บรรพที่ 5 การยกร่างวิสัยทัศน์ (Draft Vision)-1/2


        จากเหตุผลที่ผมได้อธิบายมาทั้งหมดในบรรพที่ 4 ผมขอสรุปขั้นตอนในการจัดทำแผนกลยุทธ์ไว้เป็น 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้...

        ขั้นตอนการจัดทำแผนกลยุทธ์(Steps for Strategic Planning)

        1. เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin with the end in mind)
        2. ค้นหาจุดเริ่มต้นการเดินทาง (Find the starting point)
        3. กำหนดเส้นทางสู่ความสำเร็จ (Build the paths to success)
        4. เชื่อมโยงและมุ่งเน้นทรัพยากรสู่กลยุทธ์ (Align and focus all resources on strategy)

        โดยเราจะมาเริ่มกันที่ขั้นตอนที่ 1  ซึ่งก็คือ การเริ่มต้นด้วย“จุดมุ่งหมายในใจ” ด้วยการยกร่างวิสัยทัศน์ (Draft Vision)เสียก่อน แล้วค่อยกลับมาค้นหาว่า“จุดเริ่มต้นการเดินทาง”(Starting  Point)ของเรานั้นอยู่ที่ไหน โดยการทำ SWOT Analysis  หลังจากนั้น จึงค่อยมากำหนด“เส้นทางสู่ความสำเร็จ” ด้วยการกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) และ ปิดท้ายด้วยการเชื่อมโยงและมุ่งเน้น“ทรัพยากร”สู่กลยุทธ์ที่เรากำหนดไว้  โดยใช้เครื่องมือการบริหารจัดการที่มีชื่อว่า Balanced Scorecard ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการจัดทำแผนกลยุทธ์แล้วครับ ตอนนี้เราไปดูรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนดีกว่า...

ภาพที่ 5.1 เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ(Begin with the end mind)

1. เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ(Begin with the end in mind)

        หรือพูดง่ายๆก็คือ เริ่มด้วยการยก “ร่างวิสัยทัศน์ (Draft Vision)” ก่อนนั่นเอง ดังนั้น..เราจึงควรมาทำความเข้าใจกับคำว่า “วิสัยทัศน์” ให้ลึกซึ้งเพียงพอซะก่อนจะดีกว่านะครับ...

        ถ้าเราดูจากคำนิยามของคำว่า“วิสัยทัศน์”

        วิสัยทัศน์ ก็คือ สถานภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง(หรือหลายอย่าง)ที่บุคคลหรือองค์กรมุ่งหมาย มุ่งหวัง หรือประสงค์จะเป็นจะมีในอนาคต

        ผมเชื่อว่าท่านก็คงเข้าใจคำๆนี้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ท่านจะไม่มีวันเข้าใจคำๆนี้ได้อย่างลึกซึ้งมากพอ หากท่านยังไม่เข้าใจว่าวิสัยทัศน์ที่ดีมีลักษณะอย่างไร ตามผมมาซิครับ...

        ลักษณะวิสัยทัศน์ที่ดีเป็นอย่างไร

        1. มีความชัดเจน และสามารถนำไปปฏิบัติได้
        2. เป็นภาพบวก ที่สะท้อนถึงความเป็นเลิศขององค์กร
        3. สร้างศรัทธาให้ทุกคนมุ่งมั่น ไขว่คว้า
        4. ต้องท้าทายความรู้ ความสามารถของทั้งผู้นำและสมาชิกทุกคนในองค์กร
        5. คำนึงถึงผู้มารับบริการเป็นสำคัญ(Customer-Oriented)
        6. มีความสอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต

        ผมเชื่อว่าข้อความทั้ง 6 ข้อข้างต้น  ทุกท่านคงอ่านออกและแปลได้ทุกตัวอักษร  แต่การที่ท่านอ่านออกก็ไม่ได้แปลว่าจะเข้าใจนะครับ เพราะถ้าเข้าใจข้อความทั้ง 6 ข้อเป็นอย่างดี  แสดงว่าท่านเ้ข้าใจคำว่า“วิสัยทัศน์” อย่างลึกซึ้งมากพอแล้วครับ แต่ถ้าท่านอ่านแล้วยังไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่  ผมจะทำให้ท่านเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งชนิดที่“ไม่เคยรู้สึกมาก่อน” รีบอ่านต่อซิครับ...

        ข้อ 1. มีความชัดเจน และสามารถนำไปปฏิบัติได้

        ในประโยคข้างต้นมีคำสำคัญอยู่ 2 คำ นั่นก็คือ คำว่า“ชัดเจน”และ“สามารถนำไปปฏิบัติได้” เราจะมาดู ทีละคำนะครับ

        ยังไงถึงจะเรียกว่า“ชัดเจน”ครับหมายความว่า  เราจะต้องเขียนข้อความวิสัยทัศน์ซักครึ่งหน้ากระดาษA4 ใช่มั้ยครับ? จำเป็นมั้ย?

        “ไม่จำเป็น”

        ความ“ชัดเจน”ที่ในที่นี้ หมายถึง  ความชัดเจนในระดับ“ภาพรวม”ครับ  เช่น ถ้าท่านสมมติให้องค์กรของ ท่านเปรียบเสมือน“รถยนต์”ซักคันหนึ่ง ท่านต้องการเห็นรถยนต์คันนี้เป็นรถอะไรครับ?

        เวลาที่เราจะบอกภาพรวมของรถคันนี้ ถ้าเรานั่งอยู่ในรถเราจะบอกได้มั้ย?

        “ไม่ได้ใช่ไหมครับ” เราก็ต้องออกมายืนนอกตัวรถ ถึงจะบอกได้ว่าเป็นรถอะไร เช่น...

        “รถเก๋งสปอร์ต”

        “รถบรรทุก”

        “รถ 10 ล้อ”

        “รถตู้” หรือ

        “รถตุ๊กตุ๊ก”

        คำตอบที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี่ล่ะครับ ที่เป็นคำที่สะท้อนภาพรวม

        ท่านเคยเห็นรถแบบนี้วิ่งผ่านแถวบ้านของท่านมั้ยครับ?

        “ไดฮัทสุ มิร่า”

        เคยเห็นมั้ยครับ รถ“มิร่า”ก็จะเป็นรถกระป๋องๆคันเล็กๆใช่มั้ยครับ  ซึ่งจริงๆแล้วเป็นรถกระบะคันเล็กๆ แต่ว่าส่วนใหญ่คนที่ซื้อมาใช้ก็มักจะเอามาใส่แค็ปตรงด้านหลัง ทำให้ดูคล้ายรถเก๋งคันน้อยๆ เราจะสังเกตเห็นว่าเขาจะนิยมติดสติ๊กเกอร์ที่บริเวณกระจกหลัง ข้อความที่นิยมมากที่สุด ก็คือ..

        “โตขึ้น...จะเป็นเบ็นซ์” นั่นแหละครับ...มีวิสัยทัศน์ !

        ข้อความในลักษณะนี้ล่ะครับ ที่เข้าข่ายข้อความวิสัยทัศน์

        ถามว่า...วันนี้เป็น(เบ็นซ์)หรือยัง?

        “ยัง...ใช่มั้ยครับ” แต่นั่นมันเป็นความปรารถนาของผู้บริหาร“องค์กรมิร่า”แห่งนี้ ว่าวันใดวันหนึ่งอยากจะ ทำให้มันกลายเป็น“องค์กรเบ็นซ์”

        คำว่า“เบ็นซ์”เนี่ย มันก็สั้นนิดเดียว...จริงมั้ย? แต่เราเข้าใจ...ถูกมั้ย? มันให้เราเห็นภาพได้

        และยิ่งถ้าบอกว่า...

        “เบ็นซ์สปอร์ตสีแดง” ยิ่งเห็นภาพชัดใหญ่เลยใช่ไหม?

        ไม่เห็นต้องบอกเ่ลยว่ามี 4 ล้อ 2 ประตู ขับเคลื่อนล้อหน้า เครื่องแรงไม่แรงก็ไม่ต้องบอก เพราะรถ สปอร์ตมันก็ต้องแรงอยู่แล้ว...ถูกมั้ยครับ เราไม่ได้ต้องการรายละเอียด เราต้องการแค่ภาพรวมเท่านั้น

        “สามารถนำไปปฏิบัติได้” ข้อความนี้หมายถึง “มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัตินั่นเอง”

        เรามาดูกันซิว่าฝันของ 2 คนนี้ ของใครน่าจะมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ

        ทั้ง 2 คนฝันอยากจะเป็นเศรษฐีเงินล้านทั้งคู่

        แต่คนแรกนั้น ภาพในฝัน(จินตนาการ)ของเขาๆเห็นภาพตัวเองถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่1 ซึ่งจะทำให้เขากลาย เป็นเศรษฐีเงินล้านในทันที

        ขณะที่ในความฝันของคนที่ 2 เขาเห็นภาพตัวเองทำธุรกิจที่เขารักและเป็นสิ่งที่เขาทำได้โดดเด่นเหนือคู่แข่ง จนประสบความสำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐีเงินล้านเช่นกัน

        ท่านคิดว่า 2 คนนี้ ฝันของใครน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่ากัน?

        "คนที่ 2” เชื่อว่าส่วนใหญ่คงตอบแบบนี้

        ก่อนที่ผมจะเฉลยคำตอบของคำถามข้ั้อนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำเตือนให้ท่านระลึกไว้เสมอ ก็คือ...

        “เวลาที่เราคิดในฐานะ‘นักกลยุทธ์’ เราจะคิดในฐานะ‘ผู้กระทำ’เสมอ ไม่ใช่‘ผู้ถูกกระทำ’

        เพราะฉนั้นถ้าคิดแล้วทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่นั่งรอนอนรออย่างเดียว แบบนี้ไม่ใช่“นักกลยุทธ์”ครับ  แต่ “นักกลยุทธ์” เมื่อคิดแล้วเราจะต้องทำได้หรือควบคุมได้ด้วยตัวของเราเอง อะไรที่เกินอำนาจการควบคุมของเรา อันนั้นมันไม่ใช่แล้วครับ

        การที่เราอยากจะถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1 เนี่ย ท่านคิดว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง อะไรที่เราพอจะทำได้ ครับเพื่อให้ถูกล๊อตเตอรี่

        “ก็ไปซื้อก่อน” ใช่ครับ...คงไม่มีใครตอบเป็นอย่างอื่น

        แล้วหลังจากนั้นก็ได้แต่นั่งรอนอนรอโชควาสนาใช่มั้ยครับ?  หรือเราอาจจะทำได้มากว่านั้นอีกนิดนึง  โดย การเดินสายไปตามวัดวาอารามต่างๆ แล้วไปบนบานศาลกล่าว ที่ไหนเขาว่าขลังที่ไหนเขาว่าศักดิ์สิทธิ์  ที่ไหนที่มี กล้วยออกลูกเป็นหัวปลีกลางลำต้น, ควายออกลูก 2 หัว, จิ้งจก 2 หาง เป็นต้น ก็ไปมันหมดทุกที่

        สุดท้ายก็ต้องมานั่งรอนอนรอโชควาสนาอยู่เหมือนเดิม...ใช่มั้ยครับ

        ท่านทราบมั้ย...ว่าถ้าท่านอยากถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1 โอกาสของท่านมันมีมากน้อยแค่ไหน?

        ถ้าท่านยังนึกไม่ออกบอกไม่ถูก ผมจะเปรียบเทียบให้ท่านเห็นภาพกันชัดๆเลยแล้วกันครับ

        ถ้าท่านต้องการถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1  โอกาสของท่านยังน้อยซะกว่าโอกาสที่ท่านจะถูก “หมาบ้ากัด” ซะอีกนะครับ ท่านมีโอกาสที่จะถูกหมาบ้ากัดมากกว่าที่จะถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1 หลายเท่าตัวครับ  เพราะฉนั้นเวลา ที่ท่านเดินไปไหนมาไหน แล้วไม่มีหมาตัวไหนสนใจจะมาวุ่นวายกับท่าน สงสัยชาตินี้คงไม่มีโอกาสถูกหวยรางวัลที่ 1 กับเขาหรอกครับ ขนาดหมามันยังไม่คิดจะกัดเราเลย...ลองคิดดูก็แล้วกัน

        ส่วนคนที่ 2 ทำไมท่านถึงคิดว่าน่าจะเป็นไปได้? เพราะอะไรครับ?

        เพราะเราเป็นคนลงมือทำหรือควบคุมมัน และที่สำคัญ...มันมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นมากมายใช่มั้ยครับ ท่านเคยเห็นมั้ยครับแถวบ้านท่าน เศรษฐีเงินล้านหลายคนก็เริ่มต้นด้วยการเป็นคนหาเช้ากินค่ำแบบเราๆท่านๆนี่ล่ะครับ  แต่ด้วยความมานะพยายาม อุตสาหะ ทำงานหนัก สร้างธุรกิจของตัวเอง และเก็บหอมรอมริบไว้ จนกระทั่งกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในที่สุด แถมบางคนยังเป็นเพื่อนเราตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมด้วยซ้ำ และไอ้ตอน ที่เรียนด้วยกันเนี่ย มันก็โง้...โง่ ลอกการบ้านเรายันเลย เรียนตกๆหล่นๆ  แถมโดนครูตีหน้าชั้นเป็นประจำอีกต่างหาก

        ตอนนี้เป็นยังไงครับ..ร่ำรวยเป็นเศรษฐีไปแล้ว

        ส่วนคนฉลาดๆอย่างเรา...

        “!@#$%^&*” มันเป็นเสียงอื้ออึงในหัวครับ

        “ก็ยังต้องมานั่งทำงานงกๆอยู่ทุกวันนี่ไง” ผมช่วยตอบให้ก็แล้วกัน

        เขาสบายไปแล้ว แต่เรายังต้องมานั่งลำบากอยู่ทุกวัน ไม่รู้ว่า“โง่”หรือ“ฉลาด”อะไรมัันดีกว่ากัน ชักจะงงๆ เหมือนกันครับ ไปต่อข้อ 2 กันดีกว่า...

        ข้อ 2 เป็นภาพบวก ที่สะท้อนถึงความเป็นเลิศขององค์กร

        คำว่า“เป็นภาพบวก”เนี่ย คิดว่าทุกท่านคงพอจะเข้าใจนะครับ  ผมว่ามันเป็นเรื่องของการใช้สามัญสำนึก (Common Sense)นะ เพราะเวลาที่เราเขียนข้อความวิสัยทัศน์ เราก็คงต้องเขียนอะไรที่มันบวกๆ คงไม่มีใคร ไปเขียนอะไรลบๆทำนองนี้ใช่มั้ย...

        “องค์กรของเราจะ..สิ้นไป ในอีก 5 ปีข้างหน้า”

        แค่คิดก็หดหู่แล้วครับ ขืนเขียนแบบนี้ผู้คนในองค์กรก็คงต้องตัดสินใจแล้วล่ะครับว่า ระหว่างการอยู่ที่นี่ต่อ แล้วรอ“สิ้นไป”พร้อมกับองค์กรแห่งนี้กับการมองหาองค์กรใหม่แล้วย้ายไปอยู่ที่นั่น อันไหนน่าจะดีกว่ากัน มันก็ต้องเขียนอะำไรที่เป็นศิริมงคล อ่านแล้วชุ่มชื่นหัวใจใช่มั้ยครับ...

        “สะท้อนถึงความเป็นเลิศขององค์กร” หมายความว่ายังไงครับ?

        หมายความว่าจะต้องมีข้อความแบบนี้อยู่ในข้อความวิสัยทัศน์เสมอๆใช่มั้ย เช่น...

        “ชั้นเลิศ...ชั้นนำ...ชั้นหนึ่ง”

        ต้องมีัคำพวกนี้อยู่ในข้อความวิสัยทัศน์ด้วยเสมอใช่หรือไม่  จึงจะสามารถสะท้อนความเลิศขององค์กรได้

        “ไม่จำเป็นครับ” ผมตอบให้เลยก็แล้วกัน จะได้ไม่เสียเวลา

        เราลองมาดูตัวอย่างนี้ดีกว่า เพื่อให้ท่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น

        สมมติว่า ขณะนี้ท่านกำลังนั่งอยู่บนอัฒจันทร์แ่ห่งหนึ่งเพื่อชมการ“วิ่งแข่ง” เบื้่องหน้าของท่านมีลู่วิ่ง 8 ลู่ ที่มีลักษณะเป็นวงรีๆเหมือนที่เราเห็นตามสนามกีฬาทั่วๆไป  นักวิ่ง 8 คนยืนอยู่ ณ จุดสตาร์ทโดยมีกรรมการให้ สัญญาณออกตัวยืนอยู่ด้านข้าง

        “เข้า...ที่...” กรรมการตะโกนสั่งเสียงดังฟังชัดพร้อมชูปืนขึ้นฟ้า นักวิ่งทั้ง 8 ก้มตัวลงอยู่ในท่าเตรียมพร้อม

        “ระวัง...” เสียงกรรมการก้องกังวาน นักวิ่งทุกคนโน้มตัวไปข้างหน้าพร้อมกับกระดกก้นขึ้นเล็กน้อย

        “ปัง...” เสียงปืนดังขึ้น 1 นัด พร้อมๆกับการพุ่งตัวออกจากจุดสตาร์ทของนักวิ่งทั้งหมด

        ทุกสายตาจับจ้องไปที่นักวิ่งทุกคนที่กำลังพุ่งตัวไปตามลู่วิ่ง

        รอบที่ 1...รอบที่ 2...รอบที่ 3...

        พอเข้าสู่รอบที่ 3 เราจะเห็นว่า นักวิ่งทั้งหมดที่เคยวิ่งเกาะกลุ่มกันตั้งแต่ตอนออกสตาร์ท  ถึงตอนนี้..จะมีการกระจายตัวออกเป็น 3 กลุ่ม..

        กลุ่มแรก จะมีนักวิ่ง 1-2 คน นำลิ่วเลยนะ ไปนู้น...เลย

        กลุ่มที่ 2 ตามมาพอประมาณ กลุ่มนี้คนจะเยอะหน่อย...จริงมั้ย? แปลกดีเนอะ...มันจะต้องเป็นแบบนี้ทุกที เลยนะ กลุ่มนี้จะมีนักวิ่งประมาณ 4-5 คน และแน่นอน...จะต้องมีกลุ่มสุดท้าย ซึ่งจะมีนักวิ่งอยู่ 1-2 คน วิ่งกระด๊องกระแด๊งอยู่รั้งท้าย

        ให้ท่านจินตนาการต่อไปว่า ถ้าเราเป็นนักวิ่งคนสุดท้าย

        อะไรคือสิ่งที่เราพอจะจินตนาการได้ครับ?

        “ฉันต้องชนะ!” กล้า..มั้ย? แค่คิดยังไม่กล้าจะคิดเลยว่ามั้ย

        อะไรที่เราพอจะคิดได้?

        “วิ่งให้ครบรอบก็บุญแล้ว”(เขาให้วิ่ง 10 รอบ วิ่งครบก็บุญแล้ว) น่าจะเป็นคำตอบที่ตรงใจหลายๆคน

        อ่ะ..ไหนฝันให้ใหญ่ขึ้นอีกซักนิดซิ?

        “วิ่งให้ทันไอ้คนรองสุดท้ายก็แล้วกัน(หนีบ๊วย)” มีคนช่วยสงเคราะห์ตอบให้

        ถ้าฝันให้ใหญ่กว่านั้นอีกซักหน่อยล่ะ?

        “ก็วิ่งให้ทันกลุ่ม 2 ไง” เริ่มมีคนช่วยตอบมากขึ้น

        แค่นี้ก็เริ่ดแล้ว..ว่ามั้ย สำหรับนักวิ่งคนสุดท้าย การวิ่งให้ทันกลุ่ม 2 ได้ นี่ก็ต้องถือว่า“เริ่ด”แล้วจริงมั้ยครับ แค่นี้ก็หืดขึ้นคอแล้วว่ามั้ย

        ท่านคิดว่าองค์กรแบบเราเนี่ย ในประเทศไทยมีเยอะมั้ยครับ?

        “เยอะ” น่าจะเป็นคำตอบที่อยู่ในใจท่าน

        แล้วคิดว่าน่าจะมีองค์กรที่มีลักษณะคล้ายๆกับนักวิ่งกลุ่มที่ 1 มั้ย

        “มี” ใช่ครับน่าจะมี

        องค์กรพวกนี้ ก็จะเป็นองค์กรที่มีความพร้อมทุกด้าน ผู้นำเข้มแข็ง บุคลากรมีความรู้ความสามารถ สภาพ คล่องเยี่ยม อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือครบครันทันสมัย ดูดีมีสกุล

        ท่านคิดว่า องค์กรแบบนี้จะมีมากหรือน้อย?

        “น้อย” คงไม่มีใครเถียงนะครับ

        แล้วมันก็จะมีหน่วยงานบางประเภทที่มีลักษณะคล้ายๆนักวิ่งกลุ่มที่ 2 ใช่มั้ย?

        บางอย่างก็ดี บางอย่างก็ไม่ดี เช่น ผู้บริหารอาจจะไม่เก่งแต่ทีมงานใช้ได้  บุคลากรมีความสามารถแต่ขาด ความสามัคคี ตบตีกันทุกวัน มันก็มีดีมีเสียอยู่ในนี้ล่ะ

        หน่วยงานพรรค์นี้มีเยอะมั้ย?

        “เยอะ” หวังว่าท่านคงจะเห็นด้วย

        และแน่นอน มันจะมีองค์กรบางองค์กรที่มีลักษณะเหมือนนักวิ่งในกลุ่มที่ 3 จริงมั้ยครับ?

        ผู้บริหารก็ใกล้เกษียณแล้ว บุคลากรก็ขาดการพัฒนา แถมยังแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ทีมเวิร์คก็ไม่ได้เรื่อง การเงินก็ฝืดเคือง ติดตัวแดงเป็นประจำ

        หน่วยงานพรรค์นี้มีมั้ย?

        “มี” ท่านคงจะตอบได้โดยไม่ลังเล

        และถ้าท่านอยู่ในหน่วยงานแบบนี้ แล้วเราไปกำหนดวิสัยทัศน์ว่า...

        “เป็นองค์กรชั้นนำ!”

        จะนำใครครับ? ตัวเองยังเอาตัวไม่ค่อยจะรอดอยู่แล้วนะครับ คิดว่าจะนำใครได้มั้ยเนี่ย แค่ไปให้ทันกลุ่ม 2 เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ เป็นองค์กรที่ได้มาตรฐาน แค่นี้ก็ถือว่าหรูแล้ว...จริงมั้ยครับ

        เพราะฉนั้น การที่เราจะตัดสินว่าวิสัยทัศน์ขององค์กรใด สะท้อนถึงความเป็นเลิศขององค์กรนั้นๆหรือไม่ จึงไม่สามารถพิจารณาจากข้อความวิสัยทัศน์เพียงประการเดียว แต่ต้องคำนึงถึงบริบทหรือสถานการณ์ในปัจจุบันขององค์กรร่วมด้วย 

        ข้อ 3. สร้างศรัทธาให้ทุกคนมุ่งมั่น ไขว่คว้า 

        คำถามก็คือ “ทำอย่างไรข้อความวิสัยทัศน์จึงจะสามารถสร้างศรัทธาให้กับผู้คนทุกคนในองค์กรได้?”

        ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ ผมขอเล่านิทานสักเรื่องนึงเพื่อให้ท่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น เรื่องมันมีอยู่ว่า...

        มีเด็กน้อยขี้สงสัยคนหนึ่ง เขาสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมผู้คนถึงชอบพูดกันว่า...

        “คนที่จะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ต้อง...ฝันใหญ่!”

        เขาไม่เข้าใจว่า“ฝันใหญ่”คืออะไร เขาพยายามหาคำตอบด้วยการถามทุกๆคนที่เขารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง ครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่เพื่อนๆก็ตาม แต่คำตอบที่ได้ก็มักจะเป็นไปในทำนองที่ว่า...

        “ก็ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึงไง”

        “เขาบอกให้ฝันก็ฝันไปเถอะ จะสงสัยทำไมนักหนา”

        “แกกินอะไรผิดสำแดงรึเปล่าวะ”

        “ไม่รู้โว้ย!”

        คำตอบทั้งหมด ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของเขาดีขึ้นเลย จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่เขาเดินเล่นอยู่ริมลำธาร สายตาก็เหลือบไปเห็นชายชราผู้หนึ่งนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง ท่าทางเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา ที่ข้างกายของเขามีกระป๋องน้ำใบหนึ่งตั้งอยู่ ในกระป๋องมีน้ำอยู่เต็ม เขาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปถามในสิ่งที่เขาอยากรู้

        “ลุงครับๆ ช่วยบอกผมหน่อยได้ไหมครับว่า ที่ผู้คนเขาพูดกันว่า‘คนที่จะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ต้องมีฝันใหญ่’น่ะ คำว่า‘ฝันใหญ่’มันคืออะไร ผมไม่เห็นจะรู้จักเลย รู้จักแต่‘ฝันดี-ฝันเด่น’อ่ะครับ”

        ชายชราหันมามองหน้าเด็กน้อย

        “เจ้าอยากรู้จริงๆรึ?” ชายชราเอ่ยถามเด็กน้อย

        “อยากรู้ซิครับ” เด็กน้อยยืนยัน

        “แน่นะ!” ชายชราย้ำอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ

        “แน่ซิครับ ถ้าไม่อยากรู้จะถามหรือครับ” เด็กน้อยตอบอย่างหนักแน่น

        “อืม..” ชายชราส่งเสียงครางเบาๆ พร้อมกับทำท่าเหมือนกำลังใช้ความคิด

        เด็กน้อยเองก็นั่งรออย่างใจจดใจจ่อเพื่อรอคำตอบ

        ทันใดนั้นเอง ขณะที่เด็กน้อยไม่ทันได้ระวังตัว ชายชราก็ยื่นมือไปด้านหลังของเด็กน้อยแล้วจับศรีษะของเด็กน้อยกดลงไปในกระป๋องน้ำข้างกาย เด็กน้อยเมื่อถูกจับกดน้ำ ก็พยายามดิ้นสุดชีวิต แต่ชายชรานั้นแข็งแรงมาก เด็กน้อยจึงไม่สามารถดิ้นหลุดได้โดยง่าย จนเด็กน้อยเริ่มเหนื่อยและเริ่มหายใจไม่ออก เขาจึงได้รวบรวมพละกำลังที่มีทั้งหมดแล้วสบัดจนสุดแรงเกิด จนทำให้ศรีษะของเขาหลุดจากการถูกจับกดออกมาได้

        “ลุงครับ! ผมถามแค่นี้ทำไมต้องโกรธ” เด็กน้อยตะโกนถามด้วยความโกรธระคนตกใจ

        “ไม่ได้โกรธ..” ชายชราตอบด้วยน้ำเสียงปกติ

        “อ้าว..แล้วจับหัวผมกดน้ำทำไมเนี่ย?” เด็กน้อยถามต่อด้วยความสงสัย

        “ก็เจ้าบอกข้าเองไม่ใช่เรอะ ว่าอยากรู้ว่าไอ้‘ฝันใหญ่’น่ะมันคืออะไร? ข้าก็ทำให้ดูไง” ชายชราช่วยทวนความจำ

        “แล้วทำไมต้องจับผมกดน้ำด้วยล่ะ? บอกดีๆก็ได้” เด็กน้อยยังไม่หายสงสัย

        “ก็แล้วไอ้ตอนที่เจ้าถูกจับกดน้ำอยู่น่ะ เจ้าอยากได้อะไรมากที่สุดล่ะ?” ชายชราตั้งคำถาม

        “ก็‘อากาศ’น่ะซี่..ถามได้ จะขาดใจตายอยู่แล้ว” เด็กน้อยตอบโดยไม่ต้องคิด

        “เออ..นั่นแหละ ‘ฝันใหญ่’ก็เป็นอะไรบางอย่างคล้ายๆกับ‘อากาศ’ที่เจ้าอยากได้นั่นแหละ” ชายชราอธิบาย

        “ฝันใหญ่หรือฝันที่ยิ่งใหญ่ ก็คืออะไรบางอย่างที่เจ้าอยากได้มันมากกกกก... มากซะจนกระทั่ง ถ้าไม่ได้แล้วจะเป็นจะตายให้ได้ไงล่ะ” ชายชราขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

        ขอโทษครับ วิสัยทัศน์แถวบ้าน(องค์กร)ท่านเป็นแบบนี้มั้ยครับ

        เวลาที่อ่านแล้วมันให้ความรู้สึกว่า..

        “ไม่ได้..ไม่ได้ไม่ได้ ยังไงก็ต้องทำให้ได้ ตายเป็นตาย” มันให้ความรู้สึกแบบนี้มั้ยครับ หรือว่า..

        ทุกครั้งที่เดินผ่านข้อความวิสัยทัศน์ที่เขียนติดไว้บนผนังตึก เวลาที่หันไปอ่านข้อความดังกล่าว กลับให้ความรู้สึก..

        “เฉยๆ” หรือ “อีกและ..เดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เปลี่ยน” เกิดความรู้สึกเฉยๆถึงเบื่อหน่าย

        หรือถ้ามันเป็นแค่ข้อความที่ท่านเขียนขึ้นมาเพื่อส่งการบ้านคุณครู พอดีส่วนกลางเขาบังคับให้เขียนก็เลยต้องเขียนๆไป เพราะถ้าไม่มีให้เขา อาจทำให้มีปัญหากับงบประมาณที่จะได้รับจัดสรรก็เป็นได้ เขียนเสร็จแล้วก็ส่งกลับไปให้เขาดูพร้อมกับมอบอำนาจกลับไปด้วย หรือที่เราเรียกว่า“ส่งเดช”ไงครับ

        ถ้าเป็นอย่าง 2 กรณีหลัง แสดงว่า มันไม่ใช่วิสัยทัศน์ที่แท้จริง

        มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ก.พ.ร.(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ)ได้เคยพูดไว้ว่า..

        “วิสัยทัศน์ที่ดีต้องมีความ‘เซ็กซี่’

        ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับว่า วิสัยทัศน์ที่ดีต้องดึงดูง(Attractive)ผู้คน โดยเฉพาะคนในองค์กร ต้องทำให้บุคลากรเกิดความปรารถนาและต้องการให้องค์กรเป็นอย่างที่เขียนไว้ในข้อความวิสัยทัศน์ ทำให้ผู้คนในองค์กรเกิดการตัดสินใจที่จะลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นจริง แม้อาจจะไม่ได้อยากทำก็ตาม แต่เพราะต้องการผลลัพธ์อย่างจริงจัง จึงยอมลงมือกระทำในที่สุด

        ผมขอยกตัวอย่างซัก 2 ตัวอย่างนะครับ..

       ตัวอย่างแรก เป็นของโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร(หรือบางทีชาวบ้านเขาก็เรียกว่าโรงพยาบาลอำเภอก็มีครับ) น่าจะประมาณปี 2542 ขณะนั้นยังเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ชื่อว่า “โรงพยาบาลสวี”(ไม่มี“วี่วี”ต่อท้ายนะครับ..“สวี”เฉยๆ) เขาเขียนวิสัยทัศน์ไว้ว่า..

        วิสัยทัศน์โรงพยาบาลสวี

        “โรงพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชน”
            (โรงพยาบาล บ้าน และสวน)

        หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า..
        “ไม่เห็นมันจะพิเศษตรงไหนเลย ธรรมด๊า ธรรมดา”

        ใช่ครับ...สำหรับคนที่อยู่นอกองค์กร ก็เป็นไปได้ครับที่ท่านอาจจะไม่อินกับวิสัยทัศน์ขององค์กรอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ท่านไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกับเขา ถ้าอย่างนั้นลองฟังคำอธิบายเพิ่มเติมดูนะครับ

        โดยปกติ ท่านคิดว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเรื่องร้ายหรือดี บุคลากรในโรงพยาบาลจะนึกถึงใครเป็นคนแรกครับ?
        “ตัวเอง” เชื่อว่าท่านคงต้องตอบแบบนี้

        ใช่ครับ...โดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนจะนึกถึง“ตัวเอง”ก่อนเสมอ แต่โรงพยาบาลสวีต้องการที่จะให้บุคลากรนึกถึงประโยชน์ของชุมชนก่อน ผู้บริหารตั้งใจที่จะพัฒนาโรงพยาบาลไว้ให้เป็นสมบัติของชุมชน โดยต้องการให้เป็นทั้ง “โรงพยาบาล” ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็น “บ้าน” ที่อบอุ่นสำหรับผู้ป่วย และยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ มี “สวน” สาธารณะและ “สวน” สุขภาพที่สวยงามไว้เป็นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจของบุคลากรในโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป

        สำหรับผมแล้ว มันเป็นวิสัยทัศน์ที่เรียบง่าย แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์กรได้เป็นอย่างดีทีเดียว

        ส่วนตัวอย่างที่ 2 เป็นแบบหรูเลิศอลังการประมาณรายการ“ดาวล้านดวง”ของคุณไก่(วรายุธ มิลินทจินดา)ไงครับ เป็นโรงพยาบาลทั่วไป(โรงพยาบาลระดับจังหวัด)ในจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกครับ เขาตั้งวิสัยทัศน์ของเขาไว้ รู้สึกจะประมาณปี 2546 ครับ ใจความว่า...

        “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแห่งเบื้องบูรพา สวยเด่นงามสง่า เป็นที่พึ่งพาของปวงชน”

        เป็นไงครับ...หรูมะ ผมคิดว่าวิสัยทัศน์ของเขามีคุณสมบัติครบทั้ง 6 ข้อเลยนะครับ และที่สำคัญยังมีความเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย เรามาดูกันทีละส่วนเลยล่ะกันครับ

        ส่วนแรกคือ คำว่า“โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแห่งเบื้องบูรพา”

        คำๆนี้จะบ่งบอกถึงตัวตนขององค์กรนี้ ที่ไม่มีโรงพยาบาลใดๆในระบบสุริยะจักรวาล จะสามารถเอาวิสัยทัศน์ของเขาไปใช้ได้ เพราะโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแห่งเบื้องบูรพามีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในกาแล็กซี่นี้ นั่นก็คือ “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว” 

        ส่วนต่อไปคือ คำว่า “สวยเด่นงามสง่า”

        คำว่า “สวย” เนี่ย ท่านคิดว่าเป็นสากลไหมครับ?

        เพราะถ้าไม่เป็นสากล เราก็คงไม่สามารถเอาสาวงามของแต่ละประเทศมาประกวดเวทีเดียวกันได้ แสดงว่า ความสวยมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป 

        ถ้ามีคนพูดว่า “โรงพยาบาลสวย” ถึงแม้ว่าแต่ละคนอาจจะมีภาพในจินตนาการแตกต่างกันบ้าง แต่น่าจะไปในแนวทางเดียวกัน และไม่ใช่สวยธรรมดาด้วยนะ แต่เป็น “สวยเด่น” คือประมาณว่า “สวยมาก” สวยกว่าโรงพยาบาลอื่นๆที่อยู่ในระดับเดียวกัน ถ้าเป็นภาพในใจผมนะ ก็ภาพของ “โรงพยาบาลเอกชนชั้นดี” ไงครับ เท่านั้นยังไม่พอ...ยัง “งามสง่า” เข้าไปอีก คือดู “มีระดับ” อีกด้วย สมพระนาม “สมเด็จพระยุพราช”

        ส่วนสุดท้ายคือ คำว่า “เป็นที่พึ่งพาของปวงชน”

        ในเมื่อเป็นโรงพยาบาล จะเป็นที่พึ่งพาในเรื่องอะไรให้ประชาชนได้ล่ะครับ ถ้าไม่ใช่เรื่อง “สุขภาพ” พูดง่ายๆก็คือ การเป็น “โรงพยาบาลคุณภาพที่ได้มาตรฐาน” นั่นเองครับ แต่ถ้าเราเขียนตรงๆว่า “เป็นโรงพยาบาลคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ผู้รับบริการพึ่งพอใจ” มันก็จะดูพื้นๆและดูโหลๆมากเกินไป อ่านแล้วไม่เกิดอารมณ์อะไรเลย หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “ไร้อารมณ์” ก็น่าจะได้นะครับ

        หมายเหตุ ปัจจุบันทั้งสองโรงพยาบาลไม่ได้ใช้ข้อความวิสัยทัศน์ดังกล่าวแล้ว สันนิษฐานว่า คงจะบรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้แล้ว จึงมีการเปลี่ยนข้อความวิสัยทัศน์เสียใหม่

โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า...

หมายเลขบันทึก: 538682เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2013 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2019 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท