BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ในฐานะลูกหลานตระกูลธรรมกิรติ


ในฐานะลูกหลานตระกูลธรรมกิรติ

ตอนแรกเข้าเรียนป.๑ โรงเรียนวัดคูขุดนั้น โยมยังอยู่บ้านยายห้องเลี่ยนท่าตีนคลองหลา ผู้เขียนจึงได้ชื่อว่าเด็กบ้านตีนเหมือนกัน... ยังไม่จบป.๑ นมหรือแม่เฒ่า(ยายกิ้มหวน หนูสง) ถึงแก่กรรม โยมจึงได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านหัวนอน...

เมื่อเริ่มอ่านหนังสือออก จึงได้รู้จักนามสกุล เกิดความรู้สึกแปลกแยกบางอย่างเรื่องนามสกุล ผู้เขียนใช้ "โพชนุกูล" ส่วนบรรดาน้าๆ ซึ่งตอนนั้น น้าพงษ์ น้าบุญให้ และน้าอูด ยังอยู่รวมกันที่บ้าน จะใช้ "หนูสง" ขณะที่บ้านติดกันคือบ้านทวดหรือบ้านยายเลี้ยง (ตอนนั้นทวดยังอยู่เรียกกันว่า "บ้านทวด" พอตอนหลังทวดถึงแก่กรรมก็กลายเป็น "บ้านยายเลี้ยง") ก็แปลกแยกออกไปอีก กล่าวคือ ทวดห้วน ใช้ "ธรรมกิรติ" ส่วนยายเลี้ยงตาหุ้ยและลูกๆ ใช้ "จำนง" และบ้านตาเหี้ยง ตาท้าย และตาฉุ้น ทุกคนใช้ "ธรรมกิรติ"... ตอนเด็กๆ ผู้เขียนรู้สึกเป็นปมอย่างหนึ่งที่ใช้นามสกุลไม่เหมือนใคร และที่โรงเรียนก็มีผู้เขียนคนเดียวที่ใช้ "โพชนุกูล" (ตอนหลัง ระยะ ป.๓-๕ ก็เปลี่ยนมาเป็น "โภชนุกูล" จำได้ว่ามั่วอยู่ระยะหนึ่ง)

บ้านตาเหี้ยง ตาท้าย และตาฉุ้น ผู้เขียนคุ้นเคยตั้งแต่จำความไม่ได้ จำได้แต่เพียงว่าทุกๆ วัน จะมีคนบ้านตาทั้งสามบ้านผลัดเปลี่ยนกันเอาข้าว แกง และขนม มาให้ทวด และบางวันบางมื้อ ก็จะเอามาให้พ่อเฒ่า (ตาคล้าย หนูสง) ด้วยอีกชุดหนึ่ง ดังนั้น ที่ทวดนั่งจึงมีกับข้าวและขนมไม่เคยขาด พวกเราเด็กๆ หลานๆ เหลนๆ ของทวดจะไม่เคยอดขนม เมื่อไปที่ทวด

พอโตขึ้นมาอีกจึงรู้เดียงสาขึ้นว่า นามสกุลใช้ฝ่ายพ่อ นมหรือแม่เฒ่า แม้จะเป็นลูกทวด แต่ก็ใช้ "หนูสง" ตามนามสกุลพ่อเฒ่า ส่วนยายเลี้ยงซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องของทวดก็ใช้ "จำนง" ตามนามสกุลตาหุ้ย ส่วนตาเหี้ยง ตาท้าย และตาฉุ้น ยังคงใช้ "ธรรมกิรติ" เพราะเป็นฝ่ายพ่อ... และนอกจากบ้านตาทั้งสามบ้านแล้ว ก็ไม่มีบ้านใครเลยในคูขุดที่ใช้ธรรมกิรติ แต่ต่อมา ผู้เขียนก็ทราบว่าทวดยังมีลูกอีกสองคนคือตาหิ้นและตาเห้งซึ่งใช้ธรรมกิรติเหมือนกัน

ธรรมกิรติ ตั้งแต่เด็กๆ มา ผู้เขียนรู้สึกว่ามีพลังบางอย่างที่น่าเกรงขาม อาจเป็นเพราะว่ามีถึงสามบ้านที่ใช้ธรรมกิรติ บ้านที่ใช้ จำนง กับ หนูสง มีเพียงบ้านเดียว แต่ผู้เขียนกลับใช้ โพชนุกูล จึงรู้สึกเป็นปมดังที่ว่ามาในเบื้องต้น

เมื่อมาบวชก็เริ่มอ่านหนังสือด้านพุทธศาสนา ก็มาเจอคำว่า "ธรรมกีรติ" เป็นชื่อของพระภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ด้านวิชาตรรกศาตร์ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจและทึ่ง จึงมาสอบถามว่าใครเป็นคนตั้ง ก็ได้รับทราบว่าตาเหี้ยงเป็นคนตั้งนามสกุลนี้ แต่เสียดายที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสสอบถามตาเหี้ยงตอนที่ท่านยังอยู่ถึงสาเหตุที่เลือกใช้คำนี้

เท่าที่ทราบ ตาเหี้ยงบวชหลายพรรษา มีความสามารถสวดปาฏิโมกข์ได้ และตาเหี้ยงชอบอ่านหนังสือ... ตอนเด็กๆ นั้น "หนังสือบางกอก" เป็นสิ่งที่ผู้เขียนถูกโยมพ่อใช้ให้ "ไปเอา" และ "เอามาให้" บ้านตาเหี้ยงเสมอ นั่นคือ ตาเหี้ยงชอบอ่านหนังสือ... และตอนที่ผู้เขียนบวชแล้วหลายพรรษา ครั้งหนึ่ง เมื่อไปเยี่ยมตาเหี้ยง ท่านก็ยังมีหนังสือบางกอกและหนังสืออื่นๆ เช่น โลกทิพย์ วางอยู่ใกล้ที่นั่งของท่าน ก็รู้สึกทึ่งอย่างยิ่ง พูดกับท่านว่า "ตาเหี้ยงยังอ่านหนังสือบางกอกเหลย ! " ตาเหี้ยงก็บอกสั้นๆ ว่า "อ่านไปฮั้นแหละ" ... สรุปว่าตาเหี้ยงเป็นผู้ใคร่ในการเรียนรู้และมีความรู้รอบตัวมาก

เมื่อมาเริ่มเรียนบาลี ผู้เขียนก็พอจะวิเคราะห์และแปลได้ คำว่า ธรรมกิรติ ตามรูปศัพท์แปลว่า "กระจายธรรม" หรือ "จำแนกธรรม" และเคยเอาเรื่องนี้ไปคุยกับน้าทูลลูกยายเลี้ยง หรือน้าชันลูกตาฉุ้น ก็ไม่แน่ใจจำไม่ค่อยจะได้แล้ว ก็ได้รับความเห็นมาทำนองว่า "ธรรมกิรติรุ่นก่อนๆ นั้น เป็นอย่างนี้จริงๆ แต่รุ่นเราไม่ค่อยแน่ใจ ทำท่ากลายพันธุ์..." อะไรทำนองนี้

ตามที่เล่ามาถึงนี้ ก็พอสรุปได้ว่า "ธรรมกิรติ" ตาเหี้ยงเป็นคนตั้ง ส่วนเหตุผลที่ตั้งนั้น อาจเอาตามชื่อของพระภิกษุผู้เป็นปราชญ์ด้านวิชาตรรกศาสตร์ หรืออาจเพ่งเฉพาะคำแปลเป็นสำคัญ หรือตาเหี้ยงพิจารณาทั้งสองอย่างนี้แล้วจึงเลือกคำนี้มาเป็นนามสกุล

ตามประวัติ... ท่านธรรมกีรติ อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นนักศึกษาและอาจารย์ตามลำดับที่มหาวิทยาลัยเมืองนาลันทาประเทศอินเดีย ตอนที่ท่านเป็นอาจารย์ใหม่ๆ นั้น ได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งแล้วนำไปเสนออาจารย์อาวุโส คณะอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งพิจารณาแล้วบอกว่า "เอาไว้ผูกหางหมาได้ ! " ท่านมีความมั่นใจในตัวเองมาก ท่านบอกทำนองว่า "ดีซิ !มันจะได้วิ่งแล้วเผยแพร่ไปทั่วโลก" แล้วท่านก็เอาหนังสือเล่มนั้นผูกกับหางหมาในวัด และตีหมาให้วิ่งไปรอบวัด...

สมัยเรียนปรัชญาที่ มช. ตอนกำลังหาหัวข้อวิจัย เคยคิดจะทำเรื่องของท่าน แต่เปลี่ยนใจ เพราะนอกจากแปลจากภาษาอังกฤษแล้ว ศัพท์เฉพาะด้านเนื้อหาเป็นคำสันสกฤตที่เขียนทับศัพท์มาเป็นภาษาอังกฤษ ต้องแปลงศัพท์เฉพาะเหล่านี้มาเป็นอักษรไทยเพื่อให้เห็นคำสันกฤต แล้วต้องแปลงสันสกฤตเป็นบาลีอีกครั้งเพื่อจะได้รู้ความหมายจริงๆ ผู้เขียนทดลองอยู่ช่วงหนึ่ง เห็นว่าหนักกว่าเรื่องที่ทิ้งไป จึงกลับมาเรื่องเดิมและจบมาด้วยด้วยเรื่องนั้น

ส่วนเรื่องอื่นของท่านจำไม่ค่อยได้ จำได้ชัดเจนเรื่องเอาหนังสือผูกหางหมานี้แหละ ผู้เขียนประวัติบอกว่า อาจารย์อาวุโสเหล่านั้น อ่านหนังสือท่านไม่ค่อยรู้เรื่อง และรู้สึกอิจฉาท่านที่เก่งเกินไป... อย่างไรก็ตาม ในยุคอินเทอร์เน็ตลองค้นคำว่า Buddhist Logic ก็จะเจอคำว่า Dharmakirti (ธรรมกีรติ) ส่วนที่เป็นภาษาไทย ใครสนใจลองอ่านบทความ "ทฤษฎีการรับรู้โลกภายนอกตามความเป็นจริงในทัศนะพระนักปรัชญาชาวพุทธชื่อธรรมกีรติ" จาก http://buddhistphilo.blogspot.com/2010/09/blog-post.html ถ้าอ่านไม่รู้เรื่องก็ควรยอมรับว่าท่านเก่งจริงๆ

ว่าโดยศัพท์ ธรรมกิรติ เป็นคำสันสกต ถ้าเป็นบาลีจะเขียนว่า ธัมมกิตติ ซึ่งคำแปลและรากศัพท์ก็เหมือนกัน

ธรรมะ หรือ ธัมมะ มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ หรือ ธา แปลว่า ทรงไว้ แต่ถ้าว่าด้วยความหมายก็อาจแคบหรือกว้างตามที่ประสงค์จะใช้ อาจหมายถึง ธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หน้าที่ ความดี หรือที่เรารู้กันทั่วไปก็คือ "คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"... แต่ความหมายที่เหมาะสมที่สุดน่าจะเป็น "ความดี"

กีรติ หรือ กิตติ มาจากรากศัพท์ว่า กีรฺ แปลว่า กระจาย หรือ จำแนก อนึ่งเฉพาะคำว่า กีรติ นี้ ในภาษาไทยถ้าไม่ใช้คำนี้โดยตรง โบราณาจารย์ของไทยจึงแปลงสระ "อี" เป็นสระ "เอีย" ดังนั้นจาก กีรติ ก็จะแปลงเป็น เกียรติ ได้... คำอื่นๆ ที่แปลงอีเป็นเอียก็เช่น กษีระ (น้ำนม) - เกษียร. พีระ-เพียร. ศิระ- เศียร. จีระ-เจียร. ธีร-เธียร เป็นต้น... สรุปว่า กีรติ กิตติ และ เกียรติ สามคำนี้แปลเหมือนกัน

ธรรมกิรติ จึงแปลได้ความหมายว่า "กระจายความดี "... "จำแนกความดี "... "แจกแจงความดี " หรือ "มีความดีกระจายไป "... ผู้ที่เป็นลูกหลานตระกูลธรรมกิรติ แม้ปัจจุบันจะใช้นามสกุลอื่น น่าจะใส่ใจไว้ อย่าให้เสียชื่อบรรพชน

สำหรับต้นตระกูลธรรมกิรตินั้น คือ ทวดชายชื่อ เบ้งทิก พี่น้องของท่านใช้นามสกุล พานิช บ้านเดิมอยู่บ้านศาลาหลวง ท่าบอน ระโนด... และทวดหญิงชื่อ ห้วน นามสกุลเดิมคือ สุระคำแหง เป็นชาวบ้านคูขุด... เมื่อนับชั้น ผู้เขียนเป็นชั้นที่สาม และปัจจุบันมาถึงชั้นที่ห้า... อนึ่ง เมื่อนับจำนวนก็มีประมาณ ๑๒๐-๑๕๐ คน ที่ยังมีชีวิตอยู่

ไม่กิ่ปีก่อน คุยกันว่า ธรรมกิรติ พวกเรารู้จักกันหมด แต่เดียวนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะแตกกิ่งก้านสาขาและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นการริเริ่มที่ดีในเดือนห้าปีนี้ ที่มีการร่วมทำบุญ พบปะสังสรรค์ และได้ทำบัญชีไว้...

ธรรม พิทักษ์ปกป้อง คนดี

กิ รินทร์ประดุจรวี ส่องหล้า

ร ตนะเรืองรุจี อภิวาทน์

ติ ลกกระจ่างฟ้า เลิศล้ำสถาพร ฯ

ธรรม พิทักษ์ปกป้อง นิรัติศัย

กิรติ เลิศพิไล พิลาสล้ำ

ธรรม พิพัฒน์ดวงใจ ประเสริฐ

กิรติ จรัสดุจธารน้ำ พิสิฐสร้างคนดี

(ลอกมาจากหนังสือต้นตระกูลธรรมกิรติ)

หมายเลขบันทึก: 540044เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 02:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 02:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการค่ะพระอาจารย์ โชคดีมากเลยนะคะที่ได้ทราบที่มาของต้นตระกูลตนเอง หลายๆ ตระกูลประวัติได้หายไปตามกาลเวลาสืบหาไม่ได้แล้วนะคะ

กราบนมัสการพระอาจารย์ขอรับ..ได้อ่านเรื่อง ธรรมกีรติ แล้ว นึกถึงเพื่อนคนนึงเคยเรียนด้วยกันที่ รร.วรนารีฯสงขลา ชื่อ อำนวย ธรรมกีรติ..และดีใจที่พระอาจารย์มีญาติที่ใช้นามสกุล หนูสง เพราะผมมีหลานสาว แต่งงานเข้า หนูสง 1 คน(ลูกพี่ถวิล หนูสง เคยสอนรร.วรฯสมัยที่ผมเป็นครูวรนารีฯ) มิหนำซ้ำผมเคยมีพี่สาวที่น่ารักคนนึง ชื่อ อ.ศิริพร จำนง (ผมเรียกว่า ฉีพร) เคยเป็นคนหัดให้ผมขับเรือหางยาวสมัยผมยังเป็นเด็ก..สรุปว่า ในบันทึกนี้ให้ความรู้ความเพลิดเพลินและเกี่ยวพันกับผมหลายอย่าง..ขอรับ..ขอบกราบขอบพระคุณครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท