บรรพที่ 5 การยกร่างวิสัยทัศน์ (Draft Vision)-2/2


        เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราต่อข้อ 4 กันเลยดีกว่านะครับ...

        ข้อ 4. ต้องท้าทายความรู้ ความสามารถของทั้งผู้นำและสมาชิกทุกคนในองค์กร

        ยังไงจึงจะเรียกว่า “ท้าทายความรู้ความสามารถ” ผมขอยกกรณีเปรียบเทียบแบบนี้ก็แล้วกัน...

        ท่านเคยสอยมะม่วงจากต้นมั้ยครับ?

        หวังว่าคำตอบที่ได้ น่าจะเป็น “เคย”

        ลูกไหนครับ ที่ท่านรู้สึกว่ามัน “ท้าทาย”?

        ลูกที่หล่นอยู่โคนต้นใช่มั้ยครับ?

        “โอ๊ย..เดี๋ยวค่อยมาเก็บก็ได้ ของตายอยู่แล้ว” ท่านก็คงคิดในใจแบบนี้

        หรือว่าลูกที่อยู่บนยอด แม้ว่ามันจะมีขนาดใหญ่ แต่เวลามองแต่ละครั้งต้องแหงนจนคอตั้งบ่า ผมว่ามันคงไม่ทำให้เรารู้สึก “ท้าทาย” หรอกครับ แต่น่าจะทำให้เกิดอาการ “ท้อเชียงใหม่!” ซะมากกว่า เพราะ "ท้อ" จังหวัดอื่นจะเป็น "ท้อเทียม" ครับ ส่วนท้อเชียงใหม่จะเป็น..."ท้อแท้" ไงครับ (นี่ถ้าไม่เฉลยล่ะก็ มีหวัง...บางท่านอาจถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยนะครับ)

        ลูกที่น่าจะ “ท้าทาย” เรามากที่สุด น่าจะเป็นลูกที่อยู่ประมาณนี้ครับ..

        คือเวลาที่เราจะสอยมันเนี่ย เราต้องเอื้อมจนสุดแขนเลยครับ..

        มันยังไม่ถึงครับ เราต้องเขย่งสุดปลายเท้าด้วย..

        แต่ก็ยังไม่ถึง ต้องกระโดดสุดตัวอีกต่างหาก..

        แต่ก็ทำได้แค่ตีโดนก้นๆลูกเท่านั้นเอง แล้วลูกมะม่วงมันก็จะแกว่งไปแกว่งมา เห็นแล้วมัน "หมั่นเขี้ยว!" จริงๆ

        นี่ล่ะครับ “ท้าทาย” สุดๆ อารมณ์ประมาณว่า “เกือบได้แล้วโว้ย อีกนิดเดียวเอง”

        มันจะทำให้เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอามะม่วงลูกนั้นมาให้ได้

        สรุปก็คือ วิสัยทัศน์ที่ท้าทาย จะต้องไม่ง่ายยยยยย...เหมือนมะม่วงที่หล่นอยู่โคนต้น และก็ไม่ยากกกกกก...เหมือนมะม่วงที่อยู่บนยอด แต่จะประมาณ“งาก”(เกิดจากการเอาคำว่า“ง่าย”บวกกับคำว่า“ยาก”แล้วหาร2น่ะครับ ศัพท์นี้ผมบัญญัติเองเพื่อความสะใจครับ)

        เรามาลองสมมติสถานการณ์การกำหนดวิสัยทัศน์จริงๆกันดีกว่า..

        สมมติว่า หลังจากประชุมระดมสมองกันซักพัก ก็ได้ข้อความวิสัยทัศน์มา 1 ข้อความ ปรากฏว่าทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า..

        “โอ๊ย..ชัวร์ อันนี้ได้ชัวร์ ทำได้แน่นอน” แบบเนี้ย..ไม่ใช่ครับ เพราะมันง่ายเกินไป หรือถ้าเป็นแบบนี้ล่ะ..

        “โอ๊ย..ชัวร์ อันนี้ไม่ได้ชัวร์ ยังไงๆก็ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน” แบบนี้ก็ไม่ใช่ครับ เพราะถ้าเขียนแล้วทำไม่ได้จะเขียนไปทำไม รังแต่จะทำให้บุคลากรในองค์กรเสียขวัญเปล่าๆ

        แต่ถ้าเขียนออกมาแล้ว พอทุกคนอ่านเสร็จ บางคนก็อาจจะพูดว่า..

        “มันก็อยากได้อยู่หรอก แต่จะทำไหวหรือเปล่าก็ไม่รู้”เสียงของคนที่ไม่ค่อยแน่ใจซักเท่าไหร่

        “แต่พี่ว่า..มันก็น่าจะพอไหวนา ถ้าเราตั้งใจทำจริงมันก็น่าจะได้นะ”เสียงของอีกฝ่ายเริ่มดังขึ้นบ้าง

        เสียงของคณะกรรมการเริ่มแตกเป็น 2 ฝ่าย(แต่ก็ดูลังเลทั้งคู่)

        คำแนะนำจากผมนะครับ ถ้าสถานการณ์มันก้ำๆกึ่งๆกั๋กๆ..ให้เอาข้อความนั้นเลยครับ แสดงว่า มันอยู่ในสถานการณ์“งาก”อย่างที่เราเคยคุยกันมาก่อนหน้านี้ไงครับ

        คำแนะนำในตำราต่างประเทศ เขาแนะนำว่า ให้เราขยับวิสัยทัศน์ของเราจากจุดที่เราทำได้แน่นอน ให้ยากขึ้นไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดที่คิดว่าทำไม่ได้แน่นอน ไอ้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างได้ชัวร์ๆกับไม่ได้ชัวร์ๆนั่นแหละครับ เขาให้เอาวิสัยทัศน์ที่อยู่ช่วงนั้น เทคนิคนี้เขาเรียกว่า“การยืดวิสัยทัศน์(Stretch Vision)”ครับ

        ข้อ 5. คำนึงถึงผู้มารับบริการเป็นสำคัญ(Customer-Oriented)

        จากตัวอย่างข้างต้น 2 ตัวอย่างซึ่งค่อนข้างชัดเจน เพราะมีคำว่า“ประชาชน”ที่เป็น“ลูกค้า”อยู่ในข้อความวิสัยทัศน์ของทั้งคู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องมีคำว่า“ลูกค้า”หรือ“ประชาชน”รวมอยู่ในข้อความวิสัยทัศน์ก็ได้ เพียงแต่ให้ลองจินตนาการว่า..

ถ้าท่านต้องมาเป็นลูกค้าขององค์กรของท่านเอง เวลาที่เห็นข้อความวิสัยทัศน์ขององค์กรของท่านแล้ว ในฐานะลูกค้าท่านรู้สึกอย่างไร

        ท่านสามารถรู้สึกดีมั้ย ท่านสามารถสัมผัสได้ถึงคุณค่าที่ท่านจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการที่องค์กรแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างที่เขาเขียนไว้ในวิสัยทัศน์หรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่า“ผ่าน”ครับ

        แต่ถ้าอ่านแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่า เมื่อองค์กรแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เขียนไว้ในวิสัยทัศน์แล้ว ท่านจะได้คุณค่าอะไรจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็แสดงว่าน่าจะมา“ผิดทาง”ครับ

        ข้อ 6. มีความสอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต

        นั่นคือเหตุผลที่เราต้องมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กรร่วมด้วยในกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ หรือ ที่เราเรียกอีกอย่างนึงว่า..การทำSWOT Analysis”นั่นเอง เพียงแต่ใครจะทำก่อนหรือหลังเท่านั้น อันนี้ก็ขึ้นกับเทคนิคที่ใช้ครับ

ขั้นตอนในการยกร่างวิสัยทัศน์

        หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจแล้วว่า วิสัยทัศน์ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อท่านได้อ่านมาจนถึงตรงนี้ ท่านน่าจะเข้าใจคำว่า“วิสัยทัศน์”ได้อย่างลึกซึ้งชนิดที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน..จริงมั้ยครับ

        เรามาดูในส่วนต่อไปกันดีกว่า นั่นก็คือ..

        ขั้นตอนในการกำหนดวิสัยทัศน์ ซึ่งผมขอแบ่งเป็น 7 ขั้นตอนดังนี้ครับ

        1. ทบทวนภารกิจขององค์กรที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด
        2. จินตนาการถึงภาพขององค์กรที่ท่านปรารถนา(องค์กรในฝัน) โดยไม่ต้องกังวลว่าปัจจุบันองค์กรของท่านจะมีสภาพเป็นเช่นใด
        3. บรรยายภาพนั้นออกมาเป็นตัวหนังสือ
        4. ประเมินระยะเวลาว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ จึงจะทำให้เกิดขึ้นได้
        5. ปรับภาพนั้นลงมาให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่เราต้องการ(3-5 ปี)
        6. พิจารณาทบทวนร่วมกับฉากทัศน์(Scenario) ขององค์กรอีกครั้ง
        7. ปรับข้อความให้ชัดเจน แต่สั้นและกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้

        ขั้นตอนที่ 1 ทบทวนภารกิจขององค์กรที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด

        สิ่งแรกที่เราต้องชัดเจนเสียก่อน นั่นก็คือ“ภารกิจขององค์กร” เพราะมันเป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขตของวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะถ้าองค์กรของท่านเป็นหน่วยงานภาครัฐ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าองค์กรภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง

        ในปีพ.ศ.2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ1 มีการปรับบทบาทภารกิจครั้งใหญ่ขององค์กรภารรัฐ แม้ในกระทรวงสาธารณสุขที่ผมเคยทำงานสมัยที่ยังรับราชการอยู่ก็ไม่เว้น ปรับกันตั้งแต่ส่วนกลางยันส่วนภูมิภาค ดังนั้นก่อนที่เราจะยกร่างวิสัยทัศน์นั้น เราจึงต้องให้แน่ใจเสียก่อนว่า“ภารกิจขององค์กรที่เป็นปัจจุบันที่สุด”คืออะไร

        บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไม“ภารกิจ”จึงมีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดวิสัยทัศน์ ลองดูตัวอย่างนี้ซิครับ..

ถ้าภารกิจที่เป็นปัจจุบันมากที่สุดขององค์กรของท่าน คือ “ผลิตเส้นหมี่” วิสัยทัศน์ของท่านก็ควรจะต้องเกี่ยวข้องกับการผลิตเส้นหมี่ ไม่ใช่การเป็น“ผู้นำด้านการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวของภูมิภาค”จริงไหมครับ

        ถ้าภารกิจขององค์กรของท่านคือ “บริหารระบบสุขภาพของจังหวัด” วิสัยทัศน์ของท่านก็ไม่ควรจะเป็น “ผู้นำด้านบริการสุขภาพ” นอกเสียจากว่า ท่านจะเปลี่ยนภารกิจขององค์กรซะใหม่ ขอบเขตของวิสัยทัศน์ก็จะเปลี่ยนไป เช่น เดิมถ้าท่านเคยทำด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ปรากฏว่า ช่วงเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก ทำให้ธุรกิจของท่านล้มละลาย ก็เลยต้องหันมาทำแซนวิชขาย ดังนั้น ภารกิจในการ“ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์”ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็น“ให้บริการแซนวิช”แทน วิสัยทัศน์ขององค์กรของท่านก็จะต้องสอดคล้องกับภารกิจใหม่ เพราะเป็นภารกิจที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด

        ขั้นตอนที่ 2 จินตนาการถึงภาพขององค์กรที่ท่านปรารถนา(องค์กรในฝัน) โดยไม่ต้องกังวลว่าปัจจุบันองค์กรของท่านจะมีสภาพเป็นเช่นใด

        สิ่งที่ผิดพลาดมากที่สุดของขั้นตอนนี้ก็คือ การที่คนส่วนใหญ่มักไปนึกถึงคำที่จะใช้ในการกำหนดร่างวิสัยทัศน์ เช่น ผู้นำ องค์กรนำ ชั้นเลิศ ครบวงจร ระดับประเทศ ฯลฯ ซึ่งทำให้การกำหนดวิสัยทัศน์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ในขณะที่สิ่งที่ควรทำ คือ การจินตนาการถึงภาพขององค์กรที่ท่านต้องการหรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“องค์กรในฝัน” เอาแบบสุดๆไปเลย ประมาณ“บ้านในฝัน”เวลาที่ท่านถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่1นั่นแหละครับ ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ ท่านอยากเห็นองค์กรของท่านเป็นอย่างไร ยิ่งมีรายละเอียดมากเท่าไหร่ยิ่งดี เหมือนกับการคิดตัวจิ๊กซอร์ทีละตัวๆ แล้วค่อยเอามาต่อเข้าด้วยกัน คิดอะไรได้อะไรเอาหมด เช่น

“อยากให้มีคอมพิวเตอร์ใช้ทุกหน่วยงานและมีระบบLANเชื่อมต่อถึงกัน มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เริ่ดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อยากให้องค์กรเราโดดเด่นด้านแพทย์แผนไทยในภาคอีสาน มีอาคารสถานที่ที่สวยงามทันสมัย มีภูมิสถาปัตย์ที่สวยงาม ฯลฯ”

        ขั้นตอนที่ 3 บรรยายภาพนั้นออกมาเป็นตัวหนังสือ

        ขั้นต่อไปก็คือ การเขียนบรรยายสิ่งที่ท่านคิดในขั้นตอนที่ 2 ออกมาเป็นตัวหนังสือไงครับ ในความเป็นจริงแล้วขั้นตอนที่ 2 และขั้นตอนที่ 3 เราจะทำไปพร้อมๆกันอยู่แล้วครับ เห็นภาพอะไรในความคิดก็เขียนออกมาตามนั้น ยังไม่ต้องกังวลว่ามันจะเยอะเกินไป คิดซะว่าเราจดใส่กระดาษทดก็แล้วกัน และยังไม่ต้องไปกังวลกับพวกฉันทลักษณ์ด้วยครับ

        ขั้นตอนที่ 4 ประเมินระยะเวลาว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ จึงจะทำให้เกิดขึ้นได้

        เมื่อเขียนทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเป็นตัวหนังสือเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ การประเมินว่าเราต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการทำให้สิ่งต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้น ผมขอสมมติตัวอย่างเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งนะครับ

สิ่งที่ต้องการสำหรับ“โรงพยาบาลในฝัน”

                                                                                                    ระยะเวลาที่เป็นไปได้

  1. มีคอมพิวเตอร์ใช้ทุกหน่วยงานและมีระบบLANเชื่อมต่อถึงกัน                    2-3 ปี
  2. มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย                                                              8 ปี
  3. มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เริ่ดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ                          10 ปี
  4. โดดเด่นด้านแพทย์แผนไทยในภาคอีสาน                                                  5 ปี 
  5. มีอาคารสถานที่ที่สวยงามทันสมัย                                                             5 ปี
  6. มีภูมิสถาปัตย์ที่สวยงาม                                                                            7 ปี

        ขั้นตอนที่ 5 ปรับภาพนั้นลงมาให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่เราต้องการ(3-5 ปี)

        ทีนี้ก็ถึงตอนที่เราจะต้องมาปรับทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในกรอบเวลาที่เราต้องการแล้วครับ เพราะในความเป็นจริงแล้ว วิสัยทัศน์ก็ต้องมีเงื่อนเวลาของมัน ถ้าเป็นองค์กรภาคเอกชนก็คงไม่มีปัญหาอะไร อยากจะกำหนดกันที่กี่ปีก็ย่อมได้ เชิญตามลำบาก แต่ไม่ควรนานจนเกินไป เพราะระยะเวลายิ่งนานความไม่แน่นอนยิ่งเพิ่มขึ้นครับ โดยเฉพาะในยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงต่างๆมันเกิดขึ้นเร็วเหลือเกิน โดยปกติแล้วจะกำหนดระยะเวลาของวิสัยทัศน์ไว้ที่ประมาณ 3-5 ปี(หน่วยงานภาครัฐนิยมใช้ช่วงนี้ครับ) นานที่สุดก็ไม่ควรเกิน 10 ปีครับ

        โดยให้ท่านย้อนกลับไปดูในขั้นตอนที่ 4 ครับว่า ข้อไหนที่ใช้เวลาไม่เกินระยะเวลาที่เราต้องการก็ให้เอามาทั้งหมด ส่วนข้อใดที่ใช้เวลามากกว่าระยะเวลาที่เราต้องการ ก็ลองพิจารณาปรับลดสเป็กลงมาให้อยู่ในกรอบเวลาที่เราต้องการก่อน ถ้าทำได้ก็เอาสิ่งที่ปรับแล้วมาใช้ แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็ให้ตัดทิ้งไปเลยครับ เช่น

        สมมติว่า ระยะเวลาที่เราต้องการคือ 5 ปีนะครับ

        จากตัวอย่างในขั้นตอนที่ 4 จะเห็นว่าข้อ1,4และ5 เอามาใช้ได้เลย

  ส่วนข้อ2,3และ6 ต้องปรับลดสเป็กลงมาซักหน่อยหรือถ้าปรับไม่ได้ก็ให้ตัดออกไป

  ข้อ 2 มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เนื่องจากต้องรอให้อาคารสถานที่แล้วเสร็จเสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้นจึงต้องตัดออกไปก่อน

        ข้อ 3 มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เริ่ดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ในช่วง 5 ปีแรกน่าจะพัฒนาให้ดีที่สุดในภาคอีสานก่อนแล้วกัน

  ส่วนข้อ 6 มีภูมิสถาปัตย์ที่สวยงาม ก็คงต้องตัดออกไปก่อนเช่นกัน เพราะคงต้องรอให้การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จก่อนเช่นเดียวกับข้อ 2

        ในขั้นตอนที่ 5 นี้ หลังจากที่เราปรับทุกสิ่งที่เราต้องการให้อยู่ในกรอบเวลาที่ต้องการได้แล้ว เราก็สามารถสรุปประเด็นต่างๆรวมเข้าไว้ด้วยกันได้แล้ว ก็จะได้ร่างวิสัยทัศน์ไปใช้งานแล้วครับ เช่น

        “เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยและโดดเด่นด้านแพทย์แผนไทยในภาคอีสาน”

        เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนนี้แล้ว ให้ท่านพักขั้นตอนที่ 6 กับขั้นตอนที่ 7ไว้ก่อน เพราะขณะนี้เรายังไม่มีฉากทัศน์(Scenario)ที่เราจะเอามาใช้เปรียบเทียบกับร่างวิสัยทัศน์ ต้องข้ามไปทำในส่วนของบทที่ 6 ซึ่งก็คือ การวิเคราะห์องค์กร หรือ การทำ SWOT Analysis นั่นเอง เพื่อสร้างฉากทัศน์ขององค์กรขึ้นมาเสียก่อน แล้วถึงค่อยย้อนกลับมาทำขั้นตอนที่6และขั้นตอนที่7ต่อครับ(ดูรายละเอียดเรื่องฉากทัศน์ในบทที่ 6 ครับ)

        ขั้นตอนที่ 6 พิจารณาทบทวนร่วมกับฉากทัศน์(Scenario) ขององค์กรอีกครั้ง

        หลังจากที่เราได้ฉากทัศน์มาแล้ว เราก็จะนำฉากทัศน์มาเปรียบเทียบกับ“ร่างวิสัยทัศน์”ที่เราได้ยกร่างรอไว้แล้วในขั้นตอนที่ 5 ซึ่งผมจะอธิบายโดยละเอียดในบทที่ 6 ครับ โปรดอดใจรออ่านในบทถัดไปครับ

        ขั้นตอนที่ 7 ปรับข้อความให้ชัดเจน แต่สั้นและกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

        ในขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการปรับเนื้อหาของร่างวิสัยทัศน์ที่ได้มีการปรับแต่งในขั้นตอนที่ 6 แล้ว ให้มีความสั้น กะทัดรัด ข้อความสละสลวย แต่ชัดเจนและครอบคลุมทุกประเด็นที่เหลืออยู่ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ได้วิสัยทัศน์ที่จะไปใช้งานจริงซะที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อความวิสัยทัศน์ที่ได้ควรผ่านความเห็นชอบและอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้บริหารเสียก่อน จึงค่อยประกาศใช้อย่างเป็นทางการนะครับ

สำหรับข้อความวิสัยทัศน์ที่ได้จากขั้นตอนที่ 7 นั้น เป็นข้อความที่เราจะต้องนำไปใช้งานจริง ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อความวิสัยทัศน์ที่ดูดีมีสกุล ผมขอแนะนำเทคนิคในการเขียนดังนี้ครับ

        วิธีเขียนข้อความวิสัยทัศน์องค์กร

        1.ขึ้นต้นด้วย“คำนาม”แล้วต่อด้วยคำขยาย โดยจะมีคำว่า“เป็น”นำหน้าหรือไม่ก็ได้(ดูจากตัวอย่างด้านล่าง)

        2.เป็นการบรรยาย“ภาพสุดท้าย”ที่เราต้องการ(ทำเสร็จแล้ว) ไม่ใช่ ภาพที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ(เพราะฉนั้น ในข้อความวิสัยทัศน์จึงไม่ควรมีวลีทำนองนี้ เช่น อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง มุ่งสู่ ฯลฯ)

        3.ควรเป็นข้อความที่สั้น แต่สามารถสะท้อนภาพรวมได้ชัดเจน

        4.จะมีการระบุกรอบเวลาไว้ในข้อความวิสัยทัศน์หรือไม่ก็ได้(วิสัยทัศน์ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่จะเขียนไว้ในข้อความวิสัยทัศน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชอบครับ ถ้าท่านเขียนมันก็ชัดเจนดี แต่ถึงจะไม่เขียนก็ไม่ได้แปลว่าท่านจะไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะเราก็ยังสามารถดูระยะเวลาของวิสัยทัศน์ได้จากระยะเวลาของแผนกลยุทธ์ครับ แผนจบปีไหนวิสัยทัศน์ก็ควรบรรลุในปีนั้นครับ)

       ตัวอย่าง

        - โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแห่งเบื้องบูรพา  สวยเด่นงามสง่า เป็นที่พึงพาของประชาชน

        - โรงพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชน

        - เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านสุขภาพที่มีมาตรฐานระดับสากล เป็นที่เชื่อถือทั้งในระดับประเทศและภาคพื้นอินโดจีน

        - เป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออก สินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับสากล

        - เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเสริมสร้างความเข้มแข็งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

        สรุปโครงสร้างของข้อความวิสัยทัศน์

       “(เป็น)+คำนาม+คำขยาย+(กรอบเวลา)”

        ในบทหน้า(บทที่ 6) เราจะมาค้นหาจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้วยกันครับ..เร็วๆนี้

หมายเลขบันทึก: 538683เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2013 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2019 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท