ตอนที่ 11 พเนจรครั้งแรก


วันคืนผ่านไป เด็กๆ เติบใหญ่ไปตามวันเวลา ในขณะที่คนมีอายุก็ร่วงโรยลง บางชีวิตดับสูญ บางชีวิตได้ก่อกำเนิดขึ้น

พ่อได้รับคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านอุดมชาติ (อุดมชาติสามัคคี) อำเภอวารินชำราบ ซึ่งสร้างความอาลัยให้แก่ชาวบ้านคุ้มเป็นอย่างยิ่ง แต่ทุกคนก็เข้าใจว่า ไม่มีครูคนใดสอนประจำที่โรงเรียนได้นาน ยิ่งครูใหญ่ด้วยแล้วอยู่ได้ไม่กี่ปี ก็ย้าย


พ่อจัดหาเกวียนหลายเล่ม ที่มีประทุนใช้สำหรับโดยสาร ที่ไม่มีประทุนใช้บรรทุกสิ่งของ ก่อนการเดินทางไม่กี่วันชาวบ้านหลายคนเอาของฝากมาให้แม่ บ้างมีปลาช่อนตากแห้ง ปลาร้า ข้าวสาร ข้าวเปลือก พริกแห้ง ตามที่ตนเองมี โดยเฉพาะปลาร้า แม่รวมเอาใส่ไหได้จนเต็มไห ข้าวเปลือกได้หลายกระสอบป่าน

วันเดินทางมาถึง เด็กผอมเล็กตื่นนอนด้วยเสียงคนหลายคนพูดคุยกัน บ้างก็ตะโกนบอกกัน แต่มีเสียงหนึ่งแทรกเข้ามาที่ทำให้เด็กชายรีบลุกขึ้น เดินออกมาจากห้องนอน เป็นเสียงกระดิ่งของวัวเทียมเกวียนนั่นเอง

พ่อขอให้เกวียนมาที่บ้านตั้งแต่เช้าเพื่อจัดของขึ้นเกวียน จะได้ไม่ร้อนและรับประทานอาหารเช้าที่บ้านด้วย
เด็กผอมยืนที่ชานเรือนตามองวัวคู่งามเทียมเกวียน ที่หลายคู่คนขับเกวียนได้ปลดออกจากแอกโดยใช้ไม้ค้ำเกวียนแทน แล้วจอดเป็นแถวบนทางเกวียนหน้าบ้าน


หญิงสาวหลายคนสาระวนอยู่ในครัว ชายหนุ่มสี่ห้าคนช่วยกันยกโต๊ะและเก้าอี้ทำงานอันใหญ่ของพ่อ ซึ่งเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่หนัก นอกนั้นก็เป็นของใช้และเสื้อผ้า

"ไหวเอ๊ย ลงมาใต้ถุน มาอยู่กับพี่ๆ อย่าเกะกะเขา" แม่พูดเสียงดังจากหัวบันไดบ้าน
เด็กผอมเล็กเดินสวนแม่ลงบันไดบ้านส่วนแม่เดินเข้าไปในครัว


ที่ใต้ถุนบ้านมีพี่สามคนอยู่กันครบหน้า พี่คนโตกำลังไกวเปลผ้าขาวม้าที่แม่ผูกกับเสาบ้านและไม้หลักที่ฝังอยู่ใต้ถุนอย่างแน่นหนา ภายในเปลมีเด็กหญิงอ้วนกลมนอนหลับตานิ่ง เด็กน้อยเพิ่งคลอดได้ไม่กี่เดือน ส่วนเด็กหญิงพี่คนรองและเด็กผอมสูงเดินเกร่ไปมาอยู่ข้างๆ

วันนั้น ยังคงมีชาวบ้านทะยอยนำของฝากมาให้เรา ทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร ปลาร้า หลายคนเอามะละกอ ถั่วฝักยาวมาทำอาหาร และนำข้าวเหนียวมารับประทานตอนกลางวันด้วย

พอตกบ่ายผู้คนยิ่งเยอะ บนบ้านมีผู้เฒ่าชายหญิงทำพานบายศรี สาวๆ ที่ทำครัวต้องย้ายครัวลงมาอยู่ข้างล่างหลังบ้าน ส่วนหน้าบ้านและข้างบ้านใต้ร่มฉำฉา ชาวบ้านใช้เสื่อปูนั่งดื่มกินและคุยกันอยู่เต็มบริเวณ ส่วนใต้ถุนบ้านนอกจากเด็กๆ เจ้าของบ้านแล้ว ยังมีเด็กนักเรียนอีกนับสิบคนยึดใช้เป็นที่กิน เล่นและหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน

บ่ายคล้อยพี่น้องสี่คนถูกเรียกขึ้นไปข้างบนบ้าน ให้นั่งล้อมพานบายศรีร่วมกับพ่อและแม่ นั่งตรงข้ามกับผู้เฒ่าท่านหนึ่ง
"ได้เวลาบายศรีสู่ขวัญแล้ว ขอให้เงียบๆ ตั้งใจฟังกันทุกคนนะ" ชายชราคนนั้นพูดขึ้นเบาๆ แต่ได้ผล คนบนบ้านเงียบ ผู้คนข้างล่้างก็พลอยเงียบไปด้วย 

พ่อจุดเทียนบายศรีแล้วผูกแขนให้พ่อหมอ หลังจากนั้นพ่อหมอก็เริ่มสู่ขวัญบายศรี

หลังอาหารเย็นก่อนตะวันตกดินวันนั้น ขบวนกองเกวียนก็เคลื่อนที่ออกจากบ้านข้างโรงเรียน เด็กผอมเล็กอยู่ในเกวียนมีประทุนเล่มแรกกับแม่พร้อมกับน้องหญิงตัวอ้วนกลม พี่ๆ อยู่เกวียนมีประทุนอีกเล่มถัดไป ส่วนพ่อดูแลสิ่งของอยู่ท้ายขบวน

ชาวบ้านทั้งหญิงและชาย มายืนส่งพ่อและแม่จำนวนมาก คนแก่ตนเฒ่าหลายคนน้ำตาคลอ ยืนโบกมืออวยพรให้ไปดี

โรงเรียนอยู่ท้ายหมู่บ้าน กองเกวียนจึงเข้าสู่ทุ่งนา พ้นจากทุ่งนาเป็นป่าโปร่ง ทางเกวียนค่อนข้างราบเรียบไม่เหมือนผ่านท้องนา เพราะดินแข็งกว่า ในขณะที่ความมืดไล่ความสว่างออกไปทีละน้อย


เด็กผอมเล็กนอนฟังเสียงล้อเกวียนเสียดสีกับดุมดัง อิ๊ด แอ๊ดๆ เป็นจังหวะตามรอบของล้อ นานๆ จะมีเสียงคนขับเกวียนที่อยู่ด้านหน้าพูดกับวัวของเขาแทรกเข้ามา


"ไหว...หิวไหม" แม่ถามแต่ตาจับอยู่ที่เด็กน้อยกลมอ้วนที่อุ้มแนบอกและกำลังให้ดื่มนม
เด็กน้อยส่ายหน้าแทนคำตอบ แล้วกลับพูดไปอีกเรื่อง "เซียงเมี่ยง"


แม่ค่อยๆ วางเด็กน้อยอ้วนกลมที่อิ่มและหลับแล้วลงข้างๆ คนละด้านกับเด็กผอมเล็ก แล้วเล่านิทานซ้ำอีกรอบ


"เซียงเมี่ยงใช้วิธีของเสือไม่ได้ผล ก็มาใช้วิธีของนก เขาปีนขึ้นไปบนต้นไม้ริมห้วยที่มีน้ำใส มองหาปลาที่โผล่ขึ้นมาหายใจ พอเห็นปลาก็กระโจนลงหมายจับปลาให้ได้ แต่ปลาก็มุดน้ำหนีไป สุดท้ายเซียงเมี่ยงก็มาใช้วิธีของไก่"
เด็กผอมเล็กหลับไปแล้ว 

คลิกอ่านตอนที่ 10 คืนหมาหอน.....เสียงโหนหวน




 

หมายเลขบันทึก: 539441เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2013 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

นึกภาพไปถึงเรื่อง " ลูกอีสาน" ของคุณครูคำหมาน โน่นแหละจ้ะ

สวัสดีครับ Ico48

ผมยังเขียนได้ห่างไกลผลงานของคุณครูคำหมานมากมายครับ
ขอบคุณที่ให้กำลังใจครับ

อ่านเพลินเลยค่ะ

เหมือนอ่าน "เรื่องสั้น" ของนักเขียนมืออาชีพยังไงยังงั้น

คงต้องคลิกย้อนไปอ่านตอนก่อนหน้านี้แล้วหละ


สวัสดีครับ Ico48

ขอบคุณมากๆ ครับ เป็นกำลังใจอย่างดีทีเดียว
ผมจะพยายามเขียนต่อไป

...อ่านแล้วมองเห็นภาพแม่ที่ไม่เคยห่างลูก...ซาบซึ้งในความเป็นผู้นำครอบครัวของพ่อ...และความเป็นครู...  ที่มีคนเคารพนับถือ กราบไหว้ได้อย่างจริงใจนะคะ

สวัสดีครับ Ico48

ขอบคุณครับ ความรักของแม่และพ่อ คือเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้ผมเขียนเรื่องนี้ ซึ่งอาจส่งผมดีต่อลูกๆ หลานๆ ครับ

ตอนเป็นเด็ก เวลาไปนา ได้นั่งเกวียนที่มีประทุน รู้สึกอบอุ่นมากๆ ยิ่งเวลามีฝนตกพรำๆ ยิ่งชอบใหญ่เลย
เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่มันก็ยังจำได้ถึงบรรยากาสนั้นไม่ลืมเลือน นึกถึงทีไรก็ยังรู้สึกว่าความอบอุ่นนั้นยังอยู่เลย

เห็นภาพเกวียนประทุน แล้วนึกถึงท้องนา นึกถึงพ่อแม่ พี่น้อง วัวควาย ผู้คนในท้องทุ่ง ญาติพี่น้อง บรรยากาสเก่าๆ

ขอบคุณที่นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ อ่านแล้วมีความสุขดี

สวัสดีครับคุณพี่ เพลงพิณเปลวเพลิง อ่านเพลิน ชอบครับ เรื่องเล่าพื้นบ้าน จะติดตามครับ

ขอโทษ ขออภัยอย่างสูงเลยครับ แก้ไขชื่อ คุณพี่ เพลงพิณเปลวเทียนครับ

กราบนมัสการครับ

ชีวิตท้องนาอบอุ่น ปลอดภัย สิ่งต่างๆ ไม่ว่าผู้คน สัตว์ล้วนเปิดเผยเป็นมิตร แม้กาลเวลาจะผ่านมาหลายปี ความเจริญแทรกเข้ามา ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป แต่ท้องนาห่างไกล ยังอบอวลไปด้วยความรัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่เสื่อมคลาย

กราบขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ น้อง Yanyong-P

เดิมใช้สั้นๆ ว่า เปลวเทียน ต่อมาพี่ลองค้นชื่อในกูเกิ้ล ปรากฎว่ามีคนใช้ชื่อเปลวเทียนมาก่อนแล้ว (ในที่อื่นนะครับ ไม่ใช่ใน gotoknow) พี่เลยเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ยาวเข้าไว้ จะได้ไม่เหมือนใคร 555555

ขอบคุณที่แวะมา ให้กำลังใจนะครับ

เวียนไปอ่านตั้งแต่ตอน 1 สนุกดีครับ พื่เขียนจบหรือยังครับ ทั้งหมดกี่ตอน อย่าให้ต่ำกว่า 50 ตอนนะครับ

ขอตัวกลับไปเก็บอ่านเรื่องอื่นๆของพี่ต่อ

คงจะประมาณนั้นละมั๊ง.....อายุเพียง 3 ขวบ เขียนได้ 11 ตอน แล้ว กว่าจะเป็นหนุ่มคง 50 ตอน นั่นแหละ 555555

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท