อาสาช่วยครูพระ สอนธรรมะด้วยสื่อการ์ตูน



อาสาช่วยครูพระ สอนธรรมะด้วยสื่อการ์ตูน

หลายครั้งที่ผมมีโอกาสได้สังเกตการสอนของครูพระ ตามโครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ครูพระมักเป็นพระสงฆ์หนุ่มๆที่มีความเจนจัดในการอธิบายธรรมะง่ายๆ ด้วยการเล่าเรื่องประกอบนิทาน มีลูกเล่น มุขตลกแทรกอยู่ตลอดเวลา เด็กๆ มักก็ได้ฟังนิทานสนุกๆ จากครูพระ ได้รับรางวัลเป็นสมุดหรือปากกาสวยๆ เมื่อตอบปัญหาธรรมะได้ถูกต้อง บรรยากาศการสอนศีลธรรมในโรงเรียน จึงออกรสออกชาด ช่วยครูผู้สอนประจำการได้มากทีเดียว ครูผู้สอนที่ใส่ใจยังได้เรียนรู้ธรรมะไปพร้อมๆกับเด็กอีกด้วย

ทุกๆปี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมักจัดสรรงบประมาณมาให้เขตพื้นที่จัดทำโครงการสนับสนุนการสอนศีลธรรมของครูพระ หัวหน้ากลุ่มจึงเสนอผู้อำนวยการให้ผมจัดทำโครงการผลิตสื่อต้นแบบช่วยครูพระด้วยเห็นว่าผมมีฝีมือในการวาดการ์ตูน ทั้งที่ผมก็ออกตัวว่า การทำสื่อให้ครูใช้เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนดีๆ  ไม่ว่าจะเป็นครูฆราวาสหรือครูพระก็ต้องใช้อย่างเข้าใจ ต้องมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ

ผมลงมือศึกษารูปแบบของสื่อการ์ตูนที่ควรใช้กับเด็กเล็ก ที่นำไปสู่การคิด การปฏิบัติง่ายๆ จัดทำต้นแบบคร่าวๆ เป็นการ์ตูนช่องสั้น การ์ตูนนิทานสั้น มีภาพการ์ตูนที่มีแอ็คชั่นขำๆ  ให้บรรดาหลวงพี่ครูพระช่วยกันเขียนเค้าโครงเรื่องสั้นๆ หรือมุขเด็ดๆที่ต้องการนำเสนอประกอบการสอนจากนั้นก็ลงมือทำต้นฉบับระยะหนึ่งก่อนให้ส่งให้คณะผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบ เสนอแนะ ก่อนทำสำเนาต้นฉบับออกทดลองใช้ในชั้นเรียน 

ถึงวันประชุม สาธิตการใช้สื่อต้นแบบของผม ได้นิมนต์ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะอำเภอ มาเป็นองค์ประธานด้วย ผมและคณะสาธิตการใช้สื่อต้นแบบ ถวายความรู้ครูพระ และเปิดโอกาสให้ท่านซักถามจนหนำใจ แน่ใจ ตอนสุดท้ายก็นิมนต์ท่านเจ้าคุณองค์ประธานสรุปให้แนวคิดเพิ่มเติม ผมนึกในใจว่าท่านต้องกล่าวชื่นชมแน่ แต่ผิดถนัด ท่านแสดงความเห็นด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า“อาตมามีความเห็นว่า การสอนธรรมะ ไม่ต้องอาศัยสื่อเทคโนโลยี ให้เป็นที่ยุ่งยาก สิ่งที่อยู่รอบตัวเราใช้เป็นสื่อได้ทั้งนั้น ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็สอนธรรมะ โดยใช้สื่อใบไม้ใบเดียว ธรรมะเปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่า  แต่ธรรมะที่พระพุทธองค์หยิบมาสั่งสอนเพียงใบไม้กำมือเดียว....”

ผมหน้าชา รู้สึกเหมือนถูกสาดน้ำร้อนใส่หัวใจที่กำลังเต่งตูมให้ยุบยวบลงทันใด...พอตั้งสติได้ก็นึกถึงคำพูดของครูบาอาจารย์ที่เคยสั่งสอนในห้องเรียนว่า “สื่อการสอนที่ดีสุดก็คือสื่อที่ผู้สอนคิดเอง ออกแบบเอง และนำไปใช้สอนด้วยตนเอง คนใช้สื่อก็ควรเป็นคนทำสื่อ การใช้สื่อจึงจะเกิดผลตามที่ใจต้องการ”

ต้องกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณที่เตือนสติ ตอนที่ผมเป็นครูวิชาการในศูนย์วิชาการกลุ่มในอดีต ผมเคยทำสื่อต้นแบบไว้มากมาย หวังช่วยเพื่อนครูคิดและนำไปทดลองใช้ในชั้นเรียน แต่พอไปติดตามดู เวลาเพื่อนครูยืมไปใช้ เขาก็ใช้สื่อสอนแทนครูเลย เหมือนส่งสื่อไปช่วยสอน ไม่เคยเห็นเขาใช้ประกอบการสอนตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ในคู่มือ น้อยคนจะนำไปปรับปรุงต่อยอด สื่อต้นแบบจึงไม่มีโอกาสแตกลูกแตกหลาน แล้วศูนย์วิชาการกลุ่มในสมัยนั้นก็ค่อยๆ ล่มสลายไปในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม คราใดที่พูดถึงสื่อการสอน คำพูดของท่านเจ้าคุณยังดังก้องหู สื่อสอนธรรมะสำหรับเด็กนั้นมีมากมายหลายประเภทรวมทั้งสื่อกระบวนการที่เป็นความสามารถของครู สุดแต่ว่า ใครจะถนัดใช้สื่อใด?  ที่คิดว่าเด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุด สำหรับผม “สื่อการ์ตูน” วิเศษที่สุด


หมายเลขบันทึก: 539769เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 00:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบันทึกนี้แล้ว ยิ่งชื่นชม "ท่าน ศน. สมาน เขียวเขว้า" เป็นทับทวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดใจกว้าง นำความเห็นที่แตกต่างมาพิจารณา และที่ชื่มชมอีกอย่าง ก็คือ การมีความสามารถพิเศษด้านการเขียนการ์ตูนและหาช่องทางในการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา

ในเรื่องของสื่อการเรียนการสอน หรือสื่อสำหรับจัดการเรียนรู้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" มีความเห็นดังนี้ นะคะ

สื่อที่ดี ต้องก่อให้เกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ แต่สิ่งแรกเลย คือ ต้องจูงใจผู้เรียนให้หันมาสนใจที่จะเรียนรู้ก่อน เพราะแม้สื่อจะดีอย่างไรแต่ไม่จูงใจให้อยากเรียนรู้ สื่อก็ย่อมไม่สามารถแสดงความดีนั้นออกมาให้ประจักษ์ได้ ผู้เรียนในอดีตจะค่อนข้างเชื่อฟังครู กลัวเกรงครู ครูจะบอกจะสอนอะไรก็มักตั้งใจฟังตั้งใจเรียน แต่เด็กในปััจจุบันจะไม่เป็นเช่นนั้น สื่อต้องตรงกับความสนใจจริงๆ จึงจะหันมาสนใจเรียนรู้ ซึ่งความสนใจก็จะแตกต่างไปตามวัย การ์ตูนก็ดูจะเหมาะกับเด็กประถมดี แต่ถ้าจะให้แน่ ก็ต้องทดลองใช้สื่อแต่ละชนิดเปรียบเทียบกัน นั่นแหละค่ะ

สื่อที่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ใช้ได้ผลดีกับนักศึกษาก็คือ สื่อที่เป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ที่กำลังอยู่ในความสนใจซึ่งเผยแพร่ทางโทรทัศน์ โดยใช้เครื่องบันทึก บันทึกเป็น DVD แล้วนำไปเป็นสื่อให้นักศึกษาดู แล้วมีประเด็นให้วิเคราะห์ หรืออภิปรายให้สอดล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้

ตอนที่เป็นหัวหน้าโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย และได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR : Participatory Action Research) กับครูและผู้ปกครองเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัย ผ่านโครงการบ้าน-โรงเรียนร่วมใจ ก็ได้บันทึกเทปโทรทัศน์จากรายการเพลง เกม นิทาน เป็นต้น เป็นสื่อเสริม ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆ มากค่ะ  


ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ ที่ให้ทั้งข้อคิดและกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท