โครงการพุทธประยุกต์วิทยากับสำนวนสุภาษิตไทย : ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ


ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ

ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ หมายถึงว่า วาจาที่เปล่งออกมาดูดี มีเหตุผล น่าฟัง แต่ซ่อนความใจดำไว้ภายใน สำนวนนี้น่าจะตีความไปถึงข้อความในพุทธศาสนาที่สอนเรื่องคนที่ควรไว้เนื้อเชื่อใจและไม่ควรไว้เนื้อเชื่อใจในมงคลชีวิตที่ว่า อย่าไว้ใจคนไม่ดี (อเสวนา พาลานํ) หมั่นรู้จักมักจี่กับคนดีไว้เสมอๆ (ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา) คนปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ แค่เพียงเราพิจารณาง่ายๆว่า หากเราเจอคนแบบนี้ เราจะแสดงตัวเองกับเขาอย่างไร แนวทางหนึ่งที่เราจะแสดงคือ การห่างคนแบบนี้จะดีกว่า เหตุผลที่ต้องห่างเพราะ หาความจริงใจอะไรไม่ได้ แต่ถ้าห่างไม่ได้ ก็ไม่ควรไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะคนแบบนี้ ปากอย่างหนึ่งใจอย่างหนึ่ง หรือ ปากกับใจไม่ตรงกัน ขณะเดียวกัน ก็สอนเราว่า เราต้องไม่ใช่คนแบบ "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ" หมายถึง ปากกับใจต้องตรงกัน ไม่ใช่ปากพูดดี มีสาระ น่าฟัง แต่ใจดำอำมหิต ริษยา อาฆาตมาดร้าย หรือคอยแทงข้างหลัง

วาทศิลป์ลักษณ์เลิศล้ำ........เหตุผล

เอมอิ่มลุอารมณ์......แน่นแท้

ใจดำดั่งโคลนตม......แอบซ่อน ซุกนา

ใครใคร่คบพบแส้....ฟาดให้ เจ็บตัว ฯ

ความจริงใจระหว่างกันนั้น ไม่ใช่จะสร้างขึ้นได้เพียงวันเดียว แต่บางคนกลับทำลายมันลงเพียงแค่เสี้ยววินาที ครั้นจะสร้างให้มันเกิดขึ้นอีก ยิ่งยากกว่าการสร้างครั้งแรก ปากที่ตรงกับใจหรือวาจาที่ตรงกับความรู้สึกในทางสร้างสรร คือแนวทางของการสร้างความจริงใจระหว่างกันที่ดี พุทธศาสนาสอนเรื่อง สัมมาวาจา นั่นหมายถึง คำพูดดี มีประโยชน์ เหมาะกับการเวลา ซึ่งต้องผนวกกับ ใจแห่งกรุณาด้วย

หมายเลขบันทึก: 538237เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2013 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท