ข้อสังเกตบางประการต่อนิติรัฐและนิติธรรม ตอนที่ 3 ความแตกต่างของนิติรัฐกับนิติธรรม


ความแตกต่างของคำว่านิติรัฐกับนิติธรรม

ถึงแม้ว่าสองคำนี้จะมีความเหมือนกันมาก แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านให้เสนอความแตกต่างเอาไว้ มีดังนี้

1.พิจารณาจากต้นกำเนิด ข้อความคิดเรื่อง นิติรัฐ มีวิธีการศึกษา (Approach methodology) ตั้งต้นเริ่มจากรัฐ เพราะเป็นธรรมเนียมของนักกฎหมายมหาชนและนักปรัชญาภาคพื้นยุโรปที่มุ่งเน้นศึกษาทฤษฎีว่าด้วยรัฐเป็นสำคัญ กล่าวคือใช้ข้อความคิดว่าด้วย รัฐ เป็นวัตถุแห่งการศึกษา และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกฎหมายนั่นเอง ในขณะที่ข้อความคิดเรื่อง นิติธรรม นั้นมีต้นกำเนิดจากความหวั่นเกรงการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ หลักนิติธรรมจึงมุ่งหมายไปที่การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชน กล่าวให้ถึงที่สุด หลักนิติรัฐเป็นมุมมองจากรัฐ แต่หลักนิติธรรมเป็นมุมมองจากปัจเจกชน อีกนัยหนึ่งก็คือนิติรัฐพยายามคุมรัฐ จำกัดอำนาจของผู้ปกครอง แต่นิติธรรมเน้นไปที่ปัจเจกเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เน้นไปที่การกระจายอำนาจให้กับประชาชน

2. พิจารณาทางเนื้อหาสาระ หลักนิติรัฐเกี่ยวกับกรณีที่รัฐยอมตนลงมาอยู่ภายใต้กฎหมาย เป็นเรื่องของโครงสร้างลำดับชั้นทางกฎหมาย เป็นเรื่องของหลักความชอบด้วยกฎหมาย ที่สถาปนาให้กฎหมายเป็นทั้งที่มาและข้อจำกัดของอำนาจมหาชน เป็นเรื่องการแบ่งแยกอำนาจอย่างสมดุล และเป็นเรื่องบทบาทขององค์กรตุลาการในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมาย

ในขณะที่หลักนิติธรรมนั้น ไม่มีกรอบความคิดที่เป็นระบบระเบียบเท่ากับหลักนิติรัฐ แต่สร้างหลักขึ้นมาเฉพาะเรื่องเฉพาะราวตามแนวคิดเสรีนิยม เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้พ้นจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ กล่าวให้ถึงที่สุด หลักนิติรัฐของภาคพื้นยุโรป เน้นที่รูปแบบ-โครงสร้าง และวิธีการในการไปให้ถึงเป้าประสงค์ ในขณะที่หลักนิติธรรมของแองโกลแซกซอนหรืออังกฤษเน้นที่เนื้อหา และกระบวนการ

3. พิจารณาจากสกุลกฎหมาย หลักนิติรัฐกำเนิดและพัฒนาในสกุลกฎหมาย Romano-Germanic ซึ่งยอมรับการแบ่งแยกกฎหมายเอกชน-กฎหมายมหาชน ยอมรับความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ในขณะที่หลักนิติธรรมกำเนิดในสกุลกฎหมายแองโกล-แซกซอน หรืออังกฤษซึ่งไม่มีการแบ่งแยกกฎหมายเอกชน-มหาชน ไม่มีการแบ่งแยกศาลยุติธรรม-ศาลปกครอง และยอมรับความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา  อย่างในระบบกฎหมายอังกฤษ กฎหมายที่ศาลนำมาใช้ในการตัดสินเป็นกฎเกณฑ์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในราชอาณาจักร หรือที่เรียกว่าคอมมอน ลอว์ Common Law และคดีที่ได้รับการตัดสินไปแล้ว และกลายเป็นหลักตัดสินคดีตกทอดมาเป็นลำดับ กฎหมายในระบบนี้จึงไม่ได้มีแต่กฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาเท่านั้น (Statute Law) แต่ยังรวมไปถึงหลักการและแนวทางการตัดสินของผู้พิพากษา(Case Law) ที่ศาลยอมรับสืบต่อกันมาด้วย ส่งผลให้กฎหมายสอดคล้องกับสภาพสังคมตลอดเวลา เพราะศาลมีอำนาจตัดสินได้ตามอำเภอใจ (Satre Decisis) แต่ศาลในคดีหลังต้องผูกพันตามกฎหมายที่ศาลในคดีก่อนได้ตัดสินไว้แล้ว การเปลี่ยนแปลงจึงกระทำได้โดยยาก

4. พิจารณษความแตกต่างในด้านการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ด้านนิติรัฐนั้น รัฐคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นลายลักษณ์อักษร ในรูปแบบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายอื่น ๆ อย่างเช่นในเยอรมัน การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นการคุ้มครองในระดับรัฐธรรมนูญของประเทศ เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้โดยตรง ในการตรากฎหมายใช้บังคับ องค์กรนิติบัญญัติไม่สามารถตราขึ้นขัดหรือแย้งได้ มิฉะนั้นจะถือว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนด้านนิติธรรมนั้น ไม่มีลายลักษณ์อักษรเป็นหลักประกันแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติบุคคลย่อมได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานโดยองค์กรตุลาการ

5. พิจารณาความแตกต่างด้านการควบคุมตรวจสอบการตรากฎหมาย ตามหลักนิติรัฐ องค์การนิติบัญญัติย่อมผูกพันต่อรัฐธรรมนูญในการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ จึงกำหนดให้มีองค์กรที่คอยควบคุม ตรวจสอบ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่องค์กรนิติบัญญัติตราขึ้น ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักนิติรัฐ การตรากฎหมายย่อมตกอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบขององค์กรตุลาการ ส่วนหลักนิติธรรมนั้น ถือว่ารัฐเป็นรัฐาธิปัตย์ ในทางทฤษฎี รัฐสภาสามารถตรากฎหมายอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่อาจมีกรณีที่รัฐสภาตรากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ การควบคุมการตรากฎหมายของรัฐสภาจึงเป็นการควบคุมกันทางการเมือง กล่าวคือประชาชนถ้าเห็นวว่ารัฐออกกฎหมายที่ล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเขาแล้วก็อาจประท้วง ไม่ยอมรับกฎหมายนั้น ไม่ใช่ต้องตรวจสอบกันในทางกฎหมายหรือต้องมีศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ

6. พิจารณาความแตกต่างทางด้านการแบ่งแยกอำนาจ ด้านนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ ถือได้ว่าเป็นหลักสำคัญอันจะขาดมิได้ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบกันและกัน เพื่อมิให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าและกระทำการตามอำเภอใจ ส่วนหลักนิติธรรมนั้น ไม่ปรากฏให้เห็นเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ เนื่องจากรัฐสภาและรัฐบาลมีความเชื่อมโยงกันเป็นอย่างมาก แต่ทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต่างก็ยอมรับความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ

โดยสรุปจากเนื้อหาดังกล่าวสรุปได้ว่า หลักนิติรัฐนั้น กำหนดอำนาจ หน้าที่ และการควบคุมตรวจสอบอำนาจของรัฐไว้ โดยที่รัฐจะกระทำการใด ๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และจะกระทำการใดอันนอกเหนือกฎหมายบัญญัติไว้มิได้ ส่วนหลักนิติธรรมนั้น คนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายเดียวกัน และศาลเดียวกัน โดยที่กฎหมายนั้นจะต้องมีความเป็นธรรม ละเลิกเสียซึ่งความไม่เป็นธรรมทางกฎหมาย ซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภทได้แก่ 1. ความไม่เป็นธรรมจากตัวบทกฎหมาย 2.ความไม่เป็นธรรมจากบริบทของกฎหมาย 3.ความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นกฎหมายนั้นเป็นที่ยอมรับของสังคม

หนังสืออ้างอิง

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย.สังคมไทยกับหลักนิติรัฐ. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=439615  เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมชาย เหล่าพิทักษ์วรกุล. นิติรัฐกับนิติธรรม. http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1442  เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. นิติรัฐ.  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90 เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปิยบุตร แสงกนกกุล. “นิติรัฐ” (Rechtsstaat, Etat de droit) ไม่เหมือนกับ “นิติธรรม” (Rule of Law). http://www.enlightened-jurists.com/directory/16/Rule%20of%20%20Law.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พิมพ์พิมล นวชัย. ความแตกต่างของนิติรัฐและนิติธรรม. http://wanwila.exteen.com/20110911/entry  เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 536993เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท