กิจกรรมนิสิตในมิติการวิจัย : รูปแบบและกลไกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนิสิตและชุมชน


สร้างะระบบและกลไกในการเพาะบ่มเรื่อง "จิตสาธารณะ" แก่นิสิต และเยาวชนในหมู่บ้านในการที่จะร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนขามเรียงให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการอยู่ร่วมระหว่าง "มหาวิทยาลัยกับชุมชน"

ผมใช้เวลาร่วมสิบปีเลยทีเดียวกับการเพียรพยายามนำพาเรื่อง “กิจกรรมนิสิต” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มี “สถานะ” มากกว่าการเป็น “กิจกรรมนอกชั้นเรียน,กิจกรรมเสริมหลักสูตร”  โดยมุ่งที่จะสื่อสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมนิสิตมีความสำคัญอย่างมหาศาล  ไม่ใช่ “ทางเลือก” แต่อยากให้เป็น “ทางหลัก” หรือถนนสายหลักอีกสายหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “กิจกรรมในชั้นเรียน” หรือ “กิจกรรมในหลักสูตร”  ที่เกี่ยวโยงกับวิชาที่เรียนในหลักสูตรนั้นๆ


ด้วยเหตุนี้  ในมุมคิดของผม  กิจกรรมนิสิตจึงถือเป็นทั้ง “ระบบและกลไก” ที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการพัฒนาศักยภาพนิสิตให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ  ด้วยการวางรากฐาน หรือไต่บันไดขั้นแรกในระบบของการเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ เสียก่อน





ความคิดและความตั้งใจที่ว่านั้นปรากฏมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่การผลักดันให้มีทรานสคริปกิจกรรม,ทุนการศึกษาสำหรับผู้สร้างชื่อเสียงด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรม,ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนานิสิต,การประกาศวาระการบริการวิชาการในมิติกิจกรรมนิสิต,การสร้างหลักสูตรวิชา “พัฒนานิสิต” , การใช้กระบวนการจัดการความรู้มาขับเคลื่อนระบบกิจกรรม,การนำกิจกรรมนิสิตออกสู่ชุมชน,  การจัดทำจดหมายข่าวรายปักษ์เผยแพร่ทั่วประเทศ,  การจัดเวทีพบปะนักข่าว, การค้นหามุมความสุขเล็กๆ ของชาว มมส ผ่านภาพถ่าย เรื่องเล่า หนังสั้น ฯลฯ  จนก่อเกิดเป็นวาทกรรม หรือโครงการต่างๆ ในถนนสายกิจกรรมนิสิตอยู่หลายวาทกรรม เช่น


·  เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
· ลมหายใจปัญญาชนคนชาวค่าย
· ใจนำพา ศรัทธานำทาง
· จดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน
· มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน
· หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน
· หนึ่งชมรม หนึ่งชุมชน
· นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส
· ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า
· เรื่องเล่าชาวค่าย  ฯลฯ





ครับ-หลายๆ เรื่องผมสามารถขับเคลื่อนได้อย่างลุล่วง บางเรื่องอาจยังไม่บรรลุซึ่งเป้าหมายดังใจหวัง  แต่ก็ไม่ถึงกลับพ่ายพับล้มแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะยังเป็นเสมือนการโยนหินถามทางและยังต้องใช้เวลาอีกมากโขในการทำความเข้าใจกับ “มวลชน”  หรือแม้แต่การสร้างกลุ่มคนให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงสิ่งเหล่านั้นร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ”


หากแต่วันนี้เรื่องราวความฝันบางเรื่องได้ผลิบานอย่างเป็นรูปธรรม  นั่นก็คือการยกฐานะของกิจกรรมนิสิตสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  อันเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามและ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นในชื่อโครงการวิจัยที่ว่า “รูปแบบและกลไกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนิสิตและชุมชน”





ครับ, นั่นคือผลพวงของการเดินทางในรอบปีที่ผ่านมา กล่าวคือในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ผมแทบจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการงานในต้นสังกัดคือกองกิจการนิสิตมากนัก  เพราะต้องรับผิดชอบภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในด้านการบริการวิชาการแก่สังคมในมิติของ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงกระบวนการที่ใช้ในการพัฒนานิสิตสู่การขับเคลื่อนหลักหลักสูตรหนึ่งชุมชนอย่างเนียนๆ รวมถึงผลักดันให้เกิดการจัดสรรงบประมาณหนุนเสริมกลับคืนสู่นิสิต เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ชุมชน (เรียนร็คู่บริการ)  ในโครงการ “หนึ่งชมรมหนึ่งชุมชน” 


เดิมผมตั้งใจที่จะพิสูจน์ให้ผู้คนในแวดวงได้เห็นและประจักษ์ว่า  (1)  กระบวนการที่ผมใช้พัฒนานิสิตนั้น ไม่ใช่เรื่องหลงทิศหลงทาง  ไม่ใช่เรื่องไร้แก่นสารในทางทฤษฎีและกระบวนยุทธ  หากแต่เป็นเรื่องที่ใช้กันอย่างถ้วนทั่วในระบบของการทำงาน ทั้งในระบบการวิจัย การบริการวิชาการ หรือแม้แต่การจัดกระบวนเรียนรู้กับชุมชน ฯลฯ (2)  กิจกรรมนิสิต คืออีกหนึ่งหัวใจหลักของการนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชน และชุมชนคืออีกหนึ่งห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยควรต้องหันกลับไปปั้นแต่งร่วมกับชุมชน


 


ครั้นพอครบขวบปี  ความมุ่งมั่นข้างต้นได้รับการพิสูจน์ด้วยตัวของมันเองว่า “เป็นเช่นนั้นจริงๆ”  ถึงแม้รายละเอียดปลีกย่อยจะยังไม่บรรลุเป้าเสียทั้งหมด แต่นั่นก็เป็นภาพสะท้อนที่สื่อให้เห็นว่า  ทั้งหลายทั้งปวงคือการเดินทางที่ไม่ได้หลงทิศหลงทาง หากแต่เป็นเส้นทางที่ถูกต้อง  รอเวลาเพียงประชาคม มมส  ต้องปรับแต่งทัศนคติและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการงานเหล่านั้นอย่างจริงๆ จังๆ เท่านั้นเอง


แต่สำหรับผมแล้ว  กลับกลายรู้สึกว่าผมบรรลุซึ่งสิ่งที่ตนเองวาดหวังเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม  เป็นการบรรลุภายใต้ปัจจัยอันสำคัญคือ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”  ล้วนๆ ...


 

ล่าสุดผมได้รับโอกาสในการนำพากิจกรรมนิสิตสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  เพื่อศึกษาในประเด็นอันสำคัญคือรูปแบบและกลไกของการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนิสิตกับชุมชน  โดยใช้วัฒนธรรมชุมชนขามเรียงเป็นฐานของการเรียนรู้


โครงการวิจัยดังกล่าว  ประกอบด้วยประเด็นการศึกษาสำคัญๆ คือ

·  สภาพปัญหา นโยบาย ระบบและกลไกการจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่ผ่านมาระหว่างนิสิตและชุมชน เป็นอย่างไร
·  ปัจจัย เงื่อนไขของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนิสิตและชุมชนเป็นอย่างไร
·  รูปแบบและกลไกที่เหมาะสมของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมของนิสิตกับชุมชนบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนขามเรียงเป็นอย่างไร

ดยส่วนตัวผมคิดว่าผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ น่าจะเกิดชุดบทเรียนที่ดีต่อการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  ทั้งในมิติเชิงระบบ มิติเชิงประเด็น หรือแม้แต่มิติเชิงพื้นที่  ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ และมองว่าชุมชนเป็นแค่สนามประลองวิชาซ้ำแล้วซ้ำอีก  หรือแม้แต่ชุมชนเองก็มองว่ามหาวิทยาลัยสูงส่งจนยากต่อการแตะต้องสัมผัส ฯลฯ


 


แน่นอนครับ  การศึกษาวิจัยครั้งนี้  ผมใช้ขุนพลหลายภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อน  นับตั้งแต่นิสิต  เจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต  และชาวบ้านร่วม 30 คน พร้อมๆ กับการหนุนให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อพัฒนาตนเองสู่การเป็น “นักวิจัยไทบ้าน” ในชื่อ “ฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง”  ซึ่งล้อมาจากประชาคมสารคาม “ฮักแพงเบิ่งแญงคนสารคาม” นั่นเอง


ล่าสุด  (10 พฤษภาคม 2556)  ผมได้เชิญคณะทีมวิจัยมาร่วมโสเหล่อย่างเป็นทางการกันอีกรอบ  โดยยึดที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของการโสเหล่  ด้วยหมายใจว่าครั้งถัดไปจะใช้ชุมชนเป็น “ลานโสเหล่” หมุมเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ให้ถ้วนทั่ว




ในเวทีการโสเหล่นั้น  ผมเปิดตัวด้วยการให้แต่ละคนแนะนำตัวเองแบบง่ายๆ เช่น ชื่อจริง ชื่อเล่น  หมู่บ้านและเน้นถึงจุดเด่นของแต่ละคนที่สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนงานวิจัยในครั้งนี้  ซึ่งในช่วงที่แต่ละคนบอกเล่าตัวเองนั้น ผมก็พยายามสร้างบรรยากาศของการหยิกหยอกแต่ละคนไปเรื่อยๆ เพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศของการสื่อสารสร้างสุขร่วมกัน –


ถัดจากนั้นก็ร่วมโสเหล่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง เช่น ชวนขบคิดเรื่องแบบฟอร์มประวัติทีมวิจัย  ร่วมเสนอแนะ
โลโก้ทีมวิจัยไทบ้าน  ร่วมออกแบบคณะทำงานแต่ละฝ่าย  ออกแบบประเด็นการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ฯลฯ  นอกจากนั้นยังรวมถึงการชี้แจงถึง “ที่มาที่ไปของการวิจัย,วัตถุประสงค์,ขอบเขต,กระบวนการ”   รวมถึงการเชื่อมโยงให้เห็นถึงความคาดหวังส่วนตัวที่จะพัฒนานักวิจัยไทยบ้านกลุ่มนี้เป็น “วิทยากรกระบวนการ”  ไปพร้อมๆ กัน  

หรือแม้แต่การสร้างะระบบและกลไกในการเพาะบ่มเรื่อง "จิตสาธารณะ" แก่นิสิต และเยาวชนในหมู่บ้านในการที่จะร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนขามเรียงให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการอยู่ร่วมระหว่าง "มหาวิทยาลัยกับชุมชน" 
เช่นเดียวกับการวาดฝันว่าจะจัดทำระบบฐานข้อมูลการจัดกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  ทั้งในเชิงบุคคล  พื้นที่  เนื้อหา รูปแบบ ฯลฯ


และท้ายที่สุด ก็ผูกโยงให้มีการถกคิดถึงการ “แตกประเด็นวิจัย”  ในแต่ละวัตถุประสงค์  รวมถึงฝากประเด็นให้ทีมวิจัยแต่ละคนกลับไปสำรวจ “ทุนทางสังคม”  ในหมู่บ้านและองค์กรต้นสังกัด  เพื่อให้เห็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกิจกรรมที่มีขึ้นในชุมชน  ทั้งที่จัดเอง  หรือที่จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยในวาระต่างๆ 





ครับ, การเดินทางเพิ่งเริ่มต้น  ยอมรับว่าปลายทางอาจเลือนรางไม่ใช่ย่อย  แต่ผมก็ยังจะดุ่มเดินต่อไป  หากแต่ครั้งนี้ผมจะไม่ยอมดุ่มเดินไปอย่างเดียวดายโดยเด็ดขาด  เพราะผมจะดุ่มเดินด้วยความเป็น “ทีม”  โดยใช้ทฤษฎีของตัวเองเป็นเครื่องนำพา นั่นก็คือ “ใจนำพา  ศรัทธานำทาง”


และเชื่อว่าทีมจะไม่กังขาต่อปลายทางที่ร่วมวางเป็นหมุดหมายร่วมกัน  รวมถึงไม่กังขาต่อสิ่งที่ผมกำลังขับเคลื่อน  เพราะเหมือนที่บอก หลายสิ่งอย่างนั้น ผมได้พิสูจน์มาแล้ว นี่คือการกลับมาและคืนโอกาสนั้นให้กับ “ทีม” ได้ลงมือทำในสิ่งที่เคยกังขา !


หมายเลขบันทึก: 535677เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2013 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2013 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

" ใจนำพา   ศรัทธานำทาง"  กำหนดเป้าหมายร่วมกัน ถึงเส้นชัยแน่นอนจ้ะ

อาจารย์  

มาร่วมสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมของนักศึกษาที่สมควรได้รับการใส่ใจขับเคลื่อนอย่างนี้ค่ะ

"ในมุมคิดของผม  กิจกรรมนิสิตจึงถือเป็นทั้ง “ระบบและกลไก” ที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการพัฒนาศักยภาพนิสิตให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ "

ผมเห็นด้วยครับพี่ สมัยก่อนเคยร่วมการออกค่ายกับพี่น้อง นักศึกษา มมส. แต่ละคนมีพลังพร้อมทั้งความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม และดียิ่งกว่าผมซึ่งไปตอนแรกนั้นเก้ๆกังๆทำอะไรไม่ถูก เขาลงไปทอดแหจับปลา แต่ผมทำไม่ได้เลยเพราะทำไม่เป็นนะครับ.. ดีใจครับที่มีคนแบบพี่และดีใจแทร มมส. และหลายท่านที่เห็นนั่นปราชญ์ชาวบ้านพลังเคลื่อนสังคมทั้งนั้น

๑. เมื่อกระแสใดๆเกิดขึ้นบนโลกนี้ จะก่อเกิดแรงกระเพื่อมที่ทรงพลัง แต่มักจะอ่อนแรงลงเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อคลื่นใกล้จะถึงฝั่ง แล้วค่อยๆๆจางหายไป ซึ่งหาได้ยากมากที่แรงกระเพื่อมเหล่านั้นจะทรงพลังอยู่ได้ในระยะยาว ในเวลากว่าสิบปีคงพอจะยืนยันให้เห็นแล้วว่าคลื่นลูกนี้ยังทรงพลังและมีพลังมากขึ้นกว่าวันก่อนๆๆ ขอชื่นชมครับ

๒. นอกจากนี้แล้วยังหายากมากที่จะเห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน แต่วันนี้กลับได้เห็นความเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก

๓. นี่แหละคือการ "บูรณาการอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน" ที่ไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดหรือทฤษฎีในตำรา แต่คือการลงมือกระทำจริง ไม่ใช่บูรณาการแค่คำพูด

๔. ทุกคำตอบ ทุกการกระทำ คือการเรียนรู้ที่ได้มีการพิสูจน์คุณค่า และรับรองมาตรฐานด้วยงาน "วิจัย" 

นับเป็นการทำงานที่สมบูรณ์แบบ ครบวงจรของการทำงาน นับเป็นต้นแบบที่ดี และขอเป็นแรงใจช่วยให้เกิดในสิ่งที่เรียกว่า "ถาวร" หรือ "ยั่งยืน" 


ขอบคุณที่นำเสนอเรื่องราวดีๆๆครับ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจสม่ำเสมอนะครับ
ใจนำพา ศรัทธานำทาง เป็นมุมคิดพลังบวกที่ผมใช้ขับเคลื่อนตัวเอง
ปลายทางอาจไม่แจ่มชัดเท่าอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า
แต่นั่นก็มิได้หมายถึง...
เราต้องหยุดคิด-หยุดเดิน-....

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

กิจกรรมนิสิต ช่วยให้นิสิตได้ทำในสิ่งที่คิด ฝึกการทำงานเป็นทีม ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือแม้แต่การเพาะบ่มเรื่องจิตอาสา

กิจกรรมในทางสังคม เป็นเสมือนการจำลองการเรียนรู้มาสู่นิสิต เมื่อนิสิตจบไปสัมผัสกับโลกภายนอกอันแท้จริง เรื่องราวที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมเมื่อครั้งที่เรียนในมหาวิทยาลัย จะหนุนเสริมให้เขามีภูมิต้านทานในการสู้ -รับมือ-ปรับตัว และดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า ทั้งต่อตัวเองและสังคม....


สัวสดีครับ ลูกหมูเต้นระบำ

เด็ก มมส. อาจดูลูกทุ่งหน่อยนะครับ (55)  ส่วนหนึ่งมาจากเบ้าหลอมสไตล์พวกผมเอง ที่ไม่ค่อยมีมาดกันซักเท่าไหร่ ระยะหลังๆ เราเติมมุมคิดของการเรียนรู้คู่บริการเป็นที่ตั้ง  สอนการทำงานในแบบบูรณาการไม่แยกส่วน "บวร : บ้านวัดโรงเรียน"  สร้างและกระตุ้นความเชื่อว่า "ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า-ความรู้" ...

ครับ,กิจกรรม  ทำให้เราเกิดทักษะชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย ...
การลงมือทำนั่นแหละ คือ การเรียนรู้สู่การ "ทำเป็น-ใช้เป็น" ...
ไม่เคยทอดแห ก็เป็นธรรมดาครับที่จะทอดแหแล้วแหไม่กาง...
เป็นธรรมดาที่จะทอดแหแล้ว ยังไม่ได้ปลา...
แต่ทั้งปวง ก็ล้วนคือการเรียนรู้ด้วยกันทั้งนั้น

ชื่นชมครับ -

ทำอะไรก็ตาม เริ่มต้นจากราก มักจะเจริญเติบโตงอกงามและยั่งยืนเสมอค่ะ

สนับสนุนค่ะ  เห็นคุณค่าของชุมชน  ไม่ลืมรากเหง้า  วิวัฒน์ต่อ......สิ่งดีงาม

เชื่อมั่นและศรัทธา นะคะ

เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่งนะคะ กิจกรรมช่วยให้นศ.ได้เรียนรู้พัฒนาจิตใจ การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 

สวัสดีครับ อ.เล็ก

หลายสิ่งอย่าง  ลำพังพลังภายในของเราเอง อาจไม่เพียงพอต่อการสร้างให้เป็นรูปธรรม  รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคีก็ยังไม่เพียงพอ  เพราะล้วนต้องใช้เวลา เนื่องเพราะอาจเป็นได้ว่า  ห้วงผ่านมา มันยังไม่ตกผลึกพอ

หากแต่ที่พี่สัมผัสได้ก็คือ  ขอเพียงเราศรัทธาต่อสิ่งที่คิดและลงมือทำอย่างบริสุทธิ์ใจนั้น  มันย่อมนำพาการเติบโตมาเยือนเสมอ  ถึงแม้ในมิติทางสังคมอาจจะไม่เกิดผลเชิงลึกและทรงพลังพอที่จะเปลี่ยนชุมชน ท้องถิ่นได้ในพริบตา ไม่สามารถเปลี่ยนประชาคม "นิสิต"  ที่เราดูแลได้อย่างที่คาดหวัง  แต่ทั้งปวงนั้น  มันก็เปลี่ยนแปลงในตัวเรานี่แหละ  เพราะมันทำให้เรามองเห็นศักยภาพ หรือคุณค่าของตัวเราอย่างไม่บิดเบี้ยว ....

และนั่นยังรวมถึง การศรัทธาต่อการมีชีวิตอยู่นั่นเอง...


สวัสดีครับ พี่ศิลา Sila Phu-Chaya

ราก...
คือปฐมบทของการเกิดชีวิต

ครับ, ชีวิตที่ไร้ราก
มักหาความ "มั่นยืน" ไม่เจอ

ขอบคุณครับ


สวัสดีครับ พี่หมอทพญ.ธิรัมภา


ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ...
สิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง ล้วนมีสายธารของการเติบใหญ่เช่นกัน
ขึ้นอยู่กับว่า ช้าเร็ว...สั้น หรือยาวนาน....

ขอบพระคุณครับ

ครับ อ.kunrapee


เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะไหวพริบของการ "แก้ปัญหาเฉพาะหน้า"
ถือได้ว่า กิจกรรม เป็นตัวบ่มเพาะชั้นเชิง ความแกร่งได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท