บรรพที่ 2 ความสับสนอลหม่าน(2/2)


อ่านต่อกันเลยครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลากับบรรพที่ 2 ตอนจบ..

บทบาทหน้าที่ ภารกิจ และพันธกิจ

        ท่านคิดว่าเหมือนกันหรือต่างกันครับ? เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน

        ถ้าผมต้องการรู้ว่า “บทบาทหน้าที่”ของหน่วยงานหรือองค์กรของท่านคืออะไร? ท่านจะพาผมไปดูที่ไหน?

        จากการที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายและเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ คำตอบที่ได้รับก็แตกต่างกันไป

        - บ้างก็ให้ไปดูที่ “การปฏิบัติงานของบุคลากร” ไปดูกันที่หน้างานเลย แต่นั่นมันคือ บทบาทหน้าที่ของบุคลากรครับ ไม่ใช่ของหน่วยงาน 

        - บ้างก็ให้ไปดูที่ “ภารกิจ” แล้วถ้าผมอยากรู้ว่า “ภารกิจ”คืออะไร จะพาผมไปดูที่ไหน? ท่านก็ตอบว่า ให้ไปดูที่ “พันธกิจ
        อ้าว! แล้วถ้าผมอยากจะรู้ “พันธกิจ” ท่านก็คงจะให้ผมกลับไปดูที่บทบาทหน้าที่แหง ๆ เลย อย่างนี้ก็ไล่กันไม่จนซะที

        - บางทีก็ให้ไปดูที่“ผนังอาคาร”บ้าง “บอร์ดของหน่วยงาน” บ้าง หรือแม้กระทั่งใน “เอกสารหรือคู่มือคุณภาพ”บ้าง เพราะมีข้อความเขียนไว้

        คำถามก็คือ แล้วท่านไปเอาข้อความเหล่านั้นมาจากไหน หรือว่าใช้ระบบ“นึกกิ้ง ซิสเต็ม”ครับ (คือนึกอะไรได้ก็เขียนๆ ลงไปไงล่ะครับ)

        ก่อนอื่นผมคงต้องให้ข้อมูลบางอย่างแก่ท่านเสียก่อนว่า“บทบาทหน้าที่”ของหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ นั้นต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีองค์กรนั้น ๆ เกิดขึ้น สำหรับหน่วยงานภาครัฐนั้นจะกำหนด “บทบาทหน้าที่”บางอย่างขึ้นมาก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณาว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าไม่สามารถหาหน่วยงานใด ๆ รับผิดชอบได้ ก็เลยต้องตั้งหน่วยงานของท่านขึ้นมารองรับ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการรู้ว่า “บทบาทหน้าที่” ของหน่วยงานท่านคืออะไร ท่านควรพาผมไปดูที่ “เอกสารของทางราชการที่จัดตั้งหน่วยงานของท่าน” ซึ่งอาจเป็นกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา หรือ พ.ร.บ.ก็ได้ ขึ้นกับว่าหน่วยงานของท่านถูกตั้งขึ้นมาด้วยเอกสารอะไร แต่ถ้าเป็นองค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการจะเป็นผู้กำหนดเองตามต้องการ

        คราวนี้ เราไปดู “ภารกิจ” กันต่อดีกว่า!

        “ภารกิจ” หรือ “กิจอันเป็นภาระ

        “ภาระ” ให้ความรู้สึกอย่างไรครับ...หนัก ๆ เหมือนถูกบังคับให้ทำ..ใช่ไหมครับ

        ทีนี้ถ้าผมอยากจะรู้ว่า “กิจอันเป็นภาระ”ของหน่วยงานท่านคืออะไร? ท่านจะพาผมไปดูที่ไหน?

        เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมเฉลยเลยก็แล้วกัน ก็พาไปดูที่เอกสารเมื่อตะกี้นี้ไง ดู “บทบาทหน้าที่” ที่ไหน “ภารกิจ” ก็ดูที่นั่นแหละ เพราะที่จริงแล้วมันก็คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ใช้คนละภาษาครับ “บทบาทหน้าที่” เป็นภาษาทางกฎหมาย ในขณะที่ “ภารกิจ”เป็นภาษาทางการบริหาร ซึ่งลักษณะการเขียนข้อความ “บทบาท หน้าที่” หรือ “ภารกิจ” ของหน่วยงานใด ถ้าเป็นหน่วยงานภาครัฐมักนิยมเขียนเป็นข้อ ๆ เรียงกันไป โดยเรียงจากภารกิจที่สำคัญที่สุดไปหาที่สำคัญน้อยที่สุด และไม่ว่าจะมีกี่ข้อก็ตาม ข้อสุดท้ายจะเขียนคล้าย ๆ กันว่า “หรือหน้าที่อื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย” เริ่มคุ้น ๆ แล้วใช่ไหมครับ

        ปกติทำข้อไหนมากที่สุดครับ? หลายท่านก็คงจะตอบว่า “ก็ไอ้ข้อสุดท้ายนั่นแหละ

        ถึงว่าซิ!!...เราถึงได้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ไง (ก้าวหน้าแต่ตัวคนทำนะครับ แต่องค์กรอยู่ที่เดิม เพราะเรามัวแต่ไปทำสิ่งที่ไม่ใช่ภารกิจหลักนะซิครับ ซึ่งก็คือภารกิจข้อแรก ๆ นั่นแหละ)

        ไปต่อกันดีกว่า...

        ถ้า “ภารกิจ” คือ “กิจอันเป็นภาระ

        เพราะฉะนั้น “พันธกิจ” ก็คือ... “กิจอันเป็นพันธะ” นั่นเอง แปลกันง่ายๆอย่างนี้แหละ

        “ภาระ” กับ “พันธะ” ต่างกันมั้ยครับ

        “ภาระ” เหมือนถูกบังคับ แต่ “พันธะ” คือความผูกพัน

        เวลาที่เราเห็นหนุ่มสาวที่เป็นคู่รักกัน ชายหนุ่มก็คงบอกหญิงสาวว่า...

        “ที่เราคบกันก็เพราะว่า..เรามีพันธะหัวใจต่อกันไงจ๊ะ” เขาคงจะไม่พูดว่า

        “ตั้งแต่เราคบกันมา เธอช่างเป็นภาระหัวใจของฉันเหลือเกิน” (ถ้าแต่งงานแล้วก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ)

        มันให้ความรู้สึกที่ต่างกันมากเลย..ใช่ไหมครับ

        เวลาที่ท่านอ่านหนังสือหรือตำราด้านการวางแผนกลยุทธ์ จะพบว่า ตำราแต่ละเล่มให้คำนิยามหรือ ความหมายของคำว่า “พันธกิจ” แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ยาวหลายบรรทัด จำกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะพบว่า ข้อความทั้งหมดนั้นจะแสดงให้เห็นถึงพันธะที่มีต่อสองสิ่ง นั่นก็คือ พันธะต่อวิสัยทัศน์และพันธะต่อลูกค้า

        ประการแรก ข้อความพันธกิจต้องแสดงให้เห็นถึงพันธะที่มีต่อวิสัยทัศน์ หมายความว่า หากท่านไม่ปฏิบัติกิจเหล่านี้ วิสัยทัศน์หรือฝันของท่านก็จะไม่เป็นจริง

        ประการที่สอง ข้อความพันธกิจต้องแสดงให้เห็นถึงพันธะที่มีต่อลูกค้าด้วย เพราะลูกค้าคือ “พระเจ้า” หากเราทำให้พระเจ้าพึงพอใจ พระเจ้าก็จะเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างให้เรา รวมทั้งช่วยทำฝันของเราให้เป็นจริงด้วยครับ

        เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจำคำนิยามของ “พันธกิจ” แบบยาว ๆ ไม่ได้ ก็ขอให้จำแค่ว่า

        “พันธกิจ คือ กิจอันเป็นพันธะ พันธะต่อวิสัยทัศน์และพันธะต่อลูกค้า” เท่านี้ก็พอแล้วครับ เดี๋ยวในช่วงท้ายของบทที่ 3 ผมจะชี้ให้ท่านดูอีกครั้งครับว่า ทำไมผมถึงอธิบายแบบนี้

เป้าประสงค์ เป้าหมาย(Goal) วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย(Target)

        คำว่า “เป้าประสงค์” เป็นคำที่ใช้เฉพาะในหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น โดยที่ไปที่มาน่าจะเกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณจาก “การจัดสรรงบประมาณแบบแผนงาน/โครงการ (PPBS: Planning Programming Budgeting System)” มาเป็นการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า“การจัดสรรงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (PBBS: Performance Based Budgeting System)” ซึ่งเป็นยุคแรกที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้ต้องมาเกี่ยวข้องกับคำ ๆ นี้ ในภาคธุรกิจใช้ คำว่า “เป้าหมาย” ทั้งสองคำนี้ล้วนแปลมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกัน นั่นก็คือคำว่า “Goal” ทีนี้มันก็มีปัญหา เกิดขึ้นเพราะดันมีคำในภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่งที่แปลว่า“เป้าหมาย”เหมือนกัน นั่นก็คือคำว่า “Target” ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกิดขึ้นในหมู่ผู้ปฏิบัติ สำนักงบประมาณจึงได้กำหนดให้ใช้คำว่า“เป้าประสงค์”แทน ในกรณีที่ต้องการพูดถึงคำว่า “Goal” เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

        ถ้าท่านต้องการเข้าใจความหมายของคำว่า “เป้าประสงค์” หรือ “เป้าหมาย”อย่างเป็นรูปธรรมให้ดูที่คำในภาษาอังกฤษครับ

        เวลาที่ได้ยินคำว่า “Goal” ท่านนึกถึงอะไร?

        ท่านนึกถึง “ประตูฟุตบอล” ใช่หรือไม่?

        “ประตูฟุตบอล” จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วมีตาข่ายคลุมอยู่ด้านหลัง

        การที่เราจะได้ประตูหรือได้แต้มจะต้องทำอย่างไร?

        ยิงลูกฟุตบอลให้เข้ากรอบประตูใช่ไหมครับ?  

        เวลายิงประตูท่านใช้อะไรยิง?

        เท้า เข่า หน้าอก หรือศีรษะ ใช่มั้ยครับ?

        ถ้าใช้มือ...จะได้ไหม?

        หลายท่านคงคิดว่าไม่น่าจะใช้ได้ แต่ผมก็เคยเห็นนักฟุตบอลบางคน ๆใช้มือปัดลูกบอลเข้าประตูแล้วได้แต้มด้วย(ไม่ใช่การแข่งฟุตบอลกีฬาสีตามโรงเรียนทั้งหลาย แต่เป็นบอลระดับโลกเลยนะครับ คอบอลโลกน่าจะจำกันได้ดี) รู้สึกเขาจะเรียก “หัตถ์พระเจ้า” หรืออะไรทำนองนี้ล่ะ!

        แล้วตำแหน่งของประตูที่ลูกบอลเข้าไป มีผลต่อการได้แต้มหรือไม่? เช่น ต้องให้ลูกบอลเสียบสามเหลี่ยมบนหรือไม่? หรือต้องเสียบคาน? หรือต้องลอดหว่างขาผู้รักษาประตู? หรือ... 

        แล้วต้องตั้งใจยิงไม๊? ถึงจะได้แต้ม ถ้าลูกเข้าประตูโดยบังเอิญโดยที่เราไม่ได้เจตนา กรรมการจะนับแต้มให้หรือเปล่า?

        ผมสรุปง่าย ๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน ไม่ว่าท่านจะใช้อวัยวะอะไรยิงลูกบอล ไม่ว่าลูกบอลจะเข้าส่วนไหนของประตู(ตราบใดที่ยังอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมของประตู) และไม่ว่าท่านจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม หากท่านไม่ถูกกรรมการเป่าฟาล์วซะก่อน...ท่านได้ประตูแน่นอน ฟันธง!!!

        เป้าประสงค์ หรือ เป้าหมาย (Goal) ก็เช่นเดียวกัน มันเป็นแค่การกำหนดจุดมุ่งหมายกว้าง ๆ ที่เราต้องการ ส่วนใหญ่จะเป็นเป้าหมายระดับองค์กร ซึ่งจะเป็นจุดมุ่งหมายในเชิงคุณภาพ ในขณะที่เป้าหมาย (Target)  การที่จะบรรลุเป้าประสงค์นั้นท่านจะทำอย่างไรก็ได้ จะเต็มใจที่ทำมันหรือไม่ก็ตาม ถ้าผลลัพธ์ที่ได้อยู่ในกรอบหรือขอบเขตของเป้าประสงค์ที่กำหนดก็ถือว่า ท่านบรรลุเป้าประสงค์แล้วครับ!

        หมายเหตุ ส่วนคำว่า“เป้าหมาย”ที่ถูกแปลมาจากคำว่าTarget”นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการระบุจุดมุ่งหมายที่เฉพาะเจาะจงหรือเป็นตัวเลขที่แน่นอน(เชิงปริมาณ) ซึ่งปกติจะใช้สำหรับตัวชี้วัดครับ เช่น 100 คน, 85 เปอร์เซ็นต์, 1:100,000 ประชากร เป็นต้น

วัตถุประสงค์ (Objective)

        “วัตถุ” แปลว่า “สิ่งของ
        “ประสงค์” แปลว่า “ต้องการ
        เพราะฉะนั้น “วัตถุประสงค์” จึงแปลว่า... “สิ่งของที่ต้องการ” (อ้าว ! ใครเขาแปลกันแบบนั้น)

        เขาต้องแปลแบบนี้ครับ...

        “วัตถุ” แปลว่า “สิ่งของ” 
        สิ่งของมีลักษณะอย่างไรครับ? จับต้องได้ ชั่งได้ ตวงได้ วัดได้ ใช่ไหมครับ?
        หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ “มีความชัดเจน” นั่นเอง
        “ประสงค์” แปลว่า “ความต้องการ
        เพราะฉะนั้น “วัตถุประสงค์” จึงต้องแปลว่า...“ความต้องการที่ชัดเจน” ครับ

        เพื่อให้เข้าใจคำว่า "วัตถุประสงค์" ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขออธิบายเพิ่มเติมแบบนี้นะครับ...        

        ถ้าเราจินตนาการว่า “วิสัยทัศน์” เป็นภาพขององค์กรของเราที่เราอยากได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเราได้นั่งเครื่องเจาะเวลา (Time Machine) ไปในอนาคตแล้วไปถ่ายภาพกลับมา 1 ภาพใหญ่ ๆ หลังจากนั้นเราก็เอาภาพนี้มาแบ่งเป็นชิ้น ๆ สมมติว่าซัก 3-4 ชิ้น แต่ละชิ้นก็คือเป้าประสงค์นั่นเอง เมื่อเราเอาเป้าประสงค์แต่ละชิ้น (ข้อ)มาพิจารณาก็จะเห็นว่าแม้มันจะมีความชัดเจนมากกว่าวิสัยทัศน์ก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นแค่จุดมุ่งหมายกว้าง ๆ เท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องคิดต่อว่าถ้าเราต้องการที่จะให้เป้าหมายแต่ละข้อบรรลุ มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราจะต้องมีหรือทำให้ปรากฏ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถ้าเราจะเรียกมันว่า “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factors: CSF หรือ Key Success Factors: KSF)”ก็คงจะไม่ผิด เมื่อเรารู้แล้วว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง เราก็แค่นำมันมาเขียนซะใหม่ในเชิงวัตถุประสงค์ เราก็จะได้วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนและครบถ้วนแล้วครับ

        มาถึงตรงนี้แล้วถ้าเรามองย้อนกลับไปที่ “วิสัยทัศน์” จะเห็นได้ว่า “วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์และ วัตถุประสงค์” ที่จริงแล้วมันก็คือ “ระดับต่าง ๆ ของเป้า”นั่นเอง โดยเริ่มที่ “วิสัยทัศน์” ซึ่งเป็นเป้าที่ใหญ่ที่สุด หลังจากนั้นเราก็ทำให้มันชัดขึ้นด้วยการเขียน “พันธกิจ” เพื่อระบุสิ่งที่เราจะต้องทำ โดยกำหนดผลลัพธ์ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจาก “พันธกิจ” ไว้ใน “เป้าประสงค์” และทำให้มันชัดขึ้นอีกด้วยการกำหนดปัจจัยที่เราต้องทำให้เกิดขึ้นไว้ใน “วัตถุประสงค์” ดังนั้น “วิสัยทัศน์” ก็คือ คำตอบของคำถามข้อที่ 2 นั่นเอง โดยเราทำมันให้ชัดขึ้น ๆ ตามลำดับ จนกระทั่งชัดมากที่สุดในระดับ “วัตถุประสงค์

        หมายเหตุ บางตำราอาจจัดเรียงลำดับที่ต่างไป โดยอาจวาง “วัตถุประสงค์” ไว้ต่อจาก “พันธกิจ” จากนั้นจึงวาง “เป้าหมาย (Goal)”ไว้ในลำดับสุดท้าย แต่เมื่อเราไปอ่านคำนิยามหรือความหมายของคำว่า “เป้า ประสงค์” กับ “วัตถุประสงค์” กลับกลายเป็นว่า “วัตถุประสงค์” เป็นอะไรที่กว้าง ๆ ส่วน “เป้าประสงค์” เป็น อะไรที่ชัด ๆ ถึงแม้ว่าจะใช้คำสลับตำแหน่งกัน แต่หลักการไม่ได้แตกต่างกันเลย 

        สรุปว่าการที่เราจะใช้อย่างไรก็คงขึ้นอยู่กับจริตของผู้ใช้ว่าชอบแบบไหนหรือถูกกำหนดให้ใช้แบบไหน ขอเพียงเราเข้าใจหลักการก็พอ ว่ามันจะต้องจากเริ่มใหญ่ ๆ กว้าง ๆ ก่อน แล้วถึงย่อย ๆ ชัด ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่เราพึงพอใจ โดยส่วนใหญ่มักจะประมาณ 3-4 ระดับครับ (ถ้าเป็นสไตล์แบบ Kaplan & Norton เจ้าพ่อ “Balanced Scorecard” มีแค่ “Objectives” ครับ ไม่มี “Goals” เพราะเขาใช้แทนกันไปเลย) บางตำราเขียน “Goals/Objectives” คู่กันไปก็มีครับ

        ตอนนี้เราไปดูส่วนสุดท้ายของ “แผนกลยุทธ์” กันดีกว่า!

กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์

        "กลยุทธ์" หรือ “ยุทธศาสตร์” ก็คือ คำตอบของคำถามข้อที่ 3 นั่นเองครับ!

        แล้ว “กลยุทธ์” มันคืออะไรล่ะ?

        ขออธิบายให้เห็นในเชิงเปรียบเทียบก่อนก็แล้วกันนะครับ

        สมมติว่า ท่านต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ ท่านจะไปทางไหนได้บ้างครับ?

        “รถยนต์...รถไฟ...มอเตอร์ไซค์...จักรยาน...เดิน...เรือ...เครื่องบิน...เครื่องร่อน

        นั่นเป็นคำตอบที่ผมมักได้รับอยู่เป็นประจำ ทีนี้ถ้าเราแยกเป็นช่องทางใหญ่ ๆ จะได้ทั้งหมดกี่ทางครับ ?

        คำตอบที่น่าจะได้ ก็คือ “3 ทาง” แล้ว 3 ทางที่ว่ามีอะไรบ้างครับ ?

        ท่านก็คงจะตอบว่า “ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ” ใช่ไหมครับ ?

        ท่านต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อการตัดสินใจเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด?

        “เงิน ” ใครบางคนอาจตะโกนออกมาก่อน

        เป็นคำตอบที่ดีมากครับ เพราะ “เงิน” ในกระเป๋า เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้าเรามีเงินเหลือเฟือเราจะเลือกใช้เส้นทางใดก็คงไม่มีปัญหา (ขนาดเดินไปก็ยังดูดีเลยครับ) แต่ถ้าเรามีเงินน้อย ทางเลือกของเราก็คงจะน้อยตามไปด้วย

        “เวลา” ท่านที่สองอาจจะตอบไล่หลังมาติด ๆ

        ครับ “เวลา” เป็นปัจจัยที่สำคัญมากเช่นกันครับ และมีผลต่อการตัดสินใจไม่แพ้ “เงิน

        ถ้าเรามีเวลาซัก...“ชาตินึง” เราจะ “เดินไป” ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราต้องเดินทางให้ถึงเชียงใหม่ภายในวันนี้ ทางเลือกก็จะเหลือน้อยมากจริงมั๊ยครับ

       “คนที่ไปด้วย” บางท่านก็อาจนึกถึงปัจจัยนี้ก็ได้

        เป็นคำตอบที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ เพราะถ้าเรามี “จำนวน”คนที่เดินทางไปด้วยมากน้อยต่างกัน เราก็อาจเลือกช่องทางและวิธีเดินทางที่แตกต่างกัน เช่น

        ถ้าเรามีคนไปด้วยซัก 40-50 คนเราก็อาจเลือกไปทางบกโดยเหมารถบัสไป แต่ถ้าเรามีคนไปด้วย 4-5 คน เราก็อาจเลือกไปโดยรถยนต์ส่วนตัวหรืออาจตัดสินใจไปทางอากาศโดยเครื่องบินโดยสารก็ได้

        บางครั้งถึงเราจะมีคนเดินทางไปด้วยเหมือน ๆกัน แต่เราก็อาจใช้ช่องทางและวิธีที่แตกต่างกันก็ได้ ขึ้นกับว่าเราไปกับใคร

        คนบางคนที่เมื่อเดินทางไปกับเรา เราก็อาจ“ไม่อยากให้ถึงเร็ว ๆ” ก็ได้ เพราะเขาเป็นคนที่เราชอบพอ เราอยากใช้เวลาอยู่กับเขานาน ๆ เราก็จะเลือกเดินทางโดยเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน แถมระหว่างเดินทางยังชวนกันชี้นกชมไม้ได้ตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำอย่างมีความสุข ในขณะที่ใครบางคนที่เมื่อต้องเดินทางไปกับเรา เราอาจจะ “อยากให้ถึงเร็ว ๆ” เพราะเป็นคนที่เราเกลียดขี้หน้าเป็นที่สุด เราก็คงเลือกเดินทางด้วยเครื่องบิน และถ้าเป็นสมัยก่อนก็ต้องเป็นสายการบิน “แอร์เอเชีย”เท่านั้น เพราะเขาจะไม่ระบุที่นั่งผู้โดยสาร เราก็จะให้คน ๆ นั้นขึ้นเครื่องไปก่อน หลังจากที่เขานั่งเรียบร้อยแล้วเราถึงค่อยขึ้นตามไป โดยเราจะเลือกที่นั่งที่ไกลจากเขามากที่สุด(เพราะไม่อยากนั่งใกล้มัน)

        นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้วซึ่งดูเหมือนว่าเราพอจะควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่ท่านควรนึกถึง เช่น ดินฟ้าอากาศ ฝนตก น้ำท่วม ถนนขาด ฯลฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยากหรือควบคุมไม่ได้เลย แต่ก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเส้นทางเช่นกัน

        หลังจากที่พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วเราถึงจะตัดสินใจเลือกเส้นทาง และวิธีที่เหมาะสมกับเงินของเรา เวลาที่เรามี และคนที่ไปด้วยกับเรา รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นอยู่

        เราสามารถเปรียบเทียบการเดินทางครั้งนื้กับ “การวางแผนกลยุทธ์” ได้เลยครับ

        “กรุงเทพ” ก็คือ จุดเริ่มต้นของการเดินทาง
        “เชียงใหม่” ก็คือ จุดหมายปลายทางที่เราต้องการจะไปให้ถึง

        ส่วนการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำ “SWOT Analysis” เพราะเราต้องพิจารณาทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้ ซึ่งเสมือนเป็นปัจจัยภายในองค์กร และปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ซึ่งก็คือ ปัจจัยภายนอกองค์กร

        ส่วน “เส้นทางที่เราเลือกใช้” เช่น “ไปทางบก” ก็คือ กลยุทธ์ระดับองค์กร และ “โดยรถยนต์.. โดยมอเตอร์ไซค์ หรือเดินไป” ก็คือ กลยุทธ์ระดับปฏิบัตินั่นเอง

        ผมเชื่อว่าขณะนี้ท่านน่าจะเห็นภาพรวมของ “การบริหารเชิงกลยุทธ์” แล้วนะครับ ก่อนที่เราจะเลยไปสู่บทถัดไปผมมีเรื่องจะขอให้ท่านช่วยสักเรื่องนึงครับ ภายหลังที่ท่านอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ถึงท่านจะจำอะไรไม่ได้เลยก็ตาม ผมอยากจะขอให้ท่านช่วยจำภาพประกอบซัก 2 ภาพจะได้ไหมครับ คงไม่เป็นการขอที่มากเกินไปนะ ภาพแรกที่ผมต้องการให้ท่านจำให้ได้ ก็คือ ภาพที่ 2.1 เพราะมันจะทำให้ท่านเข้าใจภาพรวมของการบริหารเชิงกลยุทธ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหมือนกับการที่เราได้เห็นช้างทั้งตัว ถ้าท่านจำมันได้ มันจะช่วยให้ท่านสื่อสารกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นต้องการจะสื่อสารกับท่านมากขึ้นด้วย ไม่ว่าเขาจะกำลังพูดถึงงา งวง เท้า หรือ หางช้างก็ตาม ท่านก็จะสามารถเชื่อมโยงได้ทั้งหมด

        ส่วนอีกภาพนึงก็คือ ภาพที่ 3.1 ครับ เพราะจะทำให้ท่านได้เห็นความเชื่อมโยงของการวางแผนกลยุทธ์กับการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ซึ่งในภาคปฏิบัติก็คือการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (PBBS) นั่นเอง ถ้าอยากรู้ว่ามันคืออะไรก็ลองอ่านต่อในบทที่ 3 ซิครับ

        อีกหนึ่งความสับสนที่เราต้องพูดถึงก็คือ คำถามที่ถูกถามบ่อยๆว่า "เราควรจะต้องเอางานประจำไปใส่ไว้ในแผนกลยุทธ์หรือไม่? อย่างไร? และถ้าเราไม่ใส่ไว้ในแผนกลยุทธ์ แล้วจะเอางบประมาณที่ไหนไปดำเนินการ?

        เรื่องนี้ผมขออธิบายเพื่อให้ทุกท่านได้ความกระจ่างและหายสงสัยดังนี้ครับ..

ภาพที่ 2.2 ลักษณะงาน 3 กลุ่ม ในองค์กรภาครัฐหรือเอกชนที่มีหน่วยงานบังคับบัญชาสูงขึ้นไป  

        ถ้าเรามองงานทั้งหมดในองค์กร เราจะสามารถแบ่งงานต่างๆออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน

        กลุ่มแรก เราเรียกว่า“งานตามภารกิจ” ซึ่งก็คือ งานที่เราทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าเราจะนึกถึงมันหรือไม่ จะเต็มใจหรือไม่ เราก็ต้องทำมันอยู่ดี และเรายังสามารถเรียกมันได้อีกหลายอย่าง เช่น “งานประจำ” “งานตาม หน้าที่”และ“งานรูทีน(Routine)” เป็นต้น

        ยกตัวอย่างเช่น..

        ถ้าท่านเป็นหมอ ท่านก็ต้องรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ไม่ว่าจะนึกถึงมันหรือไม่ ท่านก็ต้องรักษาผู้ป่วย อยู่ดี
        ถ้าท่านเป็นครู ท่านก็ต้องสอนนักเรียน ถึงท่านจะเบื่อแสนเบื่อ ท่านก็ต้องสอน จริงไม๊ครับ
        ถ้าท่านเป็นตำรวจ ท่านก็ต้องจับผู้ร้าย แม้ว่าจะเหนื่อยแสนเหนื่อย เมื่อมีคดีเกิดขึ้่น ท่านก็ต้องไปทำใช่ไม๊ ครับ

        ส่วนกลุ่มที่สอง คือ งานที่ท่านอาจได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาระดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือ ไม่เกี่ยวกับงานประจำก็ได้ เราเรียกว่า“งานตามนโยบาย” เช่น..

        บางท่านที่เป็นพยาบาลอาวุโส งานในหน้าที่ของท่านก็คือ การให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วย แต่อาจได้รับ มอบหมายจากท่านผู้อำนวยการให้เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลร่วมเป็นคณะกรรมการในงานประกวดผลไม้ประจำปีของจังหวัดก็ได้  ซึ่งไม่เกี่ยวกับการให้การพยาบาลแม้แต่น้อย

        และกลุ่มสุดท้าย ก็คือ งานที่เราต้องทำเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับ “งานตามภารกิจ”และ“งานตามนโยบาย”ก็ได้ เราเรียกงานกลุ่มนี้ว่า“งานตามกลยุทธ์”นั่นเอง

        ส่วนตัวอย่างนั้น ผมขอใช้พยาบาลคนเดิมก็แล้วกันครับ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง..

        พยาบาลคนดังกล่าว นอกจากจะรับผิดชอบงานการพยาบาล และการเป็นคณะกรรมการในงานประกวดผลไม้ประจำปีของจังหวัดแล้ว ยังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมการตลาดของโรงพยาบาลอีกด้วย เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ข้อที่ว่า“เพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในกลุ่มข้าราชการและผู้ประกันตน” ซึ่งงานที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานการพยาบาลและงานประกวดผลไม้แม้แต่น้อย แต่เป็นงานที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลสามารถบรรลุเป้าประสงค์ขององค์กรได้

        สำหรับการบริหารเชิงกลยุทธ์นั้น เราจะพูดเพียงเฉพาะงานในกลุ่มสุดท้าย หรือ“งานตามกลยุทธ์”เท่านั้น ซึ่งก็คืองานที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนถ้าจะมีการพูดถึงงานตามภารกิจหรืองานตามนโยบายบ้าง ก็เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์เท่านั้น ดังนั้นงานใดก็ตาม หากไม่เกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมายขององค์กรแล้ว เราจะยังไม่นำมาพิจารณาในตอนนี้

        บางท่านอาจจะเริ่มมีความวิตกกังวลว่า “อ้าว! แล้วงานประจำ(งานตามภารกิจ)ของฉันล่ะ หรือ งานที่ได้รับมอบหมายพิเศษ(งานตามนโยบาย)ล่ะ จะให้เอาไปไว้ไหน?

        ผมขอตอบให้ทุกท่านสบายใจได้เลยว่า แม้ตอนนี้เราอาจจะยังไม่ได้พิจารณางานในส่วนงานประจำและงานที่ได้รับมอบหมายพิเศษก็ตาม แต่เราจะนำมาพิจารณาร่วมกับงานตามกลยุทธ์อีกครั้ง ในช่วงของการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติครับ รับรองว่าไม่ตกหล่นสูญหายแน่นอนครับ

       โปรดติดตามในบรรพที่ 3 ต่อได้เลยครับ...

หมายเลขบันทึก: 538677เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2013 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2019 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท