ศรัทธา เชื่อมั่น ยอมรับ... ความสุขที่สัมผัสได้ของคนทำงาน



ศรัทธา เชื่อมั่น  ยอมรับ... ความสุขที่สัมผัสได้ของคนทำงาน

การสอนให้คนมีความรู้มากขึ้น ไม่ยาก

การสอนให้คนเป็นคนใฝ่รู้  ยากกว่า

การสอนให้คนเป็นผู้แสวงหาความรู้อย่างเป็นนิสัย  ยากที่สุด

การสอนให้คนรู้จักทำคุณงามความดี  ไม่ยาก

การสอนให้คนเป็นคนใฝ่ดี  ยากกว่า

การสอนให้คนเป็นคนดี  ยากที่สุด

แต่ว่า...การสอนให้เด็กเป็นผู้รู้จักแสวงหาความรู้และเป็นคนดี เป็นภารกิจสำคัญของครูในศตวรรษที่ ๒๑ หน้าที่สำคัญของครูจึงต้องคิดค้น ทดลอง แสวงหาวิธีการจัดการเรียนรู้ ให้เด็กเกิดทักษะชีวิต รู้จักแสวงหาความรู้และเป็นคนดี เพื่อการมีชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

ผู้นิเทศ หมายถึง ศึกษานิเทศก์ มีหน้าที่ช่วยครู ให้ค้นพบวิธีการพัฒนาคุณภาพเด็กอย่างถูกต้อง บนพื้นฐานของการให้ใจ ร่วมใจ ตั้งใจและเปิดใจ ซึ่งกันและกัน อย่างเป็นธรรมชาติ ยอมรับนับถือ ไว้วางใจ สู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืน กระบวนการนี้เรียกว่า “กัลยาณมิตรนิเทศ”

เงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของ “กัลยาณมิตรนิเทศ”ในเบื้องต้น ก็คือ ความศรัทธา เชื่อมั่น การยอมรับ ไว้วางใจของครูต่อผู้นิเทศ ซึ่งได้แก่ การทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี หรือทำงานในหน้าที่ได้ดีที่สุด ของผู้นิเทศนั่นเอง

ภาพลักษณ์ ๙ ประการ ของ “ผู้นิเทศ” ที่ครูอยากรับเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ  

๑ ผู้นิเทศที่ชอบอ่าน เขียน คิด ทดลอง วิเคราะห์ วิจัย เป็นปกติวิสัย สิ่งที่รู้สามารถนำเสนอ สังเคราะห์ เชื่อมโยงบูรณาการได้ทุกมิติ พูดให้กวนๆ ก็คือ องค์ความรู้ที่มี สามารถพลิกเล่นบนฝ่ามือได้ ตัวอย่างเช่น อธิบายเชื่อมโยงเรื่องจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  กระบวนการคิด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมการเรียนรู้ การวิจัยในชั้นเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ฯลฯ ให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างเข้าใจง่าย ชัดเจน เห็นภาพ นั่นเอง (การรู้เป็นเรื่องๆ คือรู้ตามตำรา ที่นำไปใช้ได้ยาก)

๒.  ผู้นิเทศที่มีความตื่นตัว กระตือรือร้น ติดตามข่าวสารข้อมูล เครือข่ายความรู้ ลักษณะself KM ในโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์วิสัยทัศน์ มุมมอง องค์ความรู้ใหม่ๆ ทันสมัย มานำเสนออ้างอิง สอดแทรก ได้อย่างน่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์

๓.  ผู้นิเทศที่ใช้ระบบเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงาน  รู้จักดึงพลังความสามารถ ศักยภาพของทุกคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างลงตัว ทุกคนเต็มใจ สมัครใจ  

๔.  ผู้นิเทศที่พัฒนาและใช้เครื่องมือ นวัตกรรม ประกอบการนิเทศได้ตรงตามปัญหา ความต้องการของครู มีวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีหลักการทำงานว่า การนิเทศคือการทำงานร่วมกับครู โดยมีปลายทางร่วมกันที่คุณภาพนักเรียน การนิเทศในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ใช่การตรวจราชการ ไม่ใช่การประเมินการทำงานของครู ไม่ใช่การทดสอบนักเรียน ไม่ใช่การติดตามข้อมูล(ที่ซ้ำซ้อน)

๕.  ผู้นิเทศที่มีทักษะการสื่อสารที่โน้มน้าว จูงใจ จุดประกายความคิด มีทักษะความคิดรวบยอดที่ดี (conceptual skills) เข้าใจธรรมชาติของคนอย่างลึกซึ้ง สามารถอธิบายแนวคิดหลักการทฤษฎีวิชาการใหม่ๆ ที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ให้เป็นรูปธรรมเชิงประสบการณ์ สถานการณ์จริง กรณีตัวอย่าง หรือจัดทำคู่มือครู ที่สะดวกต่อการนำสู่การปฏิบัติในชั้นเรียน (ช่วยครูคิด ลดภาระงานเอกสาร งานข้อมูล)  

๖.  ผู้นิเทศที่มีเทคนิควิธีที่ดีในการบริหารจัดการ (technical skills) เพื่อความคล่องตัว ประหยัดเวลา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็คือ จัดอบรมสัมมนา จัดประชุมปฏิบัติการ  บริหารโครงการ  สร้างเครือข่าย  พัฒนาศูนย์การเรียนรู้  วิจัยภาคสนามฯลฯ

๗.  ผู้นิเทศที่มีทักษะมนุษยสัมพันธ์ที่ดี (social  skills) แสดงออกถึง ความจริงใจ เป็นกันเอง ใจกว้าง รับฟัง ให้เกียรติ ยกย่อง ชื่นชม ยอมรับความเห็นต่าง มีอารมณ์ขัน เรียบง่าย ไม่ถือตัว แจ่มใส คิดเชิงบวก ทำงานกับทุกคนได้อย่างราบรื่น

๘.  ผู้นิเทศที่มีทักษะด้านการวิจัย การใช้สื่อเทคโนโลยี การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เป็นหลัก และมีทักษะเฉพาะตัว เป็นรอง เช่น เล่นดนตรี  เขียนการ์ตูน  วาดภาพ ออกแบบงานกราฟิก เล่าเรื่องตลก เขียนบทความ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์  วิเคราะห์ค่าสถิติ ฯลฯ  ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานเกิดสีสัน ช่วยให้การบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อการนิเทศมีลักษณะ action  model

๙.  ผู้นิเทศที่มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ครองตนอยู่ในสังคมอย่างสง่างาม

หากจะสรุปอย่างย่นย่อ ก็คือ ผู้นิเทศจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพตนเองให้เกิดความสง่างาม (SMART)  ทำงานมีความสุข (SMILE) เพื่อสร้างความศรัทธา เชื่อมั่น ยอมรับนับถือ ในการทำงานร่วมกับครู ความสุขของคนทำงาน ไม่มีสิ่งใดเทียบเท่ากับ การได้รับความศรัทธา ยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ จริงใหม?

พิจารณาความสง่างาม

S – Spirit  ผู้มีปัญญา ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ฉลาดเป็น

M -  Management  ผู้มีศาสตร์การจัดการดีเลิศ

A -  Active  ผู้มีความกระตือรือร้น เป็นอุปนิสัย

R -  Rational  ผู้มีเหตุผล

T -  Teach  ผู้สามารถสอนได้  ในศาสตร์ที่รับผิดชอบ

พิจารณาการทำงานอย่างมีความสุข

S -  Smile  ยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ขัน

M – Motivation  มีเทคนิคจูงใจ โน้มน้าว จุดประกาย

I -  Instructional Supervision  มั่นใจในเรื่องที่นิเทศ

L -  Leadership  มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ

E- Evaluation  มีเทคนิคในการประเมินผล รายงานผล


หมายเลขบันทึก: 536401เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2013 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

.... ขอบคุณ โครงสร้าง ที่ทำให้การทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข นะคะ .......

ขอบคุณค่ะ..อยากเห็นการขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติตามหลักการดีๆเช่นนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท