Priyapachara
นางสาว ปรียาพัชร ตุลาเนตร

เทคนิค " การเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง "


ผู้เขียน ::>> ปรียาพัชร  ตุลาเนตร (Priyapachara  Tulanetra)

ทุกๆคนที่เข้ามาอ่านบทความวิธีแนะนำการเรียนภาษาอังกฤษนี้ ผู้เขียนทราบว่า คงเป็นผู้ที่มีความตั้งใจ จะแสวงหาวิธีเริ่มต้นฝึกฝนทักษะทางภาษาให้ตัวเองอย่างจริงจัง และคงได้ผ่านการอ่านวิธีแนะนำ ตลอดจนเทคนิคการฝึกฝนภาษาอังกฤษจากผู้เขียนท่านอื่นๆมาพอสมควรแล้ว ซึ่งจะพบว่าหลายข้อ ในหลายผู้เขียนมันก็อาจจะคล้ายๆ หรือซ้ำๆกันนั่นล่ะค่ะ ไม่ต้องแปลกใจอะไร เพราะหลายๆท่านก็น่าจะพยามเขียนออกมาจากประสบการณ์เริ่มต้นของตัวเองจริงๆ เพื่อให้ผู้ที่มีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษทุกระดับสามารถนำไปฝึกฝนได้จริงๆ การเรียนการฝึกฝนภาษาต่างๆ ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษ ไม่ได้มีทางลัด ไม่มีสูตรตายตัวสู่ความสำเร็จ ผู้เขียนก็จะพยามกลั่นกรองประสบการณ์ฝึกฝนทักษะการเรียนภาษาอังกฤษออกมา รวมทั้งจากประสบการณ์การสอนนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าด้วย อย่างสิ่งที่ผู้เขียนจะแนะนำต่อไปนี้ อาจจะมีผู้ที่เข้ามาอ่านที่มีพื้นความรู้ทางภาษาอังกฤษดี หรือเก่งอยู่แล้ว  ก็อย่าพึ่งรำคาญในบางข้อนะคะ เพราะผู้เขียนไม่ต้องการก้าวข้ามระดับใดระดับหนึ่งของผู้อ่านที่ต้องการเริ่มต้นจริงๆ บางทีการเป็นผู้ที่รู้แล้ว เก่งแล้ว อาจจะหลงลืมความรู้พื้นฐาน และประสบการณ์ทางภาษาของแต่ละคนไป นั่นหมายความว่า ผู้เรียน / ผู้เริ่มต้นฝึกฝนแต่ละคนจะไม่ได้เริ่มฝึกฝน มาจากจุดเดียวกัน 

เรามาเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมๆกันเลยนะคะ ผู้เขียนก็จะต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ และพัฒนาไปพร้อมๆกับทุกคน《1》เริ่มที่การท่องศัพท์ :: ( หลายคนคงเริ่มเบ้ปากแล้วสิ ..แอบบ่นในใจว่า " ไม่มีวิธีแนะนำที่ดีกว่านี้แล้วหรือ" ...ใจเย็นๆค่ะ) ทั้งนี้เนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ ที่เราได้ยินได้ฟังมาแต่เกิด ก็จำเป็นอยู่เองที่ต้องท่อง เห็นเด็กหลายคนพยามสร้างความขัดแย้งในใจตัวเองเหลือเกิน อาจจะเพราะนั่นเป็นนิสัยคนไทยเราด้วย ชอบหาสูตรลัด ทางลัด ไม่เข้าใจถึงธรรมชาติในการเรียนภาษา บางคนแอบฟ้องแม่ทันที เมื่อเราให้ท่องว่า " แม่ทำไมต้องท่องศัพท์" เคสอย่างนี้ผู้เขียนจะไม่สอนต่อ...ไม่เคยได้เลือกเด็กที่เรียนดี หรือเรียนอ่อนเลยนะคะ เพราะอยู่อีสาน นี่เลือกไม่ได้เลย คนเก่งมีพื้นฐานดีก็มาก แต่คนที่อ่อนแล้วอ่อนเลยยิ่งเยอะ ก็สอนได้หมดนะคะ ..แต่คนที่ตั้งใจมั่น มุ่งมั่นว่าต้องการฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ต้องเปิดใจตัวเองให้ยอมรับจุดนี้ก่อนด้วย  อย่าพยามสร้างเงื่อนไข  อย่าพยามสร้างความขัดแย้งในใจ อย่างที่บอกตอนต้นว่า " การเรียนภาษาอะไรสักอย่างไม่ได้มีสูตรลัด " 
《2》ทีนี้ บางคนอาจเริ่มมีคำถามในใจว่า " แล้วจะเอาคำศัพท์จากที่ไหนมาท่องล่ะ..ให้ท่องจาก dictionary เลยไหม" ขอแนะนำว่า ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอกนะคะ  เพราะต่อให้ท่องคำศัพท์ได้หมดทั้งเล่ม dictionary แบบแม่นเป๊ะ ก็ยังคงเอาไปใช้ไม่ได้อยู่ดี สำหรับเด็กเล็ก ระดับประถมศึกษา คุณพ่อคุณแม่ สามารถหาซื้อหนังสือนิทานภาษาอังกฤษ ที่มีภาพสวยๆ มีเสียงภาษาอังกฤษ อ่านออกเสียงนิทานเรื่องนั้นประกอบพร้อมทั้งมีเสียงเพลงได้ด้วย หนังสือแบบนี้มีขายนะคะ ไม่ต้องเปิดซีดี ดีวีดี เพียงแค่เปิดหน้าหนังสือก็มีเสียงประกอบ จาากร้าน Asia book และมีหนังสือคำศัพท์พื้นฐานหมวดต่างๆ เช่น หมวดร่างกาย ผักผลไม้ ความสัมพันธ์เครือญาติ เป็นต้น สามารถหาซื้อได้จากร้านหนังสือทั่วไป คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกอ่าน ออกเสียง ทำเสียงบรรยายสูงต่ำ ตามเนื้อเรื่องและบทบาท ชี้ให้ดูตัวละคร ภาพวาดที่เค้าทำออกมาได้สวย สวยกว่าสมัยของผู้เขียนมาก ..วิธีนี้ จะทำให้เด็กมีความสุข ใกล้ชิดพ่อแม่ ทำให้รู้สึกตื่นเต้น อยากรู้ อยากเห็น อยากอ่าน ...ต้องบอกว่าจากประสบการณ์จริงๆค่ะ  เพราะผู้เขียนเชื่อว่า คนจะอยากฝึกฝนเรียนรู้สิ่งใดต้องมาจากความสนใจก่อน ถ้าพ่อแม่ใส่ใจตั้งแต่วัยนี้ พอถึงเวลาส่งไปเรียนที่ไหน จะไม่มีครูคนไหนหนักใจอีกเลย


    หนังสือนิทานประกอบเสียงเพลงและ เสียงเล่าเรื่อง

        สำหรับเด็กโต จนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่ต้องการเริ่มฝึกฝนอย่างจริงจังด้วยตนเอง ต้องถามตัวเองก่อนว่า ภาษาอังกฤษทุกด้านของตัวเองอยู่ในระดับใด จุดนี้ต้องตอบตัวเองได้ แต่หลายคนไม่กล้าคิด ไม่กล้าตอบ หรือถ้าตอบมักจะบอกว่า ก็ไม่เก่ง อ่อนมาก หรือไม่ก็ เป็นศูนย์เลย บางทีอาจจะไม่ขนาดนั้นก็ได้ ถ้าไม่ทราบจริงๆ ก็คงต้องใช้ เทคโนโลยีในมือให้เป็นประโยชน์ คือลอง หาแบบทดสอบ ออนไลน์ จาก google แล้วลงมือวัดระดับตัวเองเลยค่ะ เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ว่า แต่ละคนจะเริ่มต้นไม่เหมือนกัน อาจไม่ได้เริ่มจากศูนย์เหมือนกันหมดก็ได้ ถ้าเราถ่อมตัวมาก เวลาไปสมัครเรียนภาษาที่ไหนสักแห่ง หรือซื้อหนังสือมาศึกษาเอง แล้วเลือกมาแบบที่พื้นเกินไป มันจะทำให้เราเบื่อ..ไม่อยากเรียน ไม่มีความกระตือรือร้น 

           พอรู้ระดับของตนเองแล้ว วัยผู้ใหญ่ เด็กโต และผู้ที่กำลังจะเตรียมตัว ก็เริ่มที่การหาสิ่งที่น่าสนใจสักเรื่อง ที่ตัวเองตั้งมั่นว่าอยากจะอ่าน อ่านได้แล้วมันเท่ห์นะ  ดูดีนะ  ให้หามาสักอย่างค่ะ เช่น นิยายเล่มเล็ก ที่มีขายทั่วไป มีคำศัพท์ให้ทั้งหมดด้วย ทั้งยาก ทั้งง่าย ( โอววว...ปัจจุบันมันจะสะดวกอะไรขนาดนี้เนี่ย ...สมัยอิชั้น ต้องเปิด ..dictionary มือเป็นระวิง ) หรือไม่ วัยผู้ใหญ่ อาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็ได้ ที่สะดวกยิ่งกว่านั้นคือ มีข่าวสาร เป็นภาษาอังกฤษ และแปลเป็นไทย ควบคู่กัน เอาไว้ให้คนฝึกฝน เช่น หนังสือ Future, Idea ซึ่งสองฉบับนี้ ก็มีขายมาตั้งแต่ผู้เขียนเรียนมัธยมทีเดียว ยาวนานมาก อ่านภาษาอังกฤษแล้วลองแปลด้วยตนเอง เรียบเรียงเอง แล้วค่อยเปิดไปอ่านคำแปลภาษาไทย ที่เขาแปลไว้ให้ เอาแค่ความหมาย และใจความสำคัญเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นพอ คงไม่ต้องถึงกับไปแปลได้เหมือนเขาทุกตัวอักษร เพราะการเรียงร้อยถ้อยคำ มาเป็นรูปประโยค และการรู้จักสรรหาคำมาใช้ มันเป็นศิลปะ ความชำนาญ และประสบการณ์ของนักแปลแต่ละคน มันลอกเลียนกันยาก การฝึกฝนจากหนังสือแปล ก็ช่วยให้เราพัฒนาการอ่านได้เร็วขึ้นมากค่ะ แต่มีบางท่านเริ่มที่ อยากอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับให้ได้ อยากอ่านให้ได้ ให้คล่องเหมือนอ่านหนังสือพิมพ์ไทย ก็ลองเริ่มต้นจับที่หนังสือพิมพ์นั่นล่ะค่ะ สนใจข่าวประเภทไหน ลองข่าวนั้นก่อน อ่านไป เจอคำศัพท์ ติดขัดก็เปิด dictionary บ้าง ฝึกเดาศัพท์จากบริบทของเรื่องบ้าง แล้วเลือกคำศัพท์ ที่มันเข้ากับเนื้อเรื่องมาแปล เพราะคำศัพท์หนึ่งคำ มีได้หลายความหมาย เชื่อว่าครูหลายคนบอก จนไม่รู้จะบอกอย่างไร แต่นักเรียนก็ไม่รู้ว่าครูหมายถึงอะไร  ก็ต้องอ่านไปด้วย แปลไปด้วย นี่ล่ะค่ะ จะทำให้ผู้เรียนเห็นชัดเจนที่สุด จะเลือกคำศัพท์คำแรกตัวเดียวมาแปลเลย มันอาจจะไม่เข้ากับเรื่องที่กำลังอ่านอยู่ก็ได้  รู้ได้อย่างไรว่านักเรียนไม่รู้เรื่องที่ครูพูด มันแค่ประโยคผ่านหู  ก็ดูตอนเวลาเราเขียนคำศัพท์บนกระดานให้สิ ( นักเรียนหลายคน ยังชอบการป้อน ) ครูเขียนความหมายให้ 3 ความหมาย เวลาลอกลงสมุด ยังลอกมาแค่ความหมายแรกอันเดียว..ถามว่าทำไมลอกมาแบบนี้ล่ะ  นักเรียนตอบว่า ก็ไม่รู้จะลอกหลายคำทำไม ก็ของศัพท์คำเดียว...จนผู้เขียนต้องไล่ให้อ่านออกเสียงคำแปลภาษาไทย ทั้ง 3 ความหมาย ว่าเหมือนกันไหม เด็กตอบว่าทั้ง 3 ความหมายไม่เหมือนกันเลย นั่นล่ะยิ่งต้องท่อง นั่นหมายความว่า มันจะต้องใช้ต่างกันแน่นอน ...ทีนี้กลับมาที่อ่านหนังสือพิมพ์ เมื่อได้ศัพท์ ที่เราติดขัด เราก็จดลงสมุดบันทึกเฉพาะ เอาไว้ท่อง กรณีอ่านนิยาย นิทานก็เหมือนกัน ..กรณีผู้ใหญ่ กับเด็กโต จะไม่แนะนำ ให้หาคำศัพท์ มาจากไหนก็ได้ มาท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ควรจะได้รู้ศัพท์พร้อมนำไปใช้ได้เลย รู้จักเลือกคำภาษาไทยที่เหมาะสมมาใช้เวลาแปล จะช่วยพัฒนาทักษะ การอ่าน การแปล และเพิ่มคำศัพท์ให้ผู้ฝึกได้อย่างมีความหมาย 
《3》เมื่อผู้เรียน/ฝึกฝนด้วยตนเองทำตามข้อ 1-2 แล้ว ในข้อ 3 นี้ แนะนำว่าให้คงไว้ รักษาระดับการฝึกฝนไว้อย่างต่อเนื่อง หมายถึง คำศัพท์ก็ยังต้องท่อง ต้องอ่าน ต้องแปลกันอย่างสม่ำเสมอ  วันละเรื่อง สองเรื่อง เพราะคุณจะเจอคำศัพท์ใหม่ๆเพิ่มเข้ามาอยู่ตลอด รวมทั้งได้เรียนรู้ว่าคำศัพท์บางคำ หรือบางประโยค สามารถแปลได้อย่างไรบ้าง สามารถแปลให้สละสลวยได้ย่างไรบ้าง จะเห็นความงดงามทางภาษา เมื่อแปลไป เราจะรู้สึกเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ ต้องคอยเดา คอยคิดเติมคำ เหมือนการเลือกเติมภาพให้เป็นรูปร่าง สมบูรณ์ออกมา แต่การแปลก็จะได้รูปประโยคที่สมบูรณ์ออกมาอ่านแล้วเข้าใจ ผู้ฝึกฝน จะรู้สึกสนุกมากขึ้น ถ้าได้ทำต่อเนื่อง จนเก็บคำศัพท์ ได้เพียงพอ ผู้ฝึกอาจจะมีคำถามในใจ ว่าแล้วต้องมีคำศัพท์สะสม เป็นพื้นฐานเท่าไหร่ จึงจะเพียงพอ ตรงนี้ ก็มีอาจารย์หลายท่านเคยประมาณ เคยกำหนดไว้ เหมือนกันนะคะ ..แต่ผู้เขียนคิดว่า วัดที่ตัวเองดีกว่า คำศัพท์ที่ว่านั้น ต้องหมายถึงเมื่อเจอแล้ว ต้องสามารถดึงมันออกมาใช้ได้ นะคะ  ไม่ใช่แค่ท่องนับแต้มนับจำนวนคำเท่านั้น ส่วนจะเพียงพอแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ สิ่งที่ตนเองอยากอ่าน อยากแปล จะขยายไปอ่านเรื่องราวในสาขาไหน ก็จะต้องเพิ่มเติมขยายคำศัพท์ตามไปด้วย  เพราะก็ค่อนข้างจะมีคำศัพท์เฉพาะเยอะทีเดียว  อยากได้ อยากมี อยากเก่ง ต้องมีวินัยไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนนักเรียนส่วนใหญ่ของผู้เขียน คือ พยามเลี่ยงภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลา ถ้าปกหนังสือ หรือจะอ่านบทความสั้นๆอะไรสักอย่าง ถ้ามีภาษาไทยกำกับ จะเลือกอ่านเฉพาะภาษาไทย ดังนั้น ไม่ว่าคำศัพท์จะยาก จะง่าย จะพื้นๆแค่ไหน " เจอที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ยังใหม่ สำหรับเด็กอยู่ตลอดเวลา " สอนกันวนอยู่ในอ่างนั่นล่ะค่ะ ไปไหนไม่เป็นเลย ต้องอย่าลืมว่า ครูผู้สอนไปช่วยเป็นสมองให้ไม่ได้ ไปช่วยจดช่วยจำให้ไม่ได้  (* อย่าลืมว่าภาษาต่างประเทศที่เรียนกันเป็นภาษาที่ 2 ที่ 3 เป็นเรื่องของประสบการณ์ จะข้ามขั้น ลัดขั้นตอนไม่ได้ เหมือนวิชาอื่นๆ เชื่อว่าหลายคนพยายามพลิกแพลง หาสูตรสำเร็จกันต่างๆนานาๆ ตามสถาบันสอนภาษา เท่าที่ผู้เขียนเห็นก็ไม่ต่างกัน ก็คงเป็นวิธีการให้ทำซ้ำๆจนผู้เรียนสามารถจำได้เท่านั้นเอง *)
( ติดตาม ในส่วนของ speaking, listening ต่อไปได้ค่ะ )


หมายเลขบันทึก: 535826เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 02:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ยินดีค่ะ ..ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท