ปีส่งท้ายแผนฯ 9


“คนในสังคมไทยทุกคนมีหลักประกันที่จะดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะ และเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค รวมทั้งอยู่ในครอบครัว ชุมชนและสังคมที่มีความพอเพียงทางสุขภาพ มีศักยภาพ มีการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ โดยสามารถใช้ประโยชน์ทั้งจากภูมิปัญญาสากลและภูมิปัญญาไทยได้อย่างรู้เท่าทัน”

          ปีนี้ (คิดจากปีงบประมาณ) เป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549) ลืมแล้วหรือยัง! มาทบทวนกันหน่อยดีกว่าครับ แผนฯ 9 จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นทิศทางการพัฒนาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และเพื่อการพัฒนานั้นส่งผลต่อระบบสุขภาพเป็นไปอย่างมีเอกภาพ สามารถบรรลุเป้าหมายของการสร้างระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ ตลอดจนเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งสุขภาวะอย่างแท้จริง โดยมีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วม โดยสรุปสาระสำคัญจะประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ
               1. แนวคิดหลักของการพัฒนาสุขภาพ 2 ประการ คือ สุขภาพคือสุขภาวะ และการพัฒนาระบบสุขภาพทั้งระบบ
               2. ความเชื่อมโยงของวิสัยทัศน์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับการพัฒนาสุขภาพ ใน 2 ประเด็น คือ
                    2.1 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับสุขภาพ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับสุขภาพ เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ การยึดทางสายกลาง มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี มีความสมดุลพอดี การรู้เท่าทันโลก และการรู้จักพอประมาณอย่างมีเหตุผล
                    2.2 ภาพลักษณ์ของสังคมและระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ คือเป็นระบบสุขภาพเชิงรุกที่มุ่งการสร้างเสริมสุขภาพดีของประชาชน ควบคู่กับการมีหลักประกันที่อุ่นใจในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เอื้ออาทรและมีคุณภาพเมื่อยามจำเป็น โดยสังคมทุกส่วนและทุกระดับ มีศักยภาพและมีส่วนร่วมในการสร้างและจัดการระบบสุขภาพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการเรียนรู้และใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน ทั้งจากภูมิปัญญาสากลและภูมิปัญญาไทย เพื่อให้สังคมไทยดำรงอยู่อย่างพึ่งตนเองได้และมีสุขภาวะในสังคมโลกที่มีสภาพการเชื่อมโยงและมีอิทธิพลต่อกันอย่างกว้างขวาง
               3. วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพ โดยวิสัยทัศน์ คือ “คนในสังคมไทยทุกคนมีหลักประกันที่จะดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะ และเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค รวมทั้งอยู่ในครอบครัว ชุมชนและสังคมที่มีความพอเพียงทางสุขภาพ มีศักยภาพ มีการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ โดยสามารถใช้ประโยชน์ทั้งจากภูมิปัญญาสากลและภูมิปัญญาไทยได้อย่างรู้เท่าทัน” ยุทธศาสตร์ที่นำมาใช้ 6 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
                    3.1 เร่งการสร้างสุขภาพเชิงรุก
                    3.2 การสร้างหลักประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้า
                    3.3 ปฏิรูประบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการระบบสุขภาพ
                    3.4 การสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมเพื่อสุขภาพ
                    3.5 การบริหารจัดการความรู้และภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ
                    3.6 การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและระบบสุขภาพใหม่
               4. แนวทางการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล ซึ่งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการประเมินจากทุกภาคส่วน และมุ่งที่การประเมินผลสัมฤทธิ์
          ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นกลไกหนึ่ง กลไกใดในการช่วยกันขับเคลื่อนแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9 นี้ ให้บรรลุผล น่าจะได้ทบทวน ย้อนมอง สิ่งที่ผ่านมา 4 ปี เพื่อปรับใหม่ในห้วงเวลาที่เหลือ พร้อม ๆ กันก็น่าจะได้ลงมือคิดเพื่อวางแผน ในช่วงแผนฯ 10 ที่จะมาถึงพลาง ๆ ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการ “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” ได้วางโจทย์นี้ไว้ในช่วงเดือนมกราคม 2549 ที่จะถึงนี้ ขณะนี้ก็จะส่งโจทย์ให้แก่เครือข่ายฯ เพื่ออุ่นเครื่องพลาง ๆ และเมื่อถึงเวลานั้นก็จะได้พร้อมสำหรับการร่วมเสวนาฯ ภายใต้หัวข้อ “แผนฯ 9 จะจากไปเราได้อะไรกันบ้าง และจะร่วมฝากอะไรไว้กับแผนฯ 10 ต่อไป” ครับ

หมายเหตุ : เรื่องทั้งหมดที่บันทึกไว้เป็นตอน ๆ คือ

[แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9]      [แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข]
[วาระแห่งชาติ "เมืองไทยแข็งแรง]      [แผนยุทธศาสตร์ “การสนับสนุนและพัฒนาการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ”]
[แผนยุทธศาสตร์จังหวัดพัทลุง]    
 [แผนยุทธศาสตร์จังหวัดพัทลุง ด้านสาธารณสุข]      [ปัญหาสาธารณสุข จังหวัดพัทลุง ปี 2547-2549]      [แผนยุทธศาสตร์กลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.พัทลุง ปี 2548 - 2550]

หมายเลขบันทึก: 5375เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2005 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท