเบาหวานได้ 30% มากพอที่จะช่วยคุณประหยัดได้มากกว่าที่คิด

การไม่ดื่มหนักและไม่สูบบุหรี่ ช่วยเพิ่มเงินออมด้วย ช่วยลดค่าใช้จ่ายสุขภาพด้วย

เช่น เมาแล้วขับเพิ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ, ดื่มหนักเพิ่มเสี่ยงโรคตับ-อ้วนลงพุง (อ้วนลงพุงเพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง เบาหวาน ฯลฯ), บุหรี่เพิ่มเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง

.

(4). ทำตัวให้ฟิต

คนที่ฟิต (ร่างกายแข็งแรง) มีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณดีกว่า เดินทาง-ท่องเที่ยวหลังเกษียณได้สนุกกว่า

คนที่ฟิตมีช่วงเวลาที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น ต้องให้คนป้อนข้าว ป้อนน้ำ ทำความสะอาดสิ่งขับถ่าย ใช้ชีวิตในโรงพยาบาล ฯลฯ สั้นกว่าคนที่ไม่ฟิต ทำให้ประหยัดค่าจ้างคนเฝ้าไข้ และค่ารักษาพยาบาลได้มาก

(5). ฝึกอยู่แบบ "เรียบ-ง่าย-ประหยัด"

เช่น ฝึกปลูกพืชสวนครัว ฝึกกินข้าวที่บ้าน (อาหารนอกบ้านมักจะเป็นกลุ่ม "หวาน-มัน-เค็ม" หรือ "ปิ้ง-ย่าง-ทอด" มากกว่าอาหารที่บ้าน เพิ่มเสี่ยงอ้วน-อ้วนลงพุง และโรคเรื้อรัง), ฝึกออกกำลังที่บ้าน (เน้นเดินสะสมเวลาให้ได้ 40 นาที/วัน, ขึ้นลงบันได 4 นาที/วัน,ฝึกเดินเร็วมากสลับเดินช้า) ฯลฯ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก

ฝึกหายใจให้ช้าลง (ไม่เกิน 10 ครั้ง/นาที ช่วยป้องกัน หรือลดความดันเลือดสูง), ฝึกดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำชาเจือจางแทนเครื่องดื่ม, ฝึกกินผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผลแทนน้ำผลไม้ ฯลฯ

.

อย่าลืมว่า คนรุ่นใหม่มีโอกาสอายุยืนขึ้น มีชีวิตหลังเกษียณนานขึ้น

การจะมีชีวิตหลังเกษียณแบบสบายๆ คงจะต้องทำงานให้นานขึ้น เกษียณช้าลง, ออมเพิ่ม 10%, จ่ายน้อยลง 10%, ไม่เป็นหนี้เกินตัว และที่ลืมไม่ได้เด็ดขาด คือ อย่าไปเซ็นต์ค้ำประกันเงินกู้ให้คนอื่น

บอกคนที่มาให้ค้ำเงินกู้ไปเลยว่า แม่ไม่ชอบ

ถ้าคุณแม่เสียไปแล้วก็บอกได้เช่นกันว่า คุณแม่ไม่ชอบ และตอนนี้ก็ไม่ชอบ (ให้คุณลูกค้ำหนี้คนอื่น)

.

คนที่ค้ำหนี้ให้คนอื่่นมีปัญหาความดันเลือดสูงมากเป็นพักๆ ระดับ 200 มิลลิเมตรปรอท, เป็นโรคตื่นตระหนก ตกใจง่าย (แพนิค), และเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองแตกมาแล้วหลายราย

ขอให้ท่านทำงานเพื่อตัวท่านเอง เพื่อคนที่ท่านรัก...

อย่าไปทำงานให้คนที่บอกให้ท่านค้ำประกันเงินกู้

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

                                                                 

ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต > CC: BY-NC-SA

หมายเลขบันทึก: 540436เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2013 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2013 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นประโยชน์มากเลยครับ โดยเฉพาะการกินอยู่แบบง่ายๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท