การนำเสนอรายงานทางการเงิน


การนำเสนอรายงานทางการเงิน

 

การนำเสนอรายงานทางการเงิน

         รายงานทางการเงินมี  2  ประเภท คือ รายงานทางการเงินที่นำเสนอบุคคลภายใน(Internal Report) และรายงานทางการเงินที่นำเสนอบุคคลภายนอก(External Report) รูปแบบการนำเสนอรายงานทางการเงินทั้ง 2 ประเภท มีลักษณะเป็นดังนี้


         1.  รายงานทางการเงินที่นำเสนอบุคคลภายใน จะจัดทำตามความต้องการข้อมูลของบุคคลภายใน  เป็นการจัดทำรายงานทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักเกรฑ์ที่รับรองโดยทั่วไป หรือไม่ก็ได้ เพราะผู้ใช้รายงานเป็นระดับผู้บริหาร  ระดับหัวหน้างาน  ระดับปฏิบัติการ ดังนั้นรูปแบบรายงานทางการเงินจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการข้อมูลของแต่ละส่วนงาน  การเขียนรายงานอาจเขียนในรูปของต้นทนุผันแปร  หรืออาจเขียนในรูปของต้นทุนเต็มก็ได้  ขึ้นอยู่กับการนำข้อมูลไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน


          2.  รายงานทางการเงินที่นำเสนอบุคคลภายนอก จะต้องจัดทำให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป เพราะผู้ใช้รายงานทางการเงินต้องการความถูกต้อง ชัดเจนโปร่งใส  เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจ  ดังนั้นรายงานทางการเงินที่นำเสนอต่อบุคคลภายนอกจึงต้องมีการตรวจสอบและรับรอง  มีลายมือชื่อและรายงานความคิดเห็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ได้รับการรับรองให้เป็นผู้สอบบัญชีจากสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อเป็นการรับรองว่ารายงานทางการเงินนั้นมีความถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป 


คุณภาพของรายงานทางการเงิน


ผู้ใช้ประโยชน์จากรายงานทางการเงิน  พิจารณาคุณภาพของรายงานทางการเงิน  ได้จาก

1.  การนำเสนอและแสดงข้อมูลทางการบัญชีถูกต้องตามควร

2.  การเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป หรือตามมาตรฐานการบัญชี

3.  การรับรองของผู้บริหารของกิจการว่าข้อมูลที่นำเสนอนั้นมีอยู่จริง เกิดขึ้นจริง  ข้อมูลครบถ้วนและคำนวณถูกต้อง

4.  การจัดเรียงรายการ จัดประเภทรายการบัญชี  ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป

5.   รายงานทางการเงินมีเนื้อหาที่จำเป็น  เพียงพอต่อการตัดสินใจ ข้อมูลครบถ้วน  ทันเวลา  เป็นปัจจุบันทันต่อการตัดสินใจ เข้าใจง่าย ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป

       (ศึกษาเพิ่มเติมในแม่บทการบัญชี)


การนำเสนอและแสดงข้อมูลทางการบัญชีที่ถูกต้องตามตามควร  

  

          ทำไมการนำเสนอและเแสดงข้อมูลทางการบัญชีต้องใช้คำว่าถูกต้องตามควร  เพราะรายการบัญชีบางรายการที่แสดงในงบการเงิน เป็นตัวเลขประมาณการ แต่เป็นการประมาณการตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป ภายใต้กรอบมาตรฐานการบัญชี ที่ได้วางแนวทางให้ปฏิบัติ และสอดคล้องกับประมวลรัษฏากร  เช่น  ลูกหนี้การค้าสุทธิ  


          ลูกหนี้การค้าสุทธิเกิดจาก  การนำบัญชีลูกหนี้การค้าตามราคาทุน นำไปหัก ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ  ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่  101(ฉบับเดิมฉบับที่  11) เรื่องค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ  


          มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 101(ฉบับเดิมฉบับที่  11)ได้วางแนวทางการคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้หลายวิธีที่เหมาะสม  เช่น  การคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากร้อยละของยอดขาย  การคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากยอดลูกหนี้การค้า  การคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามอายุลูกหนี้


          ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ คือ  จำนวนเงินที่กิจการกันไว้สำหรับลูกหนี้การค้าที่คาดว่าจะเรียกเก็บเงินไม่ได้  ในทางทฤษฎีลูกหนี้การค้าจะมาจ่ายชำระหนี้ให้กิจการเมื่อถึงเวลาครบกหนด  แต่ในทางปฏิบัติอาจมีลูกหนี้การค้าบางรายไม่สามารถนำเงินมาจ่ายชำระได้ตรงตามเวลา  โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินเป็นเวลานาน หรือผลัดผ่อนการใช้หนี้  ถึงแม้กิจการจะมั่นใจว่าเมื่อครบกำหนดลูกหนี้การค้าเหล่านี้ต้องมาจ่ายชำระเงินก็ตาม จำเป็นต้องมีการประมาณการหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้จำนวนหนึ่งเพื่อคำนวณหาบอดลูกหนี้การค้าให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด  เป็นหลักการจัดทำงบการเงินอย่างมีคุณภาพ(ศึกษาในแม่บทการบัญชี "คุณภาพของงบการเงิน")


         ดังนั้นจะเห็นว่ารายการ ลูกหนี้การค้าสุทธิ เป็นรายการบัญชีที่แสดงตามราคาทุน หักด้วยตัวเลขประมาณการหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้  ซึ่งผู้ทำบัญชีได้เลือกคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ที่เหมาะสมกับกิจการตามแนวทางมาตรฐานบัญชีที่กำหนดไว้  จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลและแสดงข้อมูลทางการบัญชีที่ถูกต้องตามควร

          

หมายเลขบันทึก: 539038เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท