บันทึกสรุปการ สัมมนาวิชาการเรื่อง “ข้อกฎหมายและแนวทางให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานะสถานะบุคคล: กรณีชุมชนบ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมูบ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย” เมื่อวันศุกร์ ที่ 17 พฤษภาคม 2556 ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร


             บันทึกสรุปการ สัมมนาวิชาการเรื่อง “ข้อกฎหมายและแนวทางให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานะสถานะบุคคล: กรณีชุมชนบ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมูบ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย”   เมื่อวันศุกร์ ที่ 17 พฤษภาคม 2556  ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดย นางสาว วิกานดา พัติบูรณ์

               แนวคิดและภาพรวมของโครงการวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็ก และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตราด และชุมชนกลุ่มชายแดนในประเทศไทย ( 2555 – 2559 ) โดย รศ. ณรงค์ใจหาญ

                 มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญในการให้ความการช่วยเหลือ และการบริการสังคม โดยได้ความช่วยเหลือและการบริการนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ให้อาจารย์และนักศึกษาได้ทราบถึงปัญหาของสังคม นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายและนโยบายต่าง โดยคณะนิติศาสตร์จะใช้เวลาทั้งหมด 5 ปีในการให้ความช่วยเหลือชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถที่จะพึงพาตนเองได้

เนื่องจากคณะอาจารย์ได้เคยลงพื้นที่ไปที่ บ้านห้วยน้ำเย็นเพื่อช่วยเหลือเรื่องสถานะบุคคล งานนั้นได้สำเร็จไปบางส่วนแต่ก็ยังเหลือที่ตกค้างอยู่  และเนื่องจากมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปัญหาคือ สิทธิหลังจากที่ได้รับการรับรองสถานะแล้ว จึงเกิดปัญหากฎหมายขึ้นต่อเนื่องงานที่ทำจึงต้องทำต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ และสามารถใช้ทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้ใน 5 ปี ทางคณะจึงเลือกพื้นที่บ้านห้วยน้ำเย็นเป็นพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือ

                    สำหรับบ้านกิ่วจำปีนั้นเป็นพื้นที่ใหม่ พื้นที่ยังเป็นชนบท ชาวบ้านไม่สัญชาติ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ของป่าสงวน พื้นที่นี้มีปัญหามากในเรื่องการเดินทางออกนอกพื้นที่ เรื่องที่ดินทำกิน และเรื่องการศึกษา ในพื้นที่เมื่อเข้าไปแล้วพบว่ามีสภาพปัญหาที่คล้ายกับบ้านห้วยน้ำเย็น

                     เรื่องการให้ความช่วยเหลือนั้นทางคณะได้ตั้งโต๊ะให้ชาวบ้านเข้ามาบอกถึงปัญหาของตน วิธีการคือเมื่อทราบปัญหาแล้วทางคณะทำงานก็จะใช้วิธีการประสานงานช่วยเหลือ ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการฟ้องคดี โดยเริ่มจากการมีคำร้อง และต่อมาคือการวางแผนการทำงาน  สำหรับวันนี้ต้องการให้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านได้รับสอทธิต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไข เพื่อที่จะได้ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

                       ภาพรวมของสภาพปัญหาสถานะ และสิทธิของเด็กด้วยโอกาสแห่งชุมชนบนพื้นที่สูง และปรัชญาการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ควรจะเป็นและเป็นไปได้ โดย รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดพื้นฐานของการศึกษาวิจัย

1.  เป็นการศึกษาจากเรื่องจริงของปัญหาความด้อยโอกาสของเด็ดที่เกิดในสังคมไทย

โดยให้ความสำคัญกับเด็กที่ในพื้นที่ยากจนและห่างไกลและยังให้ความสำคัญกับเด็กในครอบครัวที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะครอบครัวที่มีปัญหาการสื่อสารภาษาไทยกับสังคมไทย จึงเลือกงานบนพื้นที่สูงของประเทศไทย อันได้แก่ อำเภอ แม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเคยทำงานมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๗และไม่เคยละทิ้งพื้นที่เลย

2.  เป็นการวิจัยที่เน้นการพัฒนาเพื่อวิจัย

จึงเริ่มต้นจากปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มิใช่เริ่มจากตำราหรือบทความที่เขียนจากในอดีต การวิจัยจึงเริ่มจากการหารือกับมวลมิตรที่เคยทำงานด้วยกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ และตัดสินใจในที่สุดว่าจะไปทำงานที่บ้านห้วยน้ำเย็น และบ้านกิ่วจำปี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

3.  เป็นการศึกษาวิจัยที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคม

การมีส่วนร่วมของงานวิจัยนี้มี 3 ลักษณะกล่าวคือ

1.  การมีส่วนร่วมของชุมชนเจ้าของปัญหา การทำงานที่สำคัญจึงเป็นการเล่าปัญหาของเจ้าของปัญหา

2.  การมีส่วนร่วมของนักศึกษากฎหมายที่จะออกไปทำหน้าที่ในอนาคตในสังคมไทย นักศึกษาจึงต้องฟังเจ้าของปัญหา และนำไปเล่าต่อในสังคมไทย

3.  การมีส่วนร่วมของประชาสังคมที่สนใจปัญหา จึงต้องมีการฟังข้อวิเคราะห์และข้อเสนอแนะของคนในสังคม ซึ่งจะต้องฟังทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงทางอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะ facebook และ gotoknow

  4.  เป็นการศึกษาวิจัยที่มุ่งการวิจัย และห้องเรียนของมหาลัย

การจัดการเรียนการสอนจึงมี 2 ลักษณะ

1.  การนำนักศึกษาปริญญาตรี โท และเอก ลงพื้นที่จริงเพื่อฟังเจ้าของปัญหาและคนในชุมชน ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แล้วจึงนำความเข้าใจในปัญหามาคิดค้น หาความเป็นไปได้ที่จะจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน และผลผลิตงานเขียนเพื่อการศึกษา และเผยแพร่ต่อสังคม

2.  การนำผลการวิจัย กล่าวคือ สภาพปัญหาและความเป็นไปได้ที่จะแก้ไข้ปัญหาไปใช้เป็นบทเรียนและข้อสอบในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาที่ไม่มีโอกาสที่จะลงพื้นที่จริง และเผยแพร่ไปยังนักศึกษาเก่าที่ออกไปทำงานในสังคมนอกมหาวิทยาลัยแล้ว

  5.  เป็นการศึกษาวิจัยที่เน้น นิติศาสตร์โดยแท้ จึงเป็นการค้นคว้าข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่มีผลบังคับต่อปัญหาสถานะและสิทธิของเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่เป้าหมายแห่งการศึกษาวิจัย ข้อกฎหมายและข้อนโยบายมี 2 ลักษณะ กล่าวคือ 

     1.  กฎหมายระหว่างประเทศและข้อนโยบายขององค์กรระหว่างประเทศซึ่งรัฐไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

     2.  ข้อกฎหมายและข้อนโยบายของรัฐไทย ซึ่งสรุปได้อย่างชัดเจนว่ารัฐไทยมีหน้าที่รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์

  6.  เป็นการศึกษาวิจัยที่ไม่ยอมละเลยนิติศาสตร์โดยทางข้อเท็จจริง จึงเป็นการค้นคว้าปัญหาข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการจัดการปัญหาสถานะ และสิทธิเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่เป้าหมายของการวิจัย

  การศึกษาข้อเท็จจริงมี 4 ลักษณะ กล่าวคือ

     1.  การศึกษาความด้อยโอกาสของเด็กในพื้นที่เป้าหมาย   

     2.   การศึกษาสาเหตุของปัญหาดังกล่าว

     3.  การศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดการปัญหาที่สาเหตุ

     4.  การศึกษาความจำเป็นที่จะต้องจัดการปัญหาคุณภาพชีวิตของเด็กดังกล่าวในขณะที่ยังจัดการปัญหาที่สาเหตุไม่ได้

  7.  เป็นการศึกษาวิจัยที่ไม่ยอมละเลยต่อนิติศาสตร์โดยคุณค่า จึงเป็นการค้นคว้าเพื่อทราบให้ได้ว่าข้อความยุติธรรมทางสังคม จึงเป็นการค้นคว้าเพื่อทราบให้ได้ว่าข้อกฎหมายที่มีอยู่เอื้ออำนวยต่อความยุติธรรมทางสังคม ต่อเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่เป้าหมายแห่งการศึกษาวิจัย

  การศึกษาคุณค่าของกฎหมายและข้อนโยบายนี้จึงมี 2 ลักษณะ กล่าวคือ

   1.  การตรวจสอบคุณค่าของข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่มีผลในปัจจุบัน   

   2.  การศึกษาเพื่อปฏิรูปข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

   3.  การศึกษาเพื่อปฏิรูปข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาความยุติธรรมทางสังคม อันหมายถึงอังหมายถึงไม่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กด้อยโอกาส

 8.  เป็นการศึกษาวิจัยที่เน้นนิติศาสตร์สายปฏิบัติจึงเป็นการคิดค้นสูตรสำเร็จ/ขั้นตอน เพื่อการทำงานทางกฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมทางสังคม ต่อเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่เป้าหมายแห่งการศึกษาวิจัย

  การศึกษาสูตรสำเร็จหรือขั้นตอนทางกฎหมายจึงมี 2 ลักษณะกล่าวคือ

  1.  การทำงานนอกศาลเพื่อทดลองบังคับการตามข้อกฎหมาย และข้อนโยบายที่รองรับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่เด็กด้อยโอกาสที่เลือกมาเป็นกรณีศึกษา

   2.  การทำงานในศาลเพื่อทดลองบังคับการตามข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่รองรับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่เด็กด้อยโอกาสที่เลือกมาเป็นกรณีศึกษา

  จึงเกิดห้องทดลองทางสังคม ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายอีกครั้งหนึ่ง

  พื้นที่เป้าหมายของการวิจัย

  บ้านห้วยน้ำเย็น และบ้านกิ่วจำปี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

  บุคคลเป้าหมายของการวิจัย

    เด็กและเยาวชน

  1.  อาจเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ หรืออาจจะเป็นเยาวชน อายุ 19-26 ปีบริบูรณ์

  2.  อาจเป็นเด็กและเยาวชนที่มีสัญชาติไทยหรือสัญชาติของรัฐต่างประเทศ

  3.  อาจเป็นเด็กและเยาวชนที่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติแล้วหรือไม่ก็ได้

  4.  อาจเป็นเด็กและเยาวชนที่มีสถานะคนผิดกฎหมายคนเข้าเมืองก็ได้

  5.  รวมถึงบุพการีของเด็กและเยาวชนด้วย

  ระยะเวลาในการศึกษาวิจัย  5 ปี

  ผู้เข้าร่วมวิจัย  นักศึกษาปริญญาตรี โท หรือเอก

  ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1.  การบูรณาการกับการสอนและการวิจัย

  2.  การชี้นำ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสังคม

  3.  การนำความรู้ไปพัฒนาตนเอง และหน่วยงาน และคนในชุมชนหรือองค์กรได้

นำเสนอภาพรวมของปัญหาทางกฎหมายของชาวบ้านแห่งชุมชนบนพื้นที่สูง โดยคุณ สรเพ็ชร ภิญโญ

                          นอกจากในพื้นที่ได้ลงทำการให้ความช่วยเหลือ จะมีปัญหาสถานะบุคคลแล้วยังมีปัญหาอื่นที่อีกคือ

- ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เนื่องจาก บ้านกิ่วจำปีตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน (โดยเข้ามาอยู่หลังจากมีการประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวน) และชาวบ้านได้ประกอบอาชีพโดยการทำสวนในพื้นที่นั้นจึงเกิดปัญหาว่าชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นได้หรือไม่

- ปัญหาสิทธิในการได้รับการศึกษา ปัญหาเกิดจากพื้นที่ที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยไม่มีโรงเรียน เด็กๆซึ่งทางครอบครัวไม่ได้มีฐานะทางการเงินดีนักจึงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาทั้งที่สิทธิทางการศึกษาเป็นสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงต้องหาทางแก้โดยการหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปจัดให้เด็กได้รับการศึกษา

- ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เนื่องจากพื้นนั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวน ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง มีเพียงการใช้พลังแสงอาทิตย์ ซึ้งไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน จึงต้องหาที่แก้ว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคได้

                     วิเคราะห์ปัญหาของเด็กด้อยโอกาสแห่งชุมชนบนพื้นที่สูงผ่าน “ เด็กมีรัฐมีสัญชาติแห่งชุมชนบนพื้นที่สูงผ่าน ๑ กรรีศึกษาที่มาร้องทุกข์ต่อโครงการฯ

                       กรณีศึกษาเด็กหญิง สินี เด็กหญิงพร และเด็กชายเดช เจดีย์ทอง : เด็กมีสัญชาติแต่ไร้บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายคนเข้า จึงเสี่ยงต่อการถูกส่งออกนอกประเทศไทย โดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

                     ข้อเท็จจริงคือเด็กทั้งสามคนเกิดในประเทศไทย และทุกคนมีสูติบัตร โดยเกิดจากพ่อซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย และแม่สัญชาติมาเลเซีย ตอนนี้แม่มีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย คืออยู่เกินกว่าเวลาที่ visa กำหนด บิดาและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้เป็นแม่อยากอาศัยอยู่ในเมืองไทยต่อจึงไปแสดงตนเป็นคนไร้รัฐ ตอนนี้จึงเป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนถือบัตรเลข 0 และเปลี่ยนชื่อไปใช้อีกชื่อหนึ่ง และได้ใช้บัตรนี้ไปขอใบอนุญาตทำงาน

                       ความด้อยโอกาสของเด็กทั้งสามคนคือ การเป็นบุตรนอกสมรสของพ่อทำให้มีปัญหาในการการรับมรดก และการได้รับสัญชาติตามพ่อ แม่ของเด็กเสี่ยงต่อการถูกส่งกลับประเทศมาเลเซีย และเสี่ยงต่อการถูกจับในเรื่องของการแจ้งเท็จ ทำให้เด็กต้องถูกพราก

                       วิเคราะห์ปัญหาเด็กด้อยโอกาสแห่งชุมชนบนพื้นที่สูงผ่านเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติแห่งชุมชนบนพื้นที่สูง ผ่าน 4 กรณีศึกษา จาก 5 ครองครัวที่มาร้องทุกข์ต่อโครงการ โดยนางสาว ศิวนุช สร้อยทอง

กรณีที่1  เด็กชายลีซอ และครอบครัว : ไร้รัฐเพราะไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการจดทะเบียนราษฎร เนื่องจากบิดามารดาอ้างว่า เกิดในประเทศไทยและไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรรัฐไทย และไม่มีพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิด

กรณีที่ 2 เด็กชายพิชิต หมื่อแล และครอบครัว : เด็กชายพันธุ์อาข่า ไร้รัฐเพราะไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร แต่มารดามีพยาน DNA ที่ยืนยันว่าสืบสายโลหิตจากบิดาสัญชาติไทยโดยการเกิด

กรณีที่ 3 เด็กหญิงหมี่โบ เชอมือ และครอบครัว : เด็กชาติพันธุ์อาข่า ไร้รัฐเพราะไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร แต่มารดามีพยาน DNA ที่ยืนยันว่าสืบสายโลหิตจากบุพการีเดี่ยวกับพี่ชายสัญชาติไทยโดยการเกิด

กรณีศึกษาที่ 4  เด็กชายกษิดิ์เดช วุยแม และครอบครัว : เด็กไร้สัญชาติเกิดในโรงพยาบาลแม่สรวย จากบิดามารดาชาติพันธุ์อาข่าเกิดในประเทศพม่า ตกหล่นจากทะเบียนประวัติหลายครั้ง จนครั้งล่าสุดได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน

กรณีที่ 5 เด็กชายเอกชัย และครอบครัว : เด็กชาติพันธุ์อาข่า พิการทางสมอง ซึ่งประสบปัญหาไร้สัญชาติ ทั้งที่บิดาและมารดามีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ประสบปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติในขณะเกิด

กรณีที่ 6 นายสมพงษ์ และครอบครัว เยาวชนเผ่าอาข่า ไร้สัญชาติ และอาจมีความรับผิดทางอาญา เนื่องจากการบันทึกชื่อบุพการีในสูติบัตรไม่ตรงกับความเป็นจริง

สาเหตุความด้อยโอกาสของเด็ก

1.  กลุ่มเด็กไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน เพราะไร้รัฐที่จะรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร

2.  บุพการีมีสัญชาติไทยแต่รอการพิสูจน์สัญชาติไทยอยู่ ระหว่างรอต้องอยู่อย่างไรรัฐไร้สัญชาติให้เด็กใช้บัตรเลข 0 ไปก่อน เมื่อมารดาผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจึงขอเพิ่มชื่อตามมารดา

3.  ไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติของรัฐใดเลยบนโลก เพราะตกหล่นการจดทะเบียนการเกิด ตกหล่นจดทะเบียนคนอยู่

4.  ขาดความรู้ความเข้าใจในการรวบรวมพยานหลักฐานในการกำหนดสถานะบุคคล พยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานวัตถุ ( DNA )

5.  บุพการรีตกอยู่ในความไร้รัฐไร้สัญชาติ ความไร้สัญชาติของพ่อแม่ นำไปสู่ความไร้สัญชาติของลูก

6.  ปัญหาความพิการและความเจ็บป่วย ครอบครัวยากจนจึงไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล เข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพไม่มีบัตรประกันสุขภาพ

7.  อาจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา การแจ้งความเท็จเอกสารเท็จ ความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายการทำงานคนต่างด้าว ความผิดกฎหมายที่ดิน ทางแก้คือ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ช่วงวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นต่อปัญหาและการจัดการปัญหาสถานะ และสิทธิของเด็กด้วยโอกาสแห่งชุมชนบนพื้นที่สูง โดยคุณ วีนัส สีสุข

ปัญหาของหน่วยงานราชการ

1.  จำนวนผู้มีปัญหามีเป็นจำนวนมาก มีความหลากหลายมาก มีชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก คนไร้รัฐไร้สัญชาติมีจำนวนมากการพิจารณาจึงต้องแยกคนที่เข้ามานานแล้วกับคนที่เข้ามาใหม่

2.  ปัญหาของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจที่แตกต่างกัน มีความคิด และวิธีการที่แตกต่างกันเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

จำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย ทำให้ต้องรับลูกจ้างเข้ามาทำงาน เกิดปัญหาการทุจริต การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมา

ปัญหาเรื่องโครงสร้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ต่อเนื่อง (ต้องย้าย) จึงไม่เกิดความเชี่ยวชาญ เข้าใจผิดเกี่ยวกับคำร้องรับก่อนตนมาปฏิบัติหน้าที่ ไม่เชื่อพยานหลักฐานที่สอบไว้เนื่องจากความผิดตกอยู่ที่ตน

3.  ปัญหาที่เกิดจากตัวเจ้าของปัญหาเอง ละเลยไม่ไปจดทะเบียนการเกิด นานเข้าทำให้พยานหายาก ไม่น่าเชื่อถือทำให้เด็กตกเป็นคนไร้รัฐ

4.  ปัญหากฎหมาย ระเบียบ หนังสือสั่งการ บางเรื่องไม่ชัดเจน

-  เด็กที่เกิดในไทยแต่ไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ถูกถือให้เป็นคนต่างด้าว

-  ระเบียบ การที่นายทะเบียนเชื่อเฉพาะประจักษ์พยาน ผู้ปฏิบัติให้คำนิยามพยาน คือ ต้องเป็นพยานที่รู้เห็นการเกิด เรียกพยานที่เป็นข้ารราชการระดับสูงซึ้งชาวบ้านไม่สามารถหาได้

                    ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น ดำเนินการแลกเปลี่ยนโดย ดร. รัชนีกร ลาภวฌิชชา

                   ประเด็นเรื่องความด้อยโอกาสตามกฎหมายครอบครัว(กรณีครอบครัว เจดีย์ทอง)

                    มีการเสนอให้มีการจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนสมรสสามารถจดตามกฎหมายไทย และจดที่สถานทูตมาเลเซีย มีการเสนอให้จดทะเบียนสมรสที่สถานทูต และให้แปลงสัญชาติตามสามี และเสนอให้ ผู้เป็นบิดาจดทะเบียนรับรองบุตร

                    มีปัญหาเรื่องแจ้งเท็จ หากมีเจตนาก็มีความผิดทางอาญา

                     เรื่องการถูกส่งกลับเนื่องจากมารดาอยู่เกิน visa นั้น การถูกส่งกลับนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือต้องถูกส่งกลับแน่นอน แต่หากเรื่องไปถึงศาลศาลอาจจะเมตตา

                      ประเด็นกรณีใช้สูติบัตรปลอม เรื่องทำสูติบัตรปลอมไม่ผิดเนื่องจากเด็กไม่ได้เป็นคนทำ แต่การที่เด็กนำสูติบัตรปลอมไปใช้นั้น ตามกฎหมายสูติบัตรปลอมนั้นใช้ไม่ได้ไม่ว่าเด็กจะทราบหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นเด็กต้องไปแจ้งเกิดใหม่

                      และไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เนื่องจากมีเป็นไปได้ยากเพราะต้องพิจารณาว่ากลุ่มเป้าหมายคือใครและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่

                       ประเด็นไร้เอกสารพิสูจน์ตน หากไม่มีเอกสารทางทะเบียนก็ไปบันทึกทางทะเบียน วิธีการเข้าระบบทะเบียนราษฎร

1.  การจดทะเบียนการเกิด ทางราชการจะนำไปบันทึกในทะเบียนคนอยู่

2.  การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

3.  การจัดทำทะเบียนประวัติ

4.  การจัดทำทะเบียนประวัติ

                           กรณีของลีซอถูกสำรวจตามยุทธศาสตร์ ต้องดูว่าแบบ 89 ตกค้างอยูที่ใครโรงเรียนหรืออำเภอ

                           ปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐาน

                           มีการวางระบบของการตรวจ DNA ใหม่ คือจะส่งผลตรวจไปที่สำนักทะเบียน1ชุด และให้เจ้าของปัญหา 1ชุดเพื่อไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูว่าผลตรงกันกับที่โรงพยาบาลส่งมาหรือไม่

                             ปัญหาชาวบ้านไม่มีเงินตรวจ DNA ปัจจุบัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีกองทุนคุ้มครองเด็กสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี  วุฒิสภามีการตั้งคณะกรรมการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือค่าตรวจ DNA โดยมีเป้าหมาย 2,000คนภายใน 2 ปีเป็นการรวมมือกันของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองก็มีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเช่นกัน

                             บุคคลที่จะได้รับเงินสนับสนุนต้องเป็นบุคคลที่ได้ยื่นคำร้องไว้แล้ว และการตรวจเป็นการตรวจที่นำมาซึ้งสัญชาติไทย

                             ปัญหาด้านความพิการกรณีของเอกชัย ซึ่งมีบัตรขึ้นต้นด้วยเลข 7 ปัจจุบันกลุ่มของผู้ที่มีสิทธิได้รับประกันสุขภาพ ตามมติ ครม 23 มีนาคม 2553 ต้อง ต้องเป็นบุคคลที่รัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะ สำหรับผู้มีบัตรที่ขึ้นต้นด้วยเลขเจ็ดต้องพิจารณาจากบุพการีว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่เข้ามาตั้งแต่เมื่อไร

                              วิธีการใช้สิทธิ คือต้องไปแสดงตัวโดยการลงทะเบียนก่อนจึงจะสามารถใช้สิทธิได้

                               กล่าวสรุปและปิดการประชุม

                               คณะผู้จัดทำจะดำเนินการตามที่มีการเสนอแนะ หากมีความจำเป็นต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก็ยินดีทำ  นอกจากนี้หากต้องลงพื้นที่ก็จะมีหนังสือของคณะนิติศาสตร์นำไป รวมทั้งช่วยผลักดันงบประมาณในการทำงานนี้ด้วย


หมายเลขบันทึก: 536361เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท