มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ ตอนที่ 12 ชนชั้นกลางหรือคอปกขาว


ชนชั้นตามแนวคิดของมาร์กซ์ (ต่อ)

3. ชนชั้นกลางหรือกลุ่มคอปกขาวและหรือพวกสลิ่ม

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ชนชั้นนายทุนสัญชาติไทยส่วนน้อยนิดได้พัฒนาเติบใหญ่จนกลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดแห่งรัฐไปแล้วนั้น "ชนชั้นกลาง" ก็เป็นอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งปรากฏตัวขึ้นในสังคมไทยอย่างโดดเด่น คนกลุ่มนี้มีบทบาทในความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มทุนผูกขาดแห่งชาติกับกลุ่มชนชั้นล่างสุดของสังคม ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการรองรับและตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย "สินค้าและบริการ" ในตลาด ตลอดจนการเผยแพร่วัฒนธรรมใหม่ที่รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ขณะเดียวกันก็เป็นผู้เสพย์ผู้บริโภคสินค้าและบริการที่สำคัญที่สุดของกลุ่มทุนผูกขาดแห่งชาติด้วย กลายเป็นฐานขนาดใหญ่ในทางเศรษฐกิจให้กลุ่มทุนผูกขาดระดับชาติสามารถก้าวขึ้นไปสู่การมีอำนาจรัฐจนกลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดแห่งรัฐได้ในที่สุด

องค์ประกอบที่สำคัญของชนชั้นกลาง

องค์ประกอบสำคัญของชนชั้นกลางก็คือ กลุ่มพ่อค้า, นักธุรกิจ, เจ้าของกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง, ข้าราชการระดับกลางขึ้นไป พนักงานลูกจ้างทั้งของรัฐและเอกชนระดับกลางขึ้นไป ผู้ประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ เช่น ทนายความ สถาปนิก แพทย์ ศิลปิน นักเขียน นักคิด ปัญญาชนในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เยาวชน นิสิต นักศึกษา ลูกหลานของชนชั้นกลาง รวมทั้งเกษตรกรที่ร่ำรวย เป็นต้น ชนชั้นกลางนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าชนชั้นนายทุนชาติอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเทียบกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรส่วนใหญ่แล้ว ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน และแม้ว่าบางส่วนของชนชั้นกลางจะเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต เช่น โรงงานขนาดกลาง-ขนาดเล็ก แต่รายได้ก็อาจไม่แตกต่างกับพนักงานระดับกลางของบริษัทกลุ่มทุนข้ามชาติ หรืออาจน้อยกว่ารายได้พนักงานระดับสูงของบริษัทในกลุ่มทุนผูกขาดด้วยซ้ำ  และในที่นี้ใช้ในความหมายเฉพาะในสังคมไทย เพราะในอดีตชนชั้นกลางในยุโรปมีความหมายถึงชนชั้นอื่น ๆ ที่มิใช่ชนชั้นหลัก ๆ ได้แก่ เสรีชน ช่างฝีมือ ฯลฯ ชนชั้นนายทุนน้อยเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางที่ว่านี้

ลักษณะของชนชั้นกลาง

กลุ่มคนเกือบทั้งหมดในชนชั้นกลางนี้จะได้รับการศึกษาระดับสูง (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) มีความเชื่อมั่นตนเองสูง ไม่ค่อยจะยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ มีโอกาสรับรู้ข้อมูลและข่าวสารจำนวนมาก และมักจะเชื่อมั่นในข้อมูลและข่าวสารที่ตนได้รับ จึงมักจะโต้เถียงขัดแย้งกันอยู่เสมอเนื่องจากได้รับรู้ข้อมูลและข่าวสารที่ไม่ตรงกัน คนละด้าน หรือไม่ครบถ้วน ประกอบกับใช้หลักการในการวิเคราะห์ข้อมูลและข่าวสารที่ได้รับมาไม่เหมือนกัน หรือมีจุดยืนและทัศนะคติต่อข้อมูลและข่าวสารที่แตกต่างกัน และในหลายกรณีก็มักจะมองปัญหาแบบไม่ขาวก็ต้องดำ (เช่น ไม่อยู่ข้างรัฐบาลทักษิณ ก็ต้องอยู่ข้างสนธิ (ลิ้มทองกุล) เป็นต้น) จึงเกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้ง่ายและบ่อยครั้ง ข้อยุติของการแก้ไขความขัดแย้งเหล่านี้ก็มักจะไปลงเอยด้วยการลงมติ โดยยึดเสียงส่วนใหญ่ว่าเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับกันตามนั้น จึงกลายเป็นที่มาของความคิดแบบ "ด้านเดียว" มิได้คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่นความถูกต้อง จริยธรรม ผลกระทบต่อผู้อื่น ผลกระทบต่อคนยากจน ต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ชนชั้นกลางในสังคมไทยมีความหลากหลายและกระจัดกระจายมาก จึงไม่สามารถสังเคราะห์ชุดความคิดหลักที่เป็นของชนชั้นกลางขึ้นมาชี้นำสังคมได้ ทำให้ต้องยอมรับแนวความคิดทางการเมืองที่หลากหลาย หรือพวกสลิ่มนั่นเอง ด้านหนึ่งเพราะต้องพึ่งพากลุ่มทุนต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์แตกต่างกันไป บ้างก็ต้องพึ่งพากลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ รวมทั้งระบบกลไกข้าราชการ ฯลฯ  ดังนั้นยามใดชนชั้นปกครองสามัคคีกันได้ ชนชั้นกลางก็จะโน้มเอียงไปขานรับแนวคิดเหล่านั้น เช่น กระแสธงเขียวแก้ไขรัฐธรรมนูญ (จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540), การเลือกตั้งครั้งต่าง ๆ ทุกระดับ, ความคิดเรื่องโลกาภิวัฒน์ เป็นต้น จนเกิดแนวโน้ม "ด้านเดียว" มองไม่เห็น (หรือมองข้าม) ข้อเสียด้านอื่น ๆ ไป แต่เมื่อใดที่ชนชั้นปกครองขัดแย้งแก่งแย่งผลประโยชน์กัน ชนชั้นกลางก็จะแตกแยก แบ่งกลุ่มไปตามแหล่งข้อมูลที่ได้มา หรือที่ยอมรับ-ให้ความเชื่อถือ หรือตามกลุ่มผลประโยชน์ที่ตนมีส่วนร่วม เช่น การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจน ปัญหาท่อแก๊สภาคใต้ ปัญหาไฟใต้ กรณีฆ่าหมู่ที่กรือเซะและตากใบ กรณีขับไล่รัฐบาลทักษิณ 2 เป็นต้น

อนึ่ง ในสังคมทุนนิยมที่ความคิดทางการเมืองของชนชั้นนายทุนเป็นด้านหลักนั้น แนวความคิดหลัก ๆ ของชนชั้นกลางในสังคมไทยก็มักจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากกลุ่มชนชั้นนายทุนมาใช้ เพราะสภาวะแวดล้อมและการประกอบอาชีพของคนกลุ่มนี้มักจะใกล้ชิด ขึ้นต่อและต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของกลุ่มทุนต่าง ๆ พลังของชนชั้นกลางจึงกระจัดกระจาย เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นทางการเมืองไปได้ง่าย ภายในระยะเวลาอันสั้นก็อาจจะเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม ทำให้ทั้งจุดยืน, ทัศนะ และวิธีการ ของชนชั้นกลางในสังคมไทยมีความหลากหลาย แตกต่าง เบี่ยงเบน ไม่มีความแน่นอน ประกอบกับความเชื่อมั่นตนเองในระดับสูง ทำให้บางครั้งก็มีอคติส่วนตัวแฝงอยู่ในแนวความคิดและการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม พลังของชนชั้นกลางในสังคมไทยเป็นพลังที่ไม่อาจมองข้ามได้ ชนชั้นนี้เคยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาลสุจินดาในกรณีพฤษภาทมิฬ ปี 2535 รัฐบาลชวลิต ปี 2540 และการมีบทบาทสำคัญอีกครั้งหนึ่งในกรณีขับไล่รัฐบาลทักษิณ 2 ปี2549

ทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากชนชั้นกลางต้องพึ่งพาทั้งกลุ่มชนชั้นนายทุนระดับต่าง ๆ และอิทธิพลต่าง ๆ ที่แฝงเร้นอยู่ในสังคมไทย ทำให้พัฒนาเติบใหญ่ต่อไปได้อย่างยากลำบาก ขณะเดียวกันรัฐบาล "กลุ่มทุนผูกขาดแห่งรัฐ" ก็ยังผลักภาระต่าง ๆ มาให้ชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายบังคับให้ต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคม เงินสมทบกองทุนต่าง ๆ  ครั้นเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น รัฐบาลก็ออกกฎหมายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำผลักภาระมาให้นายจ้าง ให้ผู้ใช้แรงงานไปเอาเงินจากนายจ้างเพิ่มขึ้น (และทำให้ผู้ใช้แรงงานบางส่วนเห็นว่ารัฐบาลนี้ดีจริง ๆ ที่ยอมให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ) ชนชั้นกลางที่เป็นนายจ้างจึงได้รับผลกระทบโดยตรงและอ่อนแอลง เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องจ่ายเพิ่มนั้น เมื่อคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับกำไรระหว่างผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดเล็กกับบริษัทยักษ์ใหญ่แล้ว มีความแตกต่างกันเป็นอันมาก อีกทั้งไม่สามารถทำกำไรได้เท่ากับกิจการขนาดใหญ่ของกลุ่มทุนผูกขาดแห่งรัฐ เพราะไม่ได้สิทธิ์ผูกขาดสัมปทาน ไม่มีเงินทุนซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างกลุ่มนายทุนใหญ่ ๆ เพราะไม่สามารถใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเอง

ที่สำคัญ ในทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อกลางปี 2540 กลุ่มทุนไทยทั้งนายทุนน้อยและนายทุนชาติต่างต้องร่วมกันแบกรับภาระค่าจ้างแรงงานที่รัฐบาลผลักมาให้อย่างหนัก จากวันละ 162 บาทเป็น 184 บาท คิดเป็นรายจ่ายในหมวดค่าจ้างแรงงานทางตรงที่ต้องเพิ่มถึง 13.58 % (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามสัดส่วนเงินสมทบค่าประกันสังคมและเงินกองทุนทดแทน)

ในขณะที่ชนชั้นนายทุนชาติและชนชั้นนายทุนน้อยเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ต้องแบกรับภาระอย่างหนักหน่วงอยู่นี้ กลุ่มทุนข้ามชาติกลับมิได้จ่ายค่าจ้างแรงงานในไทยเพิ่มขึ้นเลย ตรงกันข้าม ยังจ่ายค่าจ้างแรงงานน้อยลงกว่าเดิมเสียอีก !

กลุ่มทุนข้ามชาติทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย จึงดาหน้ากันรุกคืบเข้ามา โดยที่รัฐบาล "กลุ่มทุนผูกขาดแห่งรัฐ" แทนที่จะช่วยเหลือปกป้องกลับโฆษณาป่าวร้องว่าพวกเขากำลังทำเพื่อชาติเพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต แล้วก็ไปเจรจาต่อรองกับกลุ่มทุนข้ามชาติจักรพรรดินิยมทั้งหลายในรูป WTO บ้าง FTA บ้าง โดยเอาอนาคตและความเป็นความตายของชนชั้นกลางและเกษตรกรซึ่งเป็นคนชั้นล่างแลกกับผลประโยชน์ที่กลุ่มทุนของตนทำธุรกิจอยู่ แล้วปล่อยให้กลุ่มทุนข้ามชาติทั้งหลายยาตราทัพเข้ามาเบียดขับจนชนชั้นกลางกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าต้องล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา

และชนชั้นชาวนา กับชนชั้นนายทุนผูกขาดแห่งรัฐ ด้วยรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อความขัดแย้งใหญ่น้อยจึงปะทุขึ้นเป็นระลอก การต่อต้านการประชุม WTO ในทุกเมืองทั่วโลก การต่อต้านการเจรจา FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-อเมริกาที่เชียงใหม่ การต่อต้านมิให้ LOTUS มาเปิดใกล้ชุมชนของตน การล้มหายจากไปของร้านค้าของชำท้องถิ่นจำนวนมากเมื่อร้านค้าปลีกอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นมาตั้งใกล้ ๆ ฯลฯ เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นนายทุนชาติ ชนชั้นกลาง

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อสังคมทุนนิยมวิวัฒนาการไปถึงขั้นหนึ่ง ทุกชนชั้นที่สูญเสียผลประโยชน์ให้กับชนชั้นนายทุน ต่างก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชนชั้นตน

การที่ชนชั้นกลาง ซึ่งก็คือผู้ประกอบอุตสาหกรรมขนาดเล็ก พ่อค้าย่อย หัตถกรและชาวนา ต่อสู้กับชนชั้นนายทุน ล้วนแต่เพื่อรักษาการดำรงอยู่ของชนชั้นกลางของพวกเขานี้ไว้มิให้พินาศไป ฉะนั้นพวกเขาจึงไม่ใช่พวกปฏิวัติหากเป็นพวกอนุรักษ์เสียยิ่งกว่านักอนุรักษ์อื่นๆ

หนังสืออ้างอิง

อรทัย ปิ่นเก็จมณี.ชนชั้นและรัฐในสังคมไทย ตอนที่ 1. http://firelamtung.com/index.php?option=com_content&view=article&id=101:--1&catid=1&Itemid=19 เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

อรทัย ปิ่นเก็จมณี.ชนชั้นและรัฐในสังคมไทย ตอนที่ 2.http://firelamtung.com/index.php?option=com_content&view=article&id=119:--2&catid=1&Itemid=19  เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

นิธิ เอียวศรีวงศ์. พลวัตของชนชั้นนำไทย (2). http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1349659365&grpid=03&catid=12. เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556 

ศศิริษา.ความสัมพันธ์ทางแนวคิดและทฤษฎี ประวัติศาสตร์ของสังคมทุกสังคมที่เคยมีอยู่ ล้วนคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น”Karl Marx. http://apinan.orgfree.com/resource.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556

ภีรเดช อเนกพิบูลย์ผล.ไพร่และ ‘สงครามชนชั้น’ สะท้อนความขัดแย้งในทางวัฒนธรรม-การเมือง. http://prachatai.com/journal/2010/04/28945  เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556

Faris Yothasamuth. อะไรคือสลิ่ม? ว่าด้วยที่มา บริบทความหมาย และคุณลักษณะเฉพาะ. http://prachatai.com/journal/2011/11/37957 เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556



หมายเลขบันทึก: 535909เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2013 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท