การพัฒนาทักษะการฟังดนตรี โอกาสทางการศึกษาดนตรีอย่างเท่าเทียม ของเด็กไทย ตอนที่1


การฟังมีความสำคัญยิ่งในการสอนดนตรีศึกษาทั่วไป เป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมดนตรีให้ดำรงอยู่

 

 เป็นที่ทราบกันว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน  ดนตรีมีบทบาทสำคัญมากทั้งในด้านธุรกิจและด้านการศึกษา ในด้านธุรกิจค่อนข้างจะเน้นไปในด้านธุรกิจเพลงประเภทยอดนิยม หรือเพลงป็อป เพลงร็อคฯลฯ ซึ่งเป็นบทเพลงที่เข้าถึงผู้ฟังได้ง่ายมีอยู่ในสื่อทั่วๆไป ทั้งประเภทเพลง เพลงหนัง เพลงประกอบโฆษณา  โดยผู้ผลิตเน้นในเรื่องความทันสมัยและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ฟังซึ่งอยู่ในวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ทั่วทั้งประเทศไทยส่วนธุรกิจสำหรับเพลงประเภทเฉพาะด้าน เพลงคลาสสิกค่อนข้างมีน้อยในสังคมไทย  เนื่องจากมีผู้ฟังเพลงจำนวนไม่มากนัก ไม่คุ้มค่าในการลงทุนเชิงธุรกิจเท่ากับเพลงประเภทต่างๆ  ที่กล่าวมาแล้ว  ส่วนในด้านการศึกษา  นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่พ่อแม่ให้ความสนใจกับการใช้ดนตรีเป็นสื่อในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก  เนื่องจากคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เริ่มมีความรู้และความต้องการให้บุตรหลานของตนมีพัฒนาการในการเจริญเติบโตที่สมวัย  มีชีวิตที่มีคุณภาพ  ซึ่งมีสถาบันต่างๆ ตอบสนองโดยจัดเป็นโปรแกรมสำหรับพ่อแม่และเด็กมากขึ้นเป็นลำดับ 

แต่สำหรับสภาพดนตรีศึกษาในประเทศไทยนั้นโดยทั่วไปกล่าวได้ว่ามีมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน  หลายโรงเรียนมีมาตรฐานการสอนดีมาก  มีการพัฒนากิจกรรมตลอดจนสิ่งเกื้อหนุนอย่างดี ทำให้มาตรฐานการเรียนการสอนดนตรีเป็นไปอย่างดีเยี่ยม แต่ในขณะที่บางโรงเรียนนั้นขาดแคลนเครื่องมือเครื่องดนตรี ขาดงบประมาณ บางครั้งแม้แต่ครูดนตรีก็ยังไม่มี   และมีหลายโรงเรียนละเลยไม่ให้ความสนใจในการศึกษาดนตรีเท่าที่ควร ทำให้การเรียนการสอนดนตรีเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการ  นักเรียนไม่ได้รับวิชาความรู้ทางดนตรีอย่างที่ควรจะเป็น  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากดนตรีเป็นวิชาความรู้ที่มีความสำคัญทั้งในศาสตร์ของดนตรีเอง และยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทางอารมณ์และทางสมองเป็นอย่างดีด้วย  นอกจากนี้การเรียนดนตรีทำให้ได้ทักษะทางสังคม  ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในการพัฒนาตนให้อยู่ในสังคมได้ดีขึ้น  และเป็นผู้เข้าถึงวัฒนธรรมดนตรีซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้ชีวิตต่อไปเมื่อถึงวัยทำงาน  แม้ดนตรีจะเป็นสาขาวิชาที่มีประโยชน์ในแง่เนื้อหาวิชาโดยตรงและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการทางชีวิตของมนุษย์ดังกล่าวแล้วก็ตาม  บางโรงเรียนก็ถึงกับงดการเรียนการสอนดนตรีเพื่อนำเวลาไปใช้ในการเรียนวิชาการด้านอื่นๆ  ซึ่งมีความจำเป็นในการศึกษาต่อ  สภาพเช่นนี้พบได้โดยทั่วไปทำให้น่าเสียดายที่เด็กไทยขาดพัฒนาการทางดนตรีซึ่งจะนำไปสู่ความละเอียดอ่อนทางจิตใจโดยสิ้นเชิง  เราควรอย่างยิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด  วิธีปฏิบัติเพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสได้พัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ในทุกๆด้านอย่างจริงจัง


  นอกจากนี้สภาพสังคมไทยปัจจุบันก็ยังมุ่งเน้นไปสู่วัฒนธรรมดนตรีเฉพาะด้าน บางประเภท  ซึ่งมิใช่เป็นดนตรีที่มีมาตรฐาน ควรค่าในการศึกษาเพื่อการเรียนการสอน  จึงทำให้เด็กและเยาวชนไทยไม่คุ้นเคย  ขาดความเข้าใจ  และไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมดนตรีที่ควรค่าแก่การชื่นชม ทั้งในส่วนของดนตรีคลาสสิค,ดนตรีโลก(วรรณกรรมทางดนตรี) หรือแม้กระทั่งดนตรีไทยของเรา  ผลกระทบของสังคมในเรื่องเกี่ยวกับดนตรีเช่นนี้  เป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยไม่เห็นความสำคัญของคุณค่าแห่งดนตรีที่ได้รับการสร้างสรรค์และพัฒนามาจนมีความวิจิตร งดงามในระดับสูง  และเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องคุณค่าของดนตรี  ซึ่งส่งผลมาถึงแนวความคิดในเรื่องการศึกษาดนตรีที่มีแบบแผนในหลายด้าน  และกลายมาเป็นเรื่องงบประมาณ  การสนับสนุนในเรื่องกิจกรรมทั้งในระดับสถาบันการศึกษาและระดับสังคมทั่วไป  รวมถึงการเผยแพร่ในระดับนานาชาติอีกด้วย.......


หมายเลขบันทึก: 540432เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2013 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2013 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท