ชีวิตเจ้ากรรม



วันนี้ผมตั้งใจจะออกไปทำงานให้เร็วกว่าปกติ โดยออกจากบ้านเวลา ๖ โมงเช้ากว่าๆ เพื่อหวังว่า จะได้ไม่ต้องเจอกับรถติดสำหรับถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ แต่แล้วก็ไม่วายที่ต้องเคลื่อนแล้วหยุด หยุดแล้วเคลื่อน เป็นช่วงเวลาของรถรับส่งพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมพอดี ขาเข้านั้นเคลื่อนได้สบายไม่ลำบากมาก แต่ขาออกจะลำบากพอสมควร นอกจากรถรับส่งพนักงานโรงงานแล้ว ปากทางเข้านั้นมีโรงเรียนด้วย ซึ่งติดกับถนนพหลโยธิน แต่ที่ดีหน่อยคือ มีเจ้าหน้าที่มาคอยให้บริการหน้าโรงเรียน และมีการเอาเครื่องกั้นมากั้นถนนพหลโยธินเส้นนอกสุดติดกับทางเท้า เพื่อระบายรถและความสะดวกของรถที่จะออกจากถนนเส้นนี้ ถนนเลียบคลองนี้ ขาเข้าจะเลยไปออกอำเภอวังน้อยได้ ยาวไปสระบุรีได้


ผมตั้งข้อสังเกตว่า คนบ้านนอกกับคนในเมืองและเลียบเมืองนั้น มีชีวิตที่แตกต่างกัน คนในเมืองต้องออกจากบ้านไปเรียน/ทำงานก่อนคนบ้านนอก คนบ้านนอกจะมีการแย่งชิง/เร่งรีบน้อยกว่าคนในเมือง คนในเมืองในการขับรถจึงมักเห็นการเอาตัวรอดเพื่อตัวเอง หากแซงได้ก็จะแซงโดยไม่ขอต่อแถว เพราะพื้นที่มีน้อย คนบ้านนอกเมื่อมาอยู่ในเมืองจึงต้องปรับตัวเรื่องนี้ หากรอให้เขาให้ช่อง จะได้ก็ต่อเมื่อเจอคนใจดี ถนนเส้นนี้นั้น รถจักรยานยนต์เยอะมาก ซึ่งสะดวกกว่ารถยนต์ คนที่ขับรถยนต์จะต้องระมัดระวังรถจักรยานยนต์ให้ดี เขาจะปาดหน้า หลัง ข้าง ทางโค้งซ้ายก็แซงซ้าย ขณะที่คนขับรถยนต์มักไม่ระวังเรื่องนี้ การข้ามถนนนั้นยากพอควรกับเวลาเร่งด่วนอย่างนี้ ต้องตัดสินใจว่าชนเป็นชน ขณะที่คนขับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ต้องมีสติตลอดเวลา เผลอไม่ได้


ภาพที่ผมเก็บมาเช้าวันนี้เป็นภาพของนักเรียนที่อยู่ในรถสองแถว รถสองแถวถือว่าเป็นรถเจ้าถิ่น เขาไม่ค่อยให้เส้นทางแก่คนนอกถิ่น นอกจากจะเจอคนใจดี แต่สิ่งที่ผมคิดเกี่ยวกับภาพนั้นไม่ได้เกี่ยวกับสถานะของรถสองแถว หากแต่คิดถึงนักเรียนที่อยู่ในรถสองแถว ผมเห็นใบหน้าของนักเรียนในรถแล้วให้รู้สึกสะท้อนใจ ทำไมเขาไม่สนุกกับชีวิตเอาเสียเลย หรือว่ารอไปสนุกกันที่โรงเรียน เฮฮาประสาวัยรุ่นกันที่โรงเรียน หน้าตาของนักเรียนเหล่านี้ที่อยู่ท้ายรถและในรถสองแถว เศร้าๆ หมองๆ เลื่อนลอย อย่างไรชอบกล บางคนดวงตาเหม่อไปข้างนอก ซึ่งผมสังเกตได้จากนักเรียนหญิงท้ายรถ ผมอาจคิดไปเอง เพราะแท้จริงเด็กเหล่านี้ไม่ได้รู้จักกันจึงไม่ทักทายเฮฮากัน หน้าตาจึงเป็นอย่างนั้น ส่วนนักเรียนชายที่นั่งกลางนั้น หน้าตายังบวมอยู่ ก็แสดงว่าเพิ่งตื่นมาเมื่อไม่นานมานี้ นี่คือชีวิตกับการศึกษา ผมเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า

   ๑) ฉันรักที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ฉันอยากรู้และฉันรักที่จะรู้ให้ได้ในสิ่งที่คนในอดีตรู้แล้วตลอดถึงสิ่งที่คนในอดีตไม่รู้

   ..................................หรือว่า ......................................

   ๒) ฉันจำเป็นต้องเรียน เพราะเกณฑ์ทางสังคมบังคับให้ฉันต้องเรียน

ผมเคยถามเพื่อนบางคนในสถาบันการศึกษาว่า ชอบสอนหนังสือไหม เพื่อนตอบทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้ชอบ แต่จำเป็นต้องสอน นั่นหมายความว่า ความจำเป็นด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เราต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่เราอาจไม่ชอบก็ได้ จึงตามมาด้วยคำถามนี้คือ ทุกวันนี้เป็นสุขอย่างเพลิดเพลินกับการทำงานหรือกับการมีชีวิตแบบนั้นหรือไม่

เช้านี้จึงขอไว้อาลัยแด่สุสานแห่งความทุกข์ยากทั้งหลาย


ไขว่คว้าค้นหาอิสระของชีวิต...ได้เพียงคิดฝันใฝ่ในสิ่งหวัง

อยู่ใกล้มือติดกับมือประหนึ่งดัง...ถุงมือฝังเพชรงามอร่ามวาว

แต่ก็ได้เพียงเงาของความหวัง....ซึ่งหาความจีรังและยืดยาว

ไม่ได้เลยอกเอ๋ยช่างน่าเศร้า....คว้าน้ำเปล่าเหนื่อยยากลำบากดายฯ

หมายเลขบันทึก: 539029เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รู้สึกสงสารเด็กไทยนะคะ เคยอยู่ที่ออสเตรเลีย เห็นความแตกต่างของการไปโรงเรียนจริงๆว่า บ้านเขาเด็กๆมีชีวิตที่อิสระ น่าสนุกกว่าเด็กๆบ้านเรา อยากเรียนอยากรู้อะไรมากกว่า เพราะกรอบเขามีแบบกว้างๆและสังคมไม่กดดันเรื่องแปลกๆแบบบ้านเรา อย่างการทำการบ้าน การสอบ เขาดูเข้าใจธรรมชาติของวัยของเด็กมากกว่าบ้านเรา

พ่อแม่เราก็เลยน่าจะต้องเป็นผู้ช่วยลูก ให้มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ อย่าเอาลูกไปเปรียบเทียบกับใคร ต้องสอนให้เขาภูมิใจในตัวเอง ทำอะไรแข่งกับตัวเอง รู้จักช่วยคนอื่นและรู้จักรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ไม่ง่ายแต่ทำได้จริงค่ะ

สวัสดีครับ tuknarak

  • ยังมาไม่ถึงครับ ช่วยส่งมาใหม่นะครับ :-)
สวัสดีครับพี่โอ๋
  • อย่างเดียวที่พอทำได้ตอนนี้คือ กระตุ้นและให้เห็นความสำคัญของการศึกษา อาจไม่ใช่เพื่อเงินหรือเพื่ออนาคตที่ดี แต่หมายถึง ความสำเร็จของงาน 
  • ความสำเร็จของงาน น่าจะเท่ากับ การแข่งกับตัวเองอย่างที่พี่เห็นนะครับ และหากผนวกเข้ากับ แนวคิดแบบ พุทธทาสภิกขุ ก็น่าจะโลดเล่นอย่างเพลิดเพลินนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท