วัฒนธรรมย่อยในเรือนจำ


นัทธี จิตสว่าง

นับเป็นเวลาเกือบ 70 ปีมาแล้ว ที่  Donald Clemmer (1940) ได้ศึกษาระบบสังคมของผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก และได้เสนอแนวความคิดว่าเรือนจำมีวัฒนธรรมและระบบสังคมเป็นเอกเทศ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทำให้มีการศึกษาสืบต่อมาถึงรูปแบบของวัฒนธรรมย่อยในเรือนจำ ตลอดจนอิทธิพลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ต้องขัง ซึ่งแม้ว่าการศึกษานี้จะทำมาเป็นเวลานานแล้วก็ตามแต่หลายสิ่งยังสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของเรือนจำได้เป็นอย่างดี


ในทัศนะของ Clemmer (1958: 294-295) วัฒนธรรมของเรือนจำ หมายถึง การจัดระเบียบทางสังคมในเรือนจำทั้งที่เป็นแบบทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันและกับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ประกอบด้วยระบบพฤติกรรม ประเพณี วิธีประชา ธรรมเนียมปฏิบัติ กฎเกณฑ์ และระเบียบซึ่งครอบงำความคิดและทัศคติของผู้ต้องขัง Clemmer ไม่ได้ใช้คำว่า “วัฒนธรรมย่อย” แต่ได้อธิบายว่าวัฒนธรรมเรือนจำเป็นวัฒนธรรมเฉพาะซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากวัฒนธรรมของ สังคมภายนอก ซึ่งเรื่องนี้นักทัณฑวิทยาในระยะต่อมาได้พยายามที่จะขยายความของวัฒนธรรมในเรือนจำ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าเป็น วัฒนธรรมย่อย เช่น  Bowker (1982: 147) ได้อธิบายถึงวัฒนธรรมในเรือนจำว่าสามารถจะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสถาบันอื่นๆ ซึ่งมนุษย์รวมตัวกันตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและถูกตัดขาดจากสังคมภายนอกทำให้สมาชิกพัฒนาระบบในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมามีความเข้าใจร่วมกันในกฎเกณฑ์เฉพาะของพวกเขา มีการสื่อความหมายเฉพาะของกลุ่มมีค่านิยมร่วมกันและสิ่งที่เข้าใจร่วมกันอีกหลายอย่าง  ดังนั้นกลุ่มที่รวมอยู่ด้วยกันนานเท่าใดและถูกโดดเดี่ยว จากสังคมภายนอกนานมากเท่าใด วัฒนธรรมของกลุ่มก็จะโดดเด่นขึ้นมามากเท่านั้น ดังเช่นในเรือนจำแบบมั่นคงแข็งแรงสูง ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังโทษสูงระยะยาว นอกจากนี้ Carney (1974:144-146) ได้อธิบายลักษณะของวัฒนธรรมย่อยโดยอ้าง “กฎธรรมชาติทางสังคมวิทยา” ที่สร้างวัฒนธรรมย่อยขึ้นแตกต่างไปจากวัฒธรรมกลุ่มใหญ่ กฎดังกล่าวได้แก่

 

          ก.กฎการป้องกันทางวัฒนธรรม หมายความว่าวัฒนธรรมแต่ละวัฒนธรรมจะมี กลไกในการป้องกันตนเองในกรณีที่มีวัฒนธรรมสองวัฒนธรรมเคียงคู่กันโดยเฉพาะ วัฒนธรรมกลุ่มใหญ่กับวัฒนธรรมย่อย วัฒนธรรมย่อยจึงจะสามารถต่อต้านอิทธิพลจาก วัฒนธรรมกลุ่มใหญ่ได้

          ข. กฎของความเป็นเอกลักษณ์ เมื่อกลุ่มต่างๆ ได้แยกออกจากกันเพราะความแตกต่างกันในค่านิยม จะทำให้เอกลักษณ์ของกลุ่มเด่นชัดและเข้มแข็งขึ้นมีการรวมตัวว่าเป็นพวกเดียวกันและเกิดความคิดต่อต้านกับวัฒนธรรมอื่น เช่นกลุ่มผู้ต้องขังเมื่อรวมตัวกันแล้วจะต่อต้านเจ้าหน้าที่หรือระบบเรือนจำ

          ค.กฎของการอ้างอิงกลุ่ม อิทธิพลจะครอบงำพฤติกรรมของสมาชิกและสามารถผูกมัดสมาชิกส่วนใหญ่ไว้กับกลุ่ม เช่น ผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อผู้คุมและมีความเหนียวแน่นในกลุ่มของตนเอง  สมาชิกที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของกลุ่มก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

          ง. กฎของการขัดเกลาทางสังคม เช่นเดียวกับกระบวนการขัดเกลาที่เกิดขึ้นในสถาบันอื่นๆ เช่นที่บ้านหรือที่โรงเรียน ในกระบวนการนี้ผู้ต้องขังจะได้รับการปลูกฝังค่านิยมของสังคมผู้ต้องขัง ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากโครงสร้างและบรรทัดฐานของกลุ่ม เช่น ในเรือนจำจะมีค่านิยมของการต่อต้านสังคมปรากฏอยู่อย่างแพร่หลาย

           จ. กฎของการแบ่งแยกค่านิยม เมื่อแต่ละกลุ่มมีค่านิยมที่แตกต่างกันออกไปเป็นของตนเองก็จะเกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อไม่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสัมพันธ์กัน  การแบ่งแยกระหว่างกลุ่มจึงเกิดขึ้นและรวมถึงการเกิดวัฒนธรรมย่อยในกลุ่มของวัฒนธรรมใหญ่ด้วย

 

ประเด็นที่น่าจะพิจารณาก็คือองค์ประกอบหรือโครงสร้างของวัฒนธรรมย่อยว่ามีลักษณะอย่างไรบ้างซึ่งหากจะพิจารณาจาก Clemmer แล้วจะเห็นว่าได้ให้ความสำคัญต่อบรรทัดฐานและระบบพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ในขณะที่นักทัณฑวิทยาอีกหลายคนเช่น Carney (1974) Shover (1979) Johnson (1978) หรือ Bowker (1982) ให้ความสำคัญต่อกฎของผู้ต้องขัง (Inmate Code) ภาษาสแลง กลุ่มนอกแบบของผู้ต้องขัง และแบบพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ดังนั้นสิ่งที่น่าพิจารณาคือกฎของผู้ต้องขัง กลุ่มนอกแบบของผู้ต้องขังและภาษาสแลงตามลำดับ

 

กฎของผู้ต้องขัง
กฎของผู้ต้องขังซึ่งเป็นกฎที่ควบคุมพฤติกรรมของผู้ต้องขังด้วยกันเอง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมย่อยในเรือนจำได้อย่างเด่นชัดประการหนึ่ง กฎของผู้ต้องขังเหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้ต้องขังได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อบรรเทาความกดดันจากกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ Bowker (1982 149) ได้ให้ความหมายของกฎของผู้ต้องขังว่าเป็นบรรทัดฐานความประพฤติโดยทั่วไปของผู้ต้องขัง ซึ่งใช้บังคับครอบคลุมบทบาทต่างๆ ของ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ในขณะที่ Shover (1979: 159) อธิบายว่า กฎของผู้ต้องขังเป็นระบบความเชื่อของผู้ต้องขัง จะระบุถึงสิ่งที่ผู้ต้องขังควรปฏิบัติตนอย่างไร ในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้ต้องขังอื่นๆ และกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ Clemmer (1958: 152) ได้กล่าวถึงกฎของผู้ต้องขังว่าเป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังเรียนรู้โดยปากต่อปาก เพราะกฎเหล่านี้จะไม่มีการประมวลไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเช่นเดียวกับทัศนคติและค่านิยม แต่คนที่คุ้นเคยกับเรือนจำจะเรียนรู้กฎของผู้ต้องขังไม่นานนัก เพราะกฎของผู้ต้องขังจะเป็นสิ่งที่พบได้ในชีวิตประจำวันของผู้ต้องขัง ซึ่งจะมีการย้ำถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ กฎของผู้ต้องขังนี้ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในเรือนจำของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จะปรากฏอยู่ในทุกหนทุกแห่ง แต่ต่างกันออกไปและได้เกิดขึ้นคู่กับสังคมของผู้ต้องขังติดต่อกันมาเป็นเวลานาน และเช่นเดียวกับกฎเกณฑ์อื่นๆ โดยทั่วไป ย่อมจะต้องมีผู้ละเมิดกฎ ของผู้ต้องขังก็มีการละเมิดโดยผู้ต้องขังเช่นกัน แม้จะมีการละเมิดจำนวนมากแต่การละเมิดมักเป็นไปแบบซ่อนเร้น

จากการศึกษาของ Sykes and Messinger (1960: 5 – 19) พบว่ากฎเกณฑ์ที่ผู้ต้องขังยึดถือในสังคมของพวกเขานั้น สามารถจำแนกได้ 5 ประเภทด้วยกันคือ

          ก. กฎที่ห้ามผู้ต้องขังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหรือขัดผลประโยชน์ของผู้ต้องขังอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎของผู้ต้องขังที่ว่า ผู้ต้องขังจะต้องไม่ทรยศต่อผู้ต้องขังด้วยกันเอง โดยการนำเรื่องราวของผู้ต้องขังอื่นไปรายงานให้ผู้คุมทราบ ดังจะพบได้จากคำกล่าวที่มักจะได้ยินกันในหมู่ผู้ต้องขัง คือ “อย่าปากมาก” “ออกไปจากหลังของผู้อื่น” หรือ “ซื่อสัตย์ต่อผู้ต้องขัง” โดยถือกันว่าผู้ต้องขังต้องพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับผู้คุมเพื่อช่วยพวกเดียวกัน
          ข. กฎที่ห้ามมิให้ผู้ต้องขังทะเลาะหรือมีปากเสียงกับผู้ต้องขังด้วยกันเอง เช่นมีคำกล่าวว่า “อย่าหัวเสียกับผู้ต้องขังอื่น” หรือ “ใจเย็นๆ แล้วอยู่อย่างสงบ”

          ค. กฎที่ว่าผู้ต้องขังไม่ควรเอาเปรียบผู้ต้องขังอื่น โดยการใช้กำลังหลอกลวงหรือวิธีอื่นใด ดังคำกล่าวที่ว่า “อย่าตักตวงผลประโยชน์จากผู้อื่น” “อย่าขโมยของผู้ต้องขังอื่น” หรือ “อย่าผิดคำพูด” เป็นต้น

          ง. กฎที่ชี้แนะให้ผู้ต้องขังเป็นตัวของตัวเองและไม่อ่อนแอ โดยตักเตือนให้ผู้ต้องขังอดทนต่อความกดดันและบีบคั้นจากสภาพแวดล้อม ผู้ต้องขังจะต้องสามารถที่จะ “ปรับตัวได้” กับสถานการณ์ทุกอย่าง และจะต้องแสดงความกล้าหาญเมื่อถึงเวลาจะต้องเผชิญหน้า ดังที่มีคำกล่าวว่า “อย่าตาขาว” และ “จงเข้มแข็งและเป็นคนจริง”

          จ. กฎห้ามมิให้ผู้ต้องขังเคารพหรือยอมต่อผู้คุมหรือสังคมภายนอก ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “ผู้คุมคือตัวร้ายและไว้ใจไม่ได้” เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับผู้ต้องขัง ผู้คุมจะต้องผิดเสมอ และจะต้องไม่ทำตัวเป็นคน “เย็นชา” หรือ “ว่าง่าย” ในทัศนะของผู้คุม

จะเห็นได้ว่ากฎเหล่านี้มีลักษณะเป็นการต่อต้านสังคม และเจ้าหน้าที่ของเรือนจำเป็นอย่างมาก จนทำให้นักทัณฑวิทยาเชื่อกันว่ากฎของผู้ต้องขังนี้เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่เสมือนมีสิ่งขวางกั้น เพราะทำให้ผู้ต้องขังยึดมั่นในกฎของพวกเขา ซึ่งเป็นกฎที่ต่อต้านเจ้าหน้าที่เรือนจำ อันเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขอบรมและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตามในระยะหลังนี้นักทัณฑวิทยาบางคน เช่น Bowker (1982: 149) เชื่อว่า กฎของผู้ต้องขังที่มีอยู่ในเรือนจำดังกล่าวได้ลดความสำคัญและอ่อนแอลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้กฎของผู้ต้องขังไม่มีอิทธิพลมากเหมือนเช่นเคย ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมในเรือนจำได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้ความเป็นปึกแผ่นของกฎของผู้ต้องขังอ่อนแอลง ผู้ต้องขังมีทัศนะต่อผู้คุมดีขึ้น นอกจากนี้กฎของผู้ต้องขังก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้ต้องขังทั้งเรือนจำอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งกฎของผู้ต้องขังนี้มิใช่เป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนยึดถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในเรือนจำจะมีกฎของผู้ต้องขังหลายประเภทซึ่งไม่จำเป็นจะต้องต่อต้านเจ้าหน้าที่เสมอไป เช่น กฎของพวกอาชญากรอาชีพ และกฎของพวกที่มิใช่อาชญากรจะแตกต่างกันในเรื่องนี้ Irwin ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งสนับสนุนแนวความคิดนี้ ได้ยืนหยัดในแนวความความคิดเกี่ยวกับความหลากหลายของวัฒนธรรมเรือนจำ Irwin (1977: 32) กล่าวว่า ในเรือนจำไม่มีวัฒนธรรมหรือระบบสังคมของผู้ต้องขังที่เป็นวัฒนธรรมเดี่ยวหรือระบบเดียว และไม่มีกฎของผู้ต้องขังที่ครอบคลุมบังคับต่อผู้ต้องขังทั้งหมด เพราะในเรือนจำจะมีความแตกต่างของวัฒนธรรมย่อยต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์ ชนชั้น ลักษณะความเป็นอาชญากร และความแตกต่างของประสบการณ์ก่อนที่จะเข้ามาในเรือนจำ ดังที่ Irwin and Cressey (1962) ได้พยายามแยกประเภทผู้ต้องขังออกเป็น 3 ประเภท คือ พวกขโมย พวกนักโทษเด็ดขาด และพวกปฏิบัติตามกฎ ซึ่งแต่ละประเภทจะมีกฎเกณฑ์ของพวกตนแตกต่างกันไป ดังนั้น ที่เคยมีความเชื่อกันว่า ผู้ต้องขังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีกฎเฉพาะของพวกเขาร่วมกันนั้น ไม่อาจจะอธิบายปรากฏการณ์ของระบบสังคมของผู้ต้องขังในปัจจุบันได้ เพราะผู้ต้องขังมีอยู่หลายพวก กฎของผู้ต้องขังบางพวกอาจจะต่อต้านเจ้าหน้าที่แต่บางพวกอาจสนับสนุน  ในเรื่องนี้ Adwani (1978: 125 – 126) ได้จำแนกประเภทของผู้ต้องขังต่อความผูกพันต่อกฎเกณฑ์ดังนี้ คือ

1. พวกที่ยึดมั่นและเคารพต่อกฎเกณฑ์ของทางเจ้าหน้าที่เรือนจำและกฎหมายบ้านเมือง
2. พวกที่ยึดมั่นและเคารพต่อกฎของผู้ต้องขังโดยเฉพาะ
3. พวกที่เคารพต่อทั้งกฎของผู้ต้องขังและต่อกฎของเรือนจำ

อย่างไรก็ตามแม้ในปัจจุบันต่างยอมรับกันว่า กฎของผู้ต้องขังอ่อนแอลง และมิได้มีอทธิพลดังเช่นแต่ก่อน ในขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างของการยึดมั่นต่อกฎของผู้ต้องขังที่แตกต่างกัน ต่างก็ยอมรับกันว่า กฎของผู้ต้องขังนั้นยังคงมีอยู่ในเรือนจำ

 

ความสัมพันธ์และการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมย่อยในเรือนจำอีกประการหนึ่งก็คือ การรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ และการสร้างความสัมพันธ์ของผู้ต้องขัง การรวมกลุ่มของผู้ต้องขังอย่างไม่เป็นทางการนี้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของผู้ต้องขังด้วยกันเอง และรวมตัวกันเป็นกลุ่มขึ้น การรวมกลุ่มกันจะทำให้ชีวิตในเรือนจำของผู้ต้องขังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้น เพราะผู้ต้องขังที่เป็นสมาชิกของกลุ่มจะได้รับการยอมรับจากกลุ่ม และใช้กลุ่มเป็นที่ระบายความคับข้องใจของตน ตลอดจนช่วยเป็นเครื่องปกป้องการรังแกจากผู้ต้องขังหรือกลุ่มอื่นๆ

 

กลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นมาของผู้ต้องขังนี้ เรือนจำไม่ได้เกี่ยวข้องในการจัดตั้ง กลุ่ม  แต่ละกลุ่มจะมีผู้นำของกลุ่มเอง ซึ่งอาจไม่ใช่ผู้นำซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่เรือนจำแต่งตั้งก็ได้ เช่น ผู้ต้องขังที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแดน อาจไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ต้องขังอื่นๆ ให้เป็นหัวหน้าแม้ผู้ช่วยเหลือจะมีอำนาจตามที่ผู้คุมมอบให้ที่จะลงโทษผู้ต้องขังอื่นๆ ตรงกันข้าม Clemmer (1958) พบว่าผู้ต้องขังที่จะมีอิทธิพลจนผู้ต้องขังอื่นๆ ยอมรับเป็นผู้นำ มักจะเป็นผู้ที่ติดคุกมานาน และมีคดีที่มีประวัติร้ายแรง ตลอดจนมีความสามารถในการใช้กำลัง นอกจากนี้  Schrag (1961) พบว่าผู้ต้องขังที่ชอบแสดงการต่อต้านเจ้าหน้าที่หรือสังคม มักจะได้รับการยอมรับมากกว่าผู้ต้องขังที่ไม่แสดงออก ที่เป็นเช่นนี้ Cloward (1960) กล่าวว่าเป็นเพราะในเรือนจำผู้ต้องขังจะปฏิเสธอำนาจในการใช้กำลังที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะจากผู้คุม แต่จะหันไปยอมรับในอำนาจที่ตรงกันข้ามคือ อำนาจของผู้ต้องขังที่ต่อต้านเรือนจำนั้นเอง ค่านิยมดังกล่าวนี้นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมทางสังคมในเรือนจำของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้คุมจึงต้องใช้การควบคุมนอกแบบ คือ การให้ผู้ต้องขังควบคุมกันเอง โดยการใช้สิ่งจูงใจหรือผลประโยชน์เป็นเครื่องตอบแทน ซึ่งอาจจะมีทั้งผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น สิทธิพิเศษหรือการได้รับการพักการลงโทษ หรืออาจจะเป็นผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การที่ผู้คุมปล่อยให้ผู้ต้องขังที่เป็นผู้นำ ค้าขาย หรือทำผิดกฎระเบียบโดยทำไม่รู้ไม่เห็น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในเรือนจำ นักทัณฑวิทยาหลายคน เช่น Fox (1972) และ Reid (1981) เรียกระบบการพึ่งพากันนี้ว่า “การควบคุมทางสังคมนอกแบบในเรือนจำ”

 

ในการที่ผู้ต้องขังจะเลือกเข้ากลุ่มใด หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ต้องขังคนใดนั้น การวิจัยในระยะหลังพบว่า ผู้ต้องขังมีแนวโน้มที่จะเลือกเพื่อนที่มีบทบาททางสังคม หรือประวัติทางอาชญากรคล้ายคลึงกัน Slosar (1978) ยังได้เสริมอีกว่า สีผิวก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ต้องขังจะเลือกเพื่อน กล่าวคือ พวกผิวดำ พวกผิวขาว พวกเปอร์โตริโก พวกเม็กซิกัน จะเลือกคบพวกเดียวกัน การรวมกลุ่มจะมีขนาดไม่ใหญ่ เพราะอาจทำให้เป็นที่ล่วงรู้ถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ชอบที่จะให้ผู้ต้องขังรวมกลุ่มกันเอง หรือกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดขึ้น เพราะจะทำให้ยากต่อการควบคุม อย่างไรก็ตาม Cressey (1973: 138) พบว่า 40% ของผู้ต้องขังในเรือนจำจะรวมกลุ่มกันอย่างแนบแน่น อีก 40% รวมกลุ่มกันแบบธรรมดา และอีก 20% จะอยู่อย่างอิสระ  อันที่จริงแล้ว Clemmer  (1958) ก็ได้เคยจัดประเภทกลุ่มผู้ต้องขังในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน โดยได้แบ่งกลุ่มผู้ต้องขังเรือนจำเป็น 3 พวก พวกแรกเป็นกลุ่มปฐมภูมิ เป็นกลุ่มของผู้ต้องขังที่เรียนรู้ชีวิตในเรือนจำมานาน มีความเข้าใจในชีวิตเรือนจำดี และพร้อมที่จะรวมตัวกับผู้ต้องขังอื่นๆ เมื่อกลุ่มของพวกนี้รวมตัวกันแล้ว สมาชิกของกลุ่มจะมีความผูกพันกันมาก เกิดมีความรู้สึก “เป็นพวกเรา” ความขัดแย้งที่มีระหว่างสมาชิกในกลุ่ม จะมีไม่มากและจะไม่เป็นการขัดต่อความสัมพันธ์ของกลุ่ม อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มกึ่งปฐมภูมิ เป็นกลุ่มของผู้ต้องขังที่เข้ารวมกลุ่มโดยที่ไม่ผูกพันตนเองกับกลุ่มอย่างมาก อาจจะมีการใช้สิ่งของร่วมกัน บอกความลับในระดับหนี่งแต่จะไม่ทุกสิ่งทุกอย่างและจะไม่คบคนกลุ่มเดียว แต่จะเป็นเพื่อนกับหลายๆ กลุ่ม สุดท้ายจะเป็นพวกที่ไม่รวมกลุ่มแต่จะอยู่เป็นอิสระ พวกนี้มักจะได้แก่พวกที่ยังมีความผูกพันกับครอบครัวเป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มอ้างอิงของเขาในเรือนจำภายนอก เป็นตัวคุมความประพฤติของเขาในเรือนจำ พวกนี้อยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาจึงไม่เข้ากลุ่มหรือแก๊งใด นอกจากนี้พวกไม่มีกลุ่มยังอาจเป็นพวกที่ไม่มีกลุ่มใดยอมรับ หรือเป็นพวกอ่อนแอหนีโลก ไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับกลุ่มต่างๆ ได้ จึงแยกตัวเองออกมาโดดเดี่ยว และมีความชาเย็นต่อการคบหาสมาคมกับผู้อื่น

 

ลักษณะของการรวมกลุ่มและการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่ผู้ต้องขังดังกล่าว นับเป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ในลักษณะเฉพาะที่เป็นผลผลิตจากระบบสังคมของผู้ต้องขังในเรือนจำและสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมย่อยของผู้ต้องขังได้อีกลักษณะหนึ่ง

ภาษาสแลงของผู้ต้องขัง

การใช้คำสแลงซึ่งเป็นภาษาเฉพาะที่เข้าใจกันในหมู่ผู้ต้องขังในเรือนจำ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมย่อยในสังคมของผู้ต้องขังในเรือนจำได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะคำสแลงเหล่านี้จะเป็นเหมือนที่ Sykes (1974: 84) กล่าวไว้ว่า “เป็นแผนที่ของระบบสังคมของผู้ต้องขัง” ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจถึงวัฒนธรรมของชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนค่านิยมของผู้ต้องขังเป็นอย่างดี ภาษาของผู้ต้องขังนี้ ครอบคลุมถึงกิจกรรมของทางเรือนจำ เจ้าพนักงาน อาคารสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนพฤติกรรมหรือบทบาทหรือฉายาของผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มหรือแต่ละคน ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมของเรือนจำ จากการศึกษาของ Carney (1974) พบว่ามีการใช้คำว่า “เนื้อ” ซึ่งหมายถึงการลงโทษทางวินัยของเรือนจำ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ต้องขังพยายามที่จะนำ “ว่าว” ออกไป คำว่า “ว่าว” หมายถึง การลักลอบส่งจดหมายหรือพยายามจะลักลอบนำ “กระดาษ” (ยาเสพติด) เข้ามาหรือพยายามจะทำ “เบียร์” หรือทำเหล้าเถื่อนขึ้นเอง เป็นต้น วิธีการลงโทษแบบหนึ่งก็คือการส่งเข้าไปไว้ในห้องขังเดี่ยวซึ่งผู้ต้องขังจะเรียกว่า “รู” หรือ “ชั้น”

 

ผู้ต้องขังมีทัศนะต่อการบำบัดรักษาโดยกลุ่ม หรือกลุ่มบำบัดว่า “ล้างสมอง” การถูกส่งไปล้างสมองก็คือ การเข้ากลุ่มบำบัดนั่นเอง ในขณะที่พวกนักจิตบำบัดจะถูกเรียกว่า “พวกหัวหด” หรือ “หงอ”  และพวกหมอจะถูกเรียกว่า เป็นคนที่ชอบทำนายว่าจะเกิดเรื่องร้ายหรือ “พ่อมด” สำหรับหัวหน้าของผู้คุมทั้งหลายจะถูกเรียกว่า  “ผู้บังคับการเรือ” แต่พวกผู้คุมจะถูกเรียกว่า “วัว” หรือ “ม้า”

 

โรงเรียนหรือห้องเรียนในเรือนจำจะถูกเรียกว่า “กล่อง” ในขณะที่เรือนจำจะถูกเรียกว่า “วิทยาลัย” และห้องขังแต่ละห้องจะถูกเรียกว่า “กระบอก” เพราะเป็นการขังเดี่ยวในห้องที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมรูปกระบอก สำหรับป้อมของเรือนจำนั้น ผู้ต้องขังจะเรีบกว่า “รังนก” และเรียกที่ทำการของหัวหน้าผู้คุมว่า “นอกชาน” ในขณะที่ภายนอกเรือนจำผู้ต้องขังจะเรียกว่า “ถนน” ดังนั้นถ้าผู้ต้องขังกล่าวว่าออกไปถนนก็หมายความว่า ออกไปข้างนอกเรือนจำนั้นเอง

 

ที่สำคัญที่สุดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำสแลงก็คือว่า คำสแลงเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้ในการตั้งฉายาของผู้ต้องขังแต่ละประเภท ที่มีพฤติกรรมในการปรับตัวแตกต่างกันออกไป และแสดงบทบาททางสังคมออกมาต่างกัน จากการศึกษาของ Clemmer (1940) Sykes (1958) และ Irwin (1970) พบคำสแลงคล้ายคลึงกัน เช่น พวก “หนู” จะหมายถึง พวกผู้ต้องขังที่ทรยศต่อความเป็นปึกแผ่นของผู้ต้องขังด้วยกันเอง โดยการเข้าข้างฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือเพียงเพื่อนจะขจัดหรือทำลายคู่แข่ง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังด้วยกันโดยบอกความลับต่อเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้พวกผู้ต้องขังที่สามารถเข้ากับเจ้าหน้าที่ได้ดีและแสดงตัวเป็นพวกเจ้าหน้าที่จะถูกเรียกว่า “คนศูนย์ควบคุม” ส่วนผู้ต้องขังที่ชอบใช้กำลังหรืออวดเบ่งหรือข่มขู่ผู้ต้องขังอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของที่ตนต้องการจะถูกเรียกว่า “กอริล่า” ซึ่งเป็นชื่อของลิงกอริล่านั้นเอง ผู้ต้องขังที่ชอบทำธุรกิจแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือค้าขายจากสิ่งของต่างๆ ในเรือนจำหรือใช้แลกเปลี่ยนบริการจะได้รับฉายา “พ่อค้า” ในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศในเรือนจำนั้นก็มีฉายาตั้งให้ผู้ต้องขังชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน กล่าวคือ ผู้ต้องขังชายที่สวมบทบาทของผู้ชายหรือเกย์คิงจะถูกเรียกว่า “สุนัขป่า” ในขณะที่ผู้ต้องขังที่สวมบทบาทของเกย์ควีนจะถูกเรียกว่า “สุนัขรับใช้” เป็นต้น


คำสแลงเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นทัศนะของผู้ต้องขังต่อสังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขา โดยเป็นการสะท้อนความรู้สึกของผู้ต้องขัง ทั้งในทางบวกและทางลบ ในกรณีที่ผู้ต้องขังมีทัศนะในทางลบ คำสแลงที่ใช้เรียกก็มักจะเป็นในลักษณะล้อเลียนหรือเย้ยหยัน ประชด แดกดัน และในทางตรงกันข้ามหากผู้ต้องขังมีทัศนะในทางบวก คำสแลงก็จะมีลักษณะที่เป็นไปในทางที่ชมเชย เช่น การเรียกผู้ต้องขังที่ไว้ใจได้ว่า “คนดี” ปัญหามีต่อไปว่า คำสแลงเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร หรือผู้ต้องขังสร้างคำเหล่านี้ขึ้นมาจากอะไร คำตอบอาจเป็นได้ว่าผู้ต้องขังต้องการที่จะปกปิดความลับในการสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง ไม่ให้ผู้คุมรู้จึงได้มีการคิดคำสแลงขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวความคิดอีกแนวหนึ่ง ซึ่งพยายามที่จะอธิบายคำสแลงเหล่านี้ เกิดขึ้นมาเพราะผู้ต้องขังต้องการใช้เป็นสิ่งผูกพันที่จะแสดงถึงความเป็นพวกเดียวกันของกลุ่มผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม Sykes (1958: 85) ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว เพราะเหตุที่ไม่เพียงแต่ผู้ต้องขังเท่านั้นที่รู้จักคำสแลงเหล่านี้ ผู้คุมหลายคนก็รู้จักคำสแลงเหล่านี้ดีเช่นกันและยังสามารถใช้คำเหล่านี้ในการสนทนาของเขาอยู่เป็นประจำอีกด้วย ดังนั้น จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จะใช้เป็นเครื่องแสดงความผูกพันหรือเก็บความลับ  ในทัศนะของ Sykes กลับพิจารณาว่าคำสแลงเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ของผู้ต้องขังในการเผชิญปัญหาต่างๆ ในเรือนจำ ซึ่งต่างไปจากปัญหาของสังคมภายนอก ทำให้พวกเขาพัฒนาภาษาเหล่านี้ขึ้นมา

 

โดยสรุปแล้ว การที่ผู้ต้องขังจำนวนมากมารวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทำงานด้วยกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสังคมย่อยๆ ของผู้ต้องขังซึ่งเป็นสังคมที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสังคมภายนอกเพราะสังคมในเรือนจำประกอบไปด้วยวัฒนธรรมและระบบค่านิยมของผู้ต้องขังโดยเฉพาะ ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า วัฒนธรรมและค่านิยมของผู้ต้องขังดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของผู้ต้องขังในเรือนจำ ตลอดจนการกลับเข้าสู่สังคมของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ ดังนั้น ความพยายามในการอบรมสั่งสอนหรือแก้ไขผู้ต้องขังของเรือนจำ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ต้องขังไปในทางที่สังคมพึงปรารถนาได้น้อยมาก หากเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่เข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมย่อยและค่านิยมในเรือนจำของผู้ต้องขัง


อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมย่อยและสภาพสังคมของผู้ต้องขังดังกล่าวเป็นสภาพการณ์ของสังคมผู้ต้องขังในเรือนจำมั่นคงสูงของสหรัฐฯ เมื่อหลายสิบปีก่อน สำหรับในประเทศไทย มีสภาพสังคมของคนคุกที่แตกต่างกันออกไปอยู่บ้าง โดยเฉพาะลักษณะทางประชากรผู้ต้องขังในเรือนจำมั่นคงสูงของไทย ซึ่งผู้ต้องขังที่มีอิทธิพลกลับไม่ใช่ผู้ต้องขังที่มีกำลังหรือมีคดีติดตัวมาก แต่กลับเป็นผู้ต้องขังที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับผู้ทรงอิทธิพลภายนอก ในขณะที่วัฒนธรรมของไทยและวิธีการปกครองเรือนจำของเจ้าหน้าที่ที่เรือนจำของไทยก็แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะเรือนจำในประเทศไทย ใช้ประโยชน์จากสภาพทางกายภาพของอาคารสถานที่ในการควบคุมต่ำมาก ดังนั้นจึงน่าที่จะมีการศึกษาถึงระบบสังคม ตลอดจนวัฒนธรรมย่อยของผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศไทย ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากวัฒนธรรมและระบบสังคมของเรือนจำในประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจผู้ต้องขังและการปกครองดูแล ตลอดจนการแก้ไขอบรมผู้ต้องขังให้กลับสู่สังคมต่อไป

 

------------------------------------------------------------

หมายเหตุ ภาพประกอบบทความมาจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต

 

                                                                       References

Adwani, N. H.  (1948) Perspectives on adult crime and correction: A comparative study of adult prisoners and probationers, 1st edition.  New Delhi: Abhinav Publications.


Bowker, L. (1982) Corrections: the Science and the Arts, New York: MacMillan Publishing.

Carney, L. P. (1974) Introduction to Correctional Science, New York: McGraw Hill.

Clemmer, D. (1940 ; second edition 1958) The Prison Community, New York: Holt, Rinehart and Winston.


Cloward, R. A. (1960) ‘Social control in the prison’, in R. A. Cloward et al. (eds) Theoretical Studies in Social Organization of the Prison, New York: Social Science Research Council.


Cressey D. R. (1973) ‘Adult felons in prisons’, in L. Ohlin (ed) Prisoners in America, Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.


Fox, V. (1972) Introduction to Corrections, Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.


Irwin, J. (1970) The Felon, Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.


Irwin, J. (1977) ‘The changing social structure of the men’s prison’ in D. F. Greenberg, (ed) Corrections and Punishment, Beverly Hill, CA: Sage Publication.


Irwin, J. and Cressey, D. R. (1962) ‘Thieves, convicts and the inmate culture’, Social Problems 10, 142 - 155.

Johnson, E. H. (1978) Crime, Corrections and Society, Homewood, IL: the Dorsey Press.


Reid, S. T. (1981) The Correctional System, New York: Holt, Holt, Rinehart and Winston.


Schrag, C. (1961) ‘Some Foundations for a Theory of Corrections’ in R. Cressey (ed.), The Prison: Studies in Institutional Organization and Change. New York, NY: Holt, Rinehart and Winston. 

 

Shover, N. (1979) A Sociology of American Corrections, Homewood, IL: the Dorsey Press.


Slosar, J. A. (1978) Prisonization, Friendship and Leadership, Lexington, MA: Heath Lexington Books.


Sykes, G. (1958) The Society of Captives, Princeton, NJ: Princeton University Press.


Sykes, G. and Messinger, S. (1960) ‘The Inmate Social System’ in R. A. Cloward et al. (eds) Theoretical Studies in Social Organization of the Prison, New York: Social Science Research Council.

 


หมายเลขบันทึก: 536365เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท