สกัดความรู้จากโครงการ "สรอ. ขอความรู้" บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


ดาวนโหลดฉบับเต็ม ห้องสมุด.pdf


บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ห้องสมุดเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองตลอดชีวิต และส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ การที่จะดึงดูดความสนใจให้ผู้คนเข้ามาใช้ห้องสมุดมากๆ นั้นห้องสมุดจะต้องมีการพัฒนารูปแบบให้มีความแตกต่างไปจากห้องสมุดที่เคยเป็นมาในอดีต นั่นคือการทำให้ห้องสมุด เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) เป็นห้องสมุดที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย 

ปัจจุบันโลกของเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ห้องสมุดและบรรณารักษ์ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในบทบาทและหน้าที่ไปอย่างไรบ้าง  โครงการ สรอ. ขอความรู้ กับ GotoKnow จึงขอเชิญชวนสมาชิกทุกท่านร่วมเขียนถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ประเด็นที่สิบสี่ขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-15 มกราคม 2556 ในหัวข้อ  “บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21”  เพื่อกระตุ้นการนำความคิดเห็นของประชาชนมาช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านบล็อกเป็นจำนวนมาก โดยสามารถรวบรวมและสรุปประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

ห้องสมุดควรมีบริการต่างๆ ดังนี้ 

1) Help people to learn ห้องสมุดจะต้องมีส่วนในการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการเกิดการเรียนรู้ หรือสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดความอยากเรียนรู้ซึ่งไม่จำกัดเพียงเฉพาะอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น 

2)  Must be tools of change ห้องสมุดจะต้องเป็นเครื่องมือที่ผู้ใช้บริการสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา มีการเก็บรวบรวมและนำเสนอข้อมูล การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การพูดคุย การแสดงวิสัยทัศน์ต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดและเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ต่อไป      

3) Offer paths for exploration ห้องสมุดจะต้องสามารถเป็นผู้นำเสนอแนวทางทางการค้นคว้าหาความรู้ โดยอาจมีการออกแบบขั้นตอนของการบริการเพื่อให้นักศึกษาและมหาวิทยาลัยใช้ร่วมกันในการสร้างและจัดเก็บองค์ความรู้สำหรับใช้ต่อๆ ไป และห้องสมุดจะเป็นตัวช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ถึงกระบวนการในการจัดเก็บและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 

4) Be designed to get better through use ห้องสมุดจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ที่เก็บความรู้ แต่จะต้องเป็นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และสามารถแปลงสภาพไปเป็นองค์ความรู้ใหม่ และยังเป็นที่ที่ก่อให้เกิดการพบปะกันทางสังคมของบุคคลที่มีความรู้ 

5) Must know where they are ห้องสมุดจะต้องสามารถนำเสนอข้อมูลหรือองค์ความรู้ได้โดยตรงไปยังอุปกรณ์ต่างๆของผู้ใช้บริการที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้ได้ทันทีไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม 

6) Must be portable ห้องสมุดต้องมีความพร้อมที่จะรองรับการค้นหาหรือสืบหาข้อมูลอยู่ตลอดทุกที่ทุกเวลา และสามารถจัดเก็บข้อมูลหรือองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อการสืบค้นหรือค้นหาครั้งต่อไป 

7)  Must tell the story ห้องสมุดจะต้องมีความพร้อมในการนำเสนอความรู้ในรูปแบบสื่อต่างๆอย่างครบถ้วน 

8)  Must speak for the people ห้องสมุดจะต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถดูแลในเรื่องของลิขสิทธิ์ การจดทะเบียน สิทธิบัตรต่างๆ รวมถึงการดูแลสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล และควบคุมการใช้องค์ความรู้อย่างถูกต้อง 

9)  Help forge memory ห้องสมุดจะต้องมีการควบคุมในการจัดเก็บรักษาข้อมูลให้พร้อมต่อการใช้งานอยู่ตลอดเวลา 

10) Study art of war ห้องสมุดจะต้องมีการศึกษากลยุทธ์ในการบริหารจัดการองค์ความรู้อยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีและการใช้งานของผู้รับบริการที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้หรือไม่

ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้  ได้แก่ มีการสื่อสารสองทาง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ผ่านสื่อ  ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้  มีมุมหนังสือ KM คลังความรู้แยกชัดเจน มีมุมให้ผู้รับบริการได้แลกเปลี่ยนความรู้-ความคิดเห็น  ห้องสมุดในอนาคตไม่ควรจะเป็นแค่สถานที่ที่คนมานั่งอ่านหนังสือ แต่ควรเป็นสถานที่ที่คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ และห้องสมุดก็จะต้องมีศักยภาพในการจัดเก็บองค์ความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างการต่อยอดทางความคิดต่อไป  นอกจากนี้น่าจะมีกิจกรรมอย่างน้อยก็ปีละครั้ง  ห้องสมุดก็น่าจะมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ด้วยการสนับสนุนการเล่านิทานก็ได้ สอดคล้องกับนโยบายของสาธารณสุข ตามสโลแกน “กิน กอด เล่น เล่า” และควรมีการจัดทำ file ที่เป็นหมวดหมู่ของคลังปัญญาชาวบ้านไว้เพื่อเล่าเรื่องต่อให้คนรุ่นหลัง

บรรณารักษ์ควรมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร

บรรณารักษ์จะต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองเสียใหม่ กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้จัดทำ catalogs หนังสือ หรือจัดเก็บข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ หากแต่จะต้องเข้าใจถึงข้อมูลและการคัดกรองข้อมูลเหล่านั้นผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้น จากนั้นสามารถที่จะนำข้อมูลนั้นๆ มานำเสนอหรือจัดแสดงภายในพื้นที่ห้องสมุด เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังนั้นเราจะเห็นว่าบทบาทของทั้งห้องสมุดและบรรณารักษ์จะต้องสอดคล้องกัน กล่าวคือจะต้องเป็นผู้กระจายองค์ความรู้ไปยังผู้ใช้บริการให้มากที่สุด ยิ่งถ้าเราสามารถคัดกรองข้อมูลหรือองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับผู้ใช้เป็นเฉพาะบุคคลได้หรือเป็นลักษณะ personal learning ก็จะทำให้ผู้ใช้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดน่าจะเป็นอย่างไร

บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดควรเป็นเหมือนเพื่อนจัดสิ่งดีไว้ต้อนรับเพื่อน เป็นทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง  ห้องสมุดจะต้องมีบรรยากาศที่เงียบสงบ สวย สะอาด สะดวกแก่การเข้าไปใช้บริการ บรรยากาศในห้องสมุด ควรเอื้อต่อการเรียนรู้ การศึกษาค้นคว้า อุดมไปด้วยความรู้ ความบันเทิง รื่นรมย์ไปด้วยมิตรภาพและไมตรีจิต ห้องสมุดต้องไม่มีเสียงรบกวน ไม่ร้อนอบอ้าว เย็นสบาย สะอาด ไม่มีกลิ่นอับ ไม่มีฝุ่นละออง ปลอดโปร่ง และปลอดภัยสำหรับทุกคนที่ใช้บริการ   มีโต๊ะ เก้าอี้ เพียงพอให้นั่งอ่าน มีมุมให้นอนอ่านสำหรับเด็กๆ กว้างขวาง ไม่คับแคบ แออัด ไม่ทำให้ผู้ใช้บริการ   อึดอัด มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องสมุดครบครัน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เครื่องถ่ายเอกสาร มีการจัดวางเป็นระเบียบ ไม่คับแคบ แออัด สะดวกแก่การใช้ได้รวดเร็ว ไม่ชำรุดหรือเสีย มีหนังสือ ชวนให้ เด็กหยิบอ่าน อากาศภายในเย็นสบาย กิจกรรมส่งเสริมรักการอ่านน่าสนใจ มีมุมแนะนำหนังสือใหม่ หรือแนะนำเรื่องน่ารู้ น่าสนใจ

บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อะไรบ้างให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไป

บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ  บรรณารักษ์จะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม ยิ้มแย้มแจ่มใส รักษ์การบริการให้บริการแก่ผู้ที่เข้าไปใช้ห้องสมุดอย่างไม่ดูดาย ช่วยค้น ช่วยหาหนังสือให้ด้วยความเต็มใจ พูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเองกับทุกคน  บรรณารักษ์ควรมีพื้นฐานของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และควรมีทักษะในการที่จะถ่ายทอดวิธีการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อให้ผู้เรียนหรือประชาชนเข้าใจและสามารถมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดชีวิตหรือ Life Long Learning ซึ่งเมื่อผู้เรียนหรือประชาชนส่วนใหญ่มีทักษะดังกล่าวแล้ว ก็จะนำพาไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆต่อไป

ห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ห้องสมุดทั้งสองแห่งจะมีความเหมือนในลักษณะของการจัดพื้นที่หรือ Physical Space เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่21 และส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน (Collaborative Learning) แต่จะมีความต่างที่การจัดการข้อมูลหรือ Virtual Space ที่จะคัดเลือกข้อมูลที่มีคุณค่าให้กับผู้ใช้แต่ละรายที่แตกต่างกัน เนื่องจากกลุ่มคนทั้งสองมีความสนใจในข้อมูลหรือความรู้ที่ไม่เหมือนกัน (Individual Study)

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการใช้ห้องสมุดศตวรรษที่ 21

ผู้เรียนต้องมีวิจารณญาณในการเลือกอ่านเลือกค้นคว้า เพราะข้อมูลมีหลากหลาย ไม่ควรเชื่อทั้งหมดแต่ต้องพิจารณาจากหลายๆ ด้าน เช่น การอ่านข่าว หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองและหาความรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ประการที่สอง การเข้าสู่ระบบออนไลน์ ขาดไม่ได้คือการรักษาความลับ ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ประการที่สาม สามารถสืบค้น ข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะระบบออนไลน์ทำให้ผู้เรียนสะดวกในการค้นคว้า โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ตึกอาคารเพื่อค้นหาหนังสือเพียงเล่มเดียว ประหยัดทั้งเวลา ประหยัดทั้งทรัพยากรอื่นๆ  และประการที่สี่ ปลูกจิตสำนึกเด็กๆ เยาวชน ให้มีนิสัยรักการอ่าน โดยอาจจัดกิจกรรมที่สนับสนุนการอ่าน ค้นคว้า ที่สำคัญต้องทำต่อเนื่อง สม่ำเสมอ 

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ยุค 3G 4G การสื่อสารแบบทันทีทันใดทั้งภาพและเสียง อยากรู้อะไรก็แค่คลิก   มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาห้องสมุดอย่างมาก เพื่อช่วยลดข้อจำกัด เรื่อง “คน กับ ทรัพยากร” ต่างๆ ให้น้อยลงไปนั่นคือ เป็นทางเลือกในการค้นคว้า ในการค้นหา ในการให้บริการในรูปแบบต่างๆ ให้กับคนทุกกลุ่ม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ สะดวกสบาย ทุกที่ทุกเวลา  

ห้องสมุดถือเป็นหัวใจของการศึกษาไม่ว่าการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ สามารถให้ผู้คนรู้จักศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความรู้เพิ่มเติมจากที่ร่ำเรียน ไม่ว่าจะเป็น นักเรียนอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา รวมไปถึงผู้ที่จบการศึกษาแล้ว ประชาชนทั่วไป ซึ่งสามารถใช้ห้องสมุดศึกษาหาความรู้ได้ตลอดชีวิตแนวโน้มของห้องสมุดในอนาคต นอกจากจะยังคงมีทรัพยากรสารสนเทศในรูปสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีสารสนเทศในรูปอิเล็กทรอนิคส์หรือดิจิตอล ห้องสมุดยังเป็นศูนย์รวมของสารสนเทศในทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสืบค้นและเข้าถึงได้มากขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยี เพื่อการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูล และการพัฒนารูปแบบการบริการจึงมีความสำคัญในการดำเนินงานของห้องสมุดยุคใหม่

สถิติของรายการบันทึกทั้งหมดที่ใส่คำสำคัญ  “ห้องสมุด”  

•จำนวนบันทึกรวม       478   รายการ

•จำนวนการอ่านรวม       480,531   ครั้ง

•จำนวนการให้ดอกไม้  (ให้ความชอบ) รวม      474   ครั้ง

•จำนวนความคิดเห็นรวม      2,435   รายการ


หมายเลขบันทึก: 535186เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

ห้องสมุดคือคลังความรู้ในทุกยุคสมัย ยุคนี้ห้องสมุดออนไลน์ น่าสนใจมากค่ะ ขอบคุณค่ะ

รอห้องสมุดเต็มรูปแบบค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท