กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและแนวทางใหม่ในการเก็บข้อมูล


มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา หรือ มคอ. น่าจะเป็นเรื่องที่เราๆ ท่านๆ ในวงการอุดมศึกษารู้จักดีแล้วนะครับ เดาว่าถ้าพูดถึงคำนี้อาจส่งผลถึงอารมณ์ของอาจารย์และผู้บริหารหลายๆ ท่านก็เป็นได้

มคอ. นี้ ถ้ามองในระดับมหภาค ก็เป็นแรงหนุนจากกระแส accountability movement ที่มาจากฝั่งตะวันตก ซึ่งพูดกันง่ายๆ คือการยื่นมือเข้ามาล้วงลูกของภาครัฐ โดยการบังคับให้สถาบันอุดมศึกษา แสดงหลักฐานยืนยันการกระทำทุกอย่างเท่าที่จะยืนยันได้ ในแง่ของความคุ้มค่าของทรัพยากร ซึ่งเรื่องนี้เป็นปรากฎการณ์ระดับโลก

สาเหตุใหญ่มาจาก (1) รัฐไม่ไว้ใจในมาตรฐานของอาชีพอาจารย์ (2) บทบาทของสถาบันเองที่เปลี่ยนจากสถาบันสาธารณะเป็นสถาบันที่ตอบสนองผลประโยชน์ส่วนบุคคล (ปริญญากลายเป็นสินค้า) ทำให้สถาบันต้องพิสูจน์คุณภาพของตนเอง และ (3) โลกาภิวัฒน์ทำให้สถาบันต้องเข้าสู่มาตรฐานสากล (Huisman & Currie, 2004)

เรื่องที่น่าเศร้าของ accountability หรือหน้าที่ความรับผิดชอบที่ถูกบังคับมาจากภาครัฐนั้น ไม่ว่าจะประเทศไหนทั้งในยุโรปหรืออเมริกาลงเอยด้วยการทำแบบขอไปทีพอเป็นพิธี หรือที่เรียกว่า soft accountability ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบและอธิบาย มากกว่าจะเป็น hard accountability ที่หมายถึงการลงโทษและให้รางวัล (Huisman & Currie, 2004) หลายๆ สถาบันก็ปรับตัวโดยการใช้เครื่องมือการประเมินแบบเดิมๆ มาปรับแก้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีผลกระทบถึงความเปลี่ยนแปลงได้จริง ความไม่เดียงสาและขาดแคลนทรัพยากรที่จะควบคุมบุคลากรในภาคอุดมศึกษาบวกกับแรงต้านของบุคลากรอุดมศึกษาเอง ทำให้ accountability กลายเป็นการต่อรองทางการเมือง มากกว่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิชาชีพอย่างแท้จริง

สำหรับบ้านเรา แรงต้านทั้งแบบดื้อเงียบและแบบโจ่งแจ้งก็มีให้เห็นและรู้สึกได้ในหลายๆ สถาบันที่ได้รับผลกระทบ ผลที่ออกมาก็ไม่ต่างจากที่ Huisman & Currie (2004) เขาอธิบายไว้ในบริบทของต่างประเทศ นั้นคือภาครัฐฯ เองก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะมากำกับควบคุมและสถาบันอุดมศึกษาเองก็ปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับมือกับ soft accountability กันทั่วหน้า ด้วยการตั้งหน้าตั้งตาเก็บข้อมูลต่างๆ มากมายเพื่อเอาไว้โชว์ไว้อวด

กลุ่มคนที่ซวยที่สุดคือ นิสิตนักศึกษาครับ เพราะข้อมูลที่วิ่งเก็บกันอยู่นั้น ทั้งแบบสอบถามออนไลน์และแบบที่พิมพ์แจก ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากการถามเอาจากน้องๆ เหล่านี้ ที่ร้ายไปกว่านั้น หลายๆ สถาบันมีการมัดมือชกเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเสียด้วย เช่นถ้าไม่ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับตัวชี้วัดรายวิชาก็จะไม่ออกเกรดให้ เด็กก็อยากรู้เกรดแต่ต้องมาตอบแบบสอบถามหลายสิบข้อผมว่ามันเป็นการทำร้ายจิตใจกันนะครับ คล้ายกับการที่ญาติผู้ป่วยหน้าห้องผ่าตัดกำลังรอคำวินิจฉัยจากคุณหมอว่าคนป่วยเป็นอะไรมากไหม แต่พอคุณหมอออกมาจากห้อง กลับยื่นแบบสอบถามให้ปึกใหญ่แล้วบอกให้ทำให้เสร็จก่อนถึงจะบอกนะครับ

ความมักง่ายในการเก็บข้อมูลแบบนี้ นอกจากทำให้เยาวชนที่หน่ายคัมภีร์ต้องหน่ายแบบสอบถามด้วยแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างไร้สาระ

ข้อเสียในส่วนของข้อมูลคืออะไรหลายคนคงพอจะจินตนาการได้นะครับ ข้อแรกคือเราจะได้ข้อมูลที่ห่วยแตก ไม่สามารถเอาไปใช้งานได้จริง (เด็กก็รีบกาๆ ส่ง เพราะอยากรู้เกรด) ข้อสองคือทำให้เด็กเบื่อหน่ายกับการทำแบบสอบถาม (survey fatigue) เพราะถามมันอยู่นั่นแหละ พอถึงเวลาที่เราอยากจะถามอะไรจริงๆ จังๆ เขาก็ไม่อยากจะทำเสียแล้ว และไม่ว่าจะด้วยความกระหายข้อมูลในเชิงปริมาณจนเสียสติ หรือด้วยความตั้งใจที่จะเอาข้อมูลมาปรับปรุงคุณภาพอย่างจริงใจ การกระทำเยี่ยงนี้ผมฟันธงได้เลยว่าไม่สามารถทำให้สถาบันเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้จริง อย่างมากที่สุดก็เอาตัวเลขมาโชว์กรรมการตรวจสอบ ซึ่งก็จะออกมาในแบบ soft accountability คือทำให้ผ่านๆ ไปเท่านั้น

ที่เล่ามาแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยกเลิกแบบสอบถาม (ซึ่งมันก็มีคุณค่าในตัวเอง เพียงแต่เราเอามาใช้ผิดๆ และพร่ำเพรื่อ) แต่ผมอยากจะลองเสนอวิธีการอื่นที่อาจจะใช้แทนการระดมแจกแบบสอบถามอย่างบ้าคลั่ง

เรื่องแรกที่เราพอจะทำกันได้ในระดับสถาบันคือการเอาข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างสูงสุด เช่นข้อมูลจากฝ่ายทะเบียน ข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือข้อมูลจากระบบ learning management system ที่สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ใช้กันอยู่แล้ว 

Wiki Log Data

ในระดับวิชา สมมติว่าเราอยากจะตอบคำถามว่า ผู้เรียน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากเท่าไร แทนที่เราจะถามเขาตรงๆ ผ่านแบบสอบถาม (ซึ่งไม่ได้รับประกันว่าจะได้คำตอบที่ตรง) เราก็ใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วในกิจกรรมการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาตอบคำถาม เช่นถ้าเราให้ผู้เรียนทำงานกลุ่มใน wiki เราก็สามารถจะย้อนดูได้เลยว่าใครเข้ามาแก้ไขเอกสารเมื่อไร


Learning Management System

สมมติว่าเราจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง คือนอกจากเรียนในชั้น ก็ให้เด็กส่งงาน อัปโหลดดาวโหลดไฟล์ หรือใช้เว็บบอร์ดคุยกัน log activity ที่อยู่ใน learning management system ก็สามารถตอบคำถามได้หลายอย่าง เช่นใน ส่วนที่ 4 ของ มคอ. 3 (ระดับวิชา) ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดชอบและวินัยของผู้เรียน ถ้าเราดูจาก log activity แล้วเห็นว่าผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมตลอดอย่างต่อเนื่อง และดูจากผลคะแนนของกิจกรรมนั้นๆ ก็สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ โดยไม่ต้องถามอะไรเพิ่มเติมจากผู้เรียนเลย 


โซเชียลเน็ตเวิร์ก

ถ้าอยากได้ข้อมูลเชิงลึก ก็ไม่ควรจะไล่แจกแบบสอบถาม หรือบังคับให้ทุกคนทำแบบสอบถาม แต่ควรจะใช้เวลานั่งคุยกับตัวแทนของผู้เรียนแบบเปิดอก การจะเลือกตัวแทนของผู้เรียนที่มีคุณภาพก็มีได้หลายวิธีครับ คือดูจากผลการเรียน (แต่ถ้าเลือกแต่เด็กเรียนดีก็เหมือนเป็นการบิดเบือนข้อมูลเหมือนกัน) อีกวิธีคือใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ผมเชื่อว่านิสิตนักศึกษาสมัยนี้เขามี Facebook Group กันอยู่แล้ว และมันก็มีเทคโนโลยี Graph API ที่ช่วยให้เราสร้างภาพโครงข่ายของเพื่อนในเฟซบุ๊กได้ง่ายๆ ด้วย app ที่ชื่อว่า netvizz (Rieder, 2012) ผนวกกับซอร์ฟแวร์ gephi จากภาพเราก็จะเห็นว่าเด็กคนไหนเป็นเด็กที่มีเพื่อนเยอะที่สุด ซึ่งหมายถึงเด็กที่มีอิทธิพลในแง่ของโครงข่าย (network power) เยอะที่สุด ซึ่งอาจจะเรียนเก่งหรือไม่ก็ตาม เราเลือกเอาเด็กที่อยู่ศูนย์กลางของเครือข่ายและเด็กที่อยู่ชายขอบมานั่งคุย ก็อาจจะได้มุมมองที่แตกต่างไปอีกแบบก็ได้


ใช้แบบสอบถามอย่างจริงใจ

เทคนิคเหล่านี้อาจจะไม่เหมาะสมกับทุกสถาบันอุดมศึกษา เพราะหลายแห่งก็ไม่ได้ใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์กันมากนัก ข้อมูลอาจจะน้อยไป และสุดท้ายก็ต้องหันหน้าเข้าหาเทคนิคเดิมๆ คือแบบสอบถาม ซึ่งผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร แต่เราต้องทำอย่างจริงใจ คำว่าจริงใจหมายถึงทำแล้วต้องเอาผลมาใช้จริง เอามาโชว์ให้ทุกฝ่ายเห็น โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ต้องอธิบายกับพวกเขาให้ได้ว่าที่บังคับขู่เข็ญหรือขอร้องให้ทำแบบสอบถามเสียมากมายนั้น ผลมันเป็นอย่างไร แล้วทางสถาบันจะทำอะไรกับผลที่ได้รับ

ถ้าจริงใจก็ต้องทำเป็นป้ายประกาศแปะให้น้องๆ เขาเห็นเลยว่าข้อมูลที่เขาให้ มีความสำคัญและมีส่วนช่วยในการกำหนดทิศทางของสถาบันอย่างไร มันก็จะเป็นกำลังใจ อย่างน้อยก็หวังว่าเขาจะตั้งใจทำแบบสอบถามในครั้งต่อไป ไม่ต้องใช้ของรางวัลล่อหรอกครับว่าตอบแบบสอบถามแล้วอาจจะได้ iPod iPad อะไร เราเน้นคุณภาพดีกว่า

หมายเหตุ

บทความนี้ดัดแปลงจาก Buraphadeja, V. (2012). Using existing data to reduce accountability in Higher Education. APHEIT International Journal 1 (1), 57-66.

หมายเลขบันทึก: 536882เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ที่มหาวิทยาลัย ...

หากนักศึกษาไม่ตอบแบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับการสอนของอาจารย์

มหาวิทยาลัยจะไม่ยอมออกเกรดให้

มคอ. ... เฮ้อ !!!

น่าสนใจมากเลยครับ 


อยากให้มีการปรับเปลื่ยนมากๆเลยครับ

TQF เป้าหมายหลักคือ การพัฒนา สมรรถนะ ของนิสิตนักศึกษา ครับ

ขอบคุณครับคุณหมอ JJ

มหาวิทยาลัยต้องตั้งสติ ก่อนสตาร์ทเก็บข้อมูล TQF นะครับ ว่ามันจะช่วยในการพัฒนานิสิต นักศึกษา หรือไม่

จริงๆ เพื่อนอาจารย์หลายท่าน หลังจากฝ่าดง TQF 3, 5 มาแล้วพบว่ามันช่วยให้เขาจัดการเรียนการสอนดีขึ้น! นั่นก็แปลว่าตัว Framework ระดับชั้นเรียนมันใช้ได้ ขอเพียงแต่เราอย่าหลงประเด็น อย่าทำเพื่อให้เป็นเรื่องขอไปที หรือทำเพราะรัฐฯ ขอให้ทำ ผมว่าเรามีความหวังครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท