“GotoKnow” The growth of mind.



น้ำแข็งส่วนที่จม เปรียบเหมือนความรู้ที่ไม่มีเรียนในตำรา

 GotoKnow”  The growth of mind.

ผมสมัครเป็นสมาชิก GotoKnow เมื่อ ๔ ปีที่แล้วก็จริง แต่เป็นเพียงสมาชิกปลายแถวที่มีเพียงรูปถ่ายด้านข้างและสมุดที่ว่างเปล่าประจานไว้หน้าบล็อก  นานๆ ผมจะแวะมาอ่านบันทึกหน้าแรกของ GotoKnow  ในช่วงเวลาก่อนปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ เพียงอยากรู้ว่า “วันนี้มีบันทึกของใครที่ดลใจบ้าง?” ใคร ของผม หมายถึง “ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องที่ผมต้องการเรียนรู้” ตอนนั้นผมถูกครอบงำด้วยทฤษฎี งานวิจัย จนมองข้ามคุณค่าของความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตจริงกับผู้คนในสังคมมากมาย แวบหนึ่งก็อยากจะเข้าไปบันทึกแลกเปลี่ยนรู้กับเพื่อนสมาชิกอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มั่นใจในตนเองเอาเสียเลย ไม่กล้าพอที่จะเสนอแนวคิด มุมมองในเรื่องที่ตนมีความรู้ มีประสบการณ์ ต่อสาธารณะ  รู้สึกยากที่จะเขียนบันทึกให้คนอ่านได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาในแนวที่ถนัด แม้จะรู้ดีว่าทุกคนเกิดมาก็มีชีวิตเกี่ยวข้องกับการศึกษาด้วยกันทั้งนั้น....  กว่าจะรวบรวมความกล้าได้ก็เวลาล่วงมาถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๖  บันทึกใน GotoKnow ชิ้นแรกของผมจึงได้แจ้งเกิด  

ผมบรรจงเขียนบันทึกชิ้นแรกอย่างประณีตบรรจง ตามหลักการเขียนบทความ ตั้งใจสุดๆ เพื่อนำเสนอสิ่งดีๆต่อสาธารณะ ให้เป็นมงคลไว้ก่อน ท่องคาถาว่า ไม่มีมนุษย์ผู้ใดทำดีที่สุดได้จากการกระทำเพียงครั้งเดียว พอกด enter เสร็จก็นั่งลุ้นวันต่อวัน ปรากฏว่า มีผู้เข้าไปอ่านสัปดาห์แรกเพียง ๒๔ คน  มีดอกไม้ ๒ มีความเห็น ๑  จนถึงวันนี้บันทึกชิ้นนั้นก็ยังมีคนอ่านไม่ถึง ๕๐ คน เพียงเท่านี้ก็ภูมิใจเหลือล้นที่มีคนอ่าน เมื่อเกิดบันทึกชิ้นแรกได้ บันทึกชิ้นต่อๆไปก็รู้สึกผ่อนคลาย แถมรู้สึกคันมืออยากเขียนทุกครั้งที่ใจว่าง รู้สึกเป็นสุขอย่างประหลาดที่ได้แบ่งปันความรู้ประสบการณ์กับผู้อื่น นี่กระมังที่เขาเรียกว่า สภาวะจิตที่คิดจะแบ่งปัน เป็นกุศลกรรมในวิทยาทาน พอใจที่จะบำเพ็ญตนเป็น “ผู้ให้” ก่อนจึงจะได้รับโอกาสเป็น “ผู้รับ” อย่างน้อยเราก็เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมการเรียนรู้ สังคมแห่งปัญญา สังคมแห่งการแบ่งปันให้แผ่กว้างออกไป ให้เป็นพื้นที่สีขาวของสังคม คิดได้ดังนั้น วัตถุดิบในการเขียนที่สั่งสมอยู่ก็พรั่งพรูออกมา เรียงร้อยสู่สมุดในหน้าบันทึก GotoKnow อย่างเป็นกระบวน

ครูของผมเคยสอนว่า “ความรู้ใดที่ใช้ไปแล้ว แล้วได้ความรู้ใหม่เพิ่มเข้ามา ความรู้นั้นเป็นอำนาจ”... “ความรู้ที่เกิดจากการลงมือทำได้ประโยชน์มากกว่าความรู้จากทฤษฎีหรือความคิดที่ไร้ชีวิตแล้ว” .... “ถึงมีความรู้อยู่มากมาย หากไม่รู้จักใช้ประโยชน์ ก็เท่ากับไม่รู้” ทำให้การท่องโลกการเรียนรู้ใน  GotoKnow ของผมเป็นไปอย่างพินิจพิเคราะห์  จึงได้อิ่มใจกับองค์ความรู้เล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่ผู้คนมองข้าม ได้สัมผัสกับรูปแบบความสุขในโลกส่วนตัวที่น่าทึ่งของหลายชีวิตในทุกหลืบของสังคม  ได้เรียนรู้วิธีทำงานของนักคิด นักกิจกรรมเพื่อสังคม นักวิชาการ นักการศึกษา ทั่วฟ้าเมืองไทย  ได้ข้อคิดกลับด้านที่กระตุกต่อมคิดใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างไม่รู้จบ ผมรู้สึกว่า เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้  แต่ตอนนี้ ผมอยากจะบอกกับทุกคนในสถานะสมาชิกเต็มตัวของ GotoKnow ก็คือ

๑.  มีบันทึกดีๆ มากมายใน GotoKnow ที่นำมาต่อยอดความคิด ความรู้ ประสบการณ์ พัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม พัฒนาจิตสาธารณะ จิตอาสาต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องได้

๒.  จำนวนคนอ่าน ให้ดอกไม้ ให้ความเห็น นอกจากเป็นกำลังใจที่อบอุ่นแล้ว  ยังสามารถแจกแจงเป็นค่าสถิติเพื่อสรุปผลหรือแปลผลได้ว่า ในความเป็นคุณ ควรจะเขียนบันทึกในแนวใด จึงจะดลใจคนอ่าน

๓.  ไม่จำเป็นต้องเครียดไปกับจำนวนคนอ่านที่น้อย  เพราะนักอ่านตัวจริงวินิจฉัยคุณค่าของเรื่องที่อ่านได้

๔.  เสน่ห์ของเรื่องที่บันทึกไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือโปร มาจากความคิด ประสบการณ์ ที่ตกผลึกแล้ว

๕.  เมื่อ GotoKnow เปิดเวทีกว้างถึงเพียงนี้ ก็ไม่ควรเสียโอกาสปลดปล่อยพลังศักยภาพที่ตนมี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ

๖.  จงเปิดสมอง เปิดใจ ให้มีความสุขกับการเรียนรู้ ไปกับ GotoKnow

บัดนี้ไฟการเรียนรู้ของผมได้ถูกจุดติดแล้ว  พร้อมที่จะก้าวคู่ไปกับการเติบโตของ GotoKnow


หมายเลขบันทึก: 536826เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนท่านสมาน (“ความรู้ใดที่ใช้ไปแล้ว แล้วได้ความรู้ใหม่เพิ่มเข้ามา ความรู้นั้นเป็นอำนาจ”... “ความรู้ที่เกิดจากการลงมือทำได้ประโยชน์มากกว่าความรู้จากทฤษฎีหรือความคิดที่ไร้ชีวิตแล้ว)

ขอบคุณข้อคิดคำคมสะกิดเตือน

มีหนังสือเล่มเดียวแต่สามารถขบคิดให้แตกฉานใด้ดีกว่ามีหนังสือเต็มตู้แต่ไม่เคยอ่านจบ

ครูบาอาจารย์ได้พร่ำสอนคุณมะเดื่อเสมอมาว่า "  อย่าหวังผลใด ๆ กับการ

กระทำที่เราคิดดี และ ทำดีที่สุดซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้่คน และสังคมโดย

รวม และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ๆ "  เหตุนี้ คุณมะเดื่อจึงสบายทุก

ครั้งที่เขียนบันทึก แม้จะไม่ได้รับดอกไม้ หรือ comment แม้แต่ครั้งเดียว  

ขอบคุณสำหรับบันทึกดี ๆ ของคุณสามานจ้ะ

ยินดีมากค่ะที่ได้รู้จัก "คุณ สมาน เขียว" 

ด้วย "ไอดิน-กลิ่นไม้" ตั้งใจจะเขียนบันทึกเรื่อง “เพราะเหตุใด ใครๆ จึงรัก GotoKnow” จึงขออนุญาตนำข้อความในบันทึกนี้ของ "คุณสมาน เขียว" ที่ว่า "...การท่องโลกการเรียนรู้ใน  GotoKnow ของผมเป็นไปอย่างพินิจพิเคราะห์ จึงได้อิ่มใจกับองค์ความรู้เล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่ผู้คนมองข้าม ได้สัมผัสกับรูปแบบความสุขในโลกส่วนตัวที่น่าทึ่งของหลายชีวิตในทุกหลืบของสังคม  ได้เรียนรู้วิธีทำงานของนักคิด นักกิจกรรมเพื่อสังคม นักวิชาการ นักการศึกษา ทั่วฟ้าเมืองไทย  ได้ข้อคิดกลับด้านที่กระตุกต่อมคิดใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างไม่รู้จบ ผมรู้สึกว่า เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้..."  ไปอ้างอิงด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ


"เขียนบันทึกชิ้นแรกอย่างประณีตบรรจง ตามหลักการเขียนบทความ ตั้งใจสุดๆ เพื่อนำเสนอสิ่งดีๆต่อสาธารณะ" อายจังค่ะ kunrapee เขียนเพราะอยากเขียน แต่ไม่ค่อยได้เรื่องwfhราว แถมไม่มีหลักการอีกต่างหาก แต่เรื่องความตั้งใจนำเสนอสิ่งดีมีมากมายค่ะ

จะตามอ่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท