BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๙ (คาถาที่หก)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๙ (คาถาที่หก)

ในคาถาก่อน นายธนิยะอ้างถึงความมีฝูงวัวซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของเขา แต่สำหรับพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธความมีทรัพย์สมบัติเหล่านั้นทั้งหมด เราลองมาพิจารณาคาถานี้ต่อไป

เสาเป็นที่ผูกโคเราฝังไว้แล้ว ไม่หวั่นไหว เชือกสำหรับผูกพิเศษ-

ประกอบด้วยปมและบ่วงเราทำไว้แล้ว สำเร็จด้วยหญ้ามุงกระต่ายเป็นของใหม่-

มีสัณฐานดีสำหรับผูกโคทั้งหลายแม้โคหนุ่มๆ ก็ไม่อาจจะให้ขาดได้เลย

แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

เนื้อหาของคาถานี้ แสดงการผูกวัวทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของหรือคนเลี้ยงวัวต้องกระทำ น่าจะบ่งชี้ถึงความทุกข์ของการมีทรัพย์สมบัติ เป็นทุกข์ในเพราะต้องตามรักษาคุ้มครองทรัพย์สมบัติของตน และถ้าถือเอาตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่านายธนิยะ มีความเห็นสอดคล้องคือยอมรับความเห็นของนักบวชลึกลับบนหลังคา แล้วนักบวชลึกลับบนหลังคาคือพระบรมศาสดาของพวกเราจะแก้อย่างไร พระองค์ทรงประพันธ์คาถาว่า...

เราจักไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก

เหมือนโคตัดเชือกสำหรับผูกขาดแล้ว

เหมือนช้างทำลายเถากระพังโหมได้แล้วฉะนั้น 

แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ 

จากบทกลอนนี้ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันความหลุดพ้นของพระองค์ โดยในวรรคแรก "เราจักไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก " หมายถึงพระองค์หลุดพ้นจากวัฎฎสงสาร ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในทะเลทุกข์อีกต่อไป ความหลุดพ้นนี้เปรียบดังวัวที่ตัดเชือกผูกขาดแล้ว ย่อมมีอิสรภาพคือมีความเป็นใหญ่ในตัวเอง

เสริมประเด็นนี้นิดหน่อย คนเราไม่อาจมีอิสรภาพ ไม่อาจกระทำอะไรได้อย่างปลอดโปร่ง ประหนึ่งว่าถูกเครื่องผูกคอยดึงให้ชะงักแล้วต้องกลับมาเป็นอย่างเดิมนี้ ในคาถามัดตราสังข์ซึ่งเรียกว่าคาถาพญายม มีวิธีการจัดการดังนี้ คือ เมื่อมัดเปลาะแรกให้ว่า "ปุตฺเต คีเว" มัดเปลาะสองก็ให้ว่า "ภริยา หตฺเถ" มัดเปลาะสุดท้ายว่า "ธนํ ปาเท" และเมื่อมัดเสร็จแล้วให้กำกับว่า "จ พนฺธามิ" ซึ่งคาถาพญายมนี้ นำมารวมแล้วแปลได้ว่า...

ปุตฺเต คีเว ภริยา หตฺเถ ธนํ ปาเท จ พนฺธามิ

เราจะผูกลูกไว้ที่คอ ผูกภรรยาไว้ที่มือ และผูกทรัพย์ไว้ที่เท้า

คนเรานั้นเกิดมาแล้ว ยากยิ่งนักจะทำลายเครื่องผูกเหล่านี้ได้ ลูกนั้นเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบไม่อาจปลดเปลื้องได้เหมือนกับสิ่งที่คล้องคออยู่ ภรรยานั้นจะชักนำเราให้เป็นไปทางใดก็ได้เหมือนกับจับมือแล้วชวนกันไป ส่วนทรัพย์นั้นผูกไว้ที่เท้าเหมือนกับของหนักที่ถ่วงเราไว้ ทำให้เราไม่อาจไปไหนได้ตามความตั้งใจ

เครื่องผูกที่สำคัญที่สุดก็คือตัณหาความทะยานอยาก เราพยายามจะแก้หรือทำลาย แต่ชีวิตหนึ่งไม่อาจแก้หรือทำลายได้ก็ต้องตายไป แม้ตายไปเกิดใหม่มันก็ยังติดตามเราไป จึงต้องแก้ต่อไป เมื่อยังแก้ไม่ได้ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ และยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งเหมือนเถากระพังโหม

ช้างป่าที่หลงเข้าไปในดงเถากระพังโหม ถูกเถากระพังโหมรัดรึงจนขาดอิสรภาพ อึดอัด ไม่ปลอดโปร่ง มันจึงพยายามทำลายเถากระพังโหมเพื่อจะได้หลุดพ้นออกมาสู่ความเป็นอิสรภาพ พระบรมศาสดาตรัสว่า "เหมือนช้างทำลายเถากระพังโหมได้แล้ว"

สรุปว่าในคาถาโต้ตอบตอนนี้ นายธนิยะยอมรับความทุกข์ของการมีทรัพย์สมบัติว่าต้องจัดแจงดูแล ส่วนพระพุทธเจ้ายืนยันว่าพระองค์ทรงหลุดพ้นจากตัณหาความทะยานอยาก ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจเครื่องผูกคือตัณหาอีกต่อไป...

และในขณะนั้นเอง ฟ้าก็แลบแปลบปลาบ ฝนก็เริ่มเทลงมา... เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539772เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 02:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท