"เพลินพัฒนาให้อะไร" เสียงสะท้อนจากนักเรียนรุ่น ๓


นายธีรเมธ เปรื่องเมธางกูร (ธีม)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล  มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 


ผมมาเรียนที่โรงเรียนเพลินพัฒนาตอน ชั้น ๕ – ชั้น ๙  ผมไม่รู้ว่านโยบายการทำงานกลุ่ม การไปภาคสนามมาจากผู้บริหารหรือคุณครูท่านไหน  แต่ผมรู้สึกขอบคุณมากว่าสิ่งเหล่านั้นเหมือนสร้างทุนให้ผม ที่มีอยู่ในตัวผมทุกวันนี้ที่เป็นศักยภาพที่อยู่ภายใน  สิ่งต่างๆ ที่เพลินพัฒนาสร้างให้ผม มันติดตัวผมไปตลอด ซึ่งผมดีใจมากที่ได้รับสิ่งเหล่านี้  ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก  


องค์ประกอบของโรงเรียนอาจจะมีหลายๆ ปัจจัย คุณครูเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งของโรงเรียน  ผมอยากจะขอบคุณคุณครู  ตอนผมเรียนมัธยมปลายผมฉายศักยภาพที่ได้รับมาจากเพลินพัฒนาจนคุณครูประทับใจ  แล้วก็มีคุณครูอาวุโสที่โรงเรียนพูดว่า “ครูประทับใจในตัวเธอมาก และสิ่งที่เธอทำนี่ ครูขอยกประโยชน์ ยกความดีความชอบให้คุณครูที่โรงเรียนเก่า  เพราะว่าเขาสอนเธอมาดีจริงๆ”


ถึงแม้สมัยที่ผมกับเพื่อนเรียนอยู่มัธยมโรงเรียนแนวเพลินพัฒนา  ยังเป็นแค่จุดเล็กๆ  ของวงการการศึกษาไทย  พวกผมก็หวังว่า สักวันหนึ่งจุดเล็กๆ จะขยายออกมาเป็นจุดใหญ่ๆ ในสังคมให้เห็นชัด และทุกคนจะเห็นความสำคัญ และยอมรับระบบนี้นะครับ


ผมอยากจะขอบคุณ คุณครูที่ดูแลพวกผมด้วยความรักความอบอุ่น ผมรู้สึกดีเหมือนมีแม่คนที่สองอยู่ที่โรงเรียน  มีหลายคนเลยครับ มีคนที่สอง สาม สี่ ห้า...  อยากจะเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่าน  รวมถึงคุณครูท่านใหม่ๆ ด้วย อยากให้คุณครูมอบความรักความอบอุ่นให้รุ่นน้อง เหมือนกับที่ผมและเพื่อนๆ ได้รับมา ขอบคุณครับ


นางสาวปราญชลี  บุญสงเคราะห์ (เอิน)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๒  คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  สาขาวิชานิเทศศาสตร์   มหาวิทยาลัยศิลปากร


มาเรียนที่เพลินพัฒนาตั้งแต่ชั้น ๖ - ชั้น ๘  ที่โรงเรียนนี้ ก็ค่าเทอมก็สูง คนที่มาเรียนก็มีแต่คนมีฐานะ ก็เลยคิดว่าอยากให้เด็กรุ่นน้องรุ่นต่อไป เป็นแบบ “สูงเฉียดฟ้า แต่เท้าก็ยังติดดิน”  แล้วก็อยากให้เด็กๆ ได้รับรู้ชีวิตจริง ได้ลงไปเรียนรู้ชีวิตจริง ว่าจริงๆ แล้วโลกแห่งความจริงเป็นอย่างไร  ไม่ได้เป็นแบบที่พ่อแม่ปูทางไว้ให้  ไม่ได้สวยหรูราบเรียบตลอดทาง อยากให้เขาได้เห็น


นางสาวธันยพร หยาง (ผิง ผิง) นักศึกษาชั้นปีที่ ๒  คณะโบราณคดี  สาขาวิชามานุษยวิทยา  มหาวิทยาลัยศิลปากร 


ประสบการณ์ภาคสนามเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก  เป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง เป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้ศักยภาพของตัวเรา เพราะว่า ตามปกติเราเชื่อว่าคนเรามีศักยภาพเบื้องลึกภายในที่ไม่สามารถแสดงได้ในสังคม ตามวัน เวลาปัจจุบัน แต่ว่าภาคสนามช่วงชั้น ๖ – ชั้น ๗  เป็นช่วงที่คิดว่าเป็นภาคสนามที่ดีที่สุดค่ะ  แล้วทุกคนก็จดจำ และมีส่วนกับชีวิตของเราเสมอ อย่างไปเพชรบุรี เราก็ยังจำเห็ดอะไรแบบนี้ได้อยู่เลย จำนกได้  จำอะไรได้เยอะแยะมากมาย


นี่ล่ะค่ะ หนูว่าชีวิตมันต้องเสี่ยงค่ะ เราเกิดมาครั้งเดียว ถ้าเราไม่เริ่มเสี่ยงตั้งแต่เด็ก เหมือนครั้งแรกที่เราเริ่มว่ายน้ำ ถ้าเรายืนอยู่ตรงสระ และเราไม่กล้ากระโดดครั้งแรกลงไป เราก็จะไม่มีวันที่จะกล้ากระโดดลงน้ำ หนูคิดว่าอย่ามัวแต่ปกป้องลูกหลานของคุณมากเกินไป  แบบลูกหลานจะเป็นอะไรไหม  เพราะเรามีกรอบกว้างๆ ของเราอยู่แล้ว ว่าโรงเรียนจะพานักเรียนไปเจออะไร ไม่มีใครอยากให้ลูกหลานได้รับอันตรายแน่นอนค่ะ ยังไงมันต้องกระโดดหนึ่งครั้งค่ะ เราถึงจะว่ายน้ำได้ ถ้าเราไม่กระโดด เราไม่มีวันว่ายได้ เราไม่มีวันเรียนรู้โลก หรือเรียนรู้อะไรได้จากการที่ยืนอยู่ข้างนอกและมอง มันต้องเอาตัวเข้าไปข้างในด้วยค่ะ


ก็อยากขอบคุณกับวิธีการเรียน การศึกษาในรูปแบบของเพลินนะคะ  เนื่องจากว่า หลายๆ คนที่เรียนที่นี่ก็จะรู้ว่า เพลินให้ทุกคนเรียนเอง ศึกษาเอง แล้วจะมีคุณครูคอยดูโดยมีไกด์ไลน์อยู่ห่างๆ  เพื่อให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อที่ต่างจากโรงเรียนรัฐบาล เพราะตรงนั้น เขาจะเอาข้อมูลความรู้ ไปอัดให้เด็ก ไม่ได้ให้เด็กคิดเองซึ่งในภายภาคหน้า ไม่ได้มีใครเอาข้อมูลมาให้ตัวเรา เพื่อให้ดำเนินชีวิต ทุกคนต้องคิดเองเพื่อดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ตรงนี้เป็นอะไรที่อยากจะขอบคุณเพลินมากๆ เลยค่ะ  เมื่อกี้เห็นเพื่อนพูดเรื่องเท้าติดดิน ก็เลยคิดถึงกลอนบทนี้ขึ้นมา ก็ได้รู้จักกวีคนนี้ คุณไพรวรินทร์  ขาวงาม ก็ที่โรงเรียนนี้ล่ะค่ะ

 

       “เท้าเมื่อเดินติดดินกลิ่นจะหอม

ใจเมื่อพร้อมเสียสละจะสีขาว

มือเปื้อนดินจะปั้นดินให้เป็นดวงดาว

ใจเหน็บหนาวจะเคี่ยวหนาวเป็นเปลวไฟ”

หนูคิดว่ามันเหมาะสมกับเพลินพัฒนามากๆ เลยค่ะ



นางสาวมนฤทัย จุฬาลักษณานุกูล (มิ้น)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๒  สาขาวิชาการออกแบบมัลติมีเดีย  วิทยาลัยนานาชาติ  มหาวิทยาลัยศิลปากร


ตอนพวกเราไปภาคสนามจะถึกบึกบึนมาก อย่างไปลงลุยโคลนอะไรก็ทำมาหมดแล้ว  อยากให้รุ่นหลังๆ ได้ลองทำอะไรแบบนี้บ้าง เพราะมันเป็นความสนุกอย่างหนึ่งในชีวิตที่หาไม่ได้  ไปอยู่กับชาวบ้าน ไปนอนแพ หรือไปที่ๆ มันกันดารนิดนึง ซึ่งทุกคนก็สนุก และทำให้เราได้รู้สึกติดดินดี  ทำให้เราอยู่ได้โดยไม่ต้องติดหรู ก็อยากจะขอขอบคุณครู ที่พาเราไปเดินธรรมยาตรา ต้องเดินเยอะมาก เป็นร้อยกิโลซึ่งทำให้เรามีภูมิ  ก็อยากให้โรงเรียนทำให้รุ่นน้องเจออะไรแบบนี้บ้าง



นางสาว สุพิชชา  เลิศวิชชบูรณ์ (เกด)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๒  วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชาการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร


ที่ฟังเพื่อนๆ พูดไป ก็เห็นด้วยทุกเรื่อง แต่ที่อยากเน้นหน่อยก็จะเป็นเรื่องที่เราชอบกัน คือภาคสนาม  ซึ่งจริงๆ ที่เพื่อนๆ ทุกคนพูดไปก็ถูกต้องทุกอย่างแล้ว เหมือนการลงภาคสนามทำให้เราเรียนรู้ของจริงเลยที่ไม่ได้อยู่แต่ในหนังสือ เหมือนตอนที่อยู่ชั้น ๙  ก็ได้เรียนเรื่องปราสาทสมัยทวาราวดี คนอื่นเขาได้เรียนกันแต่ในหนังสือ แต่เราได้ไปดูของจริง ตอนนั้นไป ๘  วัน ตั้งแต่เพชรบูรณ์ ลพบุรี อยุธยา ครบเลย แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าเข้าใจจริงๆ ได้เรียนรู้จากวิทยากร จากสถานที่จริง นอกจากทำให้สนุก และไม่เบื่อแล้วก็มีความรู้สึกว่าการเรียนรู้มีหลายด้าน และเราก็สนุกไปกับมัน เพราะถ้าเรียนในห้องคงหลับกันได้







หมายเลขบันทึก: 537965เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 .... ไพเราะจังเลย ......ให้ข้ิอ คิดด้วย นะคะ

       

 “เท้าเมื่อเดินติดดิน....กลิ่นจะหอม

ใจเมื่อพร้อมเสียสละ.... จะสีขาว

มือเปื้อนดินจะ.....ปั้นดินให้เป็นดวงดาว

ใจเหน็บหนาว....จะเคี่ยวหนาว....เป็นเปลวไฟ”

ขอบคุณ Dr.Ple มากค่ะ ที่ติดตามอ่านบันทึกอยู่เสมอ :)

เจือจันทร์ จงสถิตอยู่

การที่นักเรียนรู้จักเลือกกลอนแสดงความรู้สึกประทับใจเป็นสิ่งดีมากเป็นการสื่อสารดีจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท