'อาหาร' เป็น 'ต้นเหตุหลัก' ของการป่วย แก่วัย และตายเร็ว


อ่านเรื่องกรมวิทย์ฯ ตรวจพบน้ำปลาไทยไม่ได้มาตรฐานเพียบ ในข่าวตามลิงก์ข้างล่างแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า หันไปทางไหนก็เจอแต่อาหารปนเปื้อนสารพิษ การเจ็บไข้ได้ป่วยของคนปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการคุกคามของ 'เชื้อโรค' เป็นหลักอย่างสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว 'อาหาร' ที่เราจำเป็นต้องกินทุกวันได้กลายเป็น 'ต้นเหตุหลัก' ของการป่วย การแก่ก่อนวัย ร่างกายเสื่อมเร็ว เช่น กระดูกพรุน (จากการดิ่มน้ำอัดลมและนมมาก) หลอดเลือดแข็งตัว-ตีบตัน (จากไขมันมากเกิน) การตายก่อนวัยอันควร เช่น เป็นเบาหวานจากน้ำตาลท่วมเลือด หัวใจวาย ไตวาย ตับแข็ง และมะเร็ง (ที่แซงโรคหัวใจขึ้นมาอยู่อันหนึ่งของสาเหตุการตายของคนไทยแล้ว) นับแต่นี้ไป ใครไม่ใส่ใจ ไม่พิถีพิถันกับอาหารที่ผ่านปากอาจแก่ง่าย ตายเร็วได้

กรมวิทย์ฯ ตรวจพบน้ำปลาไทยไม่ได้มาตรฐานเพียบ
(จาก นสพ.เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2556) 

กรมวิทย์สุ่มตรวจน้ำปลาทั่วประเทศ พบน้ำปลาแท้-น้ำปลาผสมต่ำมาตรฐานอื้อ แถมใส่สารกันบูดเพียบ ย้ำคุณภาพของน้ำปลาไม่ได้ขึ้นกับราคาขาย น้ำปลาราคาแพงคุณภาพไม่ได้ดีเสมอไป ด้าน อย.รับลูกเตรียมตรวจโรงงานน้ำปลาที่ไม่ได้มาตรฐาน ลั่นดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด 

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีน้ำปลาหลากหลายยี่ห้อมาก ทุกขวดล้วนมีเครื่องหมาย อย. ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมีโจทย์ว่าทำไมราคาแตกต่างกัน และทุกขวดเขียนว่าน้ำปลาแท้เกือบทั้งหมด แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ทางสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ทั่วประเทศ ได้จัดทำโครงการสำรวจคุณภาพน้ำปลา ดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2556 โดยเก็บตัวอย่างน้ำปลาที่จำหน่ายตามตลาดสดและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ให้ครอบคลุมผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในประเทศ จำนวน 471 ตัวอย่าง จากผู้ผลิต 118 ราย แบ่งเป็น น้ำปลาแท้ 242 ตัวอย่าง มีราคาตั้งแต่ 10-45 บาทต่อขวด และน้ำปลาผสม 229 ตัวอย่าง ราคาตั้งแต่ 6- 18 บาทต่อขวด จากผลการตรวจ พบว่า น้ำปลาแท้ ร้อยละ 62.8 และ น้ำปลาผสม ร้อยละ 37.1 เท่านั้น ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ทั้งนี้ตามกฎหมายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 203 พ.ศ.2543 กำหนดว่าน้ำปลาแท้ต้องมีปริมาณไนโตรเจนไม่น้อยกว่า 9 กรัมต่อลิตร และปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต้องมีค่าระหว่าง 0.4-0.6 ส่วนน้ำปลาผสมกำหนดให้มีค่าไนโตรเจนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร ปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต้องมีค่าระหว่าง 0.4-1.3 และการใช้วัตถุกินเสียต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า เมื่อจำแนกคุณภาพของน้ำปลาตามราคา พบว่า น้ำปลาแท้ที่มีราคา 10-20 บาทต่อขวด ไม่ได้ต่างจากน้ำปลาแท้ที่มีราคา 30-45 บาทต่อขวด คือ พบไม่ได้มาตรฐานเท่ากัน ร้อยละ 30.5 และ 30.3 ตามลำดับ ดังนั้นซื้อถูกหรือซื้อแพงมีโอกาสได้สินค้าไม่ได้มาตรฐานเท่ากัน ส่วนน้ำปลาแท้ที่มีราคา 21-29 บาทต่อขวด พบไม่ได้มาตรฐานถึงร้อยละ 45.4 หรือเกือบครึ่ง โอกาสที่จะหยิบมา 2 ขวดมีโอกาสไม่ได้มาตรฐาน 1 ขวด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์

นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุของน้ำปลาแท้ที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่เนื่องจาก กรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 36 ปริมาณไนโตรเจนต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 9.1 และใช้กรดเบนโซอิคเกินมาตรฐานร้อยละ 4.5 ทั้งที่ความจริงน้ำปลาเค็มอยู่แล้ว ไม่น่าจะใส่สารกันบูด ส่วนน้ำปลาผสมสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปริมาณไนโตรเจนต่ำกว่าเกณฑ์ และกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์กำหนดร้อยละ 52.0 และ 43.7 ตามลำดับ ส่วนการใช้กรดเบนโซอิคเกินมาตรฐานร้อยละ 11.4 “จากข้อมูลนี้สามารถสรุปได้ว่าคุณภาพของน้ำปลาไม่ได้ขึ้นกับราคาขาย เนื่องจากน้ำปลาที่ขายในราคาสูงคุณภาพมิได้ดีเสมอไป และจากการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า มาตรฐานการผลิตของโรงงานน้ำปลาในปัจจุบันยังไม่ดีพอ ทำให้คุณภาพน้ำปลาไม่คงที่ เนื่องจาก น้ำปลายี่ห้อเดียวกันบางรุ่นการผลิตได้มาตรฐาน แต่บางรุ่นไม่ได้มาตรฐานทั้งที่เป็นยี่ห้อเดียวกัน”

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้คำแนะนำในการเลือกน้ำปลา ว่า 1.ให้สังเกตฉลากอาหารและต้องมีการขึ้นทะเบียน อย. โดยระบุอยู่บนฉลาก หรือได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)ระบุอยู่บนฉลาก 2.ใสสะอาด มีสีน้ำตาลทอง และมีกลิ่นหอมของปลา สีต้องไม่เข้มเกินไปและไม่มีตะกอน ในน้ำปลาแท้บางครั้งอาจพบผลึกใส ๆ ตกอยู่ที่ก้นขวด ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีตามธรรมชาติไม่ถือว่ามีอันตราย 3.ต้องมีตราสินค้าและบริษัทที่ผลิต 4.มีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต และวันที่หมดอายุ 5.สำหรับผู้ที่แพ้ผงชูรสก็อาจต้องเลือกชนิดที่ไม่เติมผงชูรส ซึ่งน่าจะมีปริมาณผงชูรสต่ำกว่า แต่ควรระลึกไว้ว่าในน้ำปลาธรรมชาติเองก็มีสารที่มีโครงสร้างเหมือนผงชูรสนปริมาณหนึ่ง

นางลัดดาวัลย์ โรจนพรรณทิพย์ ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โปรตีนที่มีอยู่ในน้ำปลาอาจจะไม่ได้มาจากเนื้อปลาแท้ ๆ อาจผสมวัตถุเจือปนอาหารหรือสารอื่นทำให้ปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้น ซึ่งในอดีตที่เคยตรวจพบคือ การกระดูกวัว ควาย มาใช้ แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ามีการนำกระดูกวัว กระดูกควายมาใช้หรือไม่ อย่างไรก็ตามน้ำปลาที่มีคุณภาพดีจะต้องมีปริมาณไนโตรเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโนที่มาจากการย่อยโปรตีนจากเนื้อปลาสูง การกำหนดปริมาณของไนโตรเจนทั้งหมดเป็นวิธีการหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตน้ำปลา จำหน่ายน้ำปลาที่เจือจางและเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไป สำหรับกรดกลูตามิคที่พบในน้ำปลา ส่วนหนึ่งมาจากเนื้อปลา อีกส่วนหนึ่งมาจากกากผงชูรสและผงชูรสที่นำมาผสมเพื่อแต่งสีและรสของน้ำปลาถ้ามีการเติมมากจะทำให้อัตราส่วนของกรดกลูตามิคต่อปริมาณของไนโตรเจนทั้งหมดสูงเกินเกณฑ์ หรือถ้าเติมวัตถุเจือปนอื่นที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบทำให้ระดับค่าไนโตรเจนทั้งหมดสูง แต่ทำให้อัตราส่วนของกรดกลูตามิคต่อปริมาณของไนโตรเจนทั้งหมดต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด

ภก.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จะนำผลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปดำเนินการต่อ โดยเข้าไปดูสถานที่ผลิตว่าผลิตตามกรรมวิธีที่ถูกต้อง ได้มาตรฐานหรือไม่ หากไม่ได้มาตรฐานะจะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมา อย.ได้สุ่มตรวจน้ำปลาเช่นกัน แต่อยู่ใน กทม.ดังนั้นตัวเลขที่ตกมาตรฐานจึงน้อยกว่าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบ อย่างไรก็ตามกรณีน้ำปลาที่มีปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดดังนั้นวิธีการเลือกซื้ออยากให้ดูที่ฉลาก ดูสูตร ส่วนประกอบ และเลขสารบบอาหาร.

http://www.dailynews.co.th/politics/203292


หมายเลขบันทึก: 535865เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2013 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ ท่านอาจารย์ นาย สุรเชษฐ ...

ใครๆ ก็รักชีวิต  กินอาหารแต่พอประมาณเพื่อเลี้ยงชีพ และหมุนเวียนไปเรื่อยๆ อย่ากินซ้ำๆ กันต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อให้ร่างกายได้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน+ขับสารพิษได้ง่ายขึ้น  คงไม่มีสิ่งใดที่อยากเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของใคร..

พืชสัตว์ก็ล้วนมีชีวิต  จะสังเกตได้ง่ายๆ ว่า อะไรที่ใกล้เสีย จะมีสารคัดหลั่ง เป็นเมือกๆ  ไม่มียกเว้นว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์  เปรียบเทียบสารคัดหลั่งได้กับเสมหะของคน และเมือกๆ ของหวัดนก จะเข้าใจได้ง่ายกว่าค่ะ

หาก..มนุษย์..ยังไม่หยุดยั้ง..การค้า.."  ธรรมชาติ.."...ความวิบัติ..นั้นมีให้เห็นต่อเนื่อง..รวมทั้ง..ความเป็นมนุษย์เอง...(อย่าปลงใจเชื่อ..สิบข้อ..น่าจะเป็นประตู..สู่อิสระ.รู้ตื่น รู้เบิกบาน..)....ไม่ต้องอาศัย..อย..อิอิ..เพราะ..เดี๋ยวนี้..ป้ายที่ติด..จะพิมพ์ด้วยอักษรตัวเล็ก..เสียจน..ใส่แว่นยังมองไม่เห็น..แถมไม่มีเวลาจะอ่าน..อ้ะะๆๆ..(ยายธี).

ค่ะจะระวังให้มากขึ้น ตอนนี้ก็ชื่นชอบน้ำปลายี่ห้อหนึ่งกันทั้งบ้าน

แต่ไม่ทราบว่าจะใช้เนื้อปลาแท้ทั้งหมดหรือเปล่า ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์สุรเชษฐ ...ตามมาขอบคุณ ที่ท่านอาจารย์กรุณาส่งwww.ไปให้ยังไม่ได้เปิดเข้าไปอ่านเผลอลบไปจึงตามไปอ่านที่ Blog เหตุใดคำถามว่า "ไม่ควรกินอะไร?" จึงสำคัญกว่า "ควรกินอะไร?" และ Blog  ทำอย่างไรให้คอเลสเตอรอลลดโดยไม่ต้องกินยา? ...ขอบคุณมากๆค่ะ...

 


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท