ประวัตินายผล แสงสว่าง อดีตกำนันตำบลธารทหาร


          

 นายผล แสงสว่าง

อดีตกำนันตำบลธารทหาร

อ.หนองบัว  จ.นครสวรรค์

กำเนิด

        เกิดเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ปีเถาะ ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งคนภาคกลางในจังหวัดลพบุรี เรียกกันว่าบ้านล่าง
ติดตามญาติอพยพขึ้นมาอยู่ที่บ้านห้วยด้วน ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว คนลพบุรีเรียกพื้นที่ ที่เหนืออำเภอบ้านหมี่ ตั้งแต่สถานีรถไฟช่องแค เขตนครสวรรค์ขึ้นมาว่าเมืองเหนือเมืองเหนือในที่นี้หมายถึงเมืองที่อยู่เหนือจังหวัดลพบุรีขึ้นไป มิใช่จังหวัดในภาคเหนือ เช่นเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ฯลฯ

การศึกษา

      จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาพระธรรมได้นักธรรมโท เมื่อแตกเนื้อหนุ่ม ไม่ทันได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ ได้ลาสิกขาเสียก่อนอพยพไปอยู่บ้านดงขุยจังหวัดพิจิตรอยู่ระยะหนึ่งจึงได้กลับมาอยู่บ้านห้วยด้วนดังเดิม

อาชีพการงาน

        ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่บ้านห้วยด้วน ตำบลธารทหารเป็นพื้นที่ปกครองของตำบลพนมรอก อำเภอท่าตะโก ในยุคนั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖หรือเมื่อเมื่อ ๗๐ ปี ที่ผ่านมาอุดมไปด้วยน้ำในลำห้วยซึ่งมีน้ำจากเทือกเขาในที่ราบสูงด้านตะวันออกไหลลงสู่บึงบรเพ็ดด้านตะวันตก ท่านจึงประกอบอาชีพทางการเกษตรทำนา บุกเบิกพื้นที่นาและจับจองเพิ่มเติมได้หลายร้อยไร่

ชีวิตครอบครัว

       มีภรรยาชื่อ หยวก ไม่มีบุตรด้วยกัน ได้รับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม ๒ คน

งานในหน้าที่กำนัน

       เนื่องจากเป็นคนทำมาหากิน จริงจังการงานในส่วนรวมโดยเฉพาะวัดที่เป็นที่รวมใจของคนไทย และสนใจในคาถาอาคมมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เมื่อตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านว่างลง จึงได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาเมื่อตำแหน่งกำนันว่างลงอีก นายอำเภอได้ขอมติจากผู้ใหญ่ในตำบลธารทหาร เสียงทั้งหมดเห็นควรให้นายผล
แสงสว่างเป็น กำนัน ท่านได้สนองนโยบายของทางอำเภอด้วยดี เรื่องเรี่ยไรซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ ท่านมีความคิดว่าจะต้องเอาชนะตำบลในตลาดให้ได้คือตำบลหนองบัว และตำบลหนองกลับ เพื่อสร้างความเชื่อถือให้นายอำเภอรู้ว่าถึงแม้ตำบลธารทหาร จะไม่มีคนอยู่อุ่นหนาฝาคั่ง หรือมั่งมีอย่าง ๒ ตำบล  ท่านจะต้องให้ตำบลธารทหาร เป็นที่ยอมรับของอำเภอหนองบัว และท่านก็ทำได้ เพราะความเป็นคนจริงเสมือน เหล็กกล้า ยอมหักได้แต่ไม่ยอมงอ จนคนอำเภอหนองบัวต้องกล่าวขวัญถึงอยู่ จนทุกวันนี้ว่าเรี่ยไรเงินซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ ตามนโยบายของนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ได้มากกว่าทุกตำบล รถแทรกเตอร์ ดี ๘ จึงต้องเริ่มทำงานที่ตำบลธารทหารก่อนทำให้ท่านมีหน้ามีตาเป็นที่กล่าวขวัญกันสืบมา

        เรื่องงานในหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายแล้วทางอำเภอและตำรวจเบาใจได้ หากโจรผู้ร้ายหลบหนีเข้ามาในตำบลของท่านให้รีบแจ้งท่านทันที ท่านจับตัวส่งอำเภอได้หมด นอกจากหลบหนีออกนอกพื้นที่ไปพื้นที่อื่นก่อน
วัวควายพลัดหลงมาในพื้นที่ราษฎรจับได้ต้องจับส่งกำนัน ท่านส่งคืนให้อำเภอหมด หากราษฎรคนใดรับของโจรไว้ท่านไม่ให้อภัยมีโทษหนัก เมื่อมีเสียงปืนหรือเหตุร้ายท่านจะวิ่งเข้าหา เพื่อระงับเหตุ คนร้ายจะแสยงเพราะกิติศัพท์ในความอยู่ยงคงกระพันของท่าน

       ท่านเป็นคนตรงพูดคำใดต้องเป็นคำนั้น ยุคนั้นมีการจับจองที่ดินเพื่อถือครอง ต้องแจ้งกำนันให้ตรวจสอบและรับรองการทำประโยชน์ กำนันชี้แนวไหนต้องเป็นแนวนั้น หัวคันนาต้องเป็นเส้นตรง ยกเว้นจรดลำห้วยลำคลองที่คดเคี้ยว หากกำนันชี้แล้วไม่เอาตาม จะโดนเอ็ดและไม่รับรองให้

      นายศักดิ์ แก้วนิคม เป็นเด็กตำบลหนองกลับเล่าว่า เมื่อพื้นที่ตำบลหนองบัวหนองกลับหว่านกล้าแล้ว ต้องต้อนควายไปเลี้ยงแถวโคกดอนตำบลธารทหาร พบกำนันผล แสงสว่าง ผ่านมาท่านถามว่า “ไอ้หนูแกต้อนควายมาจากไหน ” นายศักดิ์ แก้วนิคม ตอบว่า “มาจากตำบลหนองกลับครับพ่อกำนัน แถวบ้านผมเขาหว่านกล้าหมดแล้วไม่มีที่เลี้ยง “ ท่านตอบว่า “มาไกลจังแก” แล้วท่านพูดต่อไปอีกว่า “ไอ้หนูแกไม่ต้องห่วงควายหายหรอก หากควายหาย ๑ ตัว ให้มาเอาที่กำนัน ๒ ตัว ได้เลย“ ยามเมื่อมีงาน หรือมีลิเกมาแสดงในบ้านใดในตำบลของท่าน สารวัตรกำนันจะเอาเสื้อเครื่องแบบของกำนันไปแขวนไว้ในงาน ชาวบ้านจะรู้ว่าเดี๋ยวกำนันผล แสงสว่าง จะต้องมา งานนั้นจะไม่มีเรื่องมีราวหรือทะเลาะวิวาทกันในงาน คนเมาเห็นกำนันผล แสงสว่าง ต้องสร่างเมาทันที มิฉะนั้นเจ็บตัวโดยท่านไม่ต้องลงไม้ลงมือเอง ท่านมีสารวัตรมือปราบเป็นมือขวา คือสารวัตรหอม งานการแสดงต่างๆ ในเวลาค่ำคืนไม่ต้องมีทางอำเภอและตำรวจมารักษาความสงบให้เสียเบี้ยเลี้ยง

งานสาธารณประโยชน์

       เนื่องจากกำนันผล แสงสว่าง เคยบวชเป็นสามเณรอยู่หลายปี ศึกษาปริยัติธรรมจนได้ นักธรรมชั้นโท ถึงไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ถือว่าใกล้ชิดพระพุทธศาสนา มองกาลไกล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ได้บริจาคเงิน ที่ดิน และสิ่งก่อสร้างให้ วัด โรงเรียน เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ดังนี้

        ๑.บริจาคบ้านหนึ่งหลังสร้างกุฏิให้วัดห้วยด้วน จ้างเขาย้ายมาปลูกใหม่เป็นเงินจำนวน  ๘,๐๐๐ บาท

        ๒.นำราษฎรสร้างศาลาวัดห้วยด้วน ด้วยการนำราษฎรตัดไม้จากป่าตำบลธารทหารมาสร้างโดยใช้พระพิรุณที่ยังเก็บรักษาไว้ใต้ถุนกุฏิทุกวันนี้เข็นมา

        ๓.ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ กำนันผล แสงสว่าง บริจาคที่ดินให้โรงเรียนซึ่งเดิมชื่อ โรงเรียนประชาบาลพนมรอก ๓ (วัดห้วยด้วน) เป็นที่ดินจำนวน ๗ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวา พร้อมทั้งมอบห้องแถวจำนวน ๔ ห้อง ให้เป็นอาคารเรียน จึงได้เปลี่ยนชื่อว่าโรงเรียนเป็น โรงเรียนธารทหาร(แสงสว่างอุปถัมภ์) ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขยายโอกาสมีชั้นการศึกษาสูงสุดถึง มัธยมศึกษาปีที่  ๓

        ๔.ก่อนตายได้เขียนพินัยกรรมใส่แผ่นกระดานไว้ว่าบริจาคที่นา ๙๐ ไร่ ถวายวัดห้วยด้วน แต่มีปัญหาในเรื่องมรดก ทางวัดจึงไม่ขอรับ

        ๕.ถนนจากห้วยด้วนไปอำเภอหนองบัว พัฒนาได้เป็นเส้นตรงก็เกิดขึ้นในสมัยของท่าน

บั้นปลายชีวิต

         ท่านป่วยเพราะไปเข็นรถล้มลง บาดเจ็บที่หัวไหล่นอนป่วยอยู่ไม่นานก็ถึงแก่กรรมลง
เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๖ สิริอายุได้ ๗๒ ปี.

 

หมายเลขบันทึก: 536994เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท