ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

คู่มือผู้ปกครองดูแลเด็กพิเศษที่บ้าน


ร.ร.เมืองปากน้ำโพจัดห้องเรียนพิเศษคู่ขนานสำหรับเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมเยียนดูพัฒนาการ ด้าน สสค.หนุนแจกคู่มือให้ผู้ปกครองใช้ดูแลเด็กพิเศษที่บ้าน นำร่อง 10 โรงเรียน หวังครอบคลุมทุกภูมิภาค

สส.หนุนเปิดห้องเรียนเด็กพิเศษ

แจกคู่มือผู้ปกครองดูแลเด็กที่บ้าน



ร.ร.เมืองปากน้ำโพจัดห้องเรียนพิเศษคู่ขนานสำหรับเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมเยียนดูพัฒนาการ ด้าน สสค.หนุนแจกคู่มือให้ผู้ปกครองใช้ดูแลเด็กพิเศษที่บ้าน นำร่อง 10 โรงเรียน หวังครอบคลุมทุกภูมิภาค

นางอรนุช  บุญโสภาค ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองปลิง ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่าโรงเรียนมีครูสอนเด็กพิเศษ 3 คน ต้องดูแลเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ 48 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 400 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นมาทางโรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ให้เป็นโรงเรียนนำร่องทดลองใช้ชุดความรู้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

ชุดคู่มือประกอบด้วย 1.คู่มือระบบการดูแลนักเรียนกลุ่มเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 1 เล่ม 2.ชุดความรู้สำหรับครูในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ 4 เล่ม และ 3.ชุดความรู้สำหรับพ่อแม่ในการดูแลเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ 4 เล่ม

ผู้อำนวยการ ร.ร.วัดหนองปลิงกล่าวว่ากระบวนการที่เราจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ จะเน้นให้เด็กได้มีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มุ่งให้เด็กมีความสุขในสังคม เน้นสังคมและบริบทรอบข้างให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ของเด็กพิเศษฯ และสามารถอยู่ร่วมกับเด็กปกติได้อย่างมีความสุขและเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันคณะครูก็ได้ลงพื้นที่พบพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อสอบถามข้อมูล พัฒนาการของนักเรียนอีกด้วย

การดูแลเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ใช้แค่เรี่ยวแรงยังไม่พอ ต้องใช้ใจ ความเสียสละ ต้องเข้าใจตัวเด็ก ไม่ดุ ค่อยๆ สอนอย่างใจเย็น ครูทุกคนที่นี่จะต้องดูแลเด็กพิเศษให้ได้ทุกคน” ผอ.ร.ร.วัดหนองปลิง กล่าว

ทั้งนี้ทางโรงเรียนได้จัดห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก สำหรับให้การศึกษาแก่เด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อให้ครูได้ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเด็กรายใดมีพฤติกรรมดีขึ้นก็จะให้ไปเรียนร่วมกับเด็กปกติเป็นครั้งคราว ซึ่งพบว่า เด็กมีพฤติกรรมและพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น


ทางด้าน พ.ญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ นักจิตเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล เปิดเผยว่าได้แจกจ่ายชุดความรู้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่อง ที่ สสค. ร่วมกับสถาบันราชานุกูล พัฒนาขึ้น ไปยังโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง ร.ร.อนุบาลสุพรรณบุรี ร.ร.สามชุกรัตนโภคาราม จ.สุพรรณบุรี ภาคใต้ ร.ร.บ้านโพธิ์หวาย ร.ร.วัดกาญจนาราม จ.สุราษฎร์ธานี  ภาคเหนือ ร.ร.วัดหนองปลิง ร.ร.อนุบาลเมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร.ร.ศรีสวัสดิ์วิทยา ร.ร.เทศบาลบูรพาพิทยาคาร จ.มหาสารคาม และพื้นที่ กรุงเทพฯ ร.ร.วิชูทิศ ร.ร.พิบูลประชาสรรค์ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ จนสามารถสร้างเครือข่ายได้ครอบคลุมทั้งประเทศ

พ.ญ.ชดาพิมพ์กล่าวว่าการจัดกลุ่มเด็กพิเศษนี้ เน้นกลุ่มเด็กที่ปัญหาการเรียน เป็นความพิการทางการเรียน ไม่ใช้พิการทางร่างกาย  อีกทั้งเด็กส่วนใหญ่มีความพิการทางการเรียนรู้ซ้ำซ้อน เช่น สมาธิสั้นมีออทิสติกแทรกซ้อน หรือออทิสติก ก็จะมีสติปัญญาบกพร่อง และเห็นว่ากลุ่มเด็กแอลดี ถือเป็นกลุ่มที่น่าห่วง  รูปแบบการสอนเด็กแอลดีจึงต้องมีความแตกต่างจากเด็กทั่วไป โยเฉพาะdkiใช้แผนการศึกษารายบุคคล

เป็นเรื่องที่ยากกับการจะทำให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้หมดไปจากประเทศไทย เพราะเรายังไม่ทราบสาเหตุว่ากลุ่มโรคนี้เกิดจากอะไร ได้แต่เพียงแนะนำให้กินดีอยู่ดี มีลูกร่างกายแข็งแรง เพราะโรคของกลุ่มนี้ จะเกิดจากความผิดปกติของยีน โครโมโซม จึงไม่สามารถป้องกันได้” พญ.ชดาพิมพ์ กล่าว



หมายเลขบันทึก: 540085เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

http://www.gotoknow.org/posts/534508 อ.ป๊อบค่ะเป็นเครือข่ายกลุ่มกิจกรรมบำบัดใน GotoKnow ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท