KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 596. KM ใน ธกส.


เครื่องมือสำหรับใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการจัดการความรู้ในองค์กร มีมากมาย ที่องค์กรสามารถคัดเลือกนำมาใช้ประโยชน์ได้ เครื่องมือที่ง่ายและใช้กันทั่วไปอย่างหนึ่งคือ วงจรเดมมิ่ง ที่เราเรียกว่า PDCA สามารถนำมาใช้ยกระดับคุณภาพงานทีละเล็กทีละน้อยเป็นวงจรต่อเนื่อง และพนักงานสั่งสมความรู้และการเรียนรู้ต่อเนื่อง จนถึงจุดหนึ่งเกิดการยกระดับการทำงานในลักษณะที่จัดว่าเป็นนวัตกรรม การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน กับวงจรเดมมิ่ง เป็นส่วนของกันและกัน

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 596. KM ใน ธกส.

ผศ. ดร. ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ ขอให้ผมเขียนคำนิยม หนังสือที่จัดทำให้แก่โครงการ KM ธกส.  จึงนำมาเผยแพร่ ดังต่อไปนี้ 

คำนิยม

คู่มือประยุกต์การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL)

ในงานประจำของการประกอบธุรกรรม : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

วิจารณ์​พานิช

ผมตีความว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นสำหรับใช้เป็นคู่มือการดำเนินการจัดการความรู้ หรือเรียนรู้ ต่อเนื่องภายในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่เจ้าหน้าที่ของ ธกส. ดำเนินการกันเอง หลังจากโครงการฝึกอบรมโดยทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จบสิ้นลง

ขั้นตอนการฝึกอบรมเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางไกล หรือการดำเนินการจัดการความรู้ จากการทำงานประจำ ที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็นวงจรที่ไม่มีจุดจบสิ้น  จึงจะได้ประโยชน์แท้จริง  ดังนั้นการทำหนังสือคู่มือสำหรับช่วยเป็น Knowledge Assets ที่จะใช้ต่อยอดการดำเนินการ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ผมเข้าใจว่า หนังสือเล่มนี้เขียนในลักษณะของการสังเคราะห์ความรู้ที่เป็นทั้งความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit Knowledge) และความรู้จากการปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ที่ได้จากโครงการฝึกอบรมฯ 

โครงการฝึกอบรมนี้ เน้น “การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน”  และได้สรุปไว้อย่างชัดเจน (น. ๓๐) ว่า ความสามารถในการตั้งคำถามที่ท้าทาย มีความสำคัญอย่างยิ่ง   และที่จริงข้อความในหนังสือ ระบุการเรียนรู้จากความสำเร็จด้วย  เนื่องจาก ธกส. เป็นหน่วยงานที่มีสาขาจำนวนมาก ที่ทำงานเดียวกัน แต่อยู่ต่างพื้นที่   ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน  สาขาหนึ่งอาจแก้ปัญหา ก ลุล่วงด้วยดี  ในขณะที่อีกสาขาหนึ่งยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก  การมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสาขาที่แก้ปัญหา ก ได้ดี กับสาขาที่ยังมีปัญหา จะเป็นประโยชน์ต่อ ธกส. ในภาพรวมอย่างยิ่ง  และความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้สามารถจดบันทึกไว้เป็น Knowledge Assets ไว้ใช้งานใน ธกส. ทั้งหน่วยงาน ได้ต่อไป  ดังที่ผู้เขียนได้เขียนไว้เป็นกรณีตัวอย่างในภาคผนวก

ผลจากการฝึกอบรมครั้งนี้ ทั้งที่เป็นทักษะ/ความรู้ ติดตัวพนักงานที่เข้ารับการอบรม  และที่เป็นหนังสือคู่มือเล่มนี้  น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  ในการส่งเสริมให้พนักงานของ ธกส. ดำเนินการเรียนรู้และพัฒนางานประจำของตน  โดยการรวมตัวกันเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน  โดยควรจัดให้มี “พื้นที่” สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทั้งที่เป็นพื้นที่จริง (เช่น ตลาดนัดความรู้)  และพื้นที่เสมือน (virtual space) คือพื้นที่ใน cyberspace ซึ่งมีหลากหลายเครื่องมือ  และที่ใช้งานง่ายที่สุดในปัจจุบันคือ social media  

เครื่องมือสำหรับใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการจัดการความรู้ในองค์กร มีมากมาย  ที่องค์กรสามารถคัดเลือกนำมาใช้ประโยชน์ได้  เครื่องมือที่ง่ายและใช้กันทั่วไปอย่างหนึ่งคือ วงจรเดมมิ่ง ที่เราเรียกว่า PDCA  สามารถนำมาใช้ยกระดับคุณภาพงานทีละเล็กทีละน้อยเป็นวงจรต่อเนื่อง  และพนักงานสั่งสมความรู้และการเรียนรู้ต่อเนื่อง  จนถึงจุดหนึ่งเกิดการยกระดับการทำงานในลักษณะที่จัดว่าเป็นนวัตกรรม  การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน กับวงจรเดมมิ่ง เป็นส่วนของกันและกัน

ผมขอแสดงความชื่นชมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และทีมวิทยากร คือ รศ. นพ. ทวีศักดิ์ นพเกษร และ ผศ. ดร. ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ  ที่ร่วมกันดำเนินการโครงการประยุกต์การเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  และขออำนวยพรให้การดำเนินการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การดำเนินการต่อยอด จัดการความรู้ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พ.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 537220เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2013 04:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2013 04:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท