การโค้ชกับอริยสัจสี่ วิถีของนักบริหาร


บทความ: ทักษะการโค้ช (Coaching Skills) กับอริยสัจ 4 วิถีของนักบริหาร

โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

การโค้ช (Coaching) เป็นทั้งกระบวนการและทักษะการสื่อสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารทุกระดับขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารระดับกลางและระดับต้นที่มีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝ่ายบริหารระดับสูงซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและวางกลยุทธ์กับพนักงานระดับปฏิบัติการ การนำนโยบายและกลยุทธ์ไปปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับความคาดหวังขององค์กร ผู้บริหารระดับกลางและระดับต้นต้องมีความสามารถและทักษะการโค้ชเพื่อให้สามารถนำทางผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปรับปรุงและพัฒนาพฤติกรรมการปฏิบัติงานให้ดำเนินไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และส่งเสริมให้ตนเอง หน่วยงาน และองค์กรบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

Coaching is not Telling!Coaching is Guiding.

การโค้ชมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการสอน (Teaching) โดยใช้วิธีการบอกเล่า (Telling) ให้ฟังถึงวิธีการหรือขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้อง หรือเป็นรูปแบบหนึ่งของการฝึกอบรมในระหว่างการปฏิบัติงานจริงที่เรียกว่า On the Job Training แต่ที่จริงแล้ว การโค้ชเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งกว่านั้นมาก การโค้ชหมายถึง กระบวนการหรือทักษะการสื่อสารเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาพฤติกรรมและผลการปฏิบัติงานของบุคคลอื่น โดยผ่านรูปแบบการให้ความคิดเห็นป้อนกลับ (Giving Feedback) และการพัฒนาเพื่อขยายขีดความสามารถของผู้อื่น (Developing Others) ภายใต้บรรยากาศแห่งความร่วมแรงร่วมใจ (Collaborative Atmosphere) ระหว่างผู้บังคับบัญชาหรือโค้ชกับผู้ใต้บังคับบัญชา

การให้ความคิดเห็นป้อนกลับจะใช้ในกรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดปัญหาหรือคาดว่าจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต กรณีนี้ผู้บังคับบัญชาต้องโค้ชโดยให้ความคิดเห็นป้อนกลับในทันที หรือไม่ทิ้งช่วงห่างเกินไปนัก ส่วนการพัฒนาผู้อื่น ผู้บังคับบัญชาสามารถดำเนินการในโอกาสใดก็ตามที่เห็นว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะพัฒนา เช่น การที่ผู้ใต้บังคับบัญชามาขอความช่วยเหลือหรือขอรับคำปรึกษา ผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความมั่นใจในตนเองหรือมีความสับสน ติดขัดในการปฏิบัติงาน การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในการเข้ารับผิดชอบงานในโครงการใหม่ เป็นต้น

กฎ 80:20

ทักษะหลักที่ผู้บริหารหรือโค้ชต้องใช้ในการสื่อสารคือทักษะการตั้งคำถาม และการฟังถึง 80% ของการสนทนาทั้งหมด อีก 20% อาจเป็นการบอกหรือให้คำแนะนำเพิ่มเติม แต่ในทางปฏิบัติ ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงคุ้นชินกับวิธีการสั่งการหรือให้คำแนะนำ ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือเร็ว แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้คิด ไม่ได้พัฒนาตนเอง ทำให้ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และต้องพึ่งพิงการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาไปตลอด ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์หุ่นยนต์ที่ต้องรอฟังคำแนะนำหรือคำสั่งเพียงอย่างเดียว

ผู้บริหารหรือโค้ชจึงต้องเข้าใจแก่นแท้ของภารกิจในการพัฒนาคน โดยละวางอัตตาและความเคยชินของตนในการเป็นฝ่ายพูดมากกว่า ด้วยการตั้งคำถามและฟัง การสอบถามเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ การฟังโดยไม่ตัดสินผู้อื่นโดยใช้กรอบความคิดของตน แต่ให้นำข้อเท็จจริงมาคุยกัน ขณะเดียวกันก็พร้อมจะแสดงความเข้าอกเข้าใจในความรู้สึก ความคิดเห็นของอีกฝ่าย ผู้บริหารหรือโค้ชจะสามารถทำเช่นนี้ได้ต้องเริ่มต้นที่เจตนาที่ดีที่จะช่วยให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาหรือจัดการกับสถานการณ์ต่างๆได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่เพื่อการตำหนิหรือกล่าวโทษ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆขึ้นมา

กระบวนการโค้ช: วินิจฉัยโรคก่อนสั่งยา

อริยสัจ 4: เข้าใจทุกข์ก่อนหาทางดับทุกข์

กระบวนการในการสื่อสารเพื่อโค้ชแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลักคือ

1.  การวินิจฉัย (Diagnosis): พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และสาเหตุหรือปัจจัยอันเป็นที่มาของสถานการณ์อย่างถูกต้องชัดเจน

2.  การวางแผนปฏิบัติการ (Action Planning): พูดคุยเพื่อแสวงหาทางเลือกและวิธีการในการจัดการกับสถานการณ์ วิธีแก้ไขปัญหา หรือแผนการพัฒนา

เมื่อเข้าใจการใช้ทักษะการโค้ชอย่างลึกซึ้ง จะพบว่าหลักการและขั้นตอนในกระบวนการในการสื่อสารเพื่อโค้ชนั้นดำเนินไปตามวิถีทางของหลักอริยสัจสี 4 ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสามารถสรุปเปรียบเทียบได้ดังนี้

1.  วินิจฉัยด้วยหลักทุกข์และสมุทัย

ทุกข์:  โค้ชต้องเข้าใจว่าทุกข์คืออะไร คือเข้าใจสถานการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริง และผลกระทบต่างๆ โค้ชต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและสอบถามจากลูกน้องให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆแง่มุม

สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์: โค้ชต้องใช้ทักษะการถามและการฟังเพื่อสามารถวินิจฉัยและทำความเข้าใจที่มาหรือปัจจัยอันเป็นสาเหตุหรือต้นตอของสถานการณ์นั้นอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถตั้งคำถามเพื่อแสวงหาวิธีการปรับปรุง หรือวางแผนพัฒนาได้อย่างถูกต้องและตรงกับสาเหตุที่แท้จริง

2.  การวางแผนปฏิบัติการด้วยหลักนิโรธและมรรค

นิโรธคือการดับทุกข์:  เมื่อโค้ชและลูกน้องสนทนาแลกเปลี่ยนกันจนเข้าใจสถานการณ์ ผลกระทบ รวมทั้งสาเหตุของปัญหาอย่างกระจ่างชัด ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าต้องแสวงหาวิธีแก้ปัญหาหรือวิธีการพัฒนาที่สอดคล้อง

มรรคคือวิถีทางดับทุกข์:  ในขั้นตอนนี้โค้ชจะตั้งคำถามเพื่อให้ลูกน้องคิดค้นทางเลือกต่างๆในการจัดการแก้ไขปัญหาหรือกำหนดแนวทางการพัฒนา ชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด และพัฒนาแผนปฏิบัติการขึ้นมา

อริยสัจ 4 จึงเป็นวิถีแห่งความจริงอันประเสริฐที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มีทั้งความเป็นเหตุเป็นผล แต่ขณะเดียวกันก็มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งจากการเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ และความทุกข์อันเป็นสัจธรรมของชีวิต อริยสัจ 4 จึงเป็นแก่นแท้ของความสำเร็จในการโค้ชและการแก้ไขปัญหาทั้งปวง ผู้บังคับบัญชาที่เป็นโค้ชที่ดีจึงต้องสามารถทำตนเป็นแบบอย่างโดยใช้อริยสัจ 4 เป็นหลักการดำเนินชีวิตโดยอาศัยเครื่องมือคือทักษะการถามอย่างมีคุณภาพและฟังอย่างเข้าอกเข้าใจเพื่อให้สามารถนำ และโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชาให้สามารถแก้ไขปัญหาหรือจัดการกับสถานการณ์ต่างๆด้วยตนเอง



หมายเลขบันทึก: 536610เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กำลังเข้ากระบวนการพัฒนาครูทั้งระบบด้วยระบบ coaching and mentoring ได้แนวคิดที่ดีมากครับ /ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท