บรรพที่ 4 ศาสตร์และศิลป์ในการจัดทำแผนกลยุทธ์


        เป็นความเข้าใจผิดอย่างแรงมากๆ สำหรับท่านที่คิดว่าเราใช้เพียงข้อมูลและเหตุผลเท่านั้นในการวางแผนกลยุทธ์  เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราต้องใช้ทั้งหลักการทางวิชาการที่เป็นเหตุเป็นผล จินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึกในการจัดทำแผนกลยุทธ์ เนื่องจากองค์กรไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่มันมีคุณสมบัติเหมือนกับสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มีความคิด มีอารมณ์ความรู้สึก และเจริญเติบโตหรืออับเฉาได้(ในภาษาอังกฤษเราเรียกองค์กรว่า Organization” บางคนบอกว่ามันมาจากคำว่าOrganism”ซึ่งแปลว่า “สิ่งมีชีวิต”ไงครับ) ดังนั้นการวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ สรุปคือ เราต้องใช้สมองทั้งซีกซ้าย(การใช้เหตุผล)และซีกขวา(การใช้จินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึก)ในการทำงานนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังทำในส่วนใดของแผนครับ เช่น..

        คำว่า“วิสัยทัศน์”ท่านคิดว่าเราต้องใช้อะไรครับ ระหว่างเหตุผล จินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึก

        คิดว่าคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงของท่านนะครับ คำตอบที่ถูกต้อง ก็คือ เราต้องใช้จินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ครับ ส่วนเหตุผล(ข้อมูล)เราใช้เป็นส่วนประกอบเท่านั้น เพราะองค์กรที่จะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ จะไม่ปล่อยให้“อดีต..จับอนาคตไว้เป็นตัวประกัน” ท่านเคยได้ยินคำพูดประโยคนี้บ้างมั้ยครับ

        “วันนี้ถ้าฝัน(วิสัยทัศน์)ของเรายิ่งใหญ่ ปัจจุบันเราจะเป็นอะไรไม่สำคัญ”

        ผมเชื่อว่า คำพูดนี้เป็นจริงกับเราทั้งในฐานะบุคคลหรือในฐานะองค์กรก็ตาม แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่างอัลเบิรต์ ไอน์สไตน์ ยังเคยกล่าวไว้เลยว่า“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”  

        หรือ อย่างคำว่า“พันธกิจ”ก็เหมือนกัน เราจะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า(ซึ่งเป็นเรื่องอารมณ์ซะส่วนใหญ่) และเอาคุณค่าเหล่านั้นมาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อความพันธกิจด้วย

        แม้แต่ในการทำ SWOT Analysis เอง เราก็ใช้อารมณ์ความรู้สึกมิใช่น้อย ซึ่งผมไม่เถียงครับว่าเราต้องใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ด้วย แต่..ถึงแม้ว่าเราจะมีข้อมูลที่เหมือนกัน แต่ถ้าผู้วิเคราะห์เป็นคนที่มีทัศนคติบวกหรือมีอารมณ์ความรู้สึกทางบวก ก็จะมีความคิดและมุมมองต่อข้อมูลเหล่านั้นไปในทางบวก เห็นส่วนดี เห็นประโยชน์ รวมทั้งเห็นโอกาสในสถานการณ์ต่างๆที่กำลังเผชิญอยู่ ในขณะที่ถ้าเราให้คนที่มีทัศนคติลบหรือมีอารมณ์ความรู้สึกทางลบมาพิจารณาข้อมูลชุดเดียวกัน เชื่อไหมครับว่า บางครั้งอาจได้ผลการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันชนิดหน้ามือกับหลังเท้าเลยทีเดียว

       ทีนี้ก็คงมีหลายท่านที่อาจจะสงสัยว่า แล้วอย่างนี้ผลการวิเคราะห์ SWOTที่ได้ มันจะเชื่อถือได้หรือ? ถ้าผลของมันขึ้นกับทัศนคติหรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้วิเคราะห์ ผมขอยืนยันให้ท่านสบายใจได้ครับว่า มันเชื่อถือได้แน่นอน ไม่ว่ามันจะออกมีดีหรือไม่ดีก็ตาม ท่านเคยได้ยินคำพูดประโยคนี้บ้างไหมครับ

       “สิ่งใดที่ท่านเชื่อด้วยความรู้สึก สิ่งนั้นจะเป็นความจริง”

       เคยไหมครับ ที่บางครั้งท่านรู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้มันไม่ดีเอาซะเลย สถานการณ์ตอนนั้นมันก็แย่จริงๆ และถ้าท่านรู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้มันดีมากๆ ทุกอย่างมันก็ดูดีจริงๆครับ

       “สถานการณ์ก็คือสถานการณ์ แต่การที่เราจะรู้สึกดีหรือไม่ดี มันก็ขึ้นอยู่กับความคิดและทัศนคติ ของเราเอง"

        ท่านก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่า ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ของทีมบริหารหรือทีมยุทธศาสตร์มีทัศนคติหรืออารมณ์ความรู้สึกไปทางไหน มันจะส่งผลต่อสถานการณ์ขององค์กรนั้นๆอย่างไร คงไม่ต้องอธิบายให้มากความใช่ไหมครับ 

        ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผลต่อการวางแผนกลยุทธ์และการบริหารองค์กรในทุกๆด้านอีกด้วยนะครับ

แนวทางในการจัดทำแผนกลยุทธ์

        ในการจัดทำแผนกลยุทธ์นั้น พอจะแบ่งได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆด้วยกันครับ คือ..

        แนวที่หนึ่ง เราจะเริ่มด้วยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร(SWOT Analysis)ก่อน แล้วค่อยกำหนดวิสัยทัศน์

        แนวที่สอง เราจะเริ่มด้วยการยก“ร่างวิสัยทัศน์(Draft Vision)”ก่อน โดยไม่ต้องไปกังวลว่าสถานการณ์ปัจจุบันมันจะเป็นอย่างไร แล้วค่อยมาทำSWOT Analysisทีหลัง  ซึ่งเราสามารถเลือกใช้แนวทางไหนก็ได้ โดยที่ทั้งสองแนวทางต่างก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ให้ท่านลองพิจารณาดูก็แล้วกันครับ

        การเริ่มด้วย“SWOT Analysis”ก่อน ข้อดีคือ สั้นดี เราก็แค่ตอบคำถามไปทีละข้อ ข้อ1 ข้อ2 และ ข้อ3 ตามลำดับ(ถ้าท่านลืมไปแล้วว่า คำถาม 3 ข้อคืออะไร ให้ท่านย้อนไปดูได้ในบทที่ 1 ครับ) แต่ข้อเสีย ก็คือ เวลาที่ เรารู้ความจริงอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะ“ปัญหา” มันทำให้เราฝันไม่ค่อยจะออก ฝันมันจะอั้นๆ ไม่ค่อยท้าทาย ในขณะที่การเริ่มด้วยการยก“ร่างวิสัยทัศน์”ก่อน แล้วค่อยทำSWOT Analysis” หลังจากนั้นก็ค่อยนำผลของการทำSWOTไปปรับแต่ง“ร่างวิสัยทัศน์”อีกครั้งนั้น ข้อเสียคือ อาจทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ข้อดีก็คือ มันจะทำให้ได้“วิสัยทัศน์”ที่ท้าทายมากกว่าครับ ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นชัดขึ้นดังนี้

        สมมติว่า ถ้าท่านถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 แล้วได้เงินรางวัลซัก 50 ล้านนะ คำถามก็คือ..

        “บ้านในฝันของท่านจะมีหน้าตาเป็นแบบไหนครับ?”

        เชื่อว่า..อันดับแรกต้องไม่ใช่บ้านเช่า ทาวน์เฮาส์ก็คงไม่ครือ อย่างน้อยน่าจะต้องเป็นประมาณบ้านเดี่ยว

        “ซักกี่ชั้นดีครับ?”

        “2 ชั้น”น่าจะเป็นคำตอบของคนส่วนใหญ่

        “กี่ห้องนอนกี่ห้องน้ำครับ?”

        “3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ?” น่าจะเป็นคำตอบที่ใกล้เคียงนะครับ ส่วนใครที่สงสัยว่าห้องน้ำที่เกินห้องนอนมา 1 ห้องมีไว้ทำไม ก็เอาไว้รับแขกไงครับ เพราะเวลามีตังค์เพื่อนฝูงญาติพี่น้องจะมาเยี่ยมกันเยอะ

        “หลังคาสีอะไรครับ?” อะไรมันจะอยากรู้ละเอียดซะขนาดนี้

        “สีแดง สีเทา สีน้ำตาล สีเขียว...”คงเป็นสีที่หลายคนพยายามตอบแต่ยังไม่โดนครับ

        ในที่สุดก็อาจจะมีเสียงตะโกนออกมาว่า“สีน้ำเงิน”

        “ถูกต้องแล้วครับ!!!”อย่างนี้ซิถึงจะสมฐานะ เพราะกระเบื้องมุงหลังคาสีน้ำเงินจะเป็นกระเบื้องมุงหลังคาที่มีราคาแพงที่สุดครับ

        “แล้ว‘ที่’ล่ะครับ เท่าไหร่ดี?”ยังไม่หมดคำถามอีกแฮะ

        “2 ไร่” คำตอบประมาณนี้ก็แล้วกัน

        “เราคงไม่ได้ปลูกบ้านเต็มพื้นที่ใช่ไหมครับ แสดงว่าต้องมีพื้นที่เหลือ จะทำอะไรดีครับ?” ยังเหลือคำถามอีกเยอะครับ

        “สระว่ายน้ำ” มีคนนึงตะโกนตอบ

        “สมฐานะ” ก็ว่ากันไป แต่ก็ยังมีที่เหลืออีกพอสมควรนะ

        “สวนหย่อม” “สนามหญ้า” หลายคนช่วยกันเสริมด้วยความเมามันในอารมณ์

        “เยี่ยม! จัดไป!” แต่บ้านใหญ่ซะขนาดนี้ ไม่น่าจะทำความสะอาดเองไหวนะเนี่ย

        “ต้องมีคนใช้ด้วย” เห็นด้วยอย่างยิ่ง แล้วเราก็ทำ“ห้องคนใช้”ไว้ติดกับห้องนอนของเรา โดยมีประตูทะลุถึงกัน เพื่อความสะดวกในการเรียกใช้..ล้อเล่นครับล้อเล่น 

        “รั้ว รั้ว?”

        “รั้วอัลลอยด์”

        “ประตู ประตู?”

        “ประตูรีโมท”

        โอเคครับ ตอนนี้เราคงได้ภาพบ้านในฝันของท่านที่ชัดเจนพอประมาณ คิดว่าราคาน่าจะประมาณ 10-15 ล้านน่าจะได้นะครับ ไม่เป็นไรครับ ยังไงซะก็ยังมีเงินเหลืออีกตั้ง 35 ล้าน ชิวๆครับ

        คราวนี้เราก็ต้องเอาล๊อตเตอรี่ที่ซื้อไว้ไปขึ้นรางวัล แต่..ปรากฏว่า พอเอาล๊อตเตอรี่ไปขึ้นเงิน เจ้าหน้าที่กองฉลากฯกลับบอกว่า

        “คุณครับ เลขมันสลับกันอยู่คู่นึงครับ” เจ้าหน้าที่คนนั้นท้วง

        “อ้าว..เหรอ! สลับนิดเดียวไม่ได้เหรอ” ท่านอาจพยายามขอความเห็นใจครั้งสุดท้ายเผื่อจะได้ผล

        “ไม่ได้ครับพี่ นิดเดียวก็ไม่ได้” เจ้าหน้าที่ยืนกราน

        งานเข้าซิครับคราวนี้ สรุปก็คือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ... แล้วทีนี้จะทำยังไงต่อดี

        สรุป ก็ต้องกลับมาสู่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันสิครับ มาดูกันซิว่าปกติรายได้ต่อเดือนของท่านเท่าไหร่ ประมาณสองแสนใช่มั๊ย..อ๊ะ อ๊ะ อย่าเพิ่งเถียงผม ที่บอกว่าสองแสนเนี่ย ผมหมายถึงทั้งแผนกรวมกันน่ะครับไม่ได้หมายถึงท่านเพียงคนเดียว ถ้าเป็นรายได้ส่วนตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 30,000 บาทก็แล้วกัน(บางท่านอาจจะมากหรืออาจจะน้อยกว่านี้ก็ได้) ลองคิดเล่นๆนะครับว่า ถ้าเราเก็บทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่กินไม่ใช้เลย น้ำ.. ก็ยังขอเพื่อนกิน รวมๆแล้วเราจะต้องใช้เวลาในการเก็บเงินซัก...

        “กี่ชาติดีครับ?”

        คงต้องนับกันเป็นชาติเลยนะครับ เพราะถ้านับเป็นปี ชาตินี้อาจไม่พอให้นับก็ได้ครับ ซึ่งปกติเวลาที่เราฝันอะไรก็มักตั้งใจว่าจะได้ในชาตินี้ใช่ไหมครับ เราคงไม่คิดไกลไปถึงชาติหน้า ดูแล้วคงเป็นไปได้ยาก ถ้าอย่างนั้นเราก็คงต้องมีการปรับลดความฝันลงมาซะหน่อยเพื่อให้มันเป็นไปได้มากขึ้น

        ยังไงก็ตาม คิดว่าท่านคงยังอยากจะคงคอนเซ็ปท์บ้านเดี่ยวเอาไว้เหมือนเดิม ดังนั้น..

        จากบ้านสองชั้นก็อาจจะเหลือเพียง..

        “ชั้นเดียว” มีอาสาสมัครช่วยตอบอยู่แล้ว

        สามห้องนอน สี่ห้องน้ำ ก็เหลือ..

        “สองห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ” เวลาไม่มีตังค์ ก็คงไม่ค่อยมีญาติมาหาซักเท่าไหร่หรอกครับ

         หลังคาสี..

        “แดง” สมฐานะครับ

        จากที่ 2 ไร่ เหลือ..

        “100 ต.ร.วา” หลายคนพยักหน้าเห็นด้วย

        สวนหย่อม สนามหญ้า เหลือ..

        “สวนเป็นหย่อมๆหน้าบ้านก็พอแล้ว” นี่ฝืนๆแล้วนะเนี่ย 

        ท่านคิดว่า ถ้าบ้านหลังนี้ถึงแม้จะปรับลดสเป็กลงมาแล้ว ราคาน่าจะซักเท่าไหร่ ผมคิดว่าถ้าอยู่ในตัวเมืองหรือที่ทำเลดีๆก็ต้องมี 1 ล้านขึ้นไปแน่นอน

        และที่สำคัญ ถึงแม้ท่านจะมีเงินเดือนๆละ 30,000 บาทก็ตาม แต่ท่านก็คงไม่สามารถเก็บเงินทั้งหมดสะสมได้ ไหนจะค่ากินค่าอยู่ ไหนจะค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย ผมคิดว่าถ้าเก็บได้ประมาณ10%ของรายได้ต่อเดือนก็หรูแล้วครับ ตกเดือนละ 3,000 บาท ถ้าบ้านหลังละล้านสอง เราก็ต้องใช้เวลาในการเก็บเงินถึง 50 ปี เห็นท่าจะรอไม่ไหวมังครับ คงเหนียงยานหรือไม่ก็คงเข้าโลงไปก่อน แต่..เนื่องจากนี่เป็นฝันที่เล็กที่สุดเท่าที่เราจะยอมรับได้ ดังนั้นเราอาจจะเริ่มมองอีกด้านนึง นั่นก็คือ“การเพิ่มรายได้” หลายคนอาจจะตัดสินใจหางานพิเศษทำช่วงเย็นๆหลังเลิกงานหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เช่น ทำโอทีเพิ่มขึ้น ไปขายประกัน ทำไดเร็คเซลล์ ขายของตลาดนัด เปิดร้านกาแฟสด และอื่นๆอีกมากมาย

        ท่านคงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้สิ่งที่เราตั้งความฝันไว้แต่แรกอาจจะเป็นไปไม่ได้และแถมเรายังลดขนาดของความฝันลงมาพอสมควร แต่มันก็ยังทำให้เราต้องทำบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างจากเดิมอยู่ดี ซึ่งผมเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากเหนื่อยเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะช่วงเย็นๆหลังเลิกงาน ซึ่งน่าจะเป็นเวลาพักผ่อนอยู่กับครอบครัว ไปช๊อปปิ่ง วิ่งออกกำลังกาย หรือนอนดูละครทีวีเรื่องโปรดอยู่ที่บ้าน มีความสุขกว่ากันเยอะเมื่อเทียบกับการที่เราต้องออกไปทำงานพิเศษในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ถ้าบ้านหลังนั้นมันเป็น สิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง เราจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แม้ว่าต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำก็ตาม ขอเพียงแค่..ถ้าทำแล้วมันสามารถให้สิ่งที่เราต้องการได้เราก็จะยอมทำมัน

        แต่ถ้าเราคุยกันเรื่องปัญหาก่อน คุยกันเรื่องความเป็นจริง คุยกันเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณ การเปลี่ยนระบบพิจารณาความดีความชอบ ปัญหาเรื่อง น้ำท่วม เศรษฐกิจตกต่ำ น้ำมันแพง ฯลฯ แล้วก็มีใครบางคนถามท่านว่า..

        “พี่ๆ บ้านในฝันของพี่หน้าตาเป็นยังไงล่ะ?”

        ท่านก็คงจะตอบเข้าได้อย่างไม่ลังเลว่า

        “โอ๊ย..บ้านหลวงก็หรูแล้ว อยู่บ้านหลวงเนี่ยเวิร์คสุด”

        “รั้วบ้านล่ะพี่?”คำถามยังไม่หมด

        “ใช้รั้วสำนักงาน ใช้รั้วโรงพยาบาลเลย มีรปภ.พร้อม..ดีจะตาย” ท่านก็คงตอบได้ไม่ยากนัก

        “แถมบางทีน้ำไฟฟรีอีกต่างหาก”อะไรจะดีปานนั้น

        “ไม่อยากได้บ้านเดี่ยวเหรอพี่?”ยังไม่หมดข้อสงสัย

        “อยู่แฟลตนี่ล่ะ..อบอุ่นดี อยู่กันเป็นหมู่คณะ..ไม่เหงา”คำตอบพร้อมเหตุผลจะมาทันที โดยไม่ต้องเสียเวลา คิดนาน

        “แล้วสระว่ายน้ำล่ะพี่?”ยังไม่เลิกถามอีก

        “มีซิ้งค์น้ำก็บุญแล้วน้อง”คนตอบชักเริ่มรำคาญ

        “สวนหย่อมล่ะ?”คนถามยังไม่ละความพยายาม

        “แค่กระถางต้นไม้แขวนอยู่หน้าห้องก็คือๆกันนั่นแหละ” คนตอบเองก็ชักจะหมดความอดทนเต็มที

        เห็นไม๊ครับ..ความฝันเหลือแค่นิดเดียวเอง

        แถมบางท่านยังอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า..

        “นี่ตั้งใจว่า จะรับราชการซักอายุ 50 เก็บเงินไว้ซักก้อนนึง รอจังหวะเหมาะๆ แล้วกะว่าจะเออรี่(Early Retire)ตอนที่เขามีโปรโมชั่นจ่ายซัก 7 เท่าของเงินเดือน รวบรวมเงินที่เก็บได้ เอาไปบริจาคให้สถานสงเคราะห์ คนชรา แล้วตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตราบจนชีวิตจะหาไม่”

        เป็นไงครับ ฟังแล้วหดหู่ดีไม๊ครับ เกิดมาทั้งทีคิดได้แค่นี้เอง

        เวลาที่เราคุยกันเรื่องปัญหา เรามักจะฝันไม่ค่อยออก แต่อย่าลืมนะครับว่า..

        “วันนี้ถ้าฝันของเรายิ่งใหญ่ ปัจจุบันเราจะเป็นอะไรไม่สำคัญ”เพราะฝันนั้นจะดึงเอาศักยภาพบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในตัวเราออกมา ซึ่งจากงานวิจัยจำนวนมากยืนยันตรงกันว่า“มนุษย์ใช้ศักยภาพในตัวเองไม่เกิน 10%” เพราะ ฉะนั้น ยังมีศักยภาพอีกตั้ง90%ที่ยังไม่ถูกใช้งาน ในองค์กรก็เช่นเดียวกันครับ ลองคิดดูนะครับว่าถ้าเราสามารถดึงเอาศักยภาพของผู้คนออกมาใช้งานเพิ่มได้อีก ซัก10% จาก90%ที่มีอยู่ เราก็จะได้คนที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

        ผมมีความเชื่อเช่นนี้มาตลอด และยังเชื่ออีกว่ามันสามารถใช้ได้ทั้งกับบุคคลและองค์กร ซื่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมจะแนะนำให้หน่วยงานต่างๆใช้แนวทางที่ 2(เริ่มต้นด้วยการยกร่างวิสัยทัศน์ก่อน)เสมอและทำเช่นนี้มาร่วมๆ 10 ปีแล้ว ในขณะที่ตำราส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดแนะนำให้ใช้แนวทางที่ 1(เริ่มต้นด้วยการทำSWOT Analysisก่อน แล้วค่อยมาคิดวิสัยทัศน์) แต่ในระยะหลังมานี้ ผมเพิ่งได้ข้อมูลมาว่าในประเทศอเมริกาเองก็เริ่มมีการใช้แนวทางที่ 2 กันแล้ว เพราะฉนั้นสบายใจได้ครับว่า ไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำแบบนี้และน่าจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำที่เราคิดทำก่อนเขา โดยไม่ต้องคอยแต่ตามก้นฝรั่งท่าเดียว

        ผมอยากให้ท่านลองพิจารณาสิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ แล้วลองคิดดูนะครับว่า ท่านเห็นด้วยกับผม หรือไม่..

        ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม หากต้องการความสำเร็จอย่างแท้จริงแล้ว ท่านจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่า สิ่งที่จะทำนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการนี้หรือไม่(ดูภาพที่ 4.1)

ภาพที่ 4.1 องค์ประกอบสู่ความสำเร็จ 3 ประการ

        องค์ประกอบสู่ความสำเร็จ 3 ประการ ได้แก่...

        1.เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เพราะมันจะทำให้เราอยากทำจนลืมวันเวลา ทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย มันจะไม่ใช่งานอีกต่อไป แต่กลายเป็นวิถีชีวิตของเรา
        2.เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราสร้างผลงานที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ คุณภาพสูง  
        3.เป็นสิ่งที่สร้างรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปทำสิ่งอื่นเพิ่มเติม

        ดังนั้น ถ้าท่านพบว่างานใดที่ท่านทำแล้วมีความสุข และทำมันได้อย่างดีเยี่ยม แถมมันยังทำเงินเลี้ยงตัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปหารายได้เสริมจากทางอื่น แสดงว่าท่านมาถูกทางแล้วครับ เดินหน้าเต็มสูบเลยครับ...ไม่ต้องลังเล!

        เพราะถ้าขาดองค์ประกอบใดไปแม้เพียงองค์ประกอบเดียว ก็ถือว่ามีความเสี่ยงแล้วครับ ลองคิดดูนะครับว่า ถึงจะมีงานๆนึงที่ท่านทำแล้วมีความสุข และเป็นงานที่ท่านเชี่ยวชาญที่สุด แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้ท่านมากพอที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ มันก็เป็นปัญหาใช่ไหมครับ หรือ ถ้างานนั้นท่านทำมันได้ดีมากๆ ได้ตังค์เยอะด้วย แต่ท่านไม่ได้ชอบมันเลย ทำไปก็ทุกข์ไป ผมคิดว่าเงินที่ได้มาก็คงไม่ได้ช่วยให้ท่านมีความสุขเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ และยิ่งถ้าเป็นงานที่ทำแล้วได้แค่เงิน แต่ต้องฝืนใจทำ แถมฝีมือในการทำก็งั้นๆ ความภาคภูมิใจหรือความสำเร็จก็คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน..จริงไม๊ครับ

        ในองค์ประกอบทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้น องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็คือ องค์ประกอบที่ 1 ครับ เพราะเมื่อเรามีความสุขที่จะทำมัน เรื่องความรู้ความชำนาญซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ 2 เราสามารถพัฒนาได้ในภายหลังครับ และถ้าเราเก่งจริง “เงิน”(องค์ประกอบที่ 3)ก็จะวิ่งมาหาในที่สุดครับ

        ในบรรพหน้า เราจะมาเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆในการจัดทำแผนกลยุทธ์กันนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #แผนกลยุทธ์
หมายเลขบันทึก: 538680เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2013 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2019 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณครับ ได้ความรู้ใหม่ๆ

ขอบคุณสำหรับคำขอบคุณครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท