ภาครัฐและเอกชน ร่วมมือทำวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเลี้ยงโคนมสู่เกษตรกร


เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และภาคเอกชน จัดประชุมศึกษาดูงาน กำหนดทิศทางความร่วมมือเพื่อนำผลงานวิจัยโคนมช่วยเหลือเกษตรกร

 

       ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2556 เครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และภาคเอกชน ได้แก่บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) และบริษัทออลเทค จัดประชุมและศึกษาดูงานการเลี้ยงโคนม เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยโคนมไปใช้ประโยชน์ ให้แก่ผู้บริหารหน่วยงานและ คณะทำงาน จำนวน 25 คน ณ จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสระบุรี โดยการนำทีมของ ผอ. สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้อำนวยการภารกิจบริหารจัดการผลงานวิจัย (วช.) คุณมนตรี สีหมนตรีรองกรรมการผู้จัดการ. บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ คณะทำงานเครือข่ายวิจัยภูมิภาคฯ รองศาสตราจารย์เทอดศักดิ์ คำเหม็ง หัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายสัตวแพทย์กิจ สุนทร บริษัทออลเทค
         วันที่
8 พฤษภาคม 2556 คณะผู้บริหารหน่วยงานและคณะทำงาน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ โรงงานอาหารสัตว์บกหนองแค บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี มีเนื้อที่ 130 ไร่ โดยคุณชยัญตรี วงศ์สินไชย หัวหน้าห้องปฏิบัติการโรงอาหารสัตว์ เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท และจากนั้นคณะประชุมได้เดินทางไปที่บริษัท ซี พี – เมจิ จำกัด โดยคุณชัยยันต์ โลหพันธุ์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิจำกัด เป็นผู้บรรยายกิจกรรมของโรงนมเมจิ และกล่าวถึงการก่อตั้งเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่าง ซีพี และ เมจิ มีจุดมุ่งหมายคือ สนับสุนนให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรงด้วยนมที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก คัดสรรวัตถุดิบที่ดี สะอาด สดใหม่ โรงงานได้มาตรฐานเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา การรับซื้อนมเป็นลักษณะของการรวมกันรับซื้อในรูปแบบของสหกรณ์ บริษัทได้รับน้ำนมจากจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี และลพบุรีมากที่สุด เพราะพื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้เลี้ยงโคนมมากที่สุด โดยที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมสูงถึง 3,000 ตันต่อวัน จากนั้นคณะประชุมได้ศึกษาดูงานภายในโรงนมเมจิ ถึงขบวนการและขั้นตอนการผลิตน้ำนมภายใต้แบรนด์เมจิทั้งหมด
         วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 คณะผู้เข้าร่วมประชุม ได้เดินทางไปที่ฟาร์มวิจัยโคนมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อศึกษาดูงานภายในฟาร์ม โดยคุณมาโนชญ์ นาน่วม รองกรรมการผู้จัดการ ฟาร์มวิจัยโคนมปักธงชัย เป็นผู้นำชมกิจกรรมภายในฟาร์ม ฟาร์มโคนมมีโครีดนม จำนวน
600 ตัว รีดโดยใช้เครื่องจักรแต่มีคนดูแลตลอดเวลา โดยเริ่มรีดตั้งแต่ 03.00 – 11.00 น. ได้น้ำนมเฉลี่ย 27 กิโลกรัม/ตัว/วัน และได้น้ำนมเฉลี่ย 16.3 ตัน /วัน นอกจากนี้ภายในฟาร์มยังมีธุรกิจการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์โคบราห์มันและกระบือ หลังจากนั้นคณะประชุมได้ประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนงานวิจัยและการถ่ายทอดงานวิจัยสู่ภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
        ผอ.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ กล่าวว่า จุดอ่อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมคือ ขาดการจัดการที่ดี ทำให้ละเลยเรื่องที่สำคัญไป ดังนั้น ซีพี และคณะวิจัยจะต้องมีความร่วมมือให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรที่ว่าจะต้องคัดเลือกเกษตรกรต้องมีความพร้อมและความสนใจ
        จากการประชุมและศึกษาดูงาน ได้ข้อสรุปว่า ให้ทางเครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งข้อเสนอโครงการเบื้องต้น (concept paper) ระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการนำผลงานวิจัยด้านการจัดการโคนมของทุกภาคส่วน มาประยุกต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ช่วยเหลือเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม

        วิไลวรรณ ขันธุแสง ข้อมูลข่าว/ภาพ
         กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่ 


หมายเลขบันทึก: 535907เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าภาครัฐนำหลักการบางอย่างของเอกชนมาปรับใช้ก็จะดีไม่น้อยเลยค่ะท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท